Avsnitt
-
12 ก.ย. 67 - หาตัวช่วยให้กับใจใฝ่ดี : อย่างไรก็ตาม แม้ตัวช่วยจะมีประโยชน์ แต่เราจะไปพึ่งพาตัวช่วยไปตลอดเวลาก็ไม่ได้ เช่น หลายคนบอกว่า เวลามาวัดแล้วรู้สึกสงบ ไม่เหมือนเวลาอยู่บ้าน หรือเวลาทำงานทำการ อันนี้มันก็ดีอยู่ ความสงบช่วยทำให้สติเติบโตได้ไว ความรู้สึกตัวกลับมาเร็ว แต่เราก็ต้องระวังที่จะไม่พึ่งพาหรือพึ่งพิงตัวช่วย เพราะไม่อย่างนั้นจะติดตัวช่วย เช่น ติดสถานที่ที่มันสงบ ๆ เราต้องรู้จักทิ้ง หรือวางตัวช่วยลงบ้าง ไปเจอ หรือไปปฏิบัติ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มันวุ่นวาย นอกจากแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรแล้ว บางทีอาจจะไปเจอกับมิตรที่ไม่ค่อยน่ารัก หรือไม่เป็นมิตรเลย ก็เพื่อจะได้เจริญสติ ได้ฝึกสติ ให้เราสามารถที่จะรับมือกับสิ่งกระทบต่าง ๆ ได้
แล้วไม่ใช่แค่สิ่งกระทบภายนอกอย่างเดียว แม้กระทั่งกิเลสภายใน เราก็ต้องฝึก ให้สติ หรือความรู้สึกตัว หรือปัญญา มันมีกำลังพอที่จะจัดการกับความหลง ความเห็นแก่ตัว หรือกิเลสได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวช่วย อย่างที่ได้พูดมา ตัวช่วยมีประโยชน์ แต่ว่าอย่าพึ่งพิงหรือพึ่งพามันมาก ไม่อย่างนั้นจะติด ขาดตัวช่วยเมื่อไหร่ ก็เสียท่ากิเลส เสียท่าความหลงเมื่อนั้น อันนั้นมันไม่ใช่ทาง เราต้องสามารถจะพัฒนาสติ ความรู้สึกตัว ปัญญา ให้มีกำลังเหนือกิเลสหรือความหลงให้ได้ -
11 ก.ย. 67 - ใช้ทุกข์ให้เป็น
-
Saknas det avsnitt?
-
10 ก.ย. 67 - กับดักที่นักปฎิบัติธรรมควรระวัง : ถึงเวลาเราเจอปัญหาหนักๆ ที่ไม่มีใครหนีพ้น เช่น ความสูญเสีย ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย เราก็อยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เพราะว่าเราฝึกมาแล้ว คนที่คิดแต่จะหนีปัญหา คิดแต่จะหวังความสงบความสบาย จะไม่มีทางพบสิ่งเหล่านี้ได้เลย
เพราะว่าเราต้องเจอกับความพลัดพรากสูญเสียอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของรักหรือคนรัก ต้องเจอกับคำต่อว่าด่าทอ ต้องเจอกับโลกธรรมฝ่ายลบ มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ แล้วต้องเจอความเจ็บความป่วย แต่ถ้าเรารู้จักฝึกใจในการรับมือกับปัญหาต่างๆ เจออะไรใจก็ไม่กระเพื่อม ไม่หวั่นไหว อย่างที่ในบทสวดมงคลสูตร มงคลสูตร 4 ข้อสุดท้ายสำคัญมาก จิตของผู้ใดอันโลกธรรมถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศกด้วยกิเลสเป็นจิตเกษมศานต์ อันนี้คือจุดหมายของเราชาวพุทธเลย ก็คือว่าเมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายลบ คำต่อว่าด่าทอ ความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ความล้มเหลว แต่ก็ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหา ไม่ใช่เพราะว่ารอบตัวมันสมบูรณ์แบบเลิศเลอเพอร์เฟค ถึงแม้มันจะเต็มไปด้วยปัญหาแต่ใจก็สงบได้ สงบแบบนี้ต่างหากที่เราควรจะคำนึง ไม่ใช่สงบเพราะสิ่งแวดล้อม แต่สงบเพราะสามารถจะทำใจให้เป็นปกติได้ ไม่ว่าจะเจออะไรมากระทบก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามุ่งหวังแต่ความสงบ ต้องระวังนะว่าเราจะตกกับดักของนักปฏิบัติธรรม ซึ่งสามารถทำให้เรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำให้กลายเป็นคนเอาแต่หนีปัญหา เอาแต่แสวงหาความสบาย สุดท้ายพอเจอความเจ็บความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตายก็ปรากฏว่าทุกข์ทรมานมาก นับว่าเสียประโยชน์ อุตส่าห์ปฏิบัติธรรมมาตั้งนานแต่ว่าพอเจอสิ่งเหล่านี้แล้วไปไม่รอด -
9 ก.ย. 67 - เดินทางภายใน จิตใจผ่านตลอด : เหมือนความคิด ความคิดนี่ถ้าเราตั้งชื่อว่าความคิดฟุ้งซ่าน เราจะทุกข์มากเลยเวลามันเกิดขึ้น แต่พอเราเรียกชื่อมันใหม่ว่าความคิดที่รอการเห็นการรู้ มันจะไม่ทุกข์เลย มันจะกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า เออ มันเกิดขึ้นแล้วเราเห็นมันได้ไวขึ้นไหม มันจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง จะเกิดขึ้นมากเท่าไหร่เราจะไม่ทุกข์ร้อนเลย เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า เออ เราจะเห็นมันได้เร็ว มันไม่ใช่ความคิดฟุ้งซ่านอีกแล้ว มันคือความคิดที่รอการเห็นจากเรา หรือเห็นจากสติ
ฉะนั้นปรับใจเสียใหม่ เวลาภาวนาประการแรกก็คือว่า ลืม หรือวางจุดมุ่งหมายไว้ก่อน ให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วยิ่งจุดมุ่งหมายคือความสงบนี่ ก็ให้เข้าใจเสียใหม่ว่าไม่ใช่ความสงบจากความคิดหรือสงบเพราะไม่คิด แต่มองว่าสงบเพราะรู้ทัน ถึงตอนนี้เราก็จะฝึกใจให้รู้ทันเร็วขึ้น ๆ ๆ มันจะมีความคิดมากหรือน้อย ไม่เป็นไร เราก็จะรู้ทันอย่างเดียว วิธีนี้ที่ทำให้เราสามารถจะผ่านอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นในใจได้ แม้กระทั่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราก็จะผ่านมันได้ ไม่ข้องแวะ ไม่ติดขัดหรือขัดอกขัดใจเมื่อมันมีความคัน ความปวด ความเมื่อย รวมทั้งเวลามี รูป รส กลิ่น เสียง มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ผ่านมันได้ ใจก็โปร่งสบาย ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียงดัง แต่ว่าเสียงดังทำอะไรใจไม่ได้เพราะไม่มีการผลักไส ตรงนี้แหละที่ทำให้สงบ สงบเพราะรู้ซื่อ ๆ สงบเพราะรู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็ปล่อย -
8 ก.ย. 67 - บันไดขั้นต้นของการออกจากทุกข์ : ความทุกข์ของคนเราทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นเพราะทุกข์กาย แต่เป็นเพราะทุกข์ใจ แล้วที่ทุกข์ใจเพราะความหลงนี่แหละ ทุกข์เพราะคิด หรือทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด ทุกข์เพราะปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ หรือพูดอีกอย่างก็คือปล่อยให้ความหลงมาครอบงำใจ แต่ถ้าเรารู้จักออกจากความหลง การออกจากความทุกข์มันก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เป็นไปได้
แล้วเราจะออกจากความหลงได้ อย่างน้อยก็อย่าไปหลงซ้อนหลง เมื่อเวลาหลงก็รู้ว่าหลง แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว รู้ตัวว่าหลง รู้ว่าหลงมีอาการอย่างไร แล้วก็รู้ทันเวลามันสรรหาเหตุผลมาล่อหลอกเรา เวลามันบอกว่าอีกหน่อยน่า อีกหน่อยน่า อีกนิดน่า เราก็จะไม่เชื่อมันแล้ว หรือเวลามันบอก ครั้งนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว เราก็จะไม่เชื่อมันง่าย ๆ หรือเวลาความโกรธ มาบอกว่าถ้าได้ฆ่ามัน ได้ทำร้ายมัน ติดคุกกูก็ยอม เราไม่เชื่อแล้ว ไม่เชื่อว่าจะทำอย่างนั้น หรือยอมตามอำนาจของมัน จะมีเสียงที่ทักท้วงอีกทางหนึ่งว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเห็นโทษของมัน แล้วถ้าหากว่าเราทำให้อาการหลงซ้อนหลงมันน้อยลง การออกจากทุกข์ก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะว่าถ้าเรารู้จักรักษาใจไม่ให้หลงซ้อนหลง ถึงเวลามีความหลง ก็ออกจากความหลงได้เร็วขึ้น ออกจากความหลงได้เร็วขึ้นก็ออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้น -
7 ก.ย. 67 - เวลาเหลือน้อย ปล่อยวางบ้าง : ฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากการที่ไม่เสียเวลาไปกับความทุกข์ ไม่มัวแต่จับจ้องมองเห็นแต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งที่ไม่ถูกใจ หรือแม้กระทั่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเรา แล้วก็ไม่ปล่อยใจให้ไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
โอกาสที่ใจเราจะเปิดรับความสุข หรือว่าเกิดกำลังใจในการทำสิ่งดี ๆ ที่มีคุณค่าที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา แล้วก็มีความพร้อมในการรับมือกับความผันผวนปรวนแปร ถึงเวลาเราต้องลงจากป้าย ถึงเวลาที่เราลงจากรถเมล์ ไม่ว่าจะป้ายหน้าหรืออีกกี่ป้าย เราก็จะไม่มีความอาลัย พร้อมที่จะลงได้ แล้วก็ไปสู่จุดหมายที่เราต้องการได้ จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ เราจะทำตามนิสัยความเคยชินเดิม ๆ มองเห็นแต่เรื่องลบ จับจ้องมองเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่นบ้าง ของตัวเองบ้าง หรือไม่ก็หมดเวลาไปกับความทุกข์ ความคับแค้นใจ เสียอารมณ์ไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง สุดท้ายสิ่งดี ๆ ที่เราควรจะได้รับจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ก็ได้แบบกะพร่องกะแพร่ง หรือว่าไม่ได้รับเลย เพราะว่าในใจนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ มันเต็มไปด้วยความหงุดหงิด อันนี้ก็น่าเสียดายมาก -
6 ส.ค. 67 - มองเห็นสิ่งดีๆ จากทุกเหตุการณ์ : ถึงแม้เรายังไม่เห็นสัจธรรมในระดับวิปัสสนา มีความสำคัญมั่นหมายในเรา ในของเราอยู่ แต่อย่างน้อยถ้าหากว่าเรารู้จักคิดบวกอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นความเคยชิน จนเป็นนิสัยอย่างหนึ่งของเรา แม้ว่าธรรมะที่เรามีในระดับความคิดเอามาช่วยแก้ปัญหา ความทุกข์ของเราในยามเจ็บป่วย ในยามสูญเสียไม่ได้ แต่อย่างน้อยการรู้จักมองบวกก็จะช่วยทำให้เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น
ยิ่งถ้าเรามีสติด้วยแล้ว สติที่ช่วยทำให้เราไม่จมอยู่กับความทุกข์ ความเศร้า ความโกรธ ความคับแค้น หรือสติที่ทำให้เรารู้ทันความคิด ที่มันบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ก็จะช่วยรักษาใจของเรา ให้ออกจากความทุกข์ หรือไกลจากความทุกข์ได้เร็วขึ้น ถึงเวลาป่วย มันก็ป่วยแต่กาย แต่ใจไม่ป่วย ถึงเสียทรัพย์ ก็เสียแต่ทรัพย์ แต่ไว้ใจไม่เสีย สุขภาพไม่เสีย ถึงเวลาที่งานการล้มเหลว มันก็เสียแต่งาน แต่ว่าใจไม่ได้เสียด้วย ไม่อย่างนั้น พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ มันเสียทั้งทรัพย์ เสียทั้งใจ เสียสุขภาพ เสียงาน เวลาป่วยก็ไม่ใช่แค่ป่วยกาย แต่ป่วยใจด้วย ยิ่งซ้ำเติมเพิ่มทุกข์เข้าไปอีก เพราะว่าใจที่ชอบคิดลบ ซึ่งมันเป็นนิสัยที่เราสะสมมานาน เราจะไม่ให้นิสัยนี้ครองใจเราได้ ต้องสร้างนิสัยใหม่ คือนิสัยที่รู้จักมองหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น หรือหันมาใส่ใจกับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ เสียเงินเท่าไหร่ ก็ไม่กลุ้มใจ เพราะเห็นถึงเงิน หรือทรัพย์อีกมากมาย รวมทั้งสิ่งดี ๆ ที่ยังมีอยู่กับเรา เช่น พ่อแม่ คนรัก บ้านเรือน ที่ดิน -
5 ก.ย. 67 - ทำใจอย่างไรให้ไกลทุกข์ : สติทำให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น เห็นความคัน เห็นความปวด ความเมื่อย แต่ไม่เป็นผู้ปวด ไม่เป็นผู้เมื่อย ซึ่งอันนี้ส่วนใหญ่มันจะยากกว่าเห็นความโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความเศร้า ไม่เป็นผู้เศร้า อันนี้มันยังง่ายกว่าเห็นความปวดความเมื่อย แต่ไม่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย
แล้วถ้าเราเห็นดี ๆ ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่เข้าไปจดจ่อกับความปวด ไม่ไปกดข่มมัน เราก็จะพบว่า กายปวด แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย ตรงนี้แหละ ที่จะช่วยทำให้จิตอยู่เหนือความปวดความเมื่อย เรียกว่ากายป่วยใจไม่ป่วย สติช่วยเราได้มากเลย เวลาร่างกายเราเจ็บป่วย หรือเวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเรา กับงานการของเรา แต่ว่าใจไม่ทุกข์ ถึงเวลาที่กายมันทุกข์ แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์ตามไปด้วย ฉะนั้นการเจริญสติจึงสำคัญมาก มันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาใจให้ไม่ทุกข์ แม้ว่ากายจะทุกข์ก็ตาม -
4 ก.ย. 67 - แก้ปัญหา อย่าลืมแก้ที่ใจด้วย : บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับเราไม่ว่าทางกายทางใจ หากว่าเราพยายามแก้แล้ว ไม่สำเร็จ อย่างหนึ่งที่เราทำได้และควรทำคือ ทำใจยอมรับมัน มันจะช่วยลดความทุกข์จากการต่อต้านผลักไสหรือปฏิเสธ
อันที่จริงแล้วมันทำให้ใจเราเป็นอิสระจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คือมันเกิดขึ้นแต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนกับรถติด แต่ว่าจิตไม่ตก มันติดก็ติดไป แต่ใจก็ยังปกติ ความเจ็บป่วยก็เหมือนกัน แม้มันจะป่วย ความป่วยยังเกิดขึ้นอยู่ แต่มันก็ป่วยแค่กาย แต่ใจไม่ป่วย แต่ว่าการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะใจเราฝืน ใจเราต่อต้าน ส่วนหนึ่งเพราะมีความคาดหวัง แล้วพออะไรที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็จะไม่ยอมรับ แต่พอเรายอมรับได้ สิ่งที่เคยเป็นปัญหามันก็ทำอะไรจิตใจเราได้น้อยลง พูดง่ายๆ คือว่า เมื่อมีปัญหา นอกจากแก้ที่ตัวปัญหาแล้ว หรือแก้ที่ปัจจัยต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือแก้ที่ใจของเราด้วย ใจที่ต่อต้านผลักไส ปรับให้ยอมรับได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ปัญหาก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป -
3 ก.ย. 67 - การปฎิบัติที่ไม่เรียกร้องอะไรจากเรามาก : จะเห็นได้ว่าการเจริญสติเราสามารถจะทำได้กับทุกเรื่องเลย แล้วมันช่วยทำให้เรารู้ตัวดีขึ้น ต่อไปก็ไม่ใช่แค่รู้กาย ก็รู้ใจด้วย รู้ใจนี้ก็รวมถึงความคิด หรืออารมณ์อกุศลมาครอบงำ ไม่ปล่อยให้มันครองใจ
ต่อไปสิ่งเร้าภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เคยกระตุ้นให้โกรธ ให้ทุกข์ ให้เศร้า มันก็มีอิทธิพลต่อจิตใจเราน้อยลง เราก็เป็นอิสระจากมันมากขึ้นเพราะมีความรู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ช่วยทำให้เกิดความสงบเย็นในจิตใจ ทำงานทำการอะไรก็ทำได้ดี ทำโดยไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าการเจริญสติเป็นการปฏิบัติที่คนถือตัวว่าเป็นชาวพุทธ หรือหันมาสนใจพระพุทธศาสนาควรจะใส่ใจ -
2 ก.ย. 67 - หลงเมื่อใด ทุกข์เมื่อนั้น : กระทั่งปัจจุบันหรือต่อไปในอนาคต ถ้าเราลองถอยกลับมาดูพฤติกรรมของเรา เราอาจจะพบว่าพฤติกรรมที่เรากำลังทำอยู่ หรือจะทำต่อไปนี่มันก็ไม่ฉลาดเลย เพราะว่ามันเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง หรือว่าทำให้เกิดผลเสียกับตัวเอง หลายสิ่งหลายอย่างที่อาตมาพูดมา หลายคนอาจจะบอก โอ้โห เขานี่โง่นะที่ทำอย่างนั้นนะ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตัวเองตกอยู่ในอารมณ์เดียวกัน มันก็คงทำเหมือนกันแหละ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าความหลงแล้วมันไม่เข้าใครออกใคร จะเป็นพระ เป็นโยม จะเป็นคนฉลาดจบปริญญาเอกหรือไม่ หลงเมื่อไหร่มันก็ทำอย่างนี้แหละ
แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้ว่า เออ ความหลงนี่มันทำให้เราทำผิดทำพลาด หรือทำในสิ่งที่ไม่ฉลาด เราก็จะพยายามกลับมารู้เนื้อรู้ตัว อย่างน้อยก็กลับมาใคร่ครวญ ทำอะไรก็ถอยออกมาดูว่า สิ่งที่เราทำมันถูกต้องไหม เพราะไม่อย่างนั้นเราก็สามารถจะทำร้ายหรือเบียดเบียนตัวเองได้ และยังเผลอคิดว่าฉลาดที่ทำอย่างนั้น หรือว่าดีใจที่ทำอย่างนั้น แต่ว่าพอหายหลงแล้วถึงค่อยมารู้ตัวว่า ไม่น่าทำเลย ทำอย่างนั้นได้ยังไงวะ แต่มันก็ทำไปแล้ว -
1 ก.ย. 67 - โลกเป็นอย่างไร รักษาใจให้มั่นคง : สำคัญมากคือการที่เรารักษาใจให้มั่นคง แม้ว่าสิ่งอื่นมันจะไม่มั่นคง แม้ว่าสิ่งอื่นมันจะแปรปรวนไป เช่น สุขภาพร่างกาย ฐานะความเป็นอยู่ ครอบครัวที่เคยอบอุ่นกลายเป็นแตกสลาย หรือว่าบ้านเมืองที่มันเคยสงบสุข มันก็วุ่นวาย สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในวิสัยที่จะแปรเปลี่ยนไปได้ แล้วเราก็คงจะไม่อยู่ในวิสัยที่จะป้องกันหักห้ามได้ หรือว่าบงการให้เป็นไปดั่งใจได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือรักษาใจให้มั่นคงเอาไว้
มันจะมีความผันผวนแปรปรวนเกิดขึ้น กับกายอย่างไร กับคนแวดล้อมรอบตัวอย่างไร แต่ว่าใจก็ยังเป็นปกติได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีปัญญา ปัญญาที่ช่วยให้ไม่ไปยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เอาสุขไปผูกติดอยู่กับสิ่งรอบตัว ชื่อเสียง เงินทอง คนรัก ครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็มีสติรักษาใจด้วย อะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความโศก ความเศร้า ความวิตกกังวล ของพวกนี้ห้ามไม่ได้ แต่เรารักษาใจไม่ให้มันครอบงำได้ ถ้าเรารู้จักรักษาใจให้มั่นคง ความผันผวนแปรปรวนในโลกหรือในชีวิตนี้ มันก็ไม่สามารถทำให้เราเป็นทุกข์ หรือจมดิ่งอยู่ในความเศร้าได้ มันสำคัญมากเลยนะ การรู้จักครองตนครองใจให้มั่นคง ไม่ว่าจะมีความผันผวนแปรปรวนอย่างไร ถ้าเรารักษาใจให้มั่นคงได้ด้วยสติและด้วยธรรมะข้ออื่น ๆ เราก็สามารถจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างปกติสุข แม้ว่าอะไร ๆ รอบตัวมันจะไม่เที่ยงก็ตาม -
31 ส.ค. 67 - รู้จักทักท้วงใจ : การรู้จักวางเฉยหรือเมินต่ออนิฏฐารมณ์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะรู้จัก พูดอีกอย่างคือ รู้จักทักท้วงใจที่ไปวุ่นวาย ไปคอยเจ้ากี้เจ้าการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้ารู้จักวางเฉยหรือเมินมัน หรือว่าถ้าจะรู้ก็แค่รู้ซื่อ ๆ ก็ไม่ทุกข์ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกเหมือนกัน
นอกจากการรู้เท่าทันกิเลสแล้ว ต้องรู้จักทักท้วงใจเวลาไปหมกหมุ่น จดจ่อ ใส่ใจ หรือไปโรมรันพันตูกับอนิฏฐารมณ์ที่เกิดขึ้น ฝึกใจให้รู้จักวางเฉยกับมันบ้าง รู้ซื่อ ๆ รู้โดยที่ไม่ผลักไส และไม่ไหลตาม ซึ่งถ้าเราทำได้ก็ช่วยทำให้ไม่เพียงแต่การปฏิบัติของเราจะก้าวหน้าเท่านั้น แต่ว่าเราจะอยู่ได้อย่างสุขสบายมากขึ้น แม้ว่าจะมีอะไรต่ออะไรที่ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจเกิดขึ้น แต่ทำอะไรใจเราไม่ได้ เพราะเรารู้จักทักท้วงใจ -
28 ส.ค. 67 - ไม่มีอะไรทำให้ทุกข์เท่ากับความหลง : ความตายก็ไม่ได้ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับความหลงว่ากูจะตายแล้วหรือนี่ แทนที่ความตายจะเป็นแค่การแตกสลายของขันธ์ 5 ก็กลายเป็นว่ากูกำลังจะตาย ก็เกิดความทุกข์ใจบีบคั้นรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
ที่จริงอย่าว่าแต่ในยามที่หิวโหย เจ็บป่วย สูญเสีย หรือว่าใกล้ตายเลย แม้จะมีทรัพย์มากเพียงใด ตราบใดที่ยังมีความหลงอยู่ มันก็ยังทุกข์ หลงยึดว่าทรัพย์เหล่านั้นเป็นสรณะ เป็นคำตอบของชีวิต หลงยึดว่ามันเป็นตัวสุข ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่เจือไปด้วยทุกข์ หรือว่าเป็นตัวทุกข์ก็ว่าได้ หรือไปหลงคิดว่ามีเท่านี้ยังไม่สุขหรอก ต้องมีมากกว่านี้ถึงจะมีความสุข แค่คิดแบบนี้ก็ทำให้ทุกข์แล้ว แม้จะมีทรัพย์สินมากมายสิบล้านร้อยล้าน ความหลงจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ความหลงแบบนี้เราเรียกว่าอวิชชา คือการไม่รู้ความจริง พอไม่รู้ความจริงว่า มันไม่มีกู มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ ฉะนั้นพอหิว ไม่ใช่แค่กายหิว ก็เกิดกูเป็นผู้หิว แล้วเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ความเจ็บป่วยก็เหมือนกัน เพราะไม่เห็นความจริง ไม่รู้ความจริงว่ามันไม่มีกู มีแต่รูปกับนาม พอไปปรุงตัวกูขึ้นมา ก็เลยไม่ใช่แค่กายป่วย ใจก็ป่วยด้วย พอกูป่วยขึ้นมา ใจก็พลอยทุกข์ตามไปด้วย -
27 ส.ค. 67 - อย่าทำด้วยความงมงาย : การฝึกสติก็คือรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ เพราะฉะนั้นการที่มันมีความคิดผุดขึ้นมา การที่มันมีอารมณ์ผุดขึ้นมามันก็เป็นข้อดี บางคนก็ถูกสอนมาว่า การภาวนานี่ต้องอยู่กับปัจจุบัน ไม่ให้ใช้ความคิด ไม่ให้คิดถึงอนาคต มันก็ถูกถ้าเป็นการเจริญสติ
แต่การภาวนาบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาท อย่างเช่นการเจริญมรณสติ ก็จะน้อมใจให้เรานึกถึงอนาคต ที่จะต้องเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราในอนาคต นั่นก็คือความตาย ตอนนี้เรายังไม่ตายแต่ว่าวันหน้าเราต้องตายแน่ นึกเอาไว้จะได้เกิดความไม่ประมาท ฉะนั้นการเจริญมรณสติมันไม่ใช่เป็นการที่รู้สึกตัวอยู่กับการกระทำในปัจจุบันแต่เป็นการนึกถึงอนาคต นึกถึงความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นกับเรา นึกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเรา เหมือนกับที่เราสวด อภิณหปัจจเวกขณ์ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ ความแก่คือสิ่งที่จะเกิดกับเราในอนาคต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ ตอนนี้เรายังปกติดีอยู่แต่อนาคตเราต้องเจ็บไข้เจ็บป่วย นึกเอาไว้ มันจะได้ไม่ประมาท เพราะฉะนั้นการภาวนาบางอย่าง อย่างที่ว่านี้เป็นการนึกถึงอนาคตแต่ชวนให้เราเกิดความไม่ประมาท -
26 ส.ค. 67 - ยิ่งไม่ชอบ ยิ่งยึดติด : ถ้าเราปล่อยใจไปตามธรรมชาติ มันก็จะมีแต่ความทุกข์ เพราะว่าใจมันก็จะไปหาเรื่องทุกข์มาใส่ตัว มันจะทำสิ่งที่เรียกว่าไม่มีเหตุไม่มีเหตุผลเลย ทำไมยิ่งไม่ชอบ ทำไมจึงไปใส่ใจกับสิ่งนั้น ทั้ง ๆ ที่ยิ่งใส่ใจก็ยิ่งเป็นทุกข์ในเมื่อไม่ชอบ ในเมื่อไม่อยากให้มันมีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา แต่ทำไมจึงไปยอมให้มันมีอำนาจเหนือเรา
อำนาจที่มีเหนือเราก็เกิดขึ้นง่าย ๆ คือ การที่ไปจดจ่อใส่ใจกับมัน แต่พอเราเมินมัน มันก็มีอำนาจเหนือจิตใจเราได้ยาก หรือว่าเราก็วางใจเป็นกลางกับมัน เรียกว่าเฉย ๆ ก็คือรู้ซื่อ ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้แต่ว่าเฉย มันก็เลยทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความฟุ้งซ่าน ต้องกลับมาสังเกตใจของเรา อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากการที่พบว่า เอ๊ะ ทำไมในเมื่อเราไม่ชอบ ไม่ชอบใคร ไม่ชอบสิ่งใด ไม่ชอบอารมณ์ใด แต่ทำไมจึงไปจดจ่อใส่ใจกับมัน อย่างนี้เรียกว่ารักตัวเองหรือเปล่า หรือว่าเป็นการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง -
25 ส.ค. 67 - ยิ่งอยากได้ ยิ่งไม่ได้ : อย่างที่เราสวดทุกเช้าว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ เวลาไม่สงบแล้วอยากสงบ พอมันไม่สงบอย่างที่อยาก ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ นั่นแหละคือสมุทัยที่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา แต่พอไม่อยากสงบ หรือว่าไม่ได้กระตือรือร้นที่จะให้มันก็สงบ มันก็สงบลงได้
ธรรมชาติของใจหรือธรรมชาติของชีวิตมันเป็นแบบนี้ ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ คนที่ป่วยถ้ายิ่งอยากหายป่วยมันยิ่งป่วยนานขึ้น หรือว่าอาจจะป่วยหนักกว่าเดิม เพราะอะไร เพราะว่าพออยากหายป่วยแล้วมันไม่หาย ก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความกังวล เกิดความเครียด โวยวายตีโพยตีพาย ทำไมมันไม่หายป่วยสักที บางทีก็อ้างว่าฉันอุตส่าห์ทำบุญมาเยอะ ฉันก็รักษามามาก ดูแลตัวเองมาเยอะ ทำไมยังป่วยอยู่ ตัดพ้อต่อว่าสารพัด ก็อันนี้แหละเป็นตัวการที่ทำให้ป่วยนานขึ้น หรือป่วยหนักขึ้น เพราะว่าพออยากหายป่วยแล้วมันไม่หาย มันก็ยิ่งเกิดความเครียด เกิดความหงุดหงิด ตัวนี้แหละคือตัวซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ ความทุกข์ใจมันก็มีส่วนทำให้กายมันแย่ลง แต่คนที่เขาทำใจได้ ถึงขั้นว่า เออ ตายก็ได้หายก็ดี ปรากฏว่ากลับอาการดีขึ้น บางคนหายเลยก็มี -
24 ส.ค. 67 - โชคดีที่ได้บวช : ถ้าเรามีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง การบวชให้ดี บวชให้ถูกศีลถูกธรรม มันก็กลายเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าไม่มีความสุขแล้ว อย่าว่าแต่การบวชให้ดีเลยนะ แม้กระทั่งการบวชไปได้นาน ๆ ก็กลายเป็นเรื่องยากเพราะมันทรมาน ทรมานจากการที่ต้องอดกลั้น อดกลั้นในการหาความสุขมาปรนเปรอตน หรือว่าบางคนก็ยังอดกลั้นไม่ไหว ก็ไปเผลอหาความสุขจากการเสพ จากการสัมผัส มาปรนเปรอตนจนผิดศีล ผิดวินัย ก็เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ยิ่งยากกว่า
ก็พูดทำนองนี้แหละ ถ้าอยากรู้ว่าพูดอะไรบ้างเต็ม ๆ ก็คอยดูคลิปที่เขาจะปล่อยออกมา รวมทั้งคลิปของพระรูปอื่น แม่ชีและภิกษุณี ผู้จัดเขาก็จะปล่อยออกมาในเร็ว ๆ นี้ ก็จะได้ดูเต็ม ๆ เพราะที่พูดมานี้ก็พูดแบบย่อ ๆ แล้วก็ปิดท้ายด้วยเทศน์ของหลวงพ่อพุทธทาส เขาเอาไมโครโฟนที่ท่านเคยใช้ที่สวนโมกข์นี้มาตั้งไว้บนเวที หลายคนบอกว่า เห็นไมโครโฟนแล้วมันให้ความรู้สึกมากเลย เหมือนกับว่าท่านกำลังมาพูด ที่ท่านพูด มีตอนหนึ่งท่านบอกว่า การได้บวชเป็นโชคดีนะ ที่ทำให้ชีวิตชาติหนึ่งมันมีค่าอย่างที่สุด ผมโชคดีมากเลยที่ได้บวช ถ้าไม่ได้บวช ก็คงจะไม่มีโอกาสได้ทำให้ชีวิตมีคุณค่าอย่างที่ได้บวช ท่านก็พูดถึงว่าการบวชนี้มันมีคุณค่าต่อท่านอย่างไรบ้าง ทำให้ท่านได้เรียนรู้ในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ได้รู้ และทำให้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้อย่างที่ฆราวาสทำไม่ได้ ก็พูดประมาณ 7 นาที 8 นาที เป็นการปิดท้าย หลายคนบอกว่าเป็นการปิดท้ายที่น่าประทับใจมาก เพราะทำให้เกิดศรัทธาในการทำความดี ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพระแต่ว่าก็เกิดศรัทธาในการฝึกฝนตน -
23 ส.ค. 67 - ธรรมะจากพระหนุ่ม : ท่านพูดไว้น่าสนใจอย่างหนึ่ง ท่านพูดว่า “ธรรมะนี้ไม่ทิ้งใครนะ” จากประสบการณ์ของท่านเอง ท่านเป็นคนที่ท่านใช้คำว่าไม่ค่อยเอาไหน แต่ปรากฏว่าธรรมะก็ไม่ได้ทิ้งท่านเลย คนอย่างท่านก็ยังได้ประโยชน์จากธรรมะได้
ท่านบอกว่า “ไม่มีใครที่ไม่ดีพอสำหรับธรรมะ แม้จะแย่แค่ไหน ก็ยังมีดี ที่ได้ประโยชน์จากธรรมะได้ ถ้ามีกัลยาณมิตร” ก็เป็นคำพูดที่น่าสนใจมาก อันนี้พูดจากประสบการณ์ของตัวท่านเอง ว่าแม้ท่านจะดูเกเร แต่ท่านก็ได้ประโยชน์จากธรรมะเยอะ ชีวิตเปลี่ยนได้ก็เพราะธรรมะ จึงบอกว่าธรรมะนี่ไม่ทิ้งใครแม้แต่คนเดียว ไม่มีใครที่ไม่ดีพอสำหรับธรรมะ ท่านก็ยังบอกอีกนะว่า เวลาเราเห็นพระรูปใดที่น่าเคารพ ขอให้เรามองไปว่า เบื้องหลังของท่านนั้นมีคนที่เสียสละมากมาย เช่น พ่อแม่ คนเหล่านี้ต้องทุกข์ ทุกข์เพื่อที่จะให้มีพระดีๆ 1 รูป เพราะฉะนั้น มองไปให้ลึกให้ไกลถึงคนที่เขาเสียสละ พ่อแม่พี่น้องที่เขาทุกข์ เพื่อที่จะได้มีพระที่ผู้คนศรัทธา -
23 ส.ค. 67 - ประพฤติธรรมตามรอยหลวงพ่อ : ไม่เป็นไร อะไรก็ได้ ช่างหัวมันเถอะ” อันนี้ไม่ใช่ใช้กับเฉพาะคนหรือเสียงที่มากระทบหูเรานะ แต่ควรใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ในหัวของเราด้วย ยอมให้มันเกิดขึ้นได้ อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าใจก็เหมือนกับศาลาหลังนี้ ใครจะมาใช้ ใครจะมาพัก ใครจะมานั่ง ใครจะมาอาศัยก็ได้ จะเป็นคนรวย จะเป็นคนจน จะเป็นคนติดยา จะเป็นพระ ก็สามารถจะมานั่งบนศาลานี้ได้ เพราะมันไม่ใช่ของเรา เราจะไปสั่งให้คนนี้ห้ามใช้ คนโน้นใช้ได้ ไม่ได้ ศาลานี้หรือถ้าพูดให้ชัดคือที่พักริมทาง มันไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นใครจะมาพัก ใครจะมาใช้ประโยชน์ เราก็ยอมรับ ก็แค่ดูเฉยๆ ใจมันไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น อะไรเกิดขึ้นก็ยอมให้มันแสดงตัวออกมา เราก็แค่ดูมัน อันนี้เรียกว่ารู้ซื่อๆ ไม่ไปขับไล่ ไม่ไปไสส่ง
แล้วยิ่งดีกว่าก็นั้นคือว่า หาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นความโกรธ ความหลง ความทุกข์ ความหงุดหงิดก็มีประโยชน์ หลวงพ่อบอกว่ามันเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกตัว อุปกรณ์สอนให้เกิดสติที่รวดเร็วฉับไว ถ้าเรารู้จักอนุญาตให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ในใจเรา ต่อไปมีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวเรา เราก็อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ไม่คาดหวังว่าต้องเป็นอย่างอื่น ยอมรับได้ ที่ไม่ดีก็แก้ไขกันไป แต่ว่าขณะที่มันเกิดขึ้น ก็ก็ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะโวยวายตีโพยตีพาย ต่อไปเมื่อถึงเวลาแก่ก็ยอมรับได้ อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ถึงเวลาเจ็บป่วยก็ยอมรับได้ อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้กับกายนี้ แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย และนั่นแหละ ถึงเวลาที่เราจะตาย เราก็อนุญาตให้ความตายเกิดขึ้นกับเรา หรืออนุญาตให้ร่างกายนี้มันหมดลมได้ ความตายจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเรานับถือหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ จำเป็นมากที่เราจะต้องประพฤติและปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมตามรอยท่าน ไม่ใช่เอาท่านเป็นแค่ที่พึ่งทางใจ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่อาจจะเป็นที่พึ่งทางใจเราได้เท่าไรแล้ว แต่ท่านจะเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตของเราได้ ที่จริงท่านไม่ใช่แสงสว่างนำทางชีวิตนะ ท่านเดินนำทางเราไปเลย หน้าที่ของเราก็คือเดินตามท่าน ประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรมตามรอยท่าน นี่แหละที่เรียกว่าเป็นการบูชาคุณหลวงพ่ออย่างแท้จริง - Visa fler