Avsnitt
-
2 เม.ย. 68 - กับดักของผู้ใฝ่ธรรม : ติดดีหรือคาดหวังให้คนอื่นดีเหมือนตัวก็ดี หรือคาดหวังให้ตัวเองดีตามมาตรฐาน ลึกๆ ก็เป็นเรื่องของตัวกูทั้งนั้นแหละ ซึ่งมีกิเลสคือมานะอยู่เบื้องหลัง มานะก็คือความถือตัวถือตน ไม่ได้แปลว่าความเพียรพยายาม เดี๋ยวนี้เรามักจะแปลคำว่ามานะคือความพยายาม แต่ความจริงมานะเป็นกิเลสตัวหนึ่ง สําคัญมาก ความยึดติดในตัวกูของกู อยากให้ใครๆ ดีเหมือนกู หรืออยากให้กูเป็นที่เชิดหน้าชูตา โดดเด่น อยู่ในสายตาของคนอื่น หรือทําให้ตัวกูเป็นที่ยอมรับในสายตาของคนอื่น หรือว่าให้ใครๆ ดีในแบบของกู
พวกนี้ก็ล้วนแต่เป็นกับดักของนักปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะขยันให้ทาน ขยันทําบุญ หรือว่ารักษาศีล หรือแม้แต่เจริญภาวนา แต่ถ้ามองไม่ทะลุ ไม่เห็นถึงการชักใยของตัวกูหรือมานะ ก็ทําให้ความติดดียากที่จะหายไปได้ มีแต่จะหนาแน่น แล้วก็คาดหวังต่างๆ คาดหวังผู้อื่น คาดหวังตัวเอง โดยที่ไม่ยอมรับความจริงอย่างที่มันเป็น สุดท้ายก็ทําให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับผู้อื่น และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับตัวเอง ไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง สุดท้ายก็กลายเป็นคนที่หลอกตัวเอง พอหลอกตัวเองได้ก็หลอกคนอื่น กลายเป็นว่าแทนที่จะมั่นคงอยู่ในความดี กลับกลายเป็นไม่ดีไปเพราะว่าต้องคอยสร้างภาพอยู่เสมอ สร้างภาพให้คนอื่นเห็น หรือหนักกว่านั้นคือสร้างภาพให้ตัวเองยอมรับและหลงเชื่อ เรียกว่า ยิ่งติดดีก็ยิ่งคลาดเคลื่อนจากความดีมากเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องระวัง ต้องรู้เท่าทันกับดักนี้ให้ได้ -
1 เม.ย. 68 - แผ่นดินไหวคือสัญญาณเตือนภัย : เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เกิดขึ้นกับคนพม่า ไม่ใช่เรา หรือคนไทยส่วนใหญ่ แต่ใครจะไปรู้ วันหน้าอาจจะเกิดขึ้นกับเรา อาจจะไม่ใช่กับคนไทยส่วนใหญ่ก็ได้ แต่อาจจะเกิดขึ้นกับเราคนเดียวก็ได้ หรือว่าคนที่เรารัก ฉะนั้น ต้องมองว่านี่คือสัญญาณเตือนภัย เป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง ก็ต้องเตรียม ทั้งเตรียมตัวและเตรียมใจ เตรียมตัว เตรียมการ รับมือกับน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือว่าแก๊สระเบิด รถตกคู อันนี้ก็ต้องศึกษาเอาไว้ ว่าจะป้องกันอย่างไร และจะรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้สูญเสียชีวิต หรือสูญเสียทรัพย์สมบัติ เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น
แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องตายจริงๆ ก็ต้องทำใจได้เหมือนกัน เพราะว่าเรื่องแบบนี้มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันเป็นสิ่งที่ต้องเตรียม ทั้งเตรียมตัวและเตรียมใจเสมอ และนี่คือสิ่งที่เราควรจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ด้วย ไม่ใช่แค่การเข้มงวดกับการสร้างตึก สร้างอาคาร หรือว่าการมีกฎระเบียบที่มันเข้มงวด แล้วก็ปลอดภัย รวมถึงการปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัย หรือการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น เราแต่ละคนก็ต้องเตรียมใจ หรือเตรียมการเพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดด้วย -
Saknas det avsnitt?
-
23 มี.ค. 68 - ดีหรือร้ายอยู่ที่ใจเรา : ถ้าเราจะมองเหตุการณ์ ก็ขอให้มองอย่างคนที่สอง เวลาเจออุปสรรค เวลาเจอปัญหาแทนที่จะบ่นว่าโชคไม่ดี ๆ ให้มองว่า โอ้ นี่เราโชคดี มีแบบฝึกหัดมาฝึกให้เราเข้มแข็ง ฉะนั้นเวลาเจอคนเขานินทาต่อว่าเรา ถ้ามองไม่เป็นก็ทุกข์ที่เขาว่าเรา แต่ถ้ามองเป็นเรียกว่ามองบวกก็จะเห็นว่า เออ เรารู้ว่าเราจะต้องแก้ไขอะไร ถือว่าได้ประโยชน์ ถือว่าได้คำแนะนำ มันอยู่ที่การมอง
เด็กสองคนยืนอยู่ใกล้ ๆ กันตอนเช้า ยืนอยู่ข้าง ๆ ใกล้ ๆ กัน คนหนึ่งนี่สดชื่นแจ่มใส อีกคนหนึ่งหม่นหมอง แปลกนะอยู่ใกล้กันมองไปข้างหน้าเหมือนกัน แต่ทำไมความรู้สึกไม่เหมือนกัน ถามคนแรกว่าทำไมสดชื่น แจ่มใส เขาบอกว่าเห็นท้องฟ้าสวยงาม แสงเงินแสงทองแต่งแต้มท้องฟ้าสวยงาม เห็นแล้วสบายใจ ถามคนที่สองทำไมห่อเหี่ยว เขาบอกว่าเห็นถนน มันเป็นหลุมเป็นบ่อ เฉอะแฉะ มีขยะอยู่ข้างทางเต็มไปหมดเลย คนหนึ่งเห็นท้องฟ้าอยู่ข้างหน้า แต่คนหนึ่งเห็นถนนที่เฉอะแฉะ ถ้าเราเห็นท้องฟ้าเราก็สดชื่น เบิกบาน แต่ถ้าเราเห็นถนนเฉอะแฉะเราก็จิตใจหม่นหมอง เราเลือกได้ว่าจะมองฟ้าหรือมองถนน เหมือนกับเด็กผู้ชายก็เห็นว่าโชคร้ายที่น้ำปลาหายไปครึ่งหนึ่ง แต่น้องสาวบอกโชคดีที่คว้าได้ทัน มีน้ำปลาเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่เราจะสุขหรือจะทุกข์อยู่ที่มุมมองของเรา เรียกว่ามองลบหรือมองบวก บางทีเราเข้าแถวตักอาหาร เราไม่ได้ไก่ทอด ข้างหน้าเขาตักไก่ทอดไปก่อนแล้ว เป็นไก่ทอดชิ้นสุดท้ายด้วย เสียใจอดกินไก่ทอด แต่คนหนึ่งเขาบอกว่า เออ มีหมูย่าง ถึงไม่มีไก่ทอดแต่ว่ามีหมูย่าง จะเสียใจไปทำไม คนหนึ่งคิดแต่ว่า ฉันไม่ได้ไก่ทอด ๆ เพราะว่าคนข้างหน้าเขาตักไปแล้ว แต่อีกคนหนึ่งบอกว่า ฉันมีหมูย่าง ไม่สนใจถึงแม้จะไม่มีไก่ทอดแต่มีหมูย่าง คนแรกก็จะทุกข์ เสียใจโกรธเพื่อนว่า ทำไมตักเอาไก่ทอดไป แต่คนที่สองเขาไม่ทุกข์เลยเพราะว่าเขาเห็นหมูย่าง อยู่ที่มุมมอง ถ้ามองไม่เป็นก็ทุกข์ แต่ถ้ามองเป็นก็ยิ้มได้สบายมาก อยู่ที่ใจ -
22 มี.ค. 68 - อย่าหลงเชื่อเหตุผลไปเสียหมด : การที่เรามีสติมันช่วยให้เราไม่หลงเชื่อความคิด ไม่หลงเชื่อเหตุผลอะไรง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลหรือความคิดที่กิเลสปรุงแต่งขึ้นมา หรือว่าเป็นเพราะสมองมันทำของมันขึ้นมาเอง ฉะนั้นการรู้จักไตร่ตรองใคร่ครวญไม่หลงเชื่อเหตุผลก็สำคัญ คนเราอย่าไปคิดว่ามีเหตุผลนี่ดีเสมอไป เพราะเหตุผลบางอย่างก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน การที่เรามีสติมันช่วยให้เราใคร่ครวญ อะไรที่เราทำโดยที่ไม่รู้ตัว เราก็ยอมรับว่าทำโดยไม่รู้ตัว เพราะเผลอไป อะไรที่เราทำไม่ได้ ก็ไม่อ้างว่าเป็นเพราะองุ่นเปรี้ยว แต่เป็นเพราะว่าเราไม่มีความเพียรพยายามเพียงพอ
อันนี้มันทำให้เราเกิดอาการที่เรียกว่า ซื่อตรงต่อตัวเอง แต่คนเราการที่จะซื่อตรงต่อตัวเองมันก็ยาก เพราะว่าความติดดี อยากจะให้ใครยอมรับ หรืออยากจะให้ตัวเองรู้สึกดี จะบอกว่า ฉันล้มเหลว ฉันเลิกเพียรพยายามเพราะว่าขี้เกียจ บางทีเราก็ยอมรับไม่ได้ เราก็เลยอ้างว่าเป็นเพราะองุ่นมันเปรี้ยว ก็เลยไม่อยากจะเสียเวลากับมัน แต่ที่จริงไม่ใช่หรอก เป็นเพราะไม่มีความเพียรมากพอมากกว่า การที่คนเราจะยอมรับว่า ฉันไม่มีความเพียรมากพอ มันยากเพราะมีอัตตา ความติดดี อีโก้ มันทำให้เรายอมรับความจริงอันนี้ไม่ได้ เราก็เลยไปสรรหาเหตุผลอ้างเป็นเพราะว่าที่ไม่ทำ ที่ไม่ไปกระโดดงับองุ่นเพราะองุ่นมันเปรี้ยว เสียเวลา อันนี้จะเรียกว่าเป็นเพราะการติดดีก็ได้ที่ทำให้มีเหตุผลอย่างนั้นขึ้นมา -
21 มี.ค. 68 - อย่าดูแคลน ความหลงลืมในใจตน : คนที่ดูถูกคนเมา หาว่าโง่ สุดท้ายตัวเองก็กินเหล้าจนเมา ไม่ใช่เมาอย่างเดียว ติดเหล้า เป็นโรคสุรารื้อรัง ตายเพราะเหล้าก็มีเยอะ อันนี้เรียกว่าเพราะประมาทเหมือนกัน ประมาทว่าคนอย่างกูไม่มีทางที่จะเมาเหล้าจนเหมือนหมาหรอก นั่นมันคนอื่นแต่ไม่ใช่กู สุดท้ายก็ลืมไปว่าเคยปรามาสใครเอาไว้ แล้วก็กลายเป็นขี้เมาหยำเป ถึงบอกว่า อย่าถือคนบ้าอย่าว่าคนเมา เพราะถ้าไปว่าเขาแล้วเดี๋ยวก็อาจจะเป็นเสียเอง คนที่ไม่ประมาท เขาก็จะไม่ต่อว่าใครง่ายๆ เพราะเขารู้ว่าเราเองก็อาจจะเป็นอย่างนั้นได้เหมือนกัน ถ้าเราประมาท
เห็นคนติดยาติดการพนัน ก็ไม่ได้ไปดูถูกเขา เพราะว่าวันดีคืนดีตัวเองก็อาจจะเป็นอย่างนั้นได้เหมือนกัน พระที่เคร่งวินัย ดูถูกหรือต่อว่าคนกินเหล้าว่าแค่ศีล 5 ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไร แต่สุดท้ายพอสึกออกไป กลายเป็นคนติดเหล้าเมาหยำเป จนกระทั่งไม่มีใครคบ ไม่มีใครหา ไม่มีใครว่าจ้าง ต้องไปคุ้ยหาของในขยะไปขาย เพราะว่าทำอะไรก็ไม่ได้ เอาเงินไปทำอะไร ไปกินเหล้า สุดท้ายก็โดนรถชนตาย จากพระที่เป็นผู้ที่เคร่งในวินัย กลายเป็นขี้เหล้าเมาหยำเปก็มี อันนี้เรียกว่าคนเราถ้าหากว่าไม่ระมัดระวัง ขาดสติ ตั้งอยู่ในความประมาท ที่เคยเห็นว่าถูกต้องดีงาม มันลืมหมด สุดท้ายก็ลืมตัว พอลืมตัวแล้วก็พลาดท่าเสียที เพราะฉะนั้นอย่าประมาทความสามารถในการหลงลืมของคนเรา ลืมของยังไม่เท่าไหร่ แต่ลืมตัวนี่หนักมาก แล้วคนที่ไม่ประมาทเขาก็จะใส่ใจการฝึกฝน ไม่เปิดช่องให้กิเลสเข้ามาครอบงำได้ง่ายๆ -
30 มี.ค. 68 - มีสติเมื่อใด ใจไม่ก่อทุกข์ : หากว่าเราเข้าใจ สามารถที่จะเจริญสติให้งอกงามขึ้นมาในใจ ก็จะเห็นเลยว่าสุขหรือทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่มันอยู่ที่ว่าเราปฏิบัติอย่างไรต่อสิ่งนั้น แค่รู้เฉย ๆ หรือว่าไปปรุงแต่งให้ค่า เผลอปรุงแต่งให้ค่าเกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะรู้เฉย ๆ หรือว่าเข้าไปยึดอารมณ์นั้น
ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติแล้วเราไม่เห็นตรงนี้ มันก็น่าเสียดาย แต่ว่ามันก็ยังไม่สายที่เราจะปฏิบัติจนถึงจุดนั้นได้ แล้วเราก็จะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะทั้งนั้น อย่างที่ท่านหลวงพ่อชาได้พูดไว้ ผู้ใดมีสติทุกเวลาผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา -
19 มี.ค. 68 - สิ่งดีๆที่ได้ระหว่างทาง : เพราะไปเชื่อใจ ไปเชื่อใจว่ามันใช่เเน่ จริงๆ มันไม่ใช่หรอก ใจเรามันเปลี่ยนแปลงได้ง่าย แล้วเราก็เห็นได้ง่ายจากการปฎิบัตินี่แหละ แล้วเราจะรู้ต่อไปนะว่า ใจไม่ใช่ของเรา ใจไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่ของเรา แต่ก่อนคิดว่าใจเป็นเรา เป็นของเรา ความคิดเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ใช่ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเราเป็นของเราเลย นี่ก็เป็นความรู้นะ
เพราะฉะนั้นถึงเเม้เราจะยังไม่ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการในการมาที่นี่ แต่ว่าระหว่างทางก่อนที่จะถึงเป้าหมาย มันมีอะไรดีๆ ให้กับเรามากมาย มันฝึกอะไรเราได้เยอะเลยนะ เเละก็มีความสำคัญด้วย ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง การรู้จักมองในสิ่งต่างๆ ว่ามันมีข้อดี ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือเปล่า แล้วก็ได้เรียนรู้ใจของเรานะว่า มันมีอะไรให้เรียนรู้เยอะเลย เเม้ว่าจะหัวหกก้นขวิดระหว่างปฎิบัติ เเม้จะมีความฟุ้งซ่านหงุดหงิด เเต่นั่นก็ให้อะไรดีๆ กับเราเยอะเลย -
16 มี.ค. 68 - เติมเต็มใจให้หายพร่อง : อย่าไปรังเกียจความคิดฟุ้งซ่าน ความหลง อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา จะดีหรือแย่อยู่ที่เรา ความคิดฟุ้งซ่านความหลงเกิดขึ้น ถ้าเอามาใช้ฝึกสติ มันก็เป็นของดี แต่ถ้าปล่อยให้มันครองจิตครองใจจนหลงจนทุกข์ อันนี้ก็ไม่ดี แต่ทุกข์แล้วก็ยังจะดีขึ้นได้ถ้าหากว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ ความทุกข์นี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นความจริงอันประเสริฐ
แต่มันจะประเสริฐได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นมัน ถ้าเราเห็นความทุกข์ มันจะกลายเป็นความจริงอันประเสริฐ แต่ถ้าไม่เห็นมัน คือ เข้าไปเป็นมัน มันก็ไม่ใช่ความจริงอันประเสริฐ มันกลับจะทำให้เราเป็นทุกข์หนักขึ้น และมันเกิดขึ้น ก็ดี ถ้าหากรู้ ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าปฏิบัติแล้วมันต้องไม่คิด มันต้องไม่หงุดหงิด มันต้องไม่ว้าวุ่น แม้หงุดหงิดแต่รู้ ก็ดีกว่าไม่หงุดหงิดโดยที่ไม่รู้ มีความฟุ้งเกิดขึ้น ก็ดี ถ้ารู้ ดีกว่าสงบแต่ไม่รู้ รู้เป็นสิ่งที่ดี แล้วจะรู้ได้ก็ต้องมีความคิดฟุ้งซ่าน มีอารมณ์ต่างๆ มาฝึก เป็นแบบฝึกหัดให้สติรู้ ใหม่ๆ รู้ช้า คิดไป 10 เรื่องถึงค่อยรู้ตัวหรือรู้ว่าเผลอคิดไป แต่ต่อไปมันจะรู้ได้เร็วขึ้น รู้ได้เร็วขึ้น แล้วกลับมาได้เร็ว กลับมาได้เร็ว การปฏิบัติ เราไม่สนใจว่ามันจะไปไหน แต่เราจะพยายามฝึกให้มันกลับมา ไปไม่ว่า ให้กลับมาไวๆ กลับมาไวๆ กลับมาที่ไหน กลับมาที่กาย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะเป็นการเติมความรู้สึกตัวให้กับใจ เมื่อเติมเรื่อยๆ เติมเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง มันก็จะรู้สึกเติมเต็มขึ้นมา จิตใจเราได้รับการเติมเต็มแล้วทีละเล็กทีละน้อย ความพร่องก็จะค่อยๆ ลดลง พอความรู้สึกตัวเติมเต็มจิตใจเรา เราจะรู้สึกมั่นคงสงบนิ่งได้ ไม่ว้าวุ่น ไม่แส่ส่าย แล้วถ้าใจเราได้รับการเติมเต็ม ขาดความพร่อง ความสุขความสงบก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา -
15 มี.ค. 68 - สรรเสริญนินทา เป็นธรรมดาโลก : ถ้าเรารู้ว่าใจเราเอาแน่เอานอนไม่ได้ เราก็จะไม่พลีผลามเชื่อใจของเรา เวลาชอบก็ไม่ใช่ว่าจะโจนเข้าไปหาสิ่งที่ชอบ เวลาไม่ชอบอะไรก็ไม่ใช่ว่าจะผลักไสถอยห่างสิ่งเหล่านั้น ก็ดูมันไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นความไม่แน่นอนของใจ โดยเฉพาะความชอบความไม่ชอบ เราก็รู้ว่าเชื่อมันมากไม่ได้ อย่างที่หลวงพ่อชาท่านก็สอนลูกศิษย์ว่า ใจเราอย่าไปเชื่อมันนะ เชื่อไม่ได้ แต่ถึงแม้มันแปรเปลี่ยนไป เราก็ไม่ต้องทุกข์กับมัน ก็แค่ดูมันไปเรื่อยๆ ดูมันขึ้นดูมันลง ดูมันดีใจดูมันเสียใจ ไม่หลงเชื่อมันง่ายๆ
อันนี้ก็ทำให้เราได้รู้จักตัวเองได้ดีขึ้น รู้จักใจของเรา ความชอบใจความไม่ชอบใจของคนอื่น เราก็รับรู้ว่ามันเป็นธรรมดา ไม่ปล่อยใจให้เคลิบเคลิ้มเมื่อคนชม ไม่ปล่อยใจจมดิ่งอยู่ในความทุกข์เมื่อมีคนตำหนิ เพราะเรารู้ว่าทำอะไรก็ตาม แม้จะดีแค่ไหน ก็มีคนไม่พอใจอยู่นั่นเอง หรือแม้แต่ทำแย่ๆ มันก็ยังมีคนที่สรรเสริญเรา พอใจ เอานิยามไม่ได้ว่า สิ่งที่เราทำ ถ้ามีคนพอใจ แสดงว่าดี สิ่งที่เราทำ ถ้ามีคนไม่พอใจ แสดงว่าไม่ดี อันนั้นก็ไม่ใช่ เอาความรู้จักแยกแยะ มีวิจารณญาณ ไม่หวั่นไหว ใจกระเพื่อมไปกับเสียงสรรเสริญนินทา ขณะเดียวกัน ความพอใจความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในใจ ก็แค่ดูมันเฉยๆ เห็นมัน หาประโยชน์จากมันให้ได้ ถ้าเรารู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา แม้แต่คำต่อว่าด่าทอก็มีประโยชน์ เป็นขุมทรัพย์ที่ให้บทเรียนกับเรา แม้แต่ถูกด่าก็ยังเห็นสัจธรรม อันนี้หลวงพ่อคำเขียนเคยสอนเอาไว้ ใจที่ขึ้นที่ลงก็เหมือนกันนะ มันก็สอนอะไรเรามากมาย ให้เห็นว่าใจมันไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเราเลย คุมไม่ได้ และสิ่งนี้จะทำให้เราเกิดปัญญา เมื่อเจอความไม่เที่ยง ไม่ว่าสรรเสริญหรือนินทา ไม่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวางใจไม่เป็น ก็ทุกข์ หรือไม่ก็พลาดท่าเสียทีกิเลสได้ -
8 มี.ค. 68 - รู้กายรู้ใจจนไกลทุกข์ : เพียงแค่เราเริ่มต้นจากการดูกายดูใจ แล้วขยับไปเป็นการดูเวทนา ต่อไปมันก็จะเห็นธรรม แล้วก็จะทำให้ออกจากทุกข์ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นลบ เมื่อมีการกระทบ ต่อไปก็จะสามารถรับมือกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
รูปกระทบตา ก็สักแต่ว่าเห็น เสียงกระทบหู ก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ยึดติด ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไขว่คว้า และต่อไป แม้กระทั่งสิ่งที่มันเคยให้ความสุขกับเรา เงินทองทรัพย์สมบัติ คนรัก ก็ไม่ยึด เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นการภาวนาสำคัญมาก แม้ทำบุญรักษาศีล หรือหมั่นมาทำวัตร ใส่บาตร มันก็ดีแต่ว่าต้องไม่ทิ้งการภาวนา โดยเฉพาะพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติ หรือเรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติ จะทิ้งการภาวนาไม่ได้ และการภาวนาที่เป็นหัวใจก็คือสติปัฏฐาน 4 หรือการเจริญสติ -
7 มี.ค. 68 - ในดีมีเสีย : ถ้าเราไม่อยากแบกรับภาระมาก ก็ไม่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมาก พระพุทธเจ้าจึงสอนพระให้มีบริขารน้อยๆ มีบริขารน้อยๆ จะได้ไม่เป็นภาระมาก และจะได้ไม่ยึดติดกับบริขาร ถึงจะมีก็ต้องรู้ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทว่า นอกจากมันจะทำให้เกิดภาระมากขึ้นแล้ว มันก็ยังมีโทษ เพราะว่าพอไปยึดติดกับสิ่งนั้น แล้วพอมันเสื่อมสลายหายไป ก็ทุกข์ ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะการเสื่อมสลาย ก็มีให้น้อยๆ
และถ้าจะมี ก็มีด้วยความไม่ประมาท เข้าใจว่า สิ่งที่มีมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ความสะดวกสบายที่ได้รับ มันตามไปด้วยภาระ แล้วก่อโทษ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักใช้อย่างมีสติ ท่านเรียกว่ามีมนสิการ มีปัญญาเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ เพราะโลกนี้ทุกอย่างมันมาเป็นเป็นแพ็กเกจ มันมา มันพ่วงติดกัน อันนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีก็เหมือนกัน สิ่งที่ไม่ดีมันก็พ่วงเอาสิ่งดีๆ มาด้วย อย่าไปคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีมันพ่วงหรือตามมาด้วยโทษ สิ่งที่เป็นโทษมันก็พ่วงสิ่งที่ดีเข้ามาด้วย ในทุกข์มันก็มีสุข ความยากลำบากนี้มันก็มีสิ่งดีๆ พ่วงติดมาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาใครเจอความยากลำบากนี้ก็อย่าไปตีอกชกหัว เพราะว่ามันก็นำสิ่งดีๆ มาให้กับเรา เหมือนกับที่หลายคนพบว่าความเจ็บป่วย โรคมะเร็งก็สามารถจะนำสิ่งดีๆ มาให้กับชีวิตได้หลายอย่าง อยู่ที่ว่าจะมองเห็นหรือเปล่า -
6 มี.ค. 68 - มองท้องฟ้าเห็นธรรม : สิ่งที่มันผ่านเข้ามาในชีวิตเรา มันก็มีทั้ง 2 อย่าง สิ่งที่ย่ำแย่เหมือนลูกกรง กับสิ่งที่ดีงามเหมือนกับท้องฟ้าที่สว่างไสว การที่เราเห็นทั้ง 2 อย่างเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากว่าเราไปติด หรือมองลบก็จะเห็นแต่ลูกกรง แล้วก็จะมีความทุกข์มากว่า ฉันติดคุกนี่ ฉันไม่มีอิสระ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ตีอกชกหัว
แต่อีกคนหนึ่งไม่ยอมให้ลูกกรงนี้มาขวาง มาปิดบังความงดงามของท้องฟ้า ฉะนั้นเวลาเขาวาดรูป ก็วาดท้องฟ้าที่สวยงามโดยไม่มีลูกกรงเลย อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่า เราจะเลือกมองเห็นแต่ลูกกรง หรือเราเลือกที่จะมองเห็นท้องฟ้า บางคนเดี๋ยวนี้มองเห็นแต่ลูกกรง ทั้งที่มองเลยไปหน่อยก็จะเห็นท้องฟ้า แต่มองไม่เห็นท้องฟ้า ฉะนั้นต้องฝึกใจของเราให้รู้จักมอง มองให้ทะลุลูกกรงออกไปจนเห็นท้องฟ้า และถ้ามองเห็นไปถึงขั้นว่า ท้องฟ้าก็สอนเราให้รู้จักวางใจเป็นกลางต่อความคิด อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนกับท้องฟ้านี้อนุญาตให้เมฆนานาชนิดเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับเมฆเหล่านั้น เพราะรู้ว่าไม่นานเมฆก็จางหายไป และท้องฟ้าก็ยังเป็นท้องฟ้าเหมือนเดิม อันนี้เรียกว่ารู้จักทำใจให้สงบ โปร่งเบา หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ เห็นท้องฟ้าแล้วก็นึกถึงสัจธรรมความจริงว่าอะไร ๆ ต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เมฆกลายเป็นดอกไม้ กลายเป็นอาหารที่เรากิน แล้วกลายเป็นน้ำที่เราดื่ม อันนี้เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้นมา ไม่ใช่แค่จิตใจสว่าง โปร่งโล่ง ซึ่งจัดอยู่ว่าเป็นเรื่องของสมถะ แต่ยังเห็นสัจธรรมความจริง เกิดปัญญาขึ้นมาซึ่งเป็นเรื่องของวิปัสสนา ฉะนั้นท้องฟ้านี่สอนอะไรเราได้เยอะเลย ถ้าเรามองเป็น -
5 มี.ค. 68 - หาตัวช่วยเพื่อเสริมใจใฝ่ดี : หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเดินกลับไปกลับมา หรือทำไมเวลายกมือสร้างจังหวะต้องหยุดสักนิดหน่อย แต่ละจังหวะๆ ต้องหยุดสักนิด แล้วก็ไปต่อ นี่เป็นตัวช่วย เพราะถ้าหากว่ายกมือสร้างจังหวะเป็นสายยาวเลย มันเปิดช่องให้ความหลงเล่นงานได้ เพราะว่าคนเราเวลาใจลอย หรือกำลังมันกับความคิด มันจะยกมือเป็นสายเลย ไม่มีหยุด การที่เราหยุดสักพักหนึ่ง มันทำให้ความคิดสะดุด พอความคิดสะดุด ตัวหลงก็พลอยสะดุดไปด้วย เปิดช่องให้ตัวรู้หรือสติเข้ามาทำงานแทน เพราะฉะนั้นการกลับไปกลับมา หรือว่าการยกมือสร้างจังหวะแล้วหยุด แต่ละจังหวะๆ มันช่วย
หรือแม้แต่การทอดสายตา ทำไมไม่มองไกลๆ ทำไมต้องมองที่พื้น นี่ก็เป็นตัวช่วย ช่วยไม่ให้มันฟุ้ง แต่ถ้าเดินช้ามันก็ทำให้เครียดง่าย เราต้องรู้จัก เวลาเราเจริญกรรมฐาน หรือว่าเราจะทำสิ่งดีงามก็ตาม มันต้องมีตัวช่วยเสมอ โดยเฉพาะสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต้องรู้จักหาตัวช่วย จะเป็นสถานที่ จะเป็นผู้คน เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นวิถีชีวิต หรือกติกาที่สร้างขึ้นมาเอง พวกนี้เป็นตัวช่วยได้ เวลาเราฟุ้งๆ เราก็หาตัวช่วยที่ทำให้ใจมันไม่ฟุ้ง เวลาง่วง หาตัวช่วย ทำอย่างไร ก็เอาน้ำล้างหน้า หรือไม่ก็มองไปที่ท้องฟ้ากว้างๆ เห็นแสงสว่างก็ช่วยทำให้หายง่วงหายเครียดได้ พวกนี้เป็นตัวช่วยที่เราต้องรู้จัก มันจะเป็นกำลังให้กับตัวรู้ สามารถเอาชตัวหลงได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักหาตัวช่วยให้กับตัวเอง ตัวช่วยสำหรับตัวรู้หรือตัวช่วยสำหรับใจใฝ่ดี ถ้ามันมีตัวช่วยอย่างนี้ มันก็ทำให้ใจเรามีพลัง มีความเข้มแข็ง เอาชกิเลส เอาชตัวหลงได้ -
4 มี.ค. - ออกจากคุกทางใจ : คุกทางใจมีหลายอย่าง มีทั้งความเศร้าโศก ความเสียใจ ความรู้สึกผิด ความโกรธแค้นพยาบาท ความอาลัยอาวรณ์ แต่ทั้งหมดนี้มันต้องเริ่มต้นจากการเผชิญหน้ากับมัน ถ้าเรามีสติรู้จักวิชา “รู้ซื่อๆ” ดูมัน โดยไม่เผลอพลัดเข้าไปเป็นมัน หรือเข้าไปจมอยู่ในอารมณ์ มันก็ออกมาได้เหมือนกัน
หรือเดี๋ยวนี้คุกที่ขังคน ขังใจคนจำนวนไม่น้อยคือความซึมเศร้า เป็นกันเยอะ เพราะว่าปล่อยใจให้ไปจมอยู่กับอารมณ์ต่างๆ หรือปล่อยใจให้ไปจมอยู่กับเหตุการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด พอหลุดออกมาไม่ได้ก็กลายเป็นจมดิ่ง เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมา ซึ่งก็เป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ให้กับผู้คน ที่ยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก ติดคุกที่มันก่อด้วยอิฐสร้างด้วยปูน ก็ยังไม่ร้ายเท่ากับติดคุกทางใจที่ว่า แต่ถ้าหากว่าสามารถเผชิญกับมันได้ ก็เป็นอิสระ อย่างที่ว่า หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีอารมณ์พวกนี้มันหนียาก โดยเฉพาะอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอดีตที่เจ็บปวด การที่คนเราสามารถจะหลุดจากอดีต กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ มันเป็นวิชาที่สำคัญมาก เพราะช่วยทำให้เรามีชีวิตเต็มร้อยอย่างแท้จริง ทุกวันนี้คนพูดถึงการมีชีวิตเต็มร้อย แต่ส่วนใหญ่หมายถึงการเที่ยว การสนุกสนานให้เต็มฟัดเต็มเหวี่ยง แต่จริงๆ แล้วการมีชีวิตเต็มร้อยคือการอยู่กับปัจจุบัน อยู่ด้วยความรู้สึกตัว ไม่หลงจมอยู่กับอดีต หรืออารมณ์ที่เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้า ความรู้สึกผิด หรือว่าความโกรธแค้นพยาบาท ถ้ายังอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ ยังจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ ก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นชีวิตที่เต็มร้อย จะเรียกว่ามีชีวิตจริงจังๆ ก็ยังไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นชีวิตที่หลงจมอยู่กับอดีต ไม่ใช่กับปัจจุบัน -
3 มี.ค. 68 - สงบได้แม้ใจกระเพื่อม : อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด มันเกิดขึ้นแต่เห็นมัน ไม่เข้าไปยึด ไม่มีผู้โกรธ ไม่มีผู้โศกผู้เศร้า มันก็ไม่ทุกข์ อันนี้ต้องฝึกให้ได้แม้ว่าเรายังไม่สามารถทำให้จิตไม่หวั่นไหวใจไม่กระเพื่อมเวลามีการกระทบเกิดขึ้น
คนธรรมดาก็ย่อมมีอาการกระเพื่อม เวลาเจอเสียงดัง เวลาเจอคนต่อว่าด่าทอ เวลาสูญเสียทรัพย์ เวลาเจ็บป่วย แต่พอมันกระเพื่อมแล้วก็เห็นมัน เห็นแล้วก็วาง เห็นแล้วก็ปล่อย มันก็สงบลง เป็นความสงบที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะมีเสียงดังจากข้างนอกแต่เพราะมีอารมณ์ที่ไม่พอใจเกิดขึ้นข้างในก็ยังสงบได้ อันนี้คือความสงบที่เราควรจะรู้จัก -
2 มี.ค. 68 - เสียงในหัวคือตัวการก่อทุกข์ : เวลาใครทำอะไรไม่ถูกใจก็มีเสียงในหัวดัง เสียงพวกนี้เป็นตัวการแห่งความทุกข์มากกว่า เพราะว่าถ้าไม่มีเสียงนี้หรือเสียงมันสงบ เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ แต่พอปล่อยให้เสียงในหัวดังแล้วก็ไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก ไปหลงเชื่อมันบ้าง ไปตกอยู่ในอำนาจของมันบ้าง หรือไม่ก็ไปผลักไสมัน ต้องมีสติไว ไวเห็น ไวจนเห็นละเอียดพอที่จะได้ยิน รับรู้เสียงในหัวที่ดัง ที่จริงมันก็ไม่ใช่มีเท่านี้ มันมีเสียงที่มาล่อหลอกให้เราเกิดความโลภ หรือว่าหลอกให้เราหาสิ่งปรนเปรอสนองกิเลสสารพัด เราต้องรู้ทัน ฉับไวมากพอ คิดอย่างเดียวไม่พอมันต้องมีสติด้วย
สติที่จะเห็น รับรู้เวลามีเสียงพวกนี้ดังขึ้นมา ใจมันก็กระเพื่อม ก็รู้ทัน แล้วก็แค่รู้ซื่อ ๆ มันก็เรียกว่าหมดพิษสง และไม่ช้าก็จะดับไป เสียงดังกระทบหูแต่เสียงในหัวไม่ดัง ใจก็สงบได้ ที่ใจไม่สงบมันไม่ใช่เพราะเสียงข้างนอกแต่เป็นเพราะเสียงในหัวต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความโกรธ ความกลัว ความโลภ พวกนี้ก็ทำให้จิตใจไม่สงบได้ เป็นทุกข์แม้ว่ารอบตัวจะราบรื่นหรือสงบสงัดก็ตาม -
1 มี.ค. 68 - ทักท้วงวิธิคิด ปิดทางกิเลส : ที่ว่าศึกษาธรรมไม่เป็นคืออย่างไร ก็คือศึกษาเพื่อยกตนข่มท่าน เพื่อกำราบผู้อื่นไม่ให้คิดแย้ง ไม่ให้ถกเถียง เอามาใช้ข่มคนอื่น หรือมิฉะนั้นก็เพื่อแสวงหาลาภสักการะ แสวงหาลาภสักการะมาสนองกามตัณหา แต่ว่าเพื่อยกตนข่มท่านมันสนองภวตัณหา ความเป็นใหญ่กว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น ไม่ได้ปรารถนาลาภสักการะ แต่ต้องการให้คนชื่นชมสรรเสริญ หรือทำให้ตัวตนมันพองโต
แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติ เราก็จะเฉลียวใจ หรือว่าเห็นกิเลสตัวใหญ่ๆ มันซ่อนอยู่เบื้องหลัง ไม่หลงเคลิ้มคล้อยไปกับเหตุผล แม้จะสวยหรูเพราะว่ามีธรรมะมาเป็นเครื่องยืนยัน แต่ว่าก็ยังสามารถที่จะมองทะลุไปเห็นว่า ที่อ้างธรรมะนี่ มันเพื่อสนองหรือปรนเปรอกิเลส มันแยบคายมาก แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติเมื่อไหร่ เราก็จะรู้ทัน มันไม่ใช่ช่วยทำให้เราไม่มัวแต่คิดลบอย่างเดียว หัดรู้จักมอง หรือคิดในทางบวก มันมากกว่านั้น มันทำให้รู้เท่าทันกิเลส รู้เท่าทันตัวอารมณ์ที่มันแสดงออกมาด้วยการผลักดันของกิเลส เวลาโกรธ เวลาโลภ ก็รู้ว่ามันเป็นฝีมือของกิเลส หรือถึงแม้มองไม่เห็น ก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ จัดการด้วยความรู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้ความโกรธครองใจ ไม่ปล่อยให้ความโลภครองใจ หรือรวมถึงไม่ปล่อยให้ความคิดลบคิดร้ายมันครอบงำใจ จนกระทั่งสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง นอกเหนือจากการความทุกข์ให้กับผู้อื่น ฉะนั้น การหมั่นมองตนเป็นเรื่องสำคัญมาก หมั่นมองตน และหมั่นทักท้วง ว่าสิ่งที่เราทำคิด มันคิดดีแล้วหรือ หรือบางทีเพียงแต่รู้จักคิดสลับขั้วเท่านั้นแหละ ความทุกข์มันก็ลดไปเยอะ เปลี่ยนดินฟ้าอากาศไม่ได้ แต่ว่าเปลี่ยนมุมมองได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องลองหมั่นพิจารณาตัวเองอยู่เสมอ -
21 ก.พ. 68 - สันติวิหารในเรือนใจ : จึงอยากจะให้พวกเราตระหนักว่า สันติวิหารมันไม่ใช่แค่เป็นอาคาร ไม่ใช่เป็นสถานที่ แต่มันยังเป็นอุดมคติของเราทุกคน แม้เป็นฆราวาสจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสันติวิหารที่เป็นตึกเป็นอาคารได้ แต่เราจะได้อานิสงส์อย่างมากเลยถ้าเรามีสันติวิหารในเรือนใจ และไม่ว่าใจของเราที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร จะย่ำแย่แค่ไหน แต่ว่าเราสามารถที่จะสถาปนาให้เกิดสันติวิหารในใจได้
สันติวิหารตึกนี้เมื่อปีที่แล้ว มันดูไม่ได้เลย ทั้งซกมก สกปรก มอซอ แล้วก็อันตราย คือถ้าใครไม่ได้เห็นภาพจะนึกไม่ออกว่าปีที่แล้วมันไม่น่าอยู่เอาเสียเลย แต่ตอนนี้ดูสิ น่าอยู่ ตึกที่โทรม ๆ มันซ่อมได้ มันรีโนเวต(Renovate) ให้ดีได้ ชีวิตของเรามันจะย่ำแย่อย่างไรที่ผ่านมา มันสร้างได้ รีโนเวตได้ จิตใจของเราที่ผ่านมาแม้มันจะย่ำแย่ สกปรก หม่นหมอง แต่เราสามารถทำให้กลับกลายเป็นเรือนสงบที่น่าอยู่ได้ มันอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่การฝึกจิต -
19 ก.พ. 68 - ดูแลพ่อแม่อย่างไรใจไม่ทุกข์ : เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ส่วนผู้ใหญ่ในวันนี้คือเด็กในวันหน้า ท่านก็หมายถึงคนแก่ก็เหมือนกับเด็ก ต้องการความเห็นใจ ขี้เหงา แล้วก็เอาใจตัว เป็นต้น บางที่ก็หดหู่ห่อเหี่ยวง่าย เจออะไรมากระทบบางทีก็ร้องไห้ หรือไม่ก็กราดเกรี้ยว จะว่าไปก็ไม่ต่างกับเด็ก
ถ้าเกิดว่าลูกยอมรับว่าพ่อแม่ของเราเป็นอย่างนี้ พอถึงวัยชราแล้วมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ร่างกายที่เสื่อมถอย ความตายที่ใกล้เข้ามา รวมทั้งเคมีฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป มันทำให้คนที่รื่นเริงแจ่มใสกลายเป็นคนหดหู่เหี่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยอ่อนไหว อยากให้คนอยู่ใกล้ พอลูกจะไม่อยู่ใกล้เพราะไปธุระ ก็ไม่พอใจ กลัว ตื่นตระหนก กราดเกรี้ยว อันนี้จะว่าไปมันก็ไม่ต่างกับเด็ก
ถ้ายอมรับว่าคนแก่พอมาถึงวัยหนึ่งแล้วก็ไม่ต่างจากเด็ก ยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น ไม่ติดในภาพที่เขาเป็นผู้ใหญ่ที่องอาจ เข้มแข็ง แจ่มใส มันก็ไม่ทุกข์เท่าไร แล้วที่จริงถ้ามองอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่พ่อแม่ทำกับเราในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากที่เราทำกับพ่อแม่ตอนที่เรายังเด็ก ตอนที่เรายังเด็กเราก็โวยวาย เอาใจตัวเหมือนกัน บางทีถีบ บางทีอาละวาด ขว้างปาข้าวของเวลาไม่ถูกใจ ถึงตอนนี้สิ่งที่เราทำกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทำกับเรา
แล้วก็อย่างที่บอกคือว่าตอนที่เราทำกับพ่อแม่นี่เรายังเด็ก พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่สลับบทบาทกลายเป็นเด็กไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำกับเรา มันก็ไม่ต่างจากเราทำกับพ่อแม่ตอนที่เรายังเด็ก ลองนึกแบบนี้ก็ถือว่ามันก็แฟร์ เราทำกับเขาอย่างไร ตอนนี้เขาก็ทำกับเราอย่างนี้แหละ
- Visa fler