Avsnitt

  • Saknas det avsnitt?

    Klicka här för att uppdatera flödet manuellt.

  • 14 ธ.ค. 66 - สิ่งมีค่าที่ควรถนอมรักษา : เราใส่ใจกับเรื่องอะไร จิตของเราก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราอยากให้ใจเรามีความสุข มีความสงบ เราก็ต้องรู้จักที่จะใส่ใจ ซึ่งก็ได้แก่มารู้กายรู้ใจ มาใส่ใจกับกายเวลาเคลื่อนไหว มาสังเกตรู้ทันความคิดและอารมณ์ เมื่อมันมีสิ่งเหล่านี้ผุดขึ้นในใจ

    ถ้าเราเห็นคุณค่าของความใส่ใจ ตระหนักว่ามันเป็นทรัพยากรที่มีค่า เราจะหวงแหน ทะนุถนอมว่าเราจะใส่ใจกับอะไร จะไม่มัวแต่ปล่อยให้ใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องราวของชาวบ้าน คำพูดคำจาที่ชวนให้หงุดหงิด ที่บางท่านเรียกว่าเป็นขยะที่หลุดจากปากของใครต่อใคร เป็นเพราะเราไม่รู้จักควบคุมความใส่ใจของเรา หรือไม่รู้จักสงวน ไม่รู้จักรักษาความใส่ใจ จิตใจเราจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะว่ามัวไปจับไปฉวยเอาขยะ สิ่งที่ไม่เป็นสาระมาสุมไว้ในใจ แต่ถ้าเรารู้จักเลือกใส่ใจ เราก็จะรับเอาสิ่งดีๆ เข้ามา ทำให้จิตใจเราเบิกบานแจ่มใส เป็นกุศล และเจริญงอกงาม
  • 5 ธ.ค. 66 - แง่คิดจากคนใกล้ตาย : ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ถึงแม้เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป มันไม่มีอะไรต้องเสียดาย ที่จริงการใช้ชีวิตของเราแต่ละวันๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการใช้แต่ละวันเพื่อการเตรียมตัวรับมือกับความตายที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าความตายมาถึงมันทุกข์ทรมานมาก

    หรืออย่างน้อยๆ ก็ใช้เวลาแต่ละวันเตรียมรับมือกับความเจ็บความป่วยที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพาะก่อนที่เราจะตายเราจะต้องเจ็บป่วย ส่วนใหญ่นะ ไม่ใช่ตายฉับพลัน และหลายคนแม้ยังไม่ตายแต่ทุกข์ทรมานมากเพราะความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจ เพราะอะไรเพราะว่าช่วงเวลาที่ปกติสุข ไม่ได้สนใจเตรียมตัวเลย ทั้งๆ ที่มันมีโอกสจะเกิดขึ้นกับเรา 90 % เลย และถ้าจะให้ดีก็เตรียมตัวรับมือกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิต เรียนรู้จากความสูญเสียพลัดพราก เงินหาย ของหาย ก็ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกใจให้เผชิญกับสิ่งที่ไม่ถุกใจ หรือความผันผวนของชีวิตได้ เจอคำต่อว่าด่าทอก็ถือว่าเป็นเครื่องฝึกใจให้มีความมั่นคงหนักแน่น ถึงเวลาเจ็บเวลาป่วยก็จะไม่โวยวายตีโพยตีพาย ถึงเวลาตายก็สามารถจะเผชิญความตายได้อย่างสงบ นี่คือบทเรียนที่เราสามารถครุ่นคิดหรือใคร่ครวญได้จากการระลึกถึงความตาย หรือถ้าให้ดีก็เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนใกล้ตายอย่างหมอกิตไท ข้อเขียนของหมอกิตไทตลอดปีที่ผ่านมาก็สามารถเตือนใจเราได้ดีนะ เพราะเป็นการเอาประสบการณ์ของคนจริงๆ คนที่เจ็บป่วยจริงๆ คนที่ใกล้ตายจริงๆ มาบอกเล่า อ่านแล้วก็รู้สึกใกล้ตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเอาเอง อันนี้ก็เป็นแง่คิดของคนที่เมื่อรู้ว่าจะตาย แต่ก็ไม่ยอมปล่อยให้การตายของตนไร้ค่า แต่เอามาใช้เป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ที่ยังอยู่
  • 4 ธ.ค. 66 - สุขได้ถ้าคาดหวังไม่สูง : ปัญหาคือว่าเวลาเราปฏิบัติธรรมแล้ว เรามักจะตั้งความหวังไว้สูง เช่นเดียวกับการทำความดี การทำบุญทำดี ทำดี ทำบุญ ปฏิบัติธรรมนั้นดี แต่ว่ามันง่ายที่จะทำให้คนที่ทำดี ทำบุญหรือว่าปฏิบัติธรรมเผลอตั้งความหวังเอาไว้

    หลวงพ่อครูบาอาจารย์พูดว่า ทำดี ทำบุญ ปฏิบัติธรรมแล้ว มันจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ พอปฏิบัติธรรมเข้า พอทำดีทำบุญ ก็เลยตั้งความหวังเอาไว้ และเป็นความหวังที่สูงด้วยโดยเฉพาะถ้าเกิดว่ายังทำความเพียรมาไม่มากพอ แต่ตั้งความหวังไว้สูง มันย่อมต้องผิดหวังได้ง่าย มันไม่ใช่เฉพาะคนที่หมกมุ่นกับเรื่องทางโลกที่ตั้งความหวังไว้สูงว่าอยากรวย หรือรวยกว่าคนอื่น หรือว่าอยากจะให้สังคมและคนรอบข้างชื่นชมสรรเสริญเรา แม้กระทั่งคนที่ใฝ่ธรรม ขยันทำความดี ขยันทำบุญ หรือว่าหมั่นปฏิบัติธรรม ก็มีโอกาสง่ายมากที่จะตกหลุมแห่งความทุกข์เพราะความคาดหวัง ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำบุญ ทำดีหรือปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ตาม ให้ตระหนัก ระวัง อย่าไปคาดหวังสูง โดยเฉพาะความคาดหวังที่มันสูงเกินจริง ถ้าให้ดีก็ให้รู้จักวางมันลง แล้วก็ทำไปตามเหตุตามปัจจัย อะไรจะเกิดขึ้นก็ยอมรับ เพราะถ้าหากว่าเราตั้งความหวังไว้สูง แล้วยอมรับไม่ได้ แม้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับเรา เราก็ยังทุกข์เพราะว่ามันไม่มากเท่าที่หวัง หรือมันไม่ตรงกับที่หวังเอาไว้ ปฏิบัติธรรมทั้งที ก็ต้องสามารถที่จะเห็นได้ว่าสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ มันไม่ใช่อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่มันอยู่ที่ว่าเรามองมันอย่างไร เราคาดหวังมันอย่างไร เรารู้สึกกับมันอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวสมุทัยที่สำคัญ ปฏิบัติธรรมแล้วมองไม่เห็นตรงนี้ มันก็ง่ายที่จะยังทุกข์ต่อไปแม้ว่าจะมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับเราก็ตาม
  • 3 ธ.ค. 66 - ปล่อยวางได้จึงพ้นภัย : วิชาปล่อยวิชาวางสิ่งต่างๆ แต่ที่เราปล่อยวางไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเราๆ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา เป็นของเราๆ มันน่ากลัว เพราะถ้าเรายึดอะไรว่าเป็นเรา เป็นของเรา เรากลายเป็นของมันทันทีเลย เรายอมตายเพื่อมันได้ทั้งที่ภัยมาถึงตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมปล่อย ปล่อยอุปกรณ์ ปล่อยของหนักที่ถือในมือ หรือสะพายหลัง เพราะว่าไปยึดว่าเป็นของเราๆ หรือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา

    หรือข้าราชการหลายคนไปยึดว่าบ้านเป็นของเรา รถเป็นของเรา หรือเป็นตัวเราเลยทีเดียว เป็นหน้าเป็นตา แต่พอต้องสูญเสียมันไป มันก็ไปกระทบกับตัวตน อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมัน เพราะว่าหน้าตาของเรา ศักดิ์ศรีของเราไปผูกติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการยึด เป็นเพราะยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา อะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ในแง่หนึ่งก็ให้ความสุข ถ้ามันยังอยู่กับเรา แต่ถ้าเมื่อใดวันดีคืนดีมันไปจากเรา มันทุกข์มากเลย มันไปจากชีวิตแล้ว แต่เรายังไม่ยอมปล่อยมันไปจากใจ ยังคิดถึงมัน ยังพะวงถึงมัน ยังอาลัยถึงมันอยู่ เหมือนกับว่าตัวตนบางส่วนของเราหายไป อันนี้เรียกว่าทำใจไม่ได้ แล้วที่ทำใจไม่ได้เพราะยังปล่อยวางมันไม่ได้ แล้วที่ปล่อยวางไม่ได้ เพราะไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะข้าวของเงินทองมากมายที่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เช่น ตำแหน่งหน้าที่ หรือแม้กระทั่งคนรัก คนเราไม่ค่อยเห็นโทษของการไปยึดว่า เป็นเรา เป็นของเรา บางทีไปยึดโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อย่างน้อยถ้าเกิดเฉลียวใจว่า โอ เราไปยึดเป็นเรา เป็นของเรา มันก็เกิดการเห็นโทษขึ้นว่า การยึดเช่นนี้มันเป็นโทษ เราก็จะเห็นความสำคัญการรู้จักปล่อยรู้จักวางมันออกไปจากใจ แต่ถ้าเราปล่อยไม่ได้วางไม่ได้ ถึงเวลาที่มันแปรเปลี่ยน หรือแปรปรวน สูญเสีย พลัดพรากไปจากเรานี้ มันอาจทำให้จิตสลายได้ และบางครั้งก่อนที่จิตจะสลาย ร่างกายก็มีอันเป็นไปเสียก่อน เพราะการที่ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง เหมือนกับโจรมาปล้น มาจี้เอาเงิน เอาทรัพย์ เอาสร้อยแล้วเจ้าของไม่ยอม เพราะไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของฉันๆๆ หารู้ไม่ว่าตัวเองกลายเป็นของมันไปแล้ว จนยอมตายเพื่อมันได้ หลายคนก็ยอมตาย ยอมตายเพื่อที่จะรักษาสิ่งอันนั้นเอาไว้ ไม่ให้โจรเอาไป อันนี้เรียกว่าเอาตัวไม่รอด เพราะว่าความคิดที่ว่า มันเป็นเราเป็นของเรา เพราะไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง แล้วที่ไม่ปล่อย ไม่วาง หรือวางไม่ลง ความคิดว่าเป็นเราเป็นของเรามันจึงน่ากลัว เพราะเรากลายเป็นของมันทันที แล้วเราอาจจะตายเพื่อมันหรือตายเพราะมันก็ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
  • 2 ธ.ค. 66 - วางลง ปลงได้ ทำไม่ยาก : เห็นกับเป็นมันตรงข้ามกัน เมื่อเห็นมันก็ไม่เข้าไปเป็น ก็คือไม่เข้าไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา หรือพูดอีกอย่างก็คือ การเห็นทำให้ไม่เปิดช่องให้มันมาทำร้ายใจได้ ในป่าเราเลี่ยงไม่ได้ต้องมีงู บนทางก็อาจมีหลุม เราเลี่ยงไม่ได้ เราปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เราเลี่ยงไม่ให้งูกัด ไม่เตะหนาม

    ใจของเราก็เหมือนกัน มันก็ปฏิเสธไม่ได้ มีความคิด มีอารมณ์ มีความโกรธ มีความหดหู่ อันนี้ห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปแบก ไม่ปล่อยให้มันมาทำร้ายใจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ไปฉวย ไม่ไปยึด หรือไม่ไปแบกมันเอาไว้ เพราะฉะนั้นเรื่องการวาง หรือการปลง จริงๆ แล้วเราทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือชอบไปยึด ไปจับ ไปฉวย ไปแบกมากกว่า แต่ถ้ามีสติเห็น มีสติเห็นความคิดและอารมณ์ต่างๆ เห็นความทุกข์ การแบก การยึด การจับ การฉวยมันก็ไม่เกิดขึ้น วางแล้วก็วางเลย หรือถึงจะแบกแต่พอมีสติรู้ทันก็วางลง วางแล้วก็ไม่กลับมาแบกใหม่ อันนี้มันทำได้ ควรฝึกอยู่เสมอ ให้มีสติเห็น ให้มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ และต่อไปการเห็นด้วยสติก็จะพัฒนาเป็นเห็นด้วยปัญญา ซึ่งทำให้ใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง
  • 1 ธ.ค. 66 - จิตปลอดภัยเมื่ออยู่ในความรู้สึกตัว : อย่างที่เราสวดกันมีตอนหนึ่งในบทภัทเทกรัตตคาถา ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าจะหมายถึงธรรม คือ รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอกก็ได้ หรือหมายถึงความคิดและอารมณ์ภายในก็ได้ เห็นแล้วไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ใจไม่กระเพื่อมเป็นการรู้ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา ใจที่มั่นคง ท่านสอนว่าให้ทําเช่นนั้นอยู่เนืองๆ ผู้ใดที่เห็นธรรมเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้

    เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราฝึกจิตให้มีสติมีความรู้สึกตัว ไม่มัวแต่พยายามฝึกจิตให้นิ่ง หรือว่าบังคับจิตให้สงบ แต่ว่ายังมีความรู้สึกตัวได้ไว รู้ทันความคิดและอารมณ์ได้เร็ว แล้วก็สามารถที่จะเห็นหรือรู้ด้วยอาการที่สงบมั่นคง ไม่คลอนแคลน อันนี้ยิ่งเท่ากับทําให้ใจมีเครื่องรักษา มีเครื่องอารักขา ทําให้ปลอดภัยไม่ว่ามารจะมาล่อเร้าเย้ายวน หรือยั่วยุยังไง ก็ไม่ทําให้ใจเป็นทุกข์ได้ เมื่อใจปกติแล้ว การที่จะรักษาตน ครองตนให้อยู่ในความดี มีศีล มีธรรม หรือไม่ก่อทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น ก็ยิ่งเป็นไปได้ ฉะนั้นการพยายามรักษาใจให้อยู่ในถิ่นที่ปลอดภัย จึงเป็นสิ่งสําคัญมาก ที่จะช่วยให้ใจเราเป็นปกติสุขได้อย่างแท้จริง
  • 30 พ.ย. 66 - ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิตที่มุ่งธรรม : ถึงแม้ว่าชาวพุทธเราจะมีจุดมุ่งหมายที่ดูสูงส่ง ดูประเสริฐ แต่ว่าถ้าเราเรียนรู้จากคนเหล่านี้ นักกีฬาเหล่านี้ รวมทั้งนักว่ายน้ำมาราธอนที่กล่าวถึงตอนต้น ว่าเขาอุตส่าห์ทุ่มเทอย่างไร ถ้าเราเอาความทุ่มเทอย่างเขามาสักครึ่งหนึ่ง มาใช้กับการทำความเพียรเพื่อเข้าถึงธรรม เราจะก้าวหน้าไปเยอะ

    เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้เขาก็เป็นแบบอย่างให้กับเราได้ ที่จริงถึงแม้ว่าสิ่งที่เขามุ่งหวังคือชื่อเสียงเกียรติยศ หรือว่าเหรียญทอง มันอาจจะไม่ได้ช่วยทำให้มีความทุกข์น้อยลง ไม่ได้ช่วยดับทุกข์ แล้วก็อาจจะไม่ได้ช่วยทำให้โลกดีขึ้น แต่จะว่าไปมันก็เป็นแรงจูงใจหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคน ว่าคนเราสามารถที่จะทำอะไรที่ทำได้ยากได้ อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนมีความเพียร แล้วถ้าเอาความเพียรนั้นมาใช้กับการทำสิ่งที่มีประโยชน์ มีสาระ มีคุณค่า ก็จะเกิดประโยชน์มาก แต่การที่เราเอาอัตตาเป็นที่ตั้ง หรือว่าเป็นแรงจูงใจ ก็มีความเสี่ยง เพราะว่าพวกที่ก่อสงคราม ขยายดินแดน ขยายอาณาเขต ที่สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนให้กับผู้คน พวกนี้ก็ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นประกอบด้วย แต่ว่าการเอาอัตตาเป็นแรงจูงใจ ข้อดีมันก็มี มันทำให้คนสามารถทำสิ่งที่ทำได้ยากได้ แต่ถ้าหากว่าใช้ในทางที่ผิด มันก็ก่อความวุ่นวาย ก่อความเดือดร้อน ก่อหายนะให้กับมนุษย์ได้ อย่างที่เกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์ มันจะดีกว่า ถ้าหากว่าเรามีจุดหมายในทางธรรม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แล้วก็เพื่อความพ้นทุกข์ อันนี้เรียกว่าเพื่อประโยชน์ท่าน แล้วก็ประโยชน์ตนไปพร้อมๆ กัน แต่ถึงแม้จะมุ่งหวังในสิ่งที่ดีงาม แต่ถ้าขาดความเพียร มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาความเพียรของคนเหล่านั้นมาใช้เป็นแรงจูงใจให้กับเรา มันก็จะช่วยทำให้ธรรมที่เรามุ่งหวัง สามารถจะเกิดผลเป็นจริงได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้จากคนเหล่านี้ได้
  • 29 พ.ย. 66 - จะอยู่นิ่งหรือสู้ต่อไป : บางเรื่องบางอย่างมันตัดสินยาก อย่างเช่น คนที่ป่วยระยะสุดท้าย หลายคนก็คิดว่าถ้าสู้ไปเรื่อยๆ มันจะมีโอกาสรอด แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วพอสู้ไปๆ แม้จะเป็นการยื้อชีวิตให้อยู่ได้ยืนยาวขึ้น แต่ว่ามันกลับเพิ่มความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ในกรณีแบบนี้แทนที่จะสู้ แต่ว่าปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบตามกระบวนการธรรมชาติ ยังจะดีกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องตัดสินใจยาก

    ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือว่าญาติของผู้ป่วย คนป่วยเขาหมดสภาพไปแล้ว แต่ญาติหรือหมอจำนวนไม่น้อยก็คิดว่าต้องสู้ แต่ว่าการสู้ บ่อยครั้งก็ทำให้คนป่วยทรมานหนักขึ้น การไม่สู้แต่ช่วยทำให้เขาจากไปอย่างสงบ อาจจะดีเสียกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก ฉะนั้นถ้าหากว่าคนเรามีความสามารถในการแยกแยะได้ว่า กรณีใดที่ถ้าสู้แล้วจะรอด หรือจะประสบความสำเร็จ หรือกรณีใดสู้ไปก็มีแต่จะสร้างความทุกข์ สร้างความเสียหาย วิธีที่ดีที่สุดคือว่ายอม ไม่ทำอะไรเลย หรือทำให้น้อยที่สุด อาจจะเป็นการดีกว่าก็ได้ เผลอๆ อาจจะรอดก็ได้ อย่างกรณีแรกที่ลอยคออยู่กลางทะเล อันนี้เป็นโจทย์ที่มันหาข้อสรุปได้ยาก คนเราก็คงจะต้องเจอกับโจทย์แบบนี้อยู่เรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็สักครั้งสองครั้งในชีวิต ว่าจะหยุดหรือว่าจะสู้ต่อไป บางครั้งการหยุดอาจจะดีกว่า แต่บางครั้งการสู้ต่อไปก็อาจจะทำให้ประสบความสำเร็จก็ได้ แต่ก็ไม่แน่ เพราะบางทีการสู้อาจทำให้ทำความทุกข์ทรมาน อันนี้เป็นเรื่องที่คงต้องใช้ประสบการณ์ และปัญญาในการแยกแยะ
  • 28 พ.ย. 66 - รู้จักหยุด รู้จักยอม จึงไปต่อได้ : แต่ถ้าเราเริ่มยอมรับ ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง อย่างน้อยก็จะเจอธนูแค่สองดอก หรือยิ่งถ้าฝึกให้สามารถยอมรับความเจ็บปวดได้ ความทุกข์ใจก็จะน้อยลง แต่ถ้ายอมรับความเจ็บปวดไม่ได้ มีความทุกข์ใจเกิดขึนก็ยอมรับความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นนักปฏิบัติธรรมก็มีโอกาสที่จะเกิดความรูุ้สึกแบบนี้ได้ ถ้ายอมรับ ความทุกข์ก็จะน้อยลง

    เพราะฉะนั้น การที่เรารู้จักหยุด หรือรู้จักยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ยอมรับสิ่งที่ไม่ประสงค์ที่มันเกิดขึ้นกับใจของตัวเองหรือกับชีวิตของตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าให้ความรู้สึกว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันเป็นคนเพอร์เฟกต์ ฉันเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มาเป็นตัวที่ทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาด หรือสิ่งที่ไม่ประสงค์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ สิ่งแย่ๆ ถ้าเรายอมรับได้ มันก็ช่่วยลดความทุกข์ลงได้เยอะ และบางครั้งเราอาจจะต้องรู้จักหยุด รู้จักถอย เพื่อที่เราจะได้ก้าวเดินต่อไป ไม่ใช่เดินหน้าแล้วดันทุกรังไป สุดท้ายก็ตกเหวตกหน้าผา ซึ่งเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นไม่น้อยเลยโดยเฉพาะกับคนที่เก่ง คนที่มีความสามารถ คนที่เป็นที่ยกย่อง เป็นไอดอลหรือไอคอนของผู้คน อันนี้เป็นกับดักที่ต้องระวัง
  • 25 พ.ย. 66 - อย่าเสียเวลากับเรื่องไร้ประโยชน์ : คนเราไปเสียเวลาเสียอารมณ์ไปกับเรื่องพวกนี้มาก โดยเฉพาะคนที่ยึดมั่นในความถูกต้องจากคนอื่น ว่าเขาทำไม่ถูกต้อง เพื่อนบ้านส่งเสียงดัง เอาขยะมาวางไว้หน้าบ้าน หมาก็เห่า ลูกน้องหรือเจ้านายไม่เป็นธรรม ไปเสียเวลาแม้กระทั่งกับลูก กับภรรยาหรือสามี “พูดไม่เพราะกับฉัน” “ไม่เคยขอบคุณสักคำ” ถ้าเรามัวไปเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว

    และที่สำคัญคือ เรามีเวลาเหลือในโลกนี้น้อย อย่างที่คุณยายบอก “ผู้หญิงคนนี้กับฉัน กับคุณก็ตาม เราอยู่บนรถโดยสารคันนี้เพียงแค่ชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องลงแล้ว” รถโดยสารในที่นี้หมายถึงอะไร หมายถึงโลกใบนี้ เรามีเวลาอยู่ในโลกใบนี้เพียงแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่นาน แล้วเวลาเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที จะมัวเอาเวลาไปทะเลาะเบาะแว้งกับเรื่องไม่เป็นเรื่องทำไม ไปเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องทำไม คนเรามักแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นเรื่องเล็ก อะไรเป็นเรื่องใหญ่ บางคนเห็นเป็นเรื่องใหญ่ไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ถือตัวถือตน ถือเรื่องหน้าตา ถือเรื่องศักดิ์ศรี อย่างเรื่องผู้หญิงออฟฟิศเกิร์ลคนนั้นทำแบบนั้น มันต้องเอาเป็นเรื่อง ทำอย่างนี้กับฉันได้ยังไง รู้ไหมฉันเป็นใคร แต่ในเมื่อเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้น้อย แล้วก็ลดลงไปเรื่อยๆ เราก็อย่าไปเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องเลย ให้ความสำคัญกับเรื่องที่สำคัญดีกว่า รวมทั้งอย่าไปให้เวลากับความเศร้า ความโศก ความโกรธ ความแค้นมากนัก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องหน้าตาศักดิ์ศรี ปล่อยมันไปบ้าง เพื่อจะได้มีเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญ เช่น คนที่เรารัก ลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ แล้วก็ตัวเรา ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ เราจะมีเวลาสำหรับการฝึกฝนเพื่อที่จะพาชีวิตนี้เข้าสู่ชีวิตที่พึงปรารถนา สามารถฟันฝ่าคลื่นลมไปได้อย่างปลอดภัย