Avsnitt

  • 8 มี.ค. 68 - รู้กายรู้ใจจนไกลทุกข์ : เพียงแค่เราเริ่มต้นจากการดูกายดูใจ แล้วขยับไปเป็นการดูเวทนา ต่อไปมันก็จะเห็นธรรม แล้วก็จะทำให้ออกจากทุกข์ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นลบ เมื่อมีการกระทบ ต่อไปก็จะสามารถรับมือกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

    รูปกระทบตา ก็สักแต่ว่าเห็น เสียงกระทบหู ก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ยึดติด ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไขว่คว้า และต่อไป แม้กระทั่งสิ่งที่มันเคยให้ความสุขกับเรา เงินทองทรัพย์สมบัติ คนรัก ก็ไม่ยึด เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นการภาวนาสำคัญมาก แม้ทำบุญรักษาศีล หรือหมั่นมาทำวัตร ใส่บาตร มันก็ดีแต่ว่าต้องไม่ทิ้งการภาวนา โดยเฉพาะพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติ หรือเรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติ จะทิ้งการภาวนาไม่ได้ และการภาวนาที่เป็นหัวใจก็คือสติปัฏฐาน 4 หรือการเจริญสติ
  • Saknas det avsnitt?

    Klicka här för att uppdatera flödet manuellt.

  • 7 มี.ค. 68 - ในดีมีเสีย : ถ้าเราไม่อยากแบกรับภาระมาก ก็ไม่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมาก พระพุทธเจ้าจึงสอนพระให้มีบริขารน้อยๆ มีบริขารน้อยๆ จะได้ไม่เป็นภาระมาก และจะได้ไม่ยึดติดกับบริขาร ถึงจะมีก็ต้องรู้ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทว่า นอกจากมันจะทำให้เกิดภาระมากขึ้นแล้ว มันก็ยังมีโทษ เพราะว่าพอไปยึดติดกับสิ่งนั้น แล้วพอมันเสื่อมสลายหายไป ก็ทุกข์ ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะการเสื่อมสลาย ก็มีให้น้อยๆ

    และถ้าจะมี ก็มีด้วยความไม่ประมาท เข้าใจว่า สิ่งที่มีมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ความสะดวกสบายที่ได้รับ มันตามไปด้วยภาระ แล้วก่อโทษ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักใช้อย่างมีสติ ท่านเรียกว่ามีมนสิการ มีปัญญาเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ เพราะโลกนี้ทุกอย่างมันมาเป็นเป็นแพ็กเกจ มันมา มันพ่วงติดกัน อันนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีก็เหมือนกัน สิ่งที่ไม่ดีมันก็พ่วงเอาสิ่งดีๆ มาด้วย อย่าไปคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีมันพ่วงหรือตามมาด้วยโทษ สิ่งที่เป็นโทษมันก็พ่วงสิ่งที่ดีเข้ามาด้วย ในทุกข์มันก็มีสุข ความยากลำบากนี้มันก็มีสิ่งดีๆ พ่วงติดมาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาใครเจอความยากลำบากนี้ก็อย่าไปตีอกชกหัว เพราะว่ามันก็นำสิ่งดีๆ มาให้กับเรา เหมือนกับที่หลายคนพบว่าความเจ็บป่วย โรคมะเร็งก็สามารถจะนำสิ่งดีๆ มาให้กับชีวิตได้หลายอย่าง อยู่ที่ว่าจะมองเห็นหรือเปล่า
  • 6 มี.ค. 68 - มองท้องฟ้าเห็นธรรม : สิ่งที่มันผ่านเข้ามาในชีวิตเรา มันก็มีทั้ง 2 อย่าง สิ่งที่ย่ำแย่เหมือนลูกกรง กับสิ่งที่ดีงามเหมือนกับท้องฟ้าที่สว่างไสว การที่เราเห็นทั้ง 2 อย่างเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากว่าเราไปติด หรือมองลบก็จะเห็นแต่ลูกกรง แล้วก็จะมีความทุกข์มากว่า ฉันติดคุกนี่ ฉันไม่มีอิสระ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ตีอกชกหัว

    แต่อีกคนหนึ่งไม่ยอมให้ลูกกรงนี้มาขวาง มาปิดบังความงดงามของท้องฟ้า ฉะนั้นเวลาเขาวาดรูป ก็วาดท้องฟ้าที่สวยงามโดยไม่มีลูกกรงเลย อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่า เราจะเลือกมองเห็นแต่ลูกกรง หรือเราเลือกที่จะมองเห็นท้องฟ้า บางคนเดี๋ยวนี้มองเห็นแต่ลูกกรง ทั้งที่มองเลยไปหน่อยก็จะเห็นท้องฟ้า แต่มองไม่เห็นท้องฟ้า ฉะนั้นต้องฝึกใจของเราให้รู้จักมอง มองให้ทะลุลูกกรงออกไปจนเห็นท้องฟ้า และถ้ามองเห็นไปถึงขั้นว่า ท้องฟ้าก็สอนเราให้รู้จักวางใจเป็นกลางต่อความคิด อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนกับท้องฟ้านี้อนุญาตให้เมฆนานาชนิดเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับเมฆเหล่านั้น เพราะรู้ว่าไม่นานเมฆก็จางหายไป และท้องฟ้าก็ยังเป็นท้องฟ้าเหมือนเดิม อันนี้เรียกว่ารู้จักทำใจให้สงบ โปร่งเบา หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ เห็นท้องฟ้าแล้วก็นึกถึงสัจธรรมความจริงว่าอะไร ๆ ต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เมฆกลายเป็นดอกไม้ กลายเป็นอาหารที่เรากิน แล้วกลายเป็นน้ำที่เราดื่ม อันนี้เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้นมา ไม่ใช่แค่จิตใจสว่าง โปร่งโล่ง ซึ่งจัดอยู่ว่าเป็นเรื่องของสมถะ แต่ยังเห็นสัจธรรมความจริง เกิดปัญญาขึ้นมาซึ่งเป็นเรื่องของวิปัสสนา ฉะนั้นท้องฟ้านี่สอนอะไรเราได้เยอะเลย ถ้าเรามองเป็น
  • 5 มี.ค. 68 - หาตัวช่วยเพื่อเสริมใจใฝ่ดี : หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเดินกลับไปกลับมา หรือทำไมเวลายกมือสร้างจังหวะต้องหยุดสักนิดหน่อย แต่ละจังหวะๆ ต้องหยุดสักนิด แล้วก็ไปต่อ นี่เป็นตัวช่วย เพราะถ้าหากว่ายกมือสร้างจังหวะเป็นสายยาวเลย มันเปิดช่องให้ความหลงเล่นงานได้ เพราะว่าคนเราเวลาใจลอย หรือกำลังมันกับความคิด มันจะยกมือเป็นสายเลย ไม่มีหยุด การที่เราหยุดสักพักหนึ่ง มันทำให้ความคิดสะดุด พอความคิดสะดุด ตัวหลงก็พลอยสะดุดไปด้วย เปิดช่องให้ตัวรู้หรือสติเข้ามาทำงานแทน เพราะฉะนั้นการกลับไปกลับมา หรือว่าการยกมือสร้างจังหวะแล้วหยุด แต่ละจังหวะๆ มันช่วย

    หรือแม้แต่การทอดสายตา ทำไมไม่มองไกลๆ ทำไมต้องมองที่พื้น นี่ก็เป็นตัวช่วย ช่วยไม่ให้มันฟุ้ง แต่ถ้าเดินช้ามันก็ทำให้เครียดง่าย เราต้องรู้จัก เวลาเราเจริญกรรมฐาน หรือว่าเราจะทำสิ่งดีงามก็ตาม มันต้องมีตัวช่วยเสมอ โดยเฉพาะสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต้องรู้จักหาตัวช่วย จะเป็นสถานที่ จะเป็นผู้คน เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นวิถีชีวิต หรือกติกาที่สร้างขึ้นมาเอง พวกนี้เป็นตัวช่วยได้ เวลาเราฟุ้งๆ เราก็หาตัวช่วยที่ทำให้ใจมันไม่ฟุ้ง เวลาง่วง หาตัวช่วย ทำอย่างไร ก็เอาน้ำล้างหน้า หรือไม่ก็มองไปที่ท้องฟ้ากว้างๆ เห็นแสงสว่างก็ช่วยทำให้หายง่วงหายเครียดได้ พวกนี้เป็นตัวช่วยที่เราต้องรู้จัก มันจะเป็นกำลังให้กับตัวรู้ สามารถเอาชตัวหลงได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักหาตัวช่วยให้กับตัวเอง ตัวช่วยสำหรับตัวรู้หรือตัวช่วยสำหรับใจใฝ่ดี ถ้ามันมีตัวช่วยอย่างนี้ มันก็ทำให้ใจเรามีพลัง มีความเข้มแข็ง เอาชกิเลส เอาชตัวหลงได้
  • 4 มี.ค. - ออกจากคุกทางใจ : คุกทางใจมีหลายอย่าง มีทั้งความเศร้าโศก ความเสียใจ ความรู้สึกผิด ความโกรธแค้นพยาบาท ความอาลัยอาวรณ์ แต่ทั้งหมดนี้มันต้องเริ่มต้นจากการเผชิญหน้ากับมัน ถ้าเรามีสติรู้จักวิชา “รู้ซื่อๆ” ดูมัน โดยไม่เผลอพลัดเข้าไปเป็นมัน หรือเข้าไปจมอยู่ในอารมณ์ มันก็ออกมาได้เหมือนกัน

    หรือเดี๋ยวนี้คุกที่ขังคน ขังใจคนจำนวนไม่น้อยคือความซึมเศร้า เป็นกันเยอะ เพราะว่าปล่อยใจให้ไปจมอยู่กับอารมณ์ต่างๆ หรือปล่อยใจให้ไปจมอยู่กับเหตุการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด พอหลุดออกมาไม่ได้ก็กลายเป็นจมดิ่ง เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมา ซึ่งก็เป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ให้กับผู้คน ที่ยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก ติดคุกที่มันก่อด้วยอิฐสร้างด้วยปูน ก็ยังไม่ร้ายเท่ากับติดคุกทางใจที่ว่า แต่ถ้าหากว่าสามารถเผชิญกับมันได้ ก็เป็นอิสระ อย่างที่ว่า หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีอารมณ์พวกนี้มันหนียาก โดยเฉพาะอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอดีตที่เจ็บปวด การที่คนเราสามารถจะหลุดจากอดีต กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ มันเป็นวิชาที่สำคัญมาก เพราะช่วยทำให้เรามีชีวิตเต็มร้อยอย่างแท้จริง ทุกวันนี้คนพูดถึงการมีชีวิตเต็มร้อย แต่ส่วนใหญ่หมายถึงการเที่ยว การสนุกสนานให้เต็มฟัดเต็มเหวี่ยง แต่จริงๆ แล้วการมีชีวิตเต็มร้อยคือการอยู่กับปัจจุบัน อยู่ด้วยความรู้สึกตัว ไม่หลงจมอยู่กับอดีต หรืออารมณ์ที่เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้า ความรู้สึกผิด หรือว่าความโกรธแค้นพยาบาท ถ้ายังอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ ยังจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ ก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นชีวิตที่เต็มร้อย จะเรียกว่ามีชีวิตจริงจังๆ ก็ยังไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นชีวิตที่หลงจมอยู่กับอดีต ไม่ใช่กับปัจจุบัน
  • 3 มี.ค. 68 - สงบได้แม้ใจกระเพื่อม : อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด มันเกิดขึ้นแต่เห็นมัน ไม่เข้าไปยึด ไม่มีผู้โกรธ ไม่มีผู้โศกผู้เศร้า มันก็ไม่ทุกข์ อันนี้ต้องฝึกให้ได้แม้ว่าเรายังไม่สามารถทำให้จิตไม่หวั่นไหวใจไม่กระเพื่อมเวลามีการกระทบเกิดขึ้น

    คนธรรมดาก็ย่อมมีอาการกระเพื่อม เวลาเจอเสียงดัง เวลาเจอคนต่อว่าด่าทอ เวลาสูญเสียทรัพย์ เวลาเจ็บป่วย แต่พอมันกระเพื่อมแล้วก็เห็นมัน เห็นแล้วก็วาง เห็นแล้วก็ปล่อย มันก็สงบลง เป็นความสงบที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะมีเสียงดังจากข้างนอกแต่เพราะมีอารมณ์ที่ไม่พอใจเกิดขึ้นข้างในก็ยังสงบได้ อันนี้คือความสงบที่เราควรจะรู้จัก
  • 2 มี.ค. 68 - เสียงในหัวคือตัวการก่อทุกข์ : เวลาใครทำอะไรไม่ถูกใจก็มีเสียงในหัวดัง เสียงพวกนี้เป็นตัวการแห่งความทุกข์มากกว่า เพราะว่าถ้าไม่มีเสียงนี้หรือเสียงมันสงบ เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ แต่พอปล่อยให้เสียงในหัวดังแล้วก็ไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก ไปหลงเชื่อมันบ้าง ไปตกอยู่ในอำนาจของมันบ้าง หรือไม่ก็ไปผลักไสมัน ต้องมีสติไว ไวเห็น ไวจนเห็นละเอียดพอที่จะได้ยิน รับรู้เสียงในหัวที่ดัง ที่จริงมันก็ไม่ใช่มีเท่านี้ มันมีเสียงที่มาล่อหลอกให้เราเกิดความโลภ หรือว่าหลอกให้เราหาสิ่งปรนเปรอสนองกิเลสสารพัด เราต้องรู้ทัน ฉับไวมากพอ คิดอย่างเดียวไม่พอมันต้องมีสติด้วย

    สติที่จะเห็น รับรู้เวลามีเสียงพวกนี้ดังขึ้นมา ใจมันก็กระเพื่อม ก็รู้ทัน แล้วก็แค่รู้ซื่อ ๆ มันก็เรียกว่าหมดพิษสง และไม่ช้าก็จะดับไป เสียงดังกระทบหูแต่เสียงในหัวไม่ดัง ใจก็สงบได้ ที่ใจไม่สงบมันไม่ใช่เพราะเสียงข้างนอกแต่เป็นเพราะเสียงในหัวต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความโกรธ ความกลัว ความโลภ พวกนี้ก็ทำให้จิตใจไม่สงบได้ เป็นทุกข์แม้ว่ารอบตัวจะราบรื่นหรือสงบสงัดก็ตาม
  • 1 มี.ค. 68 - ทักท้วงวิธิคิด ปิดทางกิเลส : ที่ว่าศึกษาธรรมไม่เป็นคืออย่างไร ก็คือศึกษาเพื่อยกตนข่มท่าน เพื่อกำราบผู้อื่นไม่ให้คิดแย้ง ไม่ให้ถกเถียง เอามาใช้ข่มคนอื่น หรือมิฉะนั้นก็เพื่อแสวงหาลาภสักการะ แสวงหาลาภสักการะมาสนองกามตัณหา แต่ว่าเพื่อยกตนข่มท่านมันสนองภวตัณหา ความเป็นใหญ่กว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น ไม่ได้ปรารถนาลาภสักการะ แต่ต้องการให้คนชื่นชมสรรเสริญ หรือทำให้ตัวตนมันพองโต

    แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติ เราก็จะเฉลียวใจ หรือว่าเห็นกิเลสตัวใหญ่ๆ มันซ่อนอยู่เบื้องหลัง ไม่หลงเคลิ้มคล้อยไปกับเหตุผล แม้จะสวยหรูเพราะว่ามีธรรมะมาเป็นเครื่องยืนยัน แต่ว่าก็ยังสามารถที่จะมองทะลุไปเห็นว่า ที่อ้างธรรมะนี่ มันเพื่อสนองหรือปรนเปรอกิเลส มันแยบคายมาก แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติเมื่อไหร่ เราก็จะรู้ทัน มันไม่ใช่ช่วยทำให้เราไม่มัวแต่คิดลบอย่างเดียว หัดรู้จักมอง หรือคิดในทางบวก มันมากกว่านั้น มันทำให้รู้เท่าทันกิเลส รู้เท่าทันตัวอารมณ์ที่มันแสดงออกมาด้วยการผลักดันของกิเลส เวลาโกรธ เวลาโลภ ก็รู้ว่ามันเป็นฝีมือของกิเลส หรือถึงแม้มองไม่เห็น ก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ จัดการด้วยความรู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้ความโกรธครองใจ ไม่ปล่อยให้ความโลภครองใจ หรือรวมถึงไม่ปล่อยให้ความคิดลบคิดร้ายมันครอบงำใจ จนกระทั่งสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง นอกเหนือจากการความทุกข์ให้กับผู้อื่น ฉะนั้น การหมั่นมองตนเป็นเรื่องสำคัญมาก หมั่นมองตน และหมั่นทักท้วง ว่าสิ่งที่เราทำคิด มันคิดดีแล้วหรือ หรือบางทีเพียงแต่รู้จักคิดสลับขั้วเท่านั้นแหละ ความทุกข์มันก็ลดไปเยอะ เปลี่ยนดินฟ้าอากาศไม่ได้ แต่ว่าเปลี่ยนมุมมองได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องลองหมั่นพิจารณาตัวเองอยู่เสมอ
  • 21 ก.พ. 68 - สันติวิหารในเรือนใจ : จึงอยากจะให้พวกเราตระหนักว่า สันติวิหารมันไม่ใช่แค่เป็นอาคาร ไม่ใช่เป็นสถานที่ แต่มันยังเป็นอุดมคติของเราทุกคน แม้เป็นฆราวาสจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสันติวิหารที่เป็นตึกเป็นอาคารได้ แต่เราจะได้อานิสงส์อย่างมากเลยถ้าเรามีสันติวิหารในเรือนใจ และไม่ว่าใจของเราที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร จะย่ำแย่แค่ไหน แต่ว่าเราสามารถที่จะสถาปนาให้เกิดสันติวิหารในใจได้

    สันติวิหารตึกนี้เมื่อปีที่แล้ว มันดูไม่ได้เลย ทั้งซกมก สกปรก มอซอ แล้วก็อันตราย คือถ้าใครไม่ได้เห็นภาพจะนึกไม่ออกว่าปีที่แล้วมันไม่น่าอยู่เอาเสียเลย แต่ตอนนี้ดูสิ น่าอยู่ ตึกที่โทรม ๆ มันซ่อมได้ มันรีโนเวต(Renovate) ให้ดีได้ ชีวิตของเรามันจะย่ำแย่อย่างไรที่ผ่านมา มันสร้างได้ รีโนเวตได้ จิตใจของเราที่ผ่านมาแม้มันจะย่ำแย่ สกปรก หม่นหมอง แต่เราสามารถทำให้กลับกลายเป็นเรือนสงบที่น่าอยู่ได้ มันอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่การฝึกจิต
  • 19 ก.พ. 68 - ดูแลพ่อแม่อย่างไรใจไม่ทุกข์ : เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ส่วนผู้ใหญ่ในวันนี้คือเด็กในวันหน้า ท่านก็หมายถึงคนแก่ก็เหมือนกับเด็ก ต้องการความเห็นใจ ขี้เหงา แล้วก็เอาใจตัว เป็นต้น บางที่ก็หดหู่ห่อเหี่ยวง่าย เจออะไรมากระทบบางทีก็ร้องไห้ หรือไม่ก็กราดเกรี้ยว จะว่าไปก็ไม่ต่างกับเด็ก

    ถ้าเกิดว่าลูกยอมรับว่าพ่อแม่ของเราเป็นอย่างนี้ พอถึงวัยชราแล้วมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ร่างกายที่เสื่อมถอย ความตายที่ใกล้เข้ามา รวมทั้งเคมีฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป มันทำให้คนที่รื่นเริงแจ่มใสกลายเป็นคนหดหู่เหี่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยอ่อนไหว อยากให้คนอยู่ใกล้ พอลูกจะไม่อยู่ใกล้เพราะไปธุระ ก็ไม่พอใจ กลัว ตื่นตระหนก กราดเกรี้ยว อันนี้จะว่าไปมันก็ไม่ต่างกับเด็ก

    ถ้ายอมรับว่าคนแก่พอมาถึงวัยหนึ่งแล้วก็ไม่ต่างจากเด็ก ยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น ไม่ติดในภาพที่เขาเป็นผู้ใหญ่ที่องอาจ เข้มแข็ง แจ่มใส มันก็ไม่ทุกข์เท่าไร​ แล้วที่จริงถ้ามองอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่พ่อแม่ทำกับเราในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากที่เราทำกับพ่อแม่ตอนที่เรายังเด็ก ตอนที่เรายังเด็กเราก็โวยวาย เอาใจตัวเหมือนกัน บางทีถีบ บางทีอาละวาด ขว้างปาข้าวของเวลาไม่ถูกใจ ถึงตอนนี้สิ่งที่เราทำกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทำกับเรา

    แล้วก็อย่างที่บอกคือว่าตอนที่เราทำกับพ่อแม่นี่เรายังเด็ก พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่สลับบทบาทกลายเป็นเด็กไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำกับเรา มันก็ไม่ต่างจากเราทำกับพ่อแม่ตอนที่เรายังเด็ก ลองนึกแบบนี้ก็ถือว่ามันก็แฟร์ เราทำกับเขาอย่างไร ตอนนี้เขาก็ทำกับเราอย่างนี้แหละ

  • 18 ก.พ. 68 - ยิ่งอยากได้ ก็ยิ่งไม่ได้ : ยิ่งอยากให้เสร็จเร็วๆ ก็ยิ่งเนิ่นช้า แต่ยิ่งอยากให้มันเนิ่นนาน มันยิ่งกลับผ่านไปเร็ว อันนี้เราคงรู้สึกได้ เวลาสนุกอยากให้มันสนุกนานๆ แต่ทำไมมันสนุกแป๊บเดียวเอง เวลาเจอความเบื่อ อยากให้ความเบื่อมันหายไปไวๆ ทำไมมันนานเหลือเกิน ที่จริงมันไม่นานหรอก มันก็เท่าเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ว่าความรู้สึกถ้ามันเจือด้วยความอยากให้ผ่านไปไวๆ มันก็จะรู้สึกว่าผ่านไปเนิ่นนาน เนิ่นช้า ถ้าอยากให้มันผ่านไปช้าๆ ให้รู้สึกเนิ่นนาน มันกลับผ่านไปเร็ว ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้

    แต่พอยิ่งสละ กลับได้ เช่น ความสุข ถ้าอยากได้ความสุข มันยิ่งทุกข์นะ เพราะว่าไม่ใช่ว่าไม่ได้ มันได้ แต่มันได้เท่าไหร่ก็ไม่พอใจ แต่ว่าพอไม่อยากได้ แถมสละด้วยนะ เช่น ให้ ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข อันนี้เป็นพุทธภาษิต มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พอเรายิ่งให้ยิ่งได้ แต่ถ้ายิ่งตักตวงก็ยิ่งสูญเสีย หรือไม่ได้ มันเป็นด้านตรงข้ามที่อยู่ด้วยกัน

    อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ คำว่าอยากหรือคาดหวัง มันเป็นอุปสรรคที่ทำให้สิ่งที่อยากหรือสิ่งที่คาดหวังไม่เกิดขึ้น หรือมาได้อย่างช้า ที่จริงบางทีมันไม่ได้ช้า แล้วมันก็ไม่ได้น้อยด้วย แต่ความอยากมันทำให้รู้สึกว่ามันช้า ความอยากมันทำให้รู้สึกว่าที่ได้มันยังน้อย เพราะยิ่งอยากก็ยิ่งโลภ

    เช่นเดียวกัน ความกลัวก็เหมือนกัน ยิ่งกลัวอะไรยิ่งเจอ ยิ่งกลัวความสูญเสียก็ยิ่งเจอความสูญเสีย ยิ่งกลัวผีก็ยิ่งเจอผี บางทีมันไม่ใช่ สิ่งที่เจอมันไม่ใช่ผีหรอก แต่ใจมันปรุง ยิ่งกลัวก็ยิ่งเจอ คนที่นอนไม่หลับ ยิ่งอยากนอนให้หลับ มันก็ยิ่งไม่หลับ แต่พอลืมความอยากไป มันจะหลับเมื่อไหร่ก็ได้ ฉันไม่สนใจ ปรากฏว่าไม่นานก็หลับ ความอยากนอนหลับมันทำให้เกิดความเครียด พอเกิดความเครียดแล้วก็ทำให้ใจมันไม่ค่อยสงบ มันก็เลยหลับได้ยาก พอมีความเครียดก็มีฮอร์โมนบางตัวหลั่งออกมา คอร์ติซอลอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนอนไม่หลับ

    จริงๆ การนอนไม่หลับไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะอยากนอนให้หลับ เวลานอนไม่หลับมันก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะไม่มีเจ็บไม่มีปวด ก็แค่นอนอยู่บนเตียง หรือนอนอยู่บนฟูก นอนอยู่บนเบาะ ไม่ได้ทำอะไร ไม่เหนื่อยไม่ออกแรง ไม่ปวด มันจะทุกข์อะไร แต่ทำไมบางคนทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ไม่ใช่ทุกข์เพราะนอนไม่หลับ แต่เป็นเพราะอยากนอนให้หลับ พออยากนอนให้หลับมันก็ยิ่งไม่หลับ

    แต่หลายคนก็เรียนรู้วิธี ก็อย่าไปสนใจความอยาก กลับมาตามลมหายใจ กลับมายอมรับความจริงว่าไม่หลับก็ไม่หลับ ปรากฏว่าไม่นานก็หลับเอง แต่คนที่อยากนอนให้หลับต่างหากที่นอนไม่หลับ อันนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งไม่ได้ แต่ปัญหาคือคนเราไม่ค่อยตระหนักว่า ความอยากคือปัญหา ความอยากคืออุปสรรค รวมทั้งความคาดหวังด้วย

  • 17 ก.พ. 68 - หลงเชื่อทุกความคิด ชีวิตย่ำแย่ : ที่จริงหลายคนแม้จะไม่ถูกหลอกด้วยเพราะมิจฉาชีพ แต่ว่าชีวิตก็ย่ำแย่เพราะว่าความคิดมันหลอก หลอกเรื่องการพนัน หลอกเรื่องอบายมุข โดยที่ไม่มีมิจฉาชีพมาเกี่ยวข้องเลย แต่ว่าชีวิตก็ย่ำแย่

    เพราะฉะนั้นการรู้ทันความคิดนี้มันสำคัญมากเลย และก่อนที่จะ และการที่จะรู้ทันความคิดที่จะพาเราเข้ารกเข้าพงได้ มันต้องฝึกรู้ทันความคิดที่เป็นตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน อย่างเช่นความคิดเรี่ยราด ความคิดเพ้อเจ้อ ความคิดพวกนี้มันไม่ค่อยอันตรายเท่าไหร่ แต่มันเกิดขึ้นทุกวัน ๆ เวลาเราอาบน้ำ เวลาเราถูฟัน มันก็จะมีความคิดเรี่ยราด มีความคิดเพ้อเจ้อ ซึ่งแม้จะไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ถ้าเราฝึกรู้ทันมันเอาไว้ ไม่ปล่อยให้มันพาจิตกระเจิดกระเจิง รู้จักปล่อย รู้จักวาง รู้จักทักท้วงมันบ้าง ต่อไปถ้าเป็นความคิดที่มันปรุงแต่งไปในทางลบทางร้าย ที่ก่อให้เกิดโทษ ถ้าเราหลงตามมัน เราก็จะรู้จักทักท้วงมันได้ ถ้าปล่อยให้จิตใจนี้หลงเชื่อความคิดที่เรี่ยราด ความคิดเพ้อเจ้อ ต่อไปความคิดปรุงแต่งที่มันแย่ ๆ เราก็จะหลงเชื่อได้ง่าย ถึงตอนนั้นก็อาจจะสายไปแล้ว เพราะว่าทำอะไรที่แย่ไปเรียบร้อยแล้ว
  • 16 ก.พ. 68 - จะเลือกสุขหรือเลือกทุกข์ : คนเราไม่ว่าจะตกอยู่ในเหตุการณ์ใด เราก็ยังเลือกได้ว่าจะสุขหรือทุกข์ถึงแม้ว่าทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว ทุกข์เพราะเศร้า ทุกข์เพราะโศก ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะเครียด ทุกข์เพราะกลัว แต่ก็ยังไม่สายที่จะเลือก เลือกอะไร เลือกสุข อย่างน้อยก็ต้องรู้จักถามตัวเองตอนที่กำลังทุกข์ว่า ฉันจะเลือกอะไร จะเลือกสุขหรือจะเลือกทุกข์

    ถ้าเลือกสุขก็ต้องลงมือ พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เปิดใจรับรู้สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว หรือว่ากลับมาตามลมหายใจ กลับมารับรู้กายแม้ว่ายังโกรธ แม้ว่ากำลังเครียด กลับมารู้ใจที่กำลังมีความโกรธ เผาลน กำลังมีความหนักอกหนักใจ บีบคั้นใจ มีความเกลียดทิ่มแทงใจ แล้วก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับอารมณ์เหล่านี้ เพราะอารมณ์เหล่านี้มันก็ชวนทะเลาะอยู่แล้ว ใหม่ ๆ มันก็จะมีการยื้อแย่งต่อสู้กัน เราเลือกสุขแล้วแต่ยังอยากทุกข์ แต่ว่าถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ ไม่ไปทะเลาะกับมัน อนุญาตให้มันโกรธได้ อนุญาตให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้ ไม่ผลักไสไล่ส่งมัน แค่ดูอยู่ห่าง ๆ มันก็จะล่าถอยไป ใหม่ ๆ ก็มานึกได้ว่า ฉันควรเลือกสุขหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แต่ต่อไปมันก็จะนึกขึ้นได้กลางวง หรือระหว่างที่กำลังจมในความทุกข์ นั่นแหละก็เปิดช่องให้สติความรู้สึกตัวเข้ามา ทำให้เห็นทำให้รู้ว่ากำลังทุกข์ แล้วก็ลงมือที่จะเติมสุขให้ใจ เติมความรู้สึกตัวให้ใจ และสุดท้ายก็จะสามารถครองจิตครองใจในขณะที่ความทุกข์มันก็ค่อย ๆ ละลายหายไป อย่าลืม ลองถามตัวเองเวลาเศร้าเวลาโศกเวลาโศกเวลาเครียดว่า ฉันจะเลือกสุขหรือจะเลือกทุกข์
  • 15 ก.พ. 68 - หมั่นเตือนใจตนว่าอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ : ไม่ว่าจะเป็นลาภยศ สรรเสริญ พวกนี้เป็นสิ่งที่สามารถจะเปลี่ยนคนให้กลายเป็นอีกคนได้ แล้วไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย เปลี่ยนไปในทางที่แย่ เสื่อมลาภเสื่อมยศก็เหมือนกัน หรือว่าความเจ็บป่วย ความแก่ชรา ไม่ต้องพูดถึงความตาย

    ฉะนั้นคนเรายังไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับความไม่เที่ยงของสังขาร หรือความผันผวนแปรปรวนของโลก มันก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งแย่กว่าเดิม ที่จริงการปฏิบัติธรรมมันก็ทำให้เราเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นอีกคนที่ดีกว่าเดิม พร้อมที่จะเผชิญกับความทุกข์ ความพลัดพราก ความสูญเสีย ความไม่สมหวังได้ มันทำให้เราได้พบกับมิติใหม่ของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็สามารถที่จะคุมความเป็นผู้เป็นคนเอาไว้ได้ ในยามที่เจอกับความสูญเสีย ในยามที่เจอกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิต ถ้าไม่ตระหนัก เกิดความประมาท ไม่เข้าใจว่าอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ มันก็อาจจะทำให้เกิดความหลงตัวลืมตน ไม่คิดที่จะเตรียมเนื้อเตรียมตัว หรือเตรียมใจในการที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ ตอนที่เราอยู่ตอนนี้ความรู้สึกตอนนี้มันจะไม่เหมือนเดิมเมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป แต่ถ้าหากว่าทำใจยอมรับได้ อย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ ถึงเวลาเจ็บป่วยนิสัยใจคอความรู้สึกอาจจะเปลี่ยนไป ก็จะยังคงความปกติเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ แล้วต้องเตือนใจอยู่เสมอ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันจะไม่อยู่จนถึงวันหน้า เพราะวันหน้าอาจจะกลายเป็นอื่นไปแล้วก็ได้
  • 14 ก.พ. 68 - รักตัวเองก่อนรักคนอื่น : วันแห่งความรัก เราควรนึกถึงการให้ดอกไม้แก่ตัวเองมั่ง ให้เพื่ออะไร เพื่อเป็นกำลังใจ กำลังใจที่อาจจะรู้สึกท้อแท้กับชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกผิดที่ยังทำดีไม่พอ บางทีเราต้องให้กำลังใจตัวเอง การให้ดอกไม้ก็เป็นการให้กำลังใจตัวเองเพื่อให้เดินหน้าต่อไป อย่าท้อถอย ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกให้มูฟออน

    ไม่ใช่เอาแต่ห่อเหี่ยว ท้อแท้ เพราะโบยตีตัวเองว่าเธอมันแย่ เธอมันไม่ได้เรื่อง แล้วเราต้องให้ดอกไม้แก่ตัวเองเป็นกำลังใจให้เดินหน้าต่อไป หรือไม่ก็ให้เพื่อเป็นรางวัลว่า โอ้โห เธอไม่ใช่ย่อยเลยนะ ตลอดปีที่ผ่านมาอุปสรรคมากมาย เธอก็สามารถฟันฝ่ามันไปได้ ฉันให้กำลังใจ ฉันให้รางวัลเธอนะเป็นดอกไม้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ เป็นการแสดงความชื่นชม คนเราต้องทำแบบนี้กับตัวเองบ้าง ไม่ใช่เอาแต่โบยตีตัวเอง ทำให้จิตใจรู้สึกท้อแท้ หรือบั่นทอนความหวังกำลังใจที่จะก้าวหน้าต่อไป และถ้าทำดีก็ต้องให้รางวัล ให้ดอกไม้นี่แหละเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำลังใจ เพื่อที่ตัวเองจะได้เดินหน้าต่อไป แล้วก็เป็นการให้รางวัลกับสิ่งดี ๆ ที่เราได้ทำ กับความพากเพียรพยายามที่ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ หรือว่าความสำเร็จโดยเฉพาะการที่รู้จักรักตัวเองให้ถูกต้อง เติมสติให้กับตัวเอง เติมความรู้สึกตัวให้กับตัวเอง ก็เป็นเหตุผลที่เราสมควรจะให้รางวัลกับตัวเอง เพื่อจะได้มีกำลังใจในการทำความดีเช่นนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
  • 13 ก.พ. 68 - ความนิ่งสงบที่พบได้แม้ใจกระเพื่อม : แม้ว่าเราจะไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำให้ใจสงบได้ ในยามที่มีความเจ็บป่วยทางกาย แต่อย่างน้อยถ้าเราเห็นใจที่มันไม่สงบ อันนั้นก็จะทำให้เราได้เข้าถึงความสงบอีกชั้นหนึ่ง ที่เป็นความสงบชั้นรอง ซึ่งมันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ นักภาวนาจำนวนมากไม่รู้จักความสงบแบบนี้ ไปรู้จักหรือคาดหวังแต่ความสงบตัวหลักที่ว่าเจออะไรใจไม่กระเพื่อม แต่ไม่ได้นึกว่าแม้ใจกระเพื่อมแล้ว แม้จะมีอารมณ์เกิดขึ้น แม้จะมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ยังสามารถจะเข้าถึงความสงบอีกชั้นหนึ่งได้ แม้จะเป็นความสงบชั้นรอง แต่ว่ามันก็ช่วยทำให้อาการที่กระเพื่อมภายในใจมันไม่มารบกวน

    เพราะว่าพอเห็นความหงุดหงิด เห็นความท้อแท้ เห็นความผิดหวัง เห็นความโกรธที่เกิดขึ้น เนื่องจากความเจ็บความป่วย พออารมณ์เหล่านี้มันถูกเห็น มันก็จะสงบลงได้ ไม่ใช่ว่าใจไม่กระเพื่อม แต่มันกระเพื่อมได้ไม่นาน เพราะว่ามันถูกรู้ถูกเห็น นี้เป็นสิ่งที่เราควรจะมารู้จัก แล้วก็ทำให้มันเกิดขึ้นด้วยการฝึก ฝึกให้มีสติเห็นอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เห็นแล้วก็รู้ทันการรู้ทันนี่แหละที่จะช่วยทำให้วางมันลงได้ ของแบบนี้มันต้องฝึก ฝึกเอาจากการที่มีสติ มารู้จิต มารู้เวทนา เราอาจจะไม่มีสติมากพอที่จะทำให้เกิดภาวะป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย ไม่มีสติมากพอที่จะเห็นความปวดโดยไม่เป็นผู้ปวด แต่แม้จะเป็นผู้ปวด แล้วมันมีอาการโวยวายตีโพยตีพาย มันก็ยังไม่สายที่เราจะมีสติเห็นมัน ธรรมชาติของสตินี้เขาเรียกว่าให้โอกาสกับเรามาก แม้ว่าใจกระเพื่อมใจเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่สายที่จะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจ ตราบใดที่เรายังมีสติไม่มากพอ ยังมีปัญญาไม่มากพอ เวลากายทุกข์ ใจก็ย่อมทุกข์ด้วย แต่ยังอยู่ในวิสัยที่จะเห็นใจที่ทุกข์ได้ คือเห็นเวทนาที่เกิดขึ้นกับใจ หรือเห็นอารมณ์อกุศลที่เป็นผลมาจากเวทนานั้น แล้วตรงนี้แหละที่จะทำให้ใจสงบได้ สงบเพราะเห็นความผันผวนปรวนแปรในใจ ไม่ใช่เพราะใจไม่ผันผวน ไม่ใช่เพราะใจนิ่งสงบล้วนๆ แต่เห็นอาการที่ใจไม่นิ่ง เห็นอาการที่ใจไม่สงบ มันก็พาเราไปพบกับความสงบอีกแบบหนึ่งได้ นี้เป็นความสงบภายในที่เราต้องรู้จัก ตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชน ที่ยังไม่มีปัญญาหรือสติมากพอ ที่จะลดละความยึดติดถือมั่นต่างๆ จนกระทั่งจิตสามารถจะสงบนิ่งไม่หวั่นไหว หรือใจไม่กระเพื่อมเมื่อมีสิ่งมากระทบ.
  • 12 ก.พ. 68 - เว้นชั่ว ทำดี และฝึกจิต ชีวิตไกลทุกข์ : เวลาเราเวียนเทียน ขณะที่เราเวียนเทียนรอบพระพุทธรูป พระปฏิมา ก็ขอให้เราน้อมนึกถึงคำสอนของพระองค์ไปพร้อมๆ กัน และพยายามทำให้คำสอนของพระองค์เข้ามาเป็นศูนย์กลางของชีวิต เราไม่ได้เวียนเทียนรอบพระพุทธรูปเท่านั้น แต่ขอให้ชีวิตของเรา จิตใจของเรา วนเวียนอยู่รอบธรรมะ หรือมีธรรมะของพระองค์เป็นศูนย์กลางของชีวิตเรา ก็ช่วยทำให้ชีวิตของเรามีความเจริญงอกงาม

    วันมาฆบูชาก็จะมีความหมายต่อชีวิตของเรา ไม่ใช่แค่เป็นวันสำคัญที่หยุดงาน หรือว่าเป็นวันที่เราจะมาทำบุญใส่บาตร หรือว่าเวียนเทียนเท่านั้น แต่ว่าจะมีความหมายในทางที่ทำให้ชีวิตของเราเจริญงอกงาม เพราะว่าจิตของเราสว่างไสวจากการได้ฝึกอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำดี แล้วก็เว้นชั่วเท่านั้น
  • 11 ก.พ. 68 - ปลูกสติให้งอกงามกลางใจ : ให้เราสังเกตดู ถ้าเราทำเล่น ๆ มันจะเกิดความนุ่มนวลข้างในใจ ใจก็จะกลับมา กลับคืนสู่บ้านอย่างเรียกว่าละม่อม ไม่ใช่ถูกกระชากลากถู ขณะเดียวกันความคิดที่มันพาจิตฟุ้งไป มันก็จะไม่ถูกห้าม ถูกบีบ ถูกตัด แต่มันค่อย ๆ เลือนหายไปเอง มันเป็นกระบวนการที่ละมุนละม่อม อ่อนโยน

    เวลาใจจะคิดไป ฟุ้งไปไหน ก็อนุญาตให้ไปได้ แต่ก็จะถูกชวนให้กลับมา ไม่ใช่ไปลากลู่ถูกังให้กลับมา ฉะนั้นถ้าเราทำให้ใจมันเกิดความนุ่มนวล สติก็จะเติบโต แล้วสุดท้ายมันก็เหมือนกับต้นกล้าแห่งสติในใจเราก็จะค่อย ๆ งอกงาม จนกระทั่งเติบโตเต็มพื้นที่ เขียวขจี ร่มรื่น ที่เคยแห้ง ที่เคยแล้ง ร้อน มันก็จะกลายเป็นร่มรื่น แล้วก็ชุ่มชื่น สงบเย็น เกิดขึ้นภายในใจของเรา
  • 10 ก.พ. 68 - อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ : ใจรู้ว่ากายเคลื่อนไหวแปลว่าอะไร แปลว่า ใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ถ้าใจไม่รู้ว่ากายเคลื่อนไหว แสดงว่าตอนนั้นใจลอยแล้ว ใจลอยก็ดีเหมือนกัน จะได้ฝึกให้มันกลับมารู้เนื้อรู้ตัว แต่การที่เราไม่รู้ว่ากายเคลื่อนไหว มันก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าใจลอย ก็เป็นของดี ฝึกให้ใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัว อยู่กับเนื้อกับตัว

    ต่อไปก็จะรู้ทันความคิดและอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่าความรู้สึกทางกาย ทำไปเรื่อยๆ ทำเล่นๆ ไป อย่าไปบังคับจิต อย่าไปพยายามเพ่ง อะไรเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น เพราะมันเป็นแบบฝึกหัดให้ใจได้รู้ มันไปก็ดี เราจะได้ฝึกให้ใจพามันกลับมา อะไรพาจิตกลับมา ก็สตินั่นแหละ สตินั่นแหละคือสิ่งที่จะช่วยพาจิตกลับมา ยิ่งสติทำงานบ่อยๆ พาจิตกลับมาบ่อยๆ สติก็จะเร็วมากขึ้น และนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ คือฝึกให้สติรวดเร็วฉับไว รู้ทันเร็วๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าในรูปแบบ หรือเวลาเราทำกิจอื่นที่เคลื่อนไหว เช่น เดินกลับกุฏิ ถูฟัน เก็บที่นอน พวกนี้ก็เป็นโอกาสของการปฏิบัติได้