Avsnitt

  • 28 มี.ค. 67 - สัจธรรมต้องคู่กับจริยธรรม : ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะเข้าถึงสัจธรรมความจริง ก็อย่าทิ้งธรรมะในระดับจริยธรรม ต้องฝึกด้วย จะเป็นบันได เป็นพื้นฐานให้เข้าถึงความจริงขั้นสูง และเช่นเดียวกัน เวลาเราทำความดีหรือปฏิบัติธรรมในระดับจริยธรรม ก็จำเป็นที่เราจะต้องมีความเข้าใจเรื่องสัจธรรมความจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะท้อในการทำความดี ทำความดีไม่ตลอด

    เพราะฉะนั้น จริยธรรมกับสัจธรรม จึงเป็นของคู่กัน สัจธรรมเป็นตัวทำให้การปฏิบัติระดับจริยธรรมหรือการทำความดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และนำความสุขสวัสดีมาให้กับเราเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน เมื่อจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงแล้ว การปฏิบัติระดับจริยธรรมก็อย่าไปมอง อย่าไปดูแคลนว่าเป็นเรื่องต่ำ เพราะอันที่จริงก็เป็นพื้นฐานที่จะช่วยรองรับให้จิตใจของเราพัฒนา จนกระทั่งเข้าถึงภาวะที่ไม่มีตัวไม่มีตน หรือไม่มีความยึดถือในตัวตนได้ เรียกว่าเข้าสู่ภาวะที่เป็นปรมัตถ์ หรือเข้าใจเรื่องปรมัตถ์ได้อย่างแท้จริงซึ่งก็ทำให้พัฒนาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้
  • 27 มี.ค. 67 - ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ : การที่คนเรารู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไปคาดหวังกับสิ่งที่ควรอยากให้สิ่งต่างๆ เป็นไปยังที่ควรจะเป็น แต่ไม่สามารถที่จะยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ตรงนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมา เกิดความทุกข์ แล้วสุดท้ายมันก็ไปคาดหวังกับตัวเองด้วย ไม่ได้คาดหวังคนอื่นอย่างเดียว

    คนที่มาเจริญสติ ปฏิบัติที่นี่หลายคน เขาก็รู้ ว่าความสงบเป็นสิ่งที่ดี แต่พอมาปฏิบัติก็คาดหวังว่าจิตจะต้องสงบ ไม่คิดอะไร ไม่ฟุ้งซ่าน แต่พอมีความคิดขึ้นมาก็ยอมรับไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจตัวเอง หรือบางครั้งมันมีจิตคิดในทางลบต่อผู้มีพระคุณ หรือว่ามีอารมณ์บางอย่างซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น เช่น ความโลภ ความโกรธ ราคะ พอมันเกิดขึ้นมาก็ทำใจยอมรับไม่ได้ เพราะมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ความคิดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับเรา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่สามารถยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นได้ แค่มีความฟุ้ง ความคิดมันผุดขึ้นมาเยอะแยะ มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นเลย เราอุตส่าห์ปฏิบัติมาตั้งหลายวันแล้ว ทำไมยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ความจริงกับความคาดหวังมันสวนทางกัน ในเมื่อยอมรับความจริงหรือความเป็นจริงไม่ได้ มันก็เลยเกิดความทุกข์ ทั้งที่ถ้าเกิดยอมรับความเป็นจริงได้ มันเกิดขึ้นก็แค่ยอมรับแล้วก็แค่รู้ แค่รู้เฉย ๆ การเจริญสติท่านก็สอนให้แค่รู้เฉย ๆ หลวงพ่อคำเขียนเคยบอกว่า คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง บางคนพอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง กับพ่อแม่ กับครูบาอาจารย์ เป็นทุกข์มากเลย อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะความเป็นจริงบางครั้งมันก็ห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็น แต่เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ เพราะถ้าไม่ยอมรับ เราก็จะทุกข์มาก
  • 26 มี.ค. 67 - ปล่อยเมื่อไหร่ ทุกข์หลุดเมื่อนั้น : ที่จริงแล้ว เพียงแค่ลิงคลายมือออก มันก็เป็นอิสระแล้ว เพราะพอคลายมือออกมันก็จะดึงมือออกมาจากช่องเล็ก ๆ นั้นได้ แต่ลิงไม่ยอมคลาย มันกำแน่น เพราะอะไร เพราะมันหวงถั่วในมือของมัน จึงถูกจับได้ในที่สุดจะว่าไปแล้ว ชะตากรรมของลิงเหล่านี้ไม่ได้ต่างจากคนเราเลย จริงอยู่คนเราอาจไม่ได้กำอะไรที่มือ แต่ใจนั้นกำไว้แน่น พอกำไว้แน่น ความทุกข์จึงตามมา ที่จริงเพียงแค่คลายหรือปล่อย เราก็เป็นอิสระจากทุกข์ได้ แต่คนเราส่วนใหญ่เหมือนกับลิง คือ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมคลาย กำไว้อย่างนั้น ไม่ได้กำที่มือ แต่กำที่ใจ เรียกว่ายึดติด

    ความทุกข์ของคนเราเมื่อถึงที่สุดแล้วก็เกิดจากความยึดติด เป็นเพราะใจเรากำไว้ไม่ยอมปล่อย ทุกข์กายนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ สารพัด เช่น อากาศร้อน อากาศหนาว เชื้อโรค อาหารเป็นพิษ มลภาวะ หรือภัยธรรมชาติ หรือมีคนมาทำร้าย แต่ถ้าเป็นทุกข์ใจแล้ว สาเหตุมีอยู่ประการเดียว ถ้าสาวไปให้ถึงที่สุด ก็คือความยึดติด หลวงพ่อชา สุภทฺโท สรุปไว้ดีมาก ท่านว่า “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหลุด ทุกข์หยุดเพราะปล่อย” คนเราก็เหมือนกับลิง ถ้าลิงเพียงแค่คลายมือ ปล่อยถั่ว มันก็เป็นอิสระได้ แต่เพราะคนเราไม่ยอมปล่อย ทั้งที่สิ่งที่ยึดเอาไว้นั้นบางครั้งเป็นอดีตไปแล้ว
  • 25 มี.ค. 67 - ความร้อนสอนธรรม : ความรู้สึกว่าร้อนเป็นเวทนา ในยามนี้สำหรับคนส่วนใหญ่ก็คือทุกขเวทนา แต่ถ้าเกิดใจบ่นว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” อันนี้มันเจือไปด้วยความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ตรงนี้เป็นสังขารแล้ว เวทนาอย่างเดียวเราจะมองว่าเป็นสัญญาก็ได้ เวทนาก็ได้ สังขารก็ได้

    มันสำคัญยังไง สำคัญตรงที่ว่าเวลาเรารู้สึกร้อน แล้วมันไม่ใช่แค่รู้สึกร้อน แต่ใจมันบ่นว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” ตรงนี้มันแปลว่าไม่ใช่กายที่ร้อนอย่างเดียว ใจก็ร้อน ไม่ใช่กายที่ทุกข์อย่างเดียว ใจก็ทุกข์ด้วย แล้วถ้าเราปล่อยให้ใจทุกข์ มันก็เหมือนกับว่าทุกข์ 2 ชั้น หรือว่าร้อน 2 ต่อ ร้อนกายแล้วก็ร้อนใจ ถ้าร้อนแล้วมันทำให้ทุกข์กาย แล้วก็ทุกข์ใจตามไปด้วย ในเมื่อจะร้อนทั้งที ก็ให้มันร้อนอย่างเดียวคือร้อนกายแต่ว่าใจอย่าร้อน ในเมื่อมันทุกข์ ก็ให้ทุกข์แค่กายแต่ว่าใจอย่าทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ปล่อยให้ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ ร้อนทั้งกาย ร้อนทั้งใจ แทนที่จะรู้สึกว่าร้อนเท่านั้น ใจมันก็บ่นว่าร้อน ร้อน มีความหงุดหงิด มีความไม่พอใจ เราเห็นไหม เห็นใจที่มันบ่นไหม เห็นใจที่มันหงุดหงิดไหม เห็นใจที่มันโวยวายไหม ถ้าไม่เห็นนี้ขาดทุน เพราะถ้าไม่เห็น มันก็ทุกข์ 2 ต่อ ทุกข์กายด้วย ทุกข์ใจด้วย ร้อนทั้งกาย ร้อนทั้งใจ และถ้าไม่เห็น ไม่เห็นว่าใจมันบ่น ใจมันโวยวายตีโพยตีพาย นอกจากจะแยกไม่ออกระหว่างสัญญา เวทนา และสังขาร ที่สำคัญก็คือ กลายเป็นทุกข์ฟรี ๆ
  • 23 มี.ค. 67 - ของดีอยู่ข้างหน้า อย่ามองข้าม : ที่จริงไม่ใช่เฉพาะสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตเราก็ต้องรู้จักปล่อย รู้จักวางบ้าง ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นตัวขัดขวางการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่างเช่นปฏิบัติธรรม เมื่อวานนี้เราปฏิบัติได้ดีมากใจสงบ มันรู้สึกตัวมากเลย แล้วเราก็เพลินหรือว่าเกิดความติดใจในภาวะอารมณ์แบบนั้น อยากให้มันเกิดขึ้นอีกในวันนี้ แต่พอทำวันนี้แล้วมันไม่ได้อย่างที่ เหมือนเมื่อวาน ก็เกิดความหงุดหงิดเกิดความไม่สบายใจ เกิดความไม่พอใจ

    บางคนทุกข์มากเลย ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันก็ไม่ได้แย่อะไร แต่เป็นเพราะว่าไปติดใจกับอารมณ์การปฏิบัติของเมื่อวาน แล้วก็อยากให้มันเกิดขึ้นในวันนี้ ความอยากให้มันเกิดขึ้นวันนี้อย่างที่เป็นเมื่อวาน มันก็แสดงว่าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว ถ้ายังอยู่กับปัจจุบันมันก็ต้องวางให้หมด เมื่อวานนี้เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องของเมื่อวาน วันนี้เราจะอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วเราก็จะพบว่าถ้าเราวางเหตุการณ์ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ได้
  • 22 มี.ค. 67 - จิตที่ฝึกไว้ดี มีความสุขเป็นรางวัล : ปกติเราชอบมองออกไปข้างนอก แล้วเราส่งจิตออกนอก ซึ่งก็ทำให้เราเผลอปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ เล่นงานจิตใจ เผาลนจิตใจด้วยความโกรธ กรีดแทงใจด้วยความเกลียด หรือหนักอกหนักใจเพราะแบกโน่นแบกนี่ เพราะเราไม่รู้จักมีสติเห็นใจของตัว เพราะมัวแต่ส่งออกนอก เราต้องหันกลับมาดูใจของเราอยู่เสมอซึ่งจะทำได้นี้มันก็ต้องทำเป็นนิสัย แล้วนิสัยจะเกิดขึ้นได้ต้องทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ

    และไม่ใช่แค่ปฏิบัติที่นี่ กลับไปบ้านเราก็ปฏิบัติได้ เช่น เวลาเก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า แทนที่จะปล่อยใจลอยคิดโน่นคิดนี่ ก็กลับมารู้สึกตัว หรือว่าฝึกใจให้เห็นความคิดที่มันเกิดขึ้น ขณะที่ทำนั่นทำนี่ รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง หมายถึงรู้ความคิดว่ามันเผลอคิดไป รู้แล้วก็วาง วาง ถ้าทำอย่างนี้บ่อยๆ แม้กระทั่งเวลากินข้าว เราก็มีสติกับการกินข้าว ไม่ใช่ปากเคี้ยวแต่ใจไม่รู้ คิดไปโน่นคิดไปนี่ แต่ถึงคิดไปก็พาใจกลับมาบ่อยๆ อันนี้จะเป็นการสร้างนิสัยใหม่ที่จะทำให้เรานี้มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ แล้วก็จะช่วยให้อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเล่นงานจิตใจ สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจเราได้น้อยลง แล้วตรงนี้ที่มันจะช่วยให้เรารู้จักสลัดความคิด สลัดอารมณ์ หรือปล่อยวางอารมณ์ ปล่อยวางความทุกข์ออกไปจากใจได้เร็ว ฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้บ่อยๆ ก็เรียกว่าเรามีจิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว และอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส “จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้” หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่พาเอาทุกข์มาทับถมใจของเรา ฝึกจิตเอาไว้ให้ดีก็จะมีความสุขหรือความปกติเป็นรางวัล
  • 13 มี.ค. 67 - เสียคนเพราะหลงตัวกู : การลดความยึดว่าเป็นของกูและตัวกู มันทำได้เยอะเลย แม้กระทั่งการให้ทาน การสละสิ่งของที่เรารัก สิ่งของที่มีค่า ก็เป็นการลดความยึดในของกู หรือการทำใจเป็นกลาง เวลาความคิดของตนไม่มีคนเห็นด้วย เวลาความคิดที่เราพูดไปมีคนแย้ง ก็ถือว่าดี ถือว่ามันได้มาช่วยขัดเกลาความยึดมั่นในของกู สังเกตใจของตัวไปด้วย

    เวลาคนเขาแย้งความเห็นของเรา ใจมันกระเพื่อม ใจมันไม่พอใจหรือเปล่า อันนี้แสดงว่าเรายังมีความยึดในความคิดความเห็นอยู่ เรียกว่าที่ทิฏฐุปาทาน ยึดในสิ่งของทรัพย์สมบัติ เรียกว่ากามุปาทานถ้ายึดในตัวกู หรือยึดในความเชื่อว่ามีตัวกู หรือความยึดมั่นว่าตัวกู เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ตัวนี้ไถ่ถอนยากที่สุด แล้วถ้าเราไม่ลดมัน นอกจากเราจะไปสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น อย่างตัวอย่างที่เล่ามา ถึงขั้นไปทำร้ายคนที่เรารัก หรือคนที่เราไม่รู้จัก บางทีเราเองนั่นแหละจะทุกข์เอง ทุกข์เพราะยึดอะไรต่ออะไรว่าเป็นของกูยึดว่าความทุกข์เป็นกู ยึดว่าความทุกข์เป็นของกู สิ่งที่ไม่ดี ความโกรธ ความเกลียด ความเจ็บความปวดนี่ไม่ดี แต่ทำไมเราไปยึดว่าเป็นของกู ความโกรธเป็นกู ความปวดเป็นของกู แล้วยิ่งยึดว่าเป็นของกู หรือเกิดกูผู้ปวดขึ้นมา เกิดกูผู้ทุกข์ขึ้นมา มันยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่เลย
  • 10 มี.ค. 67 - อย่าปล่อยให้เสียงในหัวรบกวนใจ : ปัญหาของจำนวนมากคือ พอมาพบธรรมะ บางทีก็ ติดดี ติดดีก็เลยยอมรับไม่ได้ว่า สมัยก่อน ตอนที่ยังเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เราไม่มีศีล เราไม่มีธรรม รู้สึกละอายตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมา

    อันนี้ไม่ใช่เป็นโทษของการมีธรรมะ แต่เป็นเพราะติดดีมากกว่า วางใจไม่เป็น ถ้าวางใจเป็นมันก็จะไม่ได้รู้สึกแย่อะไรกับตัวเองสมัยที่ยังเป็นหนุ่ม ก็ถือว่า เออ เรายังไม่มีประสบการณ์ เรายังอ่อนต่อโลก เราก็เลยพลั้งเผลอไป แต่ตอนนี้เราไม่ใช่แล้ว เราพบว่าอะไรเป็นคุณค่าของชีวิตแล้ว ก็น่าจะยินดีที่เรามืดมา สว่างไป ไม่ใช่พอสว่างไปแล้วก็มาโทษว่าทำไมตอนเด็กมันมืดอย่างนั้น น่าจะยินดีที่ตอนนี้เราพบทางสว่างแล้ว ถ้าเราวางใจให้เป็น คำว่า "ไม่น่าจะ" "ไม่น่าเลย" หรือ "น่าจะ" มันจะไม่รบกวนจิตใจเรา เราจะไม่เอาคำนี้มาใช้ในทางที่ผิด คือเอามาใช้กับเหตุการณ์ในอดีต แต่เราจะเอามาใช้กับสิ่งที่เราจะทำในวันข้างหน้า หรือกำลังจะทำในวันนี้ต่างหาก และนี่คือสิ่งที่ควรทำ
  • 9 มี.ค. 67 - มงคลสูงสูดของชีวิต : เมื่อเจอโลกธรรม จิตใจไม่หวั่นไหว มันทำได้ ที่จริงแล้วไม่ใช่โลกธรรมฝ่ายลบ โลกธรรมฝ่ายบวกก็เหมือนกัน เมื่อมันเกิดขึ้นก็อย่าไปเพลิดเพลินยินดีกับมัน ใครชมก็อย่าไปเคลิ้มคล้อย เวลาได้อะไรก็อย่าไปหลงใหลเพลิดเพลิน เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่เที่ยง คำชมเมื่อสูญไป หรือมีคำด่ามาแทนที่ ถ้าเราดีใจในคำชม เราก็ทุกข์ในคำด่าว่า

    ถ้าเราเพลินในการมี ถึงเวลาเสีย เราก็ทุกข์ ถ้าจะให้จิตไม่หวั่นไหวเมื่อโลกธรรมฝ่ายลบ ก็อย่าไปยินดีเมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายบวก เมื่อไม่ยินดีในโลกธรรมฝ่ายบวก ถ้ามันเปลี่ยนเป็นโลกธรรมฝ่ายลบ มันก็ไม่เกิดความยินร้าย นี่คือสิ่งที่เราฝึกได้ในชีวิตประจำวัน ข้อสำคัญก็คือว่า เราต้องเอาสิ่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต จิตของผู้ใดเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เป็นจิตไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ มงคลสูงสุดประการสุดท้ายควรจะเป็นจุดหมายสำคัญของชีวิต แล้วก็เป็นจุดหมายสำคัญของการปฏิบัติของเรา ถ้ายังหวั่นไหวใจกระเพื่อมเพราะเจอโลกธรรมฝ่ายลบ แสดงว่าเรายังต้องฝึกต่อไป อย่าไปโทษคนนั้นคนนี้ แต่ให้รู้ว่า เป็นเพราะเรายังปฏิบัติได้ไม่ก้าวหน้าพอ แค่นี้มันก็ช่วยทำให้เราเกิดความเพียรในการปฏิบัติต่อไป แต่ถ้าเราไปโทษคนนั้นคนนี้ เราก็ไปไม่ถึงไหน
  • 8 มี.ค. 67 - ใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า : ถ้าคนเราตระหนักว่า เวลาเราเหลือน้อย เราก็จะเห็นความสำคัญของการที่ไม่ไปเสียเวลามากกับเรื่องราวต่างๆ ที่มันไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว ซึ่งแต่ก่อนตอนที่เรายังหนุ่มยังสาว เราก็จะพลอยหงุดหงิดหัวเสียกับมัน รถติดบ้าง ซื้อของไม่ได้ตามหน้าปกบ้าง หรือว่าไปกินอาหารแล้วมันไม่อร่อยสมราคาบ้าง แล้วมาหงุดหงิดหัวเสีย หรือใครมาส่งเสียงดัง เช่น เพื่อนบ้าน ก็ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเขา แล้วก็ไปหงุดหงิดหัวเสียจนนอนไม่หลับ นี่คือการปล่อยเวลาให้สูญไปอย่างไม่คุ้มค่า

    ถ้าในเมื่อเราต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า มันก็ควรรู้จักปล่อยวางเรื่องพวกนี้ ไม่ยอมเสียเวลาที่มีน้อยลงไปทุกทีกับเรื่องพวกนี้ แต่ใช้เวลาในการทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล ใช้เวลาในการเปิดใจรับความสุข ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ด้วยการทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล ปฏิบัติธรรม ฝึกจิตฝึกใจ ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่เฉพาะวันหน้าแต่รวมถึงวันนี้ด้วย เพราะถ้าเราฝึกปฏิบัติธรรมได้ดี เราจะปล่อยวางเรื่องไม่เป็นเรื่องได้ง่าย ถึงแม้จะไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน เราก็มีความสุข อาจจะมีความสุขกว่าคนที่ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แต่ก็หัวเสียกลับมา เพราะไม่รู้จักปล่อยหรือไม่รู้จักวางใจ แต่ถึงแม้เราจะอยู่บ้าน แต่เราก็มีความสุขได้เพราะรู้จักวางใจ อันนี้เรียกว่า “ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า” เป็นการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ดีกว่าการ “ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า” อย่างที่พูดๆ กัน
  • 6 มี.ค. 67 - สร้างสมดุลให้ชีวิตด้วยสติ : แต่ถ้ามีสติ เจริญสติมันก็จะทำให้เกิดความสมดุล เวลาทำประโยชน์ตนมากเกินไป มันก็จะทักท้วงว่าให้รู้จักนึกถึงผู้อื่นบ้าง หรือเวลาทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็มีสติ ไม่ทิ้งการรู้จักรักษาใจให้สงบ รู้จักการปล่อย การวาง อันนี้เรียกว่ามีความสมดุลระหว่างการทำกิจและการทำจิต

    ถ้าอยากให้ชีวิตเรามีความสมดุลในหลายระดับอย่างที่ว่ามานี้ มันไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่เจริญสติ ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ อย่างน้อย ๆ มันก็จะเกิดความเฉลียวใจว่าตอนนี้ชีวิตกำลังขาดความสมดุลไปแล้ว แล้วต้องกลับมาให้เกิดความสมดุลกับสิ่งที่ขาดไป เพราะฉะนั้นการเจริญสตินั้นมันจึงเป็นการปฏิบัติที่คุ้มค่ามาก ทำอย่างเดียวแต่ได้ประโยชน์หลายอย่างทีเดียว แม้จะไม่ใช่ประโยชน์ที่เป็นตัวเงินทอง แต่มันก็ทำให้ชีวิตเราสามารถที่จะเดินหน้าไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ได้ โดยเฉพาะจุดหมายที่เป็นกุศล
  • 4 มี.ค. 67 - เจออะไรก็อย่าลืมดูใจตน : ดังนั้นธรรมะสำคัญตรงนี้ ทำงานอะไรก็ตาม นอกจากความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต จะต้องมีสติ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้เราทำงานได้ดี ต่อเนื่อง ไม่เหยาะแหยะ แต่ยังช่วยทำให้เราสามารถเกี่ยวข้องกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย เกี่ยวข้องด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ทำให้เราสามารถที่ประพฤติตนได้อย่างถูกต้อง

    ใครเขาจะเป็นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เอาการกระทำของเขามาบั่นทอน ไม่ใช่แค่บั่นทอนความสุขของเรา แต่บั่นทอนความตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราให้ถูก ให้ดี ซึ่งถ้าหากว่าเราจะทำได้ก็อาจจะต้องบอกเพื่อนๆ ว่าอย่าไปท้อแท้ เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายแบบนี้ เขาทำไม่ถูกก็เป็นเรื่องของเขา ข้อสำคัญก็คือเราต้องทำให้ถูก เขาไม่รับผิดชอบก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราก็ยังรับผิดชอบต่อไป ไม่ใช่ว่าพอเขาทำไม่ถูก เราก็เลยท้อแท้ แล้วก็เลยบกพร่องในหน้าที่ ปล่อยปละละเลย ที่จริงอันนี้มันเป็นหน้าที่ที่จำเป็น แม้กระทั่งกับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ระหว่างพ่อแม่ลูก พ่อแม่จะเป็นอย่างไร บกพร่องในหน้าที่อย่างไร แต่ลูกนี้ก็ไม่คับแค้น หรือไม่ละเลยในการที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ถูกต้อง พ่อไม่ทำหน้าที่ ติดเหล้า แม่เล่นการพนัน แต่ลูกก็ยังมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่ใช่พอเขาทำตัวไม่ถูกต้อง ลูกก็เลยเลิกเคารพนับถือพ่อแม่ ไม่สนใจที่จะแสดงความกตัญญูรู้คุณ อันนี้ก็ไม่ถูก
  • 27 ก.พ. 67 - สุขสุดท้ายที่ปลายทาง : เราทุกคนรู้ว่าสักวันหนึ่งตนเองต้องตาย แต่ส่วนใหญ่แล้วยากที่จะทำใจยอมรับได้ มองเห็นความตายเป็นสิ่งเลวร้ายน่ากลัว จึงมีชีวิตเหมือนคนลืมตาย พยายามทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง จะได้ไม่ต้องนึกถึงความตาย แต่ในที่สุดก็หนีความตายไม่พ้น แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นก็ต้องประสบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเมื่อรู้ว่าความตายมาประชิดตัว เช่น พบว่าตนเองเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่ได้ ผลก็คืออยู่เหมือนตาย หรือรู้สึกตายทั้งเป็น เพราะไม่เคยเตรียมใจไว้เลย ครั้นถึงเวลาที่ต้องจากโลกนี้ไป ก็มีอาการหลงตาย คือตายอย่างทุรนทุราย เป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง

    ในเมื่อเราต้องตายอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับความตายและเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับความตายทุกขณะ ท่าทีดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เราเผชิญความตายได้ด้วยใจสงบเท่านั้น หากยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราด้วย ทำให้ใฝ่ในการทำความดี หลีกหนีความชั่ว ไม่หลงมัวเมาในทรัพย์สมบัติและเกียรติยศชื่อเสียง เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของชั่วคราว ไม่สามารถตามติดตัวไปได้เวลาตาย อีกทั้งไม่ช่วยให้จิตใจสงบเย็นได้เลยเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง การระลึกถึงความตายอยู่เสมอทำให้เราคลายความยึดติดทั้งสิ่งที่น่ายินดีและสิ่งที่ชวนยินร้าย (เช่น ความสูญเสีย ความบาดหมาง) จึงช่วยให้เรามีชีวิตที่ผาสุก โปร่งเบา และสงบเย็น กล่าวอีกนัยหนึ่งหากเรารู้วิธีตายดี ก็ย่อมรู้ว่าจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ในทางกลับกันการมีชีวิตที่ดีย่อมช่วยให้เราตายดีในที่สุด ชีวิตที่ผาสุกกับความตายที่สงบ หาได้แยกจากกันไม่
  • 24 ก.พ. 67 - คำสอนเพื่อชีวิตอันประเสริฐ : เดี๋ยวนี้เขามีหนังสือพูดถึงฮาวทู (How to) มากมาย ฮาวทูประสบความสำเร็จ แต่ว่าหนังสือประเภทที่ว่าฮาวทูในยามล้มเหลวไม่ค่อยพูดถึง ฮาวทูให้ชีวิตมีแต่ไต่สู่ความสำเร็จพูดกันเยอะ แต่ไม่ได้พูดถึงเวลาไม่สำเร็จจะรักษาใจอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนใน “การทำจิตให้ยิ่ง” เราต้องรู้จักฝึกจิตให้สามารถยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจ สิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจให้ได้ เพราะคือสิ่งที่เราต้องเผชิญอยู่เสมอ

    ทั้งหมดนี้ก็คือสาระสำคัญของโอวาทปาติโมกข์อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้ นั่นก็คือแผนที่สู่ชีวิตอันประเสริฐ หรือว่าเป็นคำสอนเกี่ยวกับชีวิตอันประเสริฐ ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ประเสริฐ ก็ต้องทำความเข้าใจ ธรรมทั้ง 6 ประการในโอวาทปาฎิโมกข์ โดยเฉพาะข้อสุดท้ายแล้วก็นำมาปฏิบัติในชีวิตจริง เวลาเจอสิ่งที่ถูกใจก็ไม่ได้ดีใจมาก เพราะว่าเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจก็จะไม่ได้เสียใจ หรือปล่อยจิตให้ตก วันนี้เราก็จะมาเวียนเทียนหลังจากการฟังธรรม เวียนเทียนที่วันนี้ เราจะเวียนเทียนด้วยกล้าไม้จะไม่ได้เวียนเทียนด้วยดอกไม้ธูปเทียนเหมือนก่อน เพราะว่าอยากจะให้เราได้ไม่เพียงแต่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า และพระรัตนตรัย แต่ก็ให้สำนึกในบุญคุณของต้นไม้ เพราะว่าต้นไม้นี้มีส่วนในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์นี้เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทั้งในอดีตแล้วก็ในอนาคต ต้นมะม่วง ต้นมะพร้าว ต้นมะเดื่อ ต้นประดู่ ต้นสน หรือว่าต้นกากระทิง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เคยเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าในอดีตทรงประทับในคืนก่อนการตรัสรู้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ รวมทั้งพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตก็มีการพยากรณ์ว่า พระองค์จะตรัสรู้ใต้ต้นกากระทิง ต้นไม้นี้มีความสำคัญมากต่อการตรัสรู้ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าในอดีตเท่านั้น รวมทั้งพระอรหันต์จำนวนไม่น้อย เพราะฉะนั้นเมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ขอให้ความระลึกถึงบุญคุณของต้นไม้ด้วย
  • 22 ก.พ. 67 - อย่าดูแคลนความเพียร : แล้วมันไม่ใช่แค่เห็นความคิด แต่มันรู้จักทักท้วงความคิดด้วย อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดไว้ หน้าที่ของสติอันหนึ่ง คือ การทักท้วงความคิด ไม่ถูกความคิดหลอก ไม่หลงเชื่อความคิดไปอย่างตะพึดตะพือ และไม่ใช่แค่เห็นความคิดอย่างเดียว เห็นความทุกข์ที่เกาะกุมใจ จนกระทั่งสามารถสลัดมันหลุดออกไปได้ เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งไม่ไปข้องแวะกับมัน

    ฉะนั้นถ้าเราไม่ไปข้องแวะกับมัน มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับมีไฟ มีกองไฟกองใหญ่นี้ถ้าเราไม่ไปกระโจนเข้าไปอยู่กลางกองไฟ เราก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน กองไฟมีอยู่แต่เราอยู่ห่างมัน เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร ไม่ได้แปลว่าต้องไม่มีกองไฟแล้วถึงจะไม่ทุกข์ไม่ร้อน มีก็ได้แต่ถ้าหากว่าเราอยู่ห่างจากมัน ก็ไม่ทุกข์ร้อนแต่อย่างใด อะไรทำให้ใจอยู่ห่างจากความโกรธ ความทุกข์ เหล่านั้นได้ ก็คือสติ ทำให้เกิดระยะห่าง ไม่ใช่ระยะห่างทางสังคมอย่างที่เรารู้จักในช่วงโควิด แต่มันเป็นระยะห่างทางจิตใจซึ่งเราจำเป็นต้องมี แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสติ มีความรู้สึกตัว การมีสติ การมีความรู้สึกตัว จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเกิดจากการปฏิบัติบ่อยๆ ปฏิบัติซ้ำๆ ปฏิบัติไม่หยุด แม้จะได้ผลทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเราไม่ไปดูถูกผลเล็กผลน้อยนั้น ทำความเพียรไม่หยุด มันก็จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน