Avsnitt

  • 1. หนาวต่อเนื่อง! สัปดาห์หน้าก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน มีลมหนาวมาเยือนไต้หวันอีก 2 ลูก

              หน้าหนาวปีนี้อากาศหนาวจัด ลมหนาวพัดลงมาปกคลุมเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง วันจันทร์ที่ 20 มกราคมนี้ ตรงกับฤดูกาลสุดท้ายใน 24 ฤดูลักษณ์ตามปฏิทินจีน เรียกว่าต้าหาน (大寒) หรือวันที่อากาศหนาวจัดที่สุด

    เช้าวันเสาร์ที่ 18 มกราคมนี้ พื้นที่อุณหภูมิต่ำสุดได้แก่ ตำบลซานวาน เมืองเหมียวลี่ มีเพียง 4.8°c (ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยา : CWA)

              กรมอุตุนิยมวิทยาของไต้หวันพยากรณ์ว่า สัปดาห์หน้ามีลมหนาว 2 ระลอกแผ่ลงมาปกคลุมไต้หวัน ลูกแรกมาถึงช่วงวันจันทร์ 20-วันอังคารที่ 21 มกราคม แม้จะไม่ใช่เป็นลมหนาวกำลังรุนแรง แต่เช้าค่ำอุณหภูมิยังคงต่ำ วันศุกร์ที่ 25-26 มกราคม ยังจะมีลมหนาวกำลังแรงลูกที่สองมาเยือน ทำให้ช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนอากาศยังคงหนาวจัดต่อไป สิ่งที่ต้องระวังคือสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงนี้ สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ยังคงระบาดต่อเนื่อง เตือนออกนอกบ้านควรป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ...

    สัปดาห์หน้าก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน มีลมหนาวมาเยือนไต้หวันอีก 2 ลูก

    2. น้ำใจเปี่ยมล้น! คนไต้หวันและคนไทยแห่บริจาคเสื้อผ้าแก่แรงงานไทยไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 140 คน ที่ไฟไหมหอจนข้าวของส่วนตัววอดวายไปเกลี้ยง

              เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. วันที่ 12 มกราคม 2568 เกิดเหตุเพลิงไหม้หอพักแรงงานไทยของไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงปาเต๋อ-เถาหยวน ผู้รับเหมาก่อสร้างได้แก่ บริษัท Bes Engineering Corp. เปลวไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว แม้หน่วยดับเพลิงจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิง 27 คันรุดไปดับไฟและควบคุมเพลิงไว้ได้ ไม่ให้ลุกลามไปยังหอพักหลังอื่น ซึ่งมีทั้งหมด 4 หลัง แต่ชั้น 3 ของหอพักหลังที่ 1 ซึ่งเป็นที่พักของแรงงานไทย ข้าวของส่วนตัวถูกเผาจนเกลี้ยง โชคดีที่ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงทำงาน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

    เพลิงไหม้หอพักแรงงานไทยไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงปาเต๋อ-เถาหยวน เมื่อวลาประมาณ 16.30 น. วันที่ 12 มกราคม 2568 ทำให้เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของแรงงานถูกเผาวอดวาย แต่ยังโชคดีที่ไม่มีผู้ใดบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (ภาพจาก udn.com)

              หอพักดังกล่าวมีแรงงานไทยพักอาศัย 144 คน ขณะเกิดเหตุไฟไหม้ ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ไซต์งาน มี 19 คนที่หยุดงานเนื่องจากต้องไปรับการตรวจสุขภาพ แรงงานไทยกลุ่มนี้โชคดีหน่อยที่สามารถหอบข้าวของส่วนตัวออกมาได้บางส่วน คนอื่น ๆ หมดตัวเลยก็ว่าได้  ด้านพ่อบ้านชาวไต้หวันที่ดูแลหอพักเล่าว่า ขณะเกิดเหตุไฟไหม้ฝ่ายดูแลสามารถเอาหนังสือเดินทางของแรงงานไทยออกมาได้ทั้งหมด และในวันต่อมาทางบริษัทได้จ่ายเงินค่าทำขวัญให้แรงงานไทยคนละ 5,000 เหรียญ เพื่อนำไปซื้อหาเครื่องใช้ส่วนตัว

    สมาคมห่วงใยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ (新住民婦女關懷協會) ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นคนไทย รณรงค์รับบริจาคเสื้อผ้า มีชาวไต้หวันจำนวนมากขานรับขนเสื้อกันหนาวไปมอบให้ถึงที่ไซต์งาน ในภาพ สท. ทั้งพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคทีพีพี ในนครเถาหยวน และผู้บริหารสมาคมห่วงใยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ขนเสื้อผ้าไปยังไซต์งานเพื่อให้แก่แรงงานไทย (ภาพจาก FB : TPP)

    มูลนิธิพุทธฉือจี้ก็ไปส่งมอบเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ให้แก่แรงงานไทย (ภาพจากกองแรงงานนครเถาหยวน)

              เนื่องจากช่วงนี้ ทั่วไต้หวันอากาศหนาวจัด พื้นที่เถาหยวนอุณหภูมิช่วงเช้าค่ำอยู่ที่ 10°c สมาคมห่วงใยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ (新住民婦女關懷協會) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐรณรงค์รับบริจาคเสื้อกันหนาวเป็นภาษาจีนทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าสื่อออนไลน์ในเถาหยวนช่วยกันส่งต่อ คนไต้หวันจำนวนมากทราบข่าว ต่างนำเสื้อกันหนาวไปบริจาคทั้งที่สมาคมฯ และส่งไปโดยตรงที่ไซต์งาน ด้านสำนักงานแรงงานไทยและกองแรงงานเถาหยวนก็ประสานกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ นำเสื้อกันหนาวและข้าวของเครื่องใช้ไปบริจาค รวมถึงสมาชิกสภาเทศบาลเถาหยวน ก็นำข้าวของเครื่องใช้ไปบริจาคเช่นกัน จนถึงเที่ยงวันที่ 14 ทางไซต์งานต้องออกมาขอบคุณและปิดรับบริจาค เนื่องจากเสื้อผ้าและข้าวของกองเต็มห้อง ต้องจัดพนักงานหลายคนช่วยกันคัดและจัดเสื้อผ้าต่าง ๆ ที่ชาวไต้หวันและชาวไทยนำไปบริจาค จากนั้นแบ่งให้แรงงานไทย

    นายหลี่เสียนเสียง (คนถือไมค์) ผอ. กองแรงงานเถาหยวน นำคณะเจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทย

              ด้านนายหลี่เสียนเสียง ผอ. กองแรงงานเถาหยวน นำคณะเจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทย ซึ่งถูกจัดให้ไปพักอาศัยที่โมเต็ลใกล้ไซต์งาน 2 แห่ง จนถึงวันที่ 15 มกราคม แรงงานไทยกลับเข้าทำงานตามปกติแล้ว ก็ต้องขอแสดงความชื่นชมและปรบมือน้ำใจและมิตรไมตรีของคนไต้หวันที่ให้ความช่วยเหลือต่อแรงงานอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ขอเป็นกำลังใจให้แรงงานทุกคนต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค ผ่านความยากลำบากไปได้

    เสื้อผ้าบางส่วนที่เพิ่งจัดเสร็จรอการแจกจ่ายให้แก่แรงงานไทย (ภาพจากฝ่ายดูแลหอพัก บ. Bes Engineering Corp.)

    3. ตรุษจีนนี้ ไปอาบป่าที่อาลีซานกัน

              ใกล้ถึงตรุษจีนแล้ว ไต้หวันได้หยุดนานถึง 9 วัน ไม่ทราบเพื่อนผู้ฟังในไต้หวันวางแผนไปเที่ยวไหนกันบ้างหรือเปล่า? วันนี้ขอแนะนำการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คุณได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตในวิถีสโลว์ไลฟ์ หลุดพ้นจากจังหวะชีวิตที่เร่งรีบ หลอมรวมเข้ากับจังหวะชีวิตที่เนิบช้าและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ให้ธรรมชาติกลางป่าช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจของคุณ แต่ไม่ใช่เที่ยวชมแบบผิวเผิน เราจะพาคุณๆไปสัมผัสประสบการณ์อาบป่าท่ามกลางแมกไม้บนภูเขาของไต้หวัน หรือที่เรียกกันชื่อว่า การบำบัดด้วยป่า ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในต่างประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ต่างจัดให้การบำบัดด้วยป่าเป็นวิธีการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันหรือการแพทย์ทางเลือกที่ใช้เสริมการแพทย์แผนปัจจุบัน

    ตรุษจีนปีนี้หาเวลาไปเดินป่าสักครา ให้ธรรมชาติกลางป่าช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจของคุณ (ภาพจากเขตทัศนียภาพแห่งชาติเม่าหลิน นครเกาสง)

              การเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ผลงานวิจัยจากวารสาร International Journal of Biometeorology และ International Journal of Environmental Research and Public Health (IJERPH) เผยว่า การใช้เวลาในธรรมชาติสามารถลดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ความฉุนเฉียว ความเครียด ลงได้ ปัจจุบันนี้ มีเส้นทาง “ ป่าบำบัด ” ที่ผ่านการรับรองจากสมาคมธรรมชาติและป่าบำบัด (Association of Nature and Forest Therapy: ANFT) กว่า 24 แห่งทั่วโลก

    เส้นทางเดินเท้าเพื่อการบำบัดสุ่ยซาน นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพของป่าฮิโนกิที่อุดมสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง (Cr.Travel king)

              สำหรับไต้หวันซึ่งมีลักษณะภูมิอากาศแบบเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่สูงและต่ำสลับกัน มีภูเขาสูงชันมากมายและประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ สัดส่วนของพื้นที่ที่เป็นป่าไม้จัดว่าสูงเป็นอันดับที่ 7 ของทวีปเอเชีย นอกจากนี้ไต้หวันซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 36,000 ตารางกิโลเมตร มีภูเขาที่มีความสูงเกินกว่า 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มากถึง 268 ลูก ระดับความหนาแน่นที่สูงเช่นนี้ จัดว่าพบเห็นได้ยากในโลก ภูเขาและป่าไม้ในไต้หวันเป็นแหล่งกำเนิดระบบนิเวศของสัตว์และพืชที่หลากหลาย กรมป่าไม้ไต้หวันจึงได้จัดทำเส้นทางป่าบำบัดแห่งแรกของไต้หวันขึ้นในอุทยานแห่งชาติอาลีซาน ให้ชื่อว่า เส้นทางเดินเท้าเพื่อการบำบัดสุ่ยซาน มีความยาว 863 เมตร ทอดยาวไปตามพื้นที่ที่ค่อนข้างราบเรียบ นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพของป่าฮิโนกิที่อุดมสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง จุดสิ้นสุดของเส้นทางเดินเท้าคือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อายุ 1,081 ปี ที่มีชื่อว่า “ต้นไม้ยักษ์แห่งสุ่ยซาน”นักท่องเที่ยวที่ได้มาเห็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์นี้มักรู้สึกยินดีปรีดา และสามารถนั่งพักที่แท่นชมวิวที่อยู่รอบๆแล้วแหงนหน้าชมความยิ่งใหญ่อลังการของต้นไม้โบราณที่สูงเสียดฟ้าต้นนี้

    ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาอาลีซานอายุ 1,081 ปีที่มีชื่อว่า "ต้นไม้ยักษ์แห่งสุ่ยซาน" (Cr. flysonic)

              สาเหตุที่กรมป่าไม้ไต้หวันเลือกจัดทำเส้นทางป่าบำบัดขึ้นบนภูเขาอาลีซาน เนื่องจากอาลีซานมีข้อได้เปรียบในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ โดยในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ภูเขาอาลีซานที่อุดมไปด้วยป่าฮิโนกิ ภูเขาไท่ผิงซานและภูเขาปาเซียนซาน ได้รับการขนานนามว่า 3 แหล่งป่าไม้สำคัญของไต้หวัน ศาสตราจารย์หวังเซิงหยาง (王升陽) ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยจงซิง (National Chung Hsing University) กล่าวว่า ไม้ฮิโนกิ (หรือสนไซเปรส) เป็นพรรณพืชเก่าแก่ที่ตกทอดมาจากยุคน้ำแข็ง ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่เป็นเขตอบอุ่น ทั่วโลกมีประมาณ 6-7 สายพันธุ์ ในไต้หวันมี 2 สายพันธุ์ได้แก่ ไซเปรสแดง (Chamaecyparis formosensis) และไซเปรสเหลือง (Chamaecyparis obtusa var. formosana) แม้ภูเขาอาลีซานจะตั้งอยู่ในเขตร้อน แต่มีความสูง 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยต้นไซเปรสแดงที่พบเพียงแห่งเดียวในโลก และต้นไซเปรสแดงจะปลดปล่อยสารโมโนเทอร์พีนไฟทอนไซด์ (monoterpene phytoncides) และไอออนลบมากกว่า 1,000 ตัวต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ประกอบกับมีการอนุรักษ์สภาพป่าเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ การพาตัวเองเข้าไปอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้จะช่วยลดความดันโลหิต ผ่อนคลายสมอง บรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการบำบัดด้วยป่าที่ดีที่สุด

    รถไฟเล็กวิ่งกลางป่าบนภูเขาอาลีซาน 1 ใน“5 อเมซิ่ง”ของอุทยานแห่งชาติอาลีซาน (ภาพจากอุทยานแห่งชาติอาลีซาน)

              เนื่องจากเป็นแหล่งไม้ฮิโนกิที่อุดมสมบูรณ์ ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวันจึงมีการสร้างเส้นทางรถไฟสายป่าอาลีซานขึ้น ในปัจจุบัน รถไฟเล็ก ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ทะเลหมอก พระอาทิตย์เบิกฟ้าและแสงอาทิตย์ยามพลบค่ำ กลายเป็น “5 อเมซิ่ง”ของอุทยานแห่งชาติอาลีซาน นอกจากนี้ต้นไม้ยักษ์ที่นี่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกและทำให้อุทยานแห่งชาติอาลีซานมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมและมีความคลาสสิกมากที่สุดในบรรดาอุทยานแห่งชาติในไต้หวันอีกด้วย จากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า ป่าไม้อุดมไปด้วยออกซิเจนและสารไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ที่พืชปลดปล่อยออกมา รวมถึงไอออนลบที่เกิดจากหมอกหรือหยดน้ำเสียดสีกับอากาศ ช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจ โดยจะทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่มสงบลงและบรรเทาอาการเหนื่อยล้าได้

    นักพนาบำบัดกำลังนำผู้เข้ารับการฝึกอบรมไปเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สัมผัสกับขุนเขาลำเนาไพร (Cr. Taiwan Panorama)

              กรมป่าไม้ไต้หวันยังได้จัดตั้งศูนย์ป่าบำบัดขึ้นภายในสวนพฤกษศาสตร์อาลีซานซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟจู้ซานและลานชมวิวบนภูเขาเสี่ยวลี่หยวนซาน ภายในสวนพฤกษศาสตร์อุดมไปด้วยพรรณพืชและสัตว์หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีทางเดินที่เป็นบันไดหิน ลานชมวิวและอาคารที่สร้างด้วยไม้หลังหนึ่ง พื้นที่ภายในชั้นที่ 1 ของอาคารไม้คือห้องบำบัดที่สามารถฝึกโยคะ ล้อมวงชงชา และใช้เป็นห้องเรียนสำหรับการบำบัดด้วยป่า ส่วนชั้นที่ 2 เป็นห้องอาหาร ผู้ประกอบการได้เตรียม “อาหารพื้นถิ่น” ไว้บริการ ไม่ว่าจะจิบชาจากยอดเขาอาลีซานสักจอก ดื่มกาแฟทะเลหมอกอาลีซานสักแก้ว หรือจะลองชิมหมี่ซั่วคลุกน้ำมันเมล็ดชาอาลีซานสักจาน ล้วนเป็นการใช้ประสาทรับกลิ่นและรับรสมาสัมผัสกับอาหารพื้นถิ่นทั้งสิ้น

    ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมจากป่าอาลีซานภายใต้แบรนด์  "Alishan 2488m" (Cr.Outsider in Chiayi)

              นอกจากนี้กรมป่าไม้ได้ทำการวิจัยและพัฒนาน้ำหอมจากป่าที่ใช้น้ำมันหอมระเหยของไม้ซีดาร์ธูปไต้หวัน (Calocedrus formosana) ซึ่งเป็น 1 ใน “5 พรรณไม้เฉพาะถิ่นของไต้หวัน” เป็นน้ำมันฐานจากนั้นผสมน้ำมันหอมระเหยกลิ่นสมุนไพร ดอกไม้และไม้ รวม 3 กลิ่น นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมจากป่าอาลีซานภายใต้แบรนด์  “Alishan 2488m” ขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมที่ผลิตจากไม้ล้ำค่าและกลิ่นอายของป่าในไต้หวันติดไม้ติดมือกลับไปได้

  • 1. ลองกันหรือยัง? ลุ้นรางวัลหวยขูด กิจกรรมยอดฮิตช่วงตรุษจีน หวยขูดไต้หวันเตรียมมอบรางวัลสูงสุด 20 ล้านเหรียญ 10 รางวัล

              เทศกาลตรุษจีนกำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 29 มกราคม 2568 ในไต้หวันมีวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีนยาวนานถึง 9 วัน เพิ่มจากปกติ 1 วัน ซึ่งต้องทำงานชดเชยในวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ไม่ทราบว่าเพื่อนๆที่อยู่ในไต้หวันเตรียมวางแผนการใช้วันหยุดยาวถึง 9 วันนี้ทำอะไรกันบ้าง สำหรับชาวไต้หวันช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือไปเยี่ยมเยือนญาติมิตรถือโอกาสท่องเที่ยวกันไปในตัว แต่ก็ต้องทนกับการเบียดเสียดยัดเยียดทั้งที่สนามบินและการจราจรบนท้องถนนที่แออัดกว่าช่วงวันปกติ ครั้นไม่ไปไหนจะกินๆนอนๆอยู่บ้านตลอดช่วงวันหยุดยาวก็น่าเบื่ออยู่เหมือนกัน ดังนั้นช่วงเทศกาลตรุษจีนมีคนจำนวนหนึ่งนิยมแก้เซ็งด้วยการเสี่ยงดวง ไม่ว่าจะเล่นไพ่นกกระจอกหรือเล่นหวยขูดหรือล็อตโต้ขูด

    ลุ้นรางวัลหวยขูด กิจกรรมยอดฮิตช่วงตรุษจีน หวยขูดไต้หวันเตรียมมอบรางวัลสูงสุด 20 ล้านเหรียญ 10 รางวัล (ภาพจาก fnc.ebc.net.tw)

              บริษัทไต้หวันล็อตโต้ (Taiwan Lottery) หรือเจ้ามือหวยล็อตโต้ ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วยการออกล็อตโต้ขูดเวอร์ชันตรุษจีนให้นักเสี่ยงดวงได้ขูดกันจนสะใจทุกปีและแน่นอนในปีนี้ซึ่งเป็นปีมะเส็งหรือคนไต้หวันเรียกว่าปีมังกรเล็กก็เช่นกัน มีการออกหวยขูดหลายรุ่น มาให้ประชาชนได้วัดดวงกันตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ก่อนจะจัดหนักในช่วงตรุษจีน ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ หวยขูดรุ่นซูเปอร์อั่งเปา 20 ล้าน (2,000萬超級紅包) ราคาจำหน่ายใบละ 2,000 เหรียญไต้หวัน มีการเพิ่มรางวัลที่ 1 คือเงินรางวัล 20 ล้านเหรียญไต้หวัน จากเดิม 7 รางวัลเป็น 10 รางวัล รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 1 ล้านเหรียญไต้หวันอีก1,200 รางวัล นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ยังมีหวยขูดรุ่นอื่นๆ ที่ราคาต่ำลงมา ได้แก่ 500 ,300 ,200 และ 100 ซึ่งแต่ละรุ่นอัตราการถูกรางวัลมีตั้งแต่ 29-69% โดยเฉพาะรุ่นซูเปอร์อั่งเปา 20 ล้าน มีอัตราการถูกรางวัล ( รางวัลเล็กๆ -รางวัลที่ 1 ) สูงถึง 69.33%

    บ. ไต้หวันล็อตโต้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วยการออกล็อตโต้ขูดเวอร์ชันตรุษจีนให้นักเสี่ยงดวงได้ขูดกันจนสะใจทุกปี (ภาพจาก money.udn.com)

              พูดถึงการเล่นหวย ไม่เพียงเฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ชื่นชอบ คนไต้หวันหรือชาติอื่นๆก็ชื่นชอบไม่แพ้กัน แต่คนไต้หวันส่วนใหญ่ซื้อล็อตโต้เพื่อความสนุกสนานและนิยมเล่นในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะตรุษจีน คนจะซื้อกันเยอะ โดยคิดว่าถ้าได้ก็ถือว่าโชคดี หากไม่ได้ก็เป็นการทำบุญช่วยเหลือสังคม เพราะรายได้จากการขายล็อตโต้ในไต้หวัน หลังหักเงินรางวัล ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่าตอบแทนของผู้ขายล็อตโต้แล้ว กำไรที่ได้รัฐบาลจะจัดสรรให้หน่วยงานและมูลนิธิการกุศลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมต่อไป

    คนไต้หวันส่วนใหญ่ซื้อหวยขูดเสี่ยงดวงช่วงตรุษจีนเพื่อความสนุกสนาน ถ้าได้รางวัลก็ถือว่าโชคดี หากไม่ได้ก็เป็นการทำบุญช่วยเหลือสังคม (ภาพจาก TVBS)

              ล็อตโต้ไต้หวัน จะเปิดให้ธนาคารหรือวิสาหกิจเข้าประมูลรับสัมปทานทุก 10 ปี ขณะนี้มีการประมูลไปแล้ว 5 ครั้ง ปัจจุบัน ธนาคารไชน่าทรัสต์ หรือ CTBC เป็นผู้ได้รับสัมปทานเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากเงินรางวัล ค่าตอบแทนของผู้ขายและค่าใช้จ่ายบริหารจัดการแล้ว รายได้จะส่งคืนให้รัฐบาลเพื่อจัดสรรเป็นงบประมาณช่วยเหลือกองทุนเลี้ยงชีพ 45% เงินสำรองกองทุนเลี้ยงชีพ 5% อีก 50% จะจัดสรรให้รัฐบาลท้องถิ่นหรือเมืองต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในด้านสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือมูลนิธิการกุศลกว่า 200 แห่งและโครงการเพื่อการกุศล 1,415 โครงการ รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 7.7 ล้านคน

    เจ้าของร้านขายล็อตโต้ในไต้หวันต้องเป็นผู้พิการจึงจะยื่นขอใบอนุญาตได้ (ภาพจาก TVBS)

              สำหรับร้านขายล็อตโต้ ทั่วไต้หวันมี 58,000 แห่ง คุณสมบัติของผู้ยื่นขอใบอนุญาตเปิดร้านขายล็อตโต้ จะต้องเป็นผู้พิการจึงจะยื่นขอใบอนุญาตได้ โดยได้ค่าตอบแทนจากการขายลอตเตอรี่ออนไลน์ใบละ 8-10% ถ้าเป็นล็อตโต้ทั่วไปที่ขายเกมละ 50 เหรียญ จะได้ค่าตอบแทนใบละ 5 เหรียญ เวยลี่ไฉ่หรือ Super lotto ที่ขายเกมละ 100 เหรียญจะได้ค่าตอบแทนประมาณใบละ 10 เหรียญ เป็นการสร้างรายได้และสร้างงานให้แก่ผู้พิการมีรายได้และมีงานทำอีกทางหนึ่ง

    แรงงานเวียดนามผู้โชคดีรายหนึ่ง ซื้อหวยขูดใบละพัน 1 ใบ ขูดถูก 1,000,000 เหรียญไต้หวัน ช่วงตรุษจีนปี 2567

    2. เตือน! ลงขันซื้อล็อตโตควรทำสัญญาร่วมลงทุนก่อนซื้อ ชาวไต้หวันลงขันซื้อล็อตโตถูกรางวัลแจ็กพอต 631 ล้าน นอกจากเสียภาษีเงินรางวัล 20% ยังต้องเสียภาษีการให้อีก 40 ล้าน

              ชาวไต้หวัน 2 คน ลงขันกันซื้อล็อตโต้ โชคดีถูกรางวัลแจ็กพอต ได้เงินรางวัล 631 ล้านเหรียญไต้หวัน เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นการร่วมลงทุน ตามกฎหมายไต้หวัน นอกจากต้องเสียภาษีเงินรางวัล 20% ยังต้องเสียภาษีการรับให้อีก 40 ล้านเหรียญ ทั้งสองเจ็บใจรางวัลน้อยลงตั้งเยอะ

    คนไต้หวันนิยมซื้อล็อตโต้เสี่ยงดวงช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยวิธีซื้อเอง บางคนร่วมลงขันกันซื้อ (ภาพจาก Rti)

              เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา หญิงไต้หวันคนหนึ่ง ทำงานในบริษัทมักจะโชคดีถูกรางวัลในงานเลี้ยงเหว่ยหยาเป็นประจำเกือบทุกปี ปีนี้ก็เช่นกัน เพื่อนจึงหวังพึ่งความโชคดี ชวนลงขันซื้อล็อตโต้ ปรากฏว่าถูกจริง ๆ ด้วย เป็นรางวัลแจ็กพอต 631 ล้าน แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าลงขันกันซื้อ นอกจากถูกหักภาษีตามกฎหมายของสรรพากรที่ถูกรางวัลเกิน 5,000 ต้องเสียภาษีเงินรางวัล 20% หรือ 126.2 ล้านแล้ว ยังต้องเสียภาษีการรับให้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาษีมรดกด้วย คิดคำนวณแล้วเสียเพิ่มอีกประมาณ 40 ล้านเหรียญ หลังหักภาษีแล้ว คนแรกได้รับ 279 ล้านเหรียญ อีกคนได้รับ 186 ล้านเหรียญ

    หากเป็นการร่วมลงขันซื้อล็อตโต้ บ. ล็อตโต้ไต้หวันแนะควรทำสัญญาร่วมลงทุนก่อนซื้อ มิเช่นนั้น เมื่อโชคดีถูกรางวัล นอกจากภาษีเงิรางวัล 20% ยังต้องเสียภาษีการให้เพิ่มอีกหนึ่งรายการ

              เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อน เพราะคนถูกรางวัลใหญ่น้อยมาก แต่หากมีการลงขันกันซื้อล็อตโต้ ทางบริษัทล็อตโต้ไต้หวันแนะว่า ต้องทำสัญญาร่วมลงทุน โดยมีรายชื่อ จำนวนเงินที่ลงทุน และถ่ายรูปใบล็อตโต้เก็บไว้เป็นหลักฐาน หากไม่มีหลักฐานเหล่านี้ จะเป็นข้อความในไลน์ที่ชวนกันซื้อล็อตโต้ก็ได้ เพื่อให้สรรพากรทราบว่าเป็นการร่วมลงทุนจริง ๆ มิเช่นนั้น จะต้องเสียภาษีการให้อย่างคนไต้หวันทั้งสองรายที่กล่าวมาข้างต้น ก็ดีเหมือนกัน เป็นการป้องกันสิทธิประโยชน์ของตนเอง ตอนซื้อไม่มีปัญหา แต่ตอนถูกอาจมีข้อพิพาทก็ได้

    3. ไต้หวันเข้าสู่ยุคอยู่อย่างโดดเดี่ยว? ปี 2567 บ้านที่อยู่คนเดียวพุ่งขึ้นเป็น 2.184 ล้านหลัง ครองสัดส่วนบ้านในไต้หวันถึง 28.6%

              สภาพสังคมและภาวะทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวไต้หวันอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันพบว่า บ้าน 1 หลัง 1 คนเพิ่มขึ้นจาก 1,621,000 หลังในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 2,184,000 หลัง ในปี 2567 ระยะเวลา 10 ปี เพิ่มขึ้น 563,000 หลัง อัตราส่วนต่อบ้านทั้งหมดเพิ่มจาก 23.9% เป็น 28.6% และในจำนวน 6 นครใหญ่ นิวไทเปมีบ้านที่อยู่คนเดียวมากที่สุด 4560,000 หลัง ตามด้วยเกาสง 287,000 หลัง อันดับ 3 กรุงไทเป 253,000 หลัง

    ปี 2567 บ้านที่อยู่คนเดียวพุ่งขึ้นเป็น 2.184 ล้านหลัง ครองสัดส่วนบ้านในไต้หวันถึง 28.6% นิวไทเปมีบ้าน 1 หลัง 1 คนมากที่สุด 4560,000 หลัง ตามด้วยเกาสง 287,000 หลังและกรุงไทเป 253,000 หลัง (ภาพจาก merit.times.com)

              Taiwan Realty Group กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไต้หวันวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่บ้าน 1 หลัง 1 คน เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

              1. โครงสร้างประชากรแปรเปลี่ยนไป หนุ่มสาวชาวไต้หวันในปัจจุบันแต่งงานช้าลง โสดมากขึ้นและมีลูกน้อยลง ปี 2567 อายุแรกสมรสของชาวไต้หวันอยู่ที่ 32.4 ปี และผู้หญิงที่แต่งงานลดลงเหลือ 48.37% หรือผู้หญิง 2 คน มี 1.17 คนเป็นโสด ส่งผลให้บ้านที่อยู่คนเดียวเพิ่มสูงขึ้น

    โครงสร้างประชากรในไต้หวันแปรเปลี่ยนไป หนุ่มสาวแต่งงานช้าลง โสดมากขึ้นและมีลูกน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการบ้านที่อยู่คนเดียวเพิ่มสูงขึ้น (ภาพจาก merit.times.com)

              2. บ้านใหม่พื้นที่เล็กเพิ่มมากขึ้น บ้านเหล่านี้จะอยู่ในตัวเมือง ใกล้ที่ทำงานหรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก ราคาจับต้องได้ เหมาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยู่คนเดียว ความต้องการบ้านประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น

              3. มาตรการลดหย่อนทางภาษี ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่แยกตัวจากครอบครัวใหญ่ซื้อบ้านอยู่คนเดียวมากขึ้น ในไต้หวันมีการลดหย่อนภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือนของบ้านที่ใช้อยู่อาศัยเอง รวมถึงค่าน้ำค่าไฟก็ถูกลง แต่ลดหย่อนให้คนละ 1 หลังเท่านั้น หากคนเดียวบ้านหลายหลัง หลังที่ 2 ขึ้นไป ภาษีจะแพงขึ้นและใช้อัตราภาษีก้าวหน้า ด้วยเหตุนี้ ลูกหลานส่วนใหญ่จะแยกไปซื้อบ้านอยู่คนเดียว ในบ้านเก่าเหลือแต่พ่อแม่ ทำให้จำนวนบ้าน 1 หลัง 1 คนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

    บ้านใหม่พื้นที่เล็กเพิ่มมากขึ้น บ้านเหล่านี้จะอยู่ในตัวเมือง ใกล้ที่ทำงานหรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก ราคาจับต้องได้ เหมาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยู่คนเดียว (ภาพจาก ettoday.net)

              สาเหตุที่นครนิวไทเปมากเป็นอันดับ 1 มาจากประชากรในนิวไทเปมีมากถึง 4 ล้านคน จำนวนบ้านที่อยู่คนเดียวจึงเพิ่มตามไปด้วย ส่วนที่เกาสง เนื่องจากราคาบ้านถูกกว่า นอกจากนี้ที่ซินจู๋ก็มีบ้านที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นเพราะเหล่าวิศวกรหรือคนทำงานในโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีรายได้สูงซื้อบ้านที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่สำหรับพักอาศัยระหว่างทำงาน คุ้มกว่าเช่าบ้านอยู่ ซึ่งค่าเช่า กับค่าผ่อนส่งบ้านต่างกันไม่เท่าไหร่

    บ้านใหม่พื้นที่เล็กเพิ่มมากขึ้น บ้านเหล่านี้จะอยู่ในตัวเมือง ใกล้ที่ทำงานหรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก ราคาจับต้องได้ เหมาะสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยู่คนเดียว (ภาพจาก designwant.com)

              ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน คาดว่าบ้าน 1 หลัง 1 คน ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในอนาคต สภาพการที่คนไต้หวัน “แก่อย่างเดียวดาย ตายอย่างโดดเดี่ยว” จะเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ

  • Saknas det avsnitt?

    Klicka här för att uppdatera flödet manuellt.

  • 1. ไข้หวัดใหญ่ระบาดต่อเนื่อง ไต้หวันเปิดให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป (รวมแรงงานต่างชาติด้วย)

              ผ่านพ้นปี 2567 ย่างก้าวเข้าสู่ปี 2568 กันแล้วนะคะ ในไต้หวันอากาศยังคงหนาวเย็นและโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงระบาดต่อเนื่อง รัฐบาลไต้หวันจึงเปิดให้ประชาชนที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนไปรับการฉีดวัคซีนได้ฟรี โดยก่อนหน้านี้เปิดให้กลุ่มเสี่ยงสูงคือผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ฟรีตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ต่อมาเดือนพฤศจิกายนเปิดให้ผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไปรับการฉีดวัคซีนฟรี ณ วันที่ 2 มกราคม 2568 มีคนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว 5,804,120 คน สำหรับเพื่อนชาวไทยมาทำงานหรือศึกษาต่อในไต้หวัน ก็ได้รับสิทธิ์ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนฟรีด้วยเช่นกัน สามารถไปรับการฉีดวัคซีนฟรี ได้ตามสถานพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกใกล้ที่พัก เพียงแค่แสดงบัตรประกันสุขภาพเท่านั้น

    ไข้หวัดใหญ่ระบาด ไต้หวันเปิดให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป รวมชาวต่างชาติด้วย(ภาพจาก cw.com.tw)

    2. ปี 2567 ไต้หวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 24.97°c  ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ ฤดูใบไม้ร่วงมีไต้ฝุ่นก่อตัว 15 ลูก มากเป็นอันดับ 3

              ภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามทั่วโลก ไต้หวันเองก็หนีไม่พ้น ปี 2567 ไต้หวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 24.97°c เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยในรอบ 100 ปี ถึง 1.66°c ทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติในปี 2563 ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 24.91 โดยพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดอยู่ที่ ตั้นสุ่ย ซินจู๋ ไทจง ทะเลสาบสุริยันจันทรา ไถหนาน ตำบลเฉิงกงและต้าอู่ในเมืองไถตง 

    ปี 2567 ไต้หวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 24.97°c เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยในรอบ 100 ปี ถึง 1.66°c ทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

              ในขณะที่มีพายุไต้ฝุ่นก่อตัว 26 ลูก มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 25.4 ลูกเล็กน้อย ในจำนวนนี้พัดกระหน่ำไต้หวันโดยตรง 3 ลูก คือไต้ฝุ่นแคมี กระท้อนและกองเร็ย แต่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยมีพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้น สำหรับฤดูใบไม้ร่วงปี 2567 มีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวถึง 15 ลูกทำสถิติสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ รองจากปี 2507 และ 2556

    เฉินอี๋เหลียง ผอ. ศูนย์พยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาแถลงว่า ปี 2567 ไต้หวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 24.97°c  ทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (ภาพจาก CNA)

    3. ฮือฮา! ธุรกิจขนส่งทางเรือ สายการบินและธนาคารกิจการดีใจป้ำโบนัสฉ่ำ Evergreen Marine Corp. จ่าย 20 เดือนบวกเงินปันผล ไทเกอร์แอร์ไลน์ 12 เดือน

              ปีใหม่สากลผ่านไปแล้ว อีกไม่นานจะถึงเทศกาลตรุษจีน ช่วงระหว่างนี้ ตามธรรมเนียม ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ในไต้หวัน นอกจากเตรียมจัดงานเลี้ยงขอบคุณพนักงานประจำปีแล้ว สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนสนใจและอยากทราบมากที่สุดคือ ปีนี้บริษัทของตนจะประกาศจ่ายเงินโบนัสเท่าไหร่? เงินโบนัสสิ้นปีหรือภาษาจีนเรียกว่า เนี๋ยนจงเจี่ยงจิน (年終獎金) ซึ่งนายจ้างจะจ่ายให้พนักงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานก่อนตรุษจีน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของธุรกิจทุกประเภท รวมถึงหน่วยงานราชการของไต้หวันด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายมาตรฐานแรงงานไม่ได้มีการกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินโบนัสสิ้นปีให้แก่พนักงาน ระบุแต่เพียงว่า ธุรกิจที่มีกำไรควรจ่ายเงินโบนัสเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พนักงาน

    สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนรอคอยและอยากทราบในช่วงปลายปีคือ บริษัทของตนจะประกาศจ่ายเงินโบนัสเท่าไหร่? (ภาพจาก cardu.com.tw)

              จากการสำรวจของ 104 เว็บไซต์หางานชื่อดังของไต้หวันปรากฏว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา มีหลากหลายกิจการที่ทำกำไร เช่น ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางเรือและสายการบิน กิจการค่อนข้างดี จ่ายเงินโบนัสมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ สถาบันการเงินอย่างธนาคารต่าง ๆ กำไรมากกว่าปีก่อน ๆ และเตรียมจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงาน 8-12 เดือน ขณะที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมและธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวค่อนข้างแย่ แต่ก็ประกาศจะจ่ายเงินโบนัสเช่นกัน เพียงแต่ว่าน้อยกว่า สรุปแล้ว ผู้ประกอบการในไต้หวันเกือบทั้งหมดหรือ 99.5% มีแผนการจ่ายเงินโบนัส เฉลี่ย 1.12 เดือน และ 13% ของธุรกิจที่จะจ่ายเงินโบนัสกล่าวว่า เงินโบนัสในปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ 11.2% บอกว่า น้อยกว่าปีที่แล้ว

    ผลการสำรวจของเว็บไซต์หางานพบว่า ปีนี้มีบริษัท 99.5% จะจ่ายโบนัสสิ้นปี เฉลี่ย 1.12 เดือน (ภาพจาก ETtoday)

              หากมองในแง่ของธุรกิจโดยรวม ภาคการเงินและธนาคาร ยังคงครองแชมป์จ่ายโบนัสมากกว่าธุรกิจอื่น และปี 2567 ผลประกอบการดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นพนักงานธนาคารเตรียมรับเงินโบนัสน้อยสุดเริ่มต้นกันที่ 6-8 เดือน สูงสุด 13 เดือน นอกจากนี้หลายธนาคารยังประกาศขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 3-5% ขึ้นไป ธุรกิจที่จ่ายเงินโบนัสสูงรองลงมาได้แก่การขนส่งสินค้าทางทะเล กิจการกลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2567 หลังจากที่ทำกำไรสูงสุดเมื่อปี 2564 เป็นเหตุให้ Evergreen Marine Corp. บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือชื่อดังระดับโลกของไต้หวันจ่ายเงินโบนัสปลายปีแก่พนักงาน 40 เดือน และจ่ายเพิ่มเงินโบนัสกลางปีอีก 10 เดือน ในปีนี้จ่ายโบนัส 20 เดือน บวกเงินปันผลอีกคนละ 190,000 เหรียญ รวม 4 ปีที่ผ่านมา จ่ายเงินโบนัสแล้ว 120 เดือน เป็นที่อิจฉาของมนุษย์เงินเดือนในธุรกิจอื่น ๆ ขณะที่ Yang Ming Marine Transport Corporation บริษัทขนส่งสินค้าทางเรืออีกรายที่มีรัฐบาลไต้หวันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ประกาศจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงาน 13 เดือนและปรับขึ้นเงินเดือนอีก 3% รวม 4 ปีที่ผ่านมา จ่ายโบนัสไปแล้วรวม 100 เดือน

    ปีนี้ธุรกิจขนส่งทางทะเลทำไรสูงขึ้น EVERGREEN MARINE CORP ประกาศจ่ายโบนัส 20 เดือน บวกเงินปันผลอีก 190,000 เหรียญไต้หวัน (ภาพจาก english.cw.com.tw)

              นอกจากธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือแล้ว ปีที่ผ่านมา สายการบินต่าง ๆ ก็ทำกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในจำนวนนี้ Tigerair Taiwan ประกาศจ่ายโบนัสสิ้นปี 12 เดือน มากว่าปี 2566 ที่จ่าย 10.8 เดือน กลายเป็นสายการบินที่จ่ายโบนัสมากที่สุดในวงการธุรกิจสายการบินของไต้หวัน ส่วนสายการบิน EVA Air จ่ายโบนัสสิ้นปีจำนวน 7 เดือน สายการบิน China Airlines จ่ายโบนัส 6 เดือน มากกว่าปีก่อน

    Tigerair Taiwan สายการโลว์คอสต์ เตรียมจ่ายโบนัสเฉลี่ย 12 เดือน กลายเป็นสายการบินที่จ่ายโบนัสมากที่สุดในวงการธุรกิจการบินของไต้หวัน (ภาพจาก LTN)

              ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีการจ่ายโบนัสรองลงมา ได้แก่อุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จ่ายเงินโบนัสเฉลี่ย 1.5 เดือน อุตสาหกรรมด้านทัศนศาสตร์ 1.37 เดือน อุตสาหกรรมดั้งเดิมเฉลี่ย 1.28 เดือน ส่วนธุรกิจที่จ่ายเงินโบนัสน้อยสุดคือ ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมที่พัก เฉลี่ย 0.69 เดือน

              นอกจากธุรกิจภาคเอกชนแล้ว หน่วยงานรัฐบาล ทุกปีจะจ่ายเงินโบนัสสิ้นปี 1.5 เดือน บวกเงินรางวัลตามผลงานอีก 0.5-1 เดือน เพื่อนแรงงานไทยล่ะครับ ทราบว่า มีหลายโรงงานที่จ่ายเงินโบนัสแก่แรงงานต่างชาติเช่นเดียวกับแรงงานท้องถิ่น โรงงานท่านได้หรือไม่? เท่าไหร่?

    4. ต้อนรับปีแห่งการลดขยะพลาสติก กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวร่วมผลักดันธุรกิจที่พักแรมปรับเปลี่ยนแชมพูและครีมอาบน้ำมาเป็นแบบขวดใหญ่

           เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 กระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันประกาศ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป มาตรการควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในห้องพัก จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ พร้อมกันนี้ได้เสนอมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการทยอยลดการใช้น้ำที่บรรจุในขวดพลาสติก โดยหวังการใช้ขวดพลาสติกและพิชิตเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

    1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรมจัดวางของใช้ในห้องน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในห้องพัก 

              กระทรวงสิ่งแวดล้อมแถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรมจัดวางของใช้ในห้องน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในห้องพัก และต้องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและบำรุงผิว 4 รายการ ซึ่งประกอบด้วย แชมพู ครีมนวดผม สบู่เหลว และโลชั่นบำรุงผิว มาเป็นแบบขวดใหญ่ นอกจากนี้ ของใช้ส่วนตัว 6 อย่าง ได้แก่ หวี แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด ครีมโกนหนวด และหมวกคลุมผม ห้ามมิให้จัดวางไว้ในห้องพัก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้าพักจัดเตรียมมาเอง

    1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจที่พักแรมจัดวางของใช้ในห้องน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในห้องพัก  (ภาพจาก LTN)

              นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมเน้นย้ำว่า นโยบายข้างต้นนอกจากจะเป็นการขานรับกระแสการลดก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกและความต้องการด้านการลดขยะพลาสติกแล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย และเพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าพักจัดเตรียมของใช้ส่วนตัวมาเอง กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้จัดการประชุมผู้ประกอบการเพื่อประชาสัมพันธ์ มากกว่า 50 รอบ รวมถึงจัดกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทำความเข้าใจกับนโยบายการลดการใช้พลาสติก นอกจากนี้ยังได้จัดทำโฆษณา ผ่านสื่อโซเชียล วิทยุกระจายเสียง สถานีรถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน รถไฟ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าใต้ดิน สื่อวีดิทัศน์บนรถแท็กซี่ ซึ่งคาดว่า ในอนาคตจะสามารถลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กของผลิตภัณฑ์ที่เป็นของใช้ในห้องน้ำและของใช้ส่วนตัว ในจำนวน 460 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 2,100 ตันต่อปี ซึ่งเท่ากับสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2,500 ตันต่อปี

    ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและบำรุงผิวที่มีปริมาตรต่ำกว่า 180  มิลลิลิตรหรือซีซี ให้เปลี่ยนมาใช้แบบขวดใหญ่แทน (ภาพจาก LTN)

              นอกจากนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณขวดพลาสติกบรรจุน้ำตามที่กำหนด รายละ 30,000 เหรียญไต้หวัน คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • 1. ลมหนาวกำลังแรงสุดของปีนี้แผลงฤทธิ์ ยอดเขาอวี้ซานอุณหภูมิ -1.6°c หลายเมืองต่ำกว่า 10°c กรุงไทเป 4 วันมีผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเสียชีวิต 29 ราย

              กรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวันประกาศเตือนภัยจากลมหนาวที่มีกำลังแรงที่สุดในฤดูหนาวปีนี้ พัดลงปกคลุมเกาะไต้หวันตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว เช้าวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม บนยอดเขาอวี้ซาน อุณหภูมิ -1.6°c ตามต้นไม้มีเกล็ดหิมะเกาะเต็ม พื้นที่ราบตั้งแต่เจียอี้ขึ้นมาถึงภาคเหนือหลายเมืองอุณหภูมิต่ำกว่า 10°c

    ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ลมหนาวกำลังแรงพัดลงมาจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างไม่ขาดช่วง (ภาพจาก udn.com)

              กองดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยกรุงไทเปเปิดเผยว่า เฉพาะในกรุงไทเป ตั้งแต่วันที่ 25-28 ธันวาคม ระยะเวลาเพียง 4 วัน มีผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล (OHCA) และเสียชีวิตถึง 29 ราย เตือนให้ดูแลสุขภาพประมาทไม่ได้

    2. เกษตรพารวย! หนุ่มนักออกแบบภูมิทัศน์และการจัดสวนทิ้งงานรายได้เดือนละหลายแสน รับช่วงพ่อพัฒนาสวนชมพู่ที่ผิงตง สร้างรายได้มากกว่าเดิม

              คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจำนวนมาก ไม่ว่าจะในไต้หวันหรือในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเมินงานเกษตร เพราะเป็นงานลำบาก ต้องทนแดดตากฝน แถมรายได้จากการทำเกษตรก็น้อย สู้ไปหางานออฟฟิศในเมืองทำไม่ได้ รายได้สูงและสบายกว่า แต่รู้ไหม? หากเราตั้งใจทำและมีการศึกษานำความรู้ใหม่มาพัฒนา งานเกษตรที่หลายคนคิดว่าไม่มีอนาคต รายได้น้อย สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำและมีอนาคตมากกว่าที่เราคิด

    ที่เมืองผิงตง เป็นแหล่งเพาะปลูกชมพู่สายพันธุ์ต่าง ๆ ในภาพเป็นต้นชมพู่ที่กำลังออกผล วิจัยและพัฒนาโดยบริษัท Taiwan Fertilizer Co., Ltd.

              ในอดีต เกษตรกรรมของไต้หวันค่อนข้างจะเด่น ถูกจัดอยู่แถวหน้าของประเทศในเอเชีย มีการพัฒนาพืชพันธุ์อย่างเป็นระบบ เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว ประชากรที่ทำงานในภาคการเกษตรสูงถึง 56% ครองสัดส่วนจีดีพีถึง 32% แต่ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตเติบโตขึ้นอย่างมาก คนหนุ่มสาวทิ้งไร่นาไปทำงานในโรงงานหรืองานภาคบริการ และมีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จกลายเป็นนักธุรกิจใหญ่ เป็นเจ้าของโรงงานต่าง ๆ ประกอบกับวิกฤติเด็กเกิดน้อย ในชนบทมีแต่แรงงานสูงอายุ ทำให้เกษตรกรรมค่อย ๆ ลดสัดส่วนความสำคัญลง ทุกวันนี้ในชนบทขาดแคลนคนงานเกษตร สัดส่วนจีดีพีภาคการเกษตรลดเหลือประมาณ 1.2% กระนั้นก็ตาม เกษตรสมัยใหม่ ดึงดูคนหนุ่มสาวที่มีความรู้สูงกลับบ้านเกิด ไม่เพียงพัฒนาสายพันธุ์พืชผล ยังใช้ระบบ AI และดิจิทัลเข้ามาช่วย ส่งขายโดยตรงผ่านระบบออนไลน์โดยไม่มีคนกลาง นอกจากนี้ยังสร้างไร่สวนเป็นฟาร์มเชิงการท่องเที่ยว ให้ผู้คนในเมืองไปเก็บผลไม้และสัมผัสธรรมชาติของชนบท กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการเกษตร

    เกษตรกรไต้หวันปลูกผลไม้ได้เกือบทุกชนิด ในภาพเป็นชมพู่ที่หวานกรอบ วิจัยและพัฒนาโดยบริษัท Taiwan Fertilizer Co., Ltd.

              บุคคลตัวอย่างที่จะแนะนำได้แก่นายไช่เซี๋ยเหลียง (蔡協良) เจ้าของฟาร์มสันทนาการที่ตำบลหนานโจว เมืองผิงตง เขาผู้นี้ อดีตทำงานเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์และการจัดพืชสวนอยู่ในไทเป รายได้เดือนละหลายแสน แม้รายได้จะสูงแต่ต้องคบค้าและกินเลี้ยงสังสรรค์กับลูกค้า เป็นสาเหตุทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน คุณพ่ออายุมาก ไม่สามารถจะดูแลสวนชมพู่ได้อีกต่อไป นายไช่ฯ จึงทิ้งงานที่มีรายได้สูงในไทเป กลับบ้านไปรับช่วงงานเกษตรต่อจากคุณพ่อ ระหว่างนั้น พยายามเรียนรู้เทคนิคการเกษตรสมัยใหม่ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ในสวนของเขาจะไม่มีการเผาวัชพืช ไม่สร้างมลภาวะ ค้นคว้าพัฒนาและแปรรูปสวนชมพู่ให้กลายเป็นฟาร์มสันทนาการและการศึกษาเกษตรกรรมยุคใหม่ ให้คนในเมืองอยากจะไปทำความเข้าใจและใกล้ชิดเกษตรกรรมมากขึ้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสัมผัสธรรมชาติชนบทอย่างแท้จริง สร้างรายได้จากการทำเกษตรมากกว่าอาชีพเดิม

    ไช่เซี๋ยเหลียง (蔡協良) เคยเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์และการจัดพืชสวนอยู่ในไทเป ก่อนจะเปลี่ยนอาชีพกลายมาเป็นเจ้าของฟาร์มสันทนาการที่ตำบลหนานโจว เมืองผิงตง ถ่ายกับต้นชมพู่ในสวนของเขา (ภาพจาก udn.com)

              ไช่เซี๋ยเหลียง ไม่เพียงแต่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการเกษตร ยังสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค เขาพบว่า มนุษย์เงินเดือนต้องทำงานและใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ไม่ค่อยมีเวลาไปหาซื้ออาหารและผลไม้ในตลาดสด ส่วนใหญ่จะซื้อหาจากร้านสะดวกซื้อ นายไช่ฯ มองเห็นช่องทางการตลาด จับมือกับโรงงานแปรรูปผลไม้สด ส่งชมพู่ให้โรงงานเพื่อนำไปหั่นและรวมกับผลไม้ชนิดอื่น ทำเป็นผลไม้รวมมิตรที่หั่นเป็นชิ้นและบรรจุเป็นกล่องพร้อมบริโภคสำหรับกินคนเดียว ส่งขายร้านสะดวกซื้อโดยเฉพาะ ด้วยความที่คัดชมพู่เกรดพรีเมียม หวานกรอบและอร่อย เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ผลชมพู่ของเขา นอกจากลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์แล้ว แต่ละวันยังต้องส่งชมพู่อย่างน้อย 600 กก. ให้แก่โรงงานแปรรูป นายไช่ฯ กล่าวว่า เจ้าของสวนชมพู่จำนวนมาก ขาดทุนเพราะตลาดในประเทศไม่ใหญ่พอ ส่งออกก็ทำได้ยาก หากมีการพลิกแพลงเทคนิคการขาย โอกาสค่อนข้างจะมากและมีอนาคตสดใส เนื่องจากความต้องการชมพู่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ลำพังผลผลิตในสวนของตนเองไม่พอจะขาย เขาจึงหาสวนชมพู่คุณภาพดีอื่น ๆ ร่วมกันส่งให้โรงงานแปรรูป พลอยทำให้เกษตรรายอื่นได้รับอานิสงส์ไปด้วย นอกจากนี้ เขายังคิดค้นและพัฒนาเทคนิคการถนอมผลไม้โดยเฉพาะชมพู่ ให้มีความสด กรอบและหวานเหมือนเพิ่งเก็บจากต้นสด ๆ ตลอดเวลา ทำให้ผู้บริโภคมีชมพู่สดอร่อยรับประทานได้ตลอดทั้งปี

    ไช่เซี๋ยเหลียง (ซ้าย) รับช่วงทำสวนชมพู่ต่อจากคุณพ่อของเขา (ขวา) (ภาพจาก LTN)

              จะเห็นได้ว่า งานอะไรก็ตาม หากเราตั้งใจทำ มีโอกาสรุ่งกันทั้งนั้น เพื่อนผู้ฟังในไต้หวัน มีโอกาสในวันหยุด ปั่นจักรยานไปตามสวนหรือฟาร์มเกษตรในชนบท นอกจากได้เปิดหูเปิดตาและเบิกบานใจแล้ว ยังควรศึกษาหรือสังเกตวิธีการทำเกษตรและช่องทางการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรไต้หวันด้วย คิดว่าน่าจะนำไปใช้ที่บ้านเราได้

    ชมพู่จากสวนของไช่เซี๋ยเหลียง หวาน กรอบ อร่อย ราคาดี (ภาพจากบริษัท Taiwan Fertilizer Co., Ltd.)

    3. ไต้หวันดันกฎหมายป้องกันอันตรายจากการเคี้ยวหมาก ต้องได้รับอนุญาตมิฉะนั้นห้ามขาย ผู้ประกอบการครวญ ตู้ขายหมากตามข้างถนนคงถึงกาลอวสาน

              วัฒนธรรมการกินหมากถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของไต้หวัน แต่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นดินแดนที่อัตราการป่วยเป็นมะเร็งในช่องปากติดอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากหมากมีสารก่อมะเร็ง การกินหมากซึ่งแท้ที่จริงคือแค่เคี้ยวไม่กินลงไป หากกินเป็นเวลายาวนานจะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก ด้วยเหตุนี้เองกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันจึงเร่งบัญญัติกฎหมายป้องกันอันตรายจากหมาก ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จลงแล้ว มีการกำหนด 4 มาตรการหลัก ประกอบด้วย :

    ไต้หวันดันกฎหมายควบคุมการขายหมาก ผู้ประกอบการครวญ ตู้ขายหมากตามข้างถนนและไซซีขายหมากคงถึงกาลอวสาน (Cr. The Strom Media)

              1. ผู้ประกอบการร้านขายหมากต้องจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากเทศบาลท้องถิ่นจึงจะประกอบกิจการจำหน่ายได้ ในอนาคตเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขายหมากในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือตู้ขายหมากริมถนนไปขอจดทะเบียนและได้รับอนุญาตภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะถูกปรับเป็นเงิน 10,000-50,000 เหรียญไต้หวัน

    สาวขายหมากในชุดเซ็กซี่กลายเป็นภาพในอดีตไปแล้ว (ภาพจาก chinatimes.com)

              2. กำหนดสถานที่ห้ามเคี้ยวหมากโดยยึดตามกฎหมายป้องกันอันตรายจากการสูบบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วยสถานศึกษา สถานพยาบาล ยานพาหนะในระบบขนส่งมวลชน รถโดยสารส่วนบุคคลหรือแท็กซี่ รถบัสนำเที่ยว สถานีรถและห้องผู้โดยสาร เป็นต้น โดยหวังว่าจะลดการเข้าถึงหมากของเยาวชน ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ 2,000-10,000 เหรียญไต้หวันและต้องเข้ารับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการเลิกเคี้ยวหมากด้วย

    สาวขายหมากในชุดเซ็กซี่นำหมากมาส่งให้ลูกค้า (ภาพจาก udn.com)

              3. ห้ามผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและสตรีมีครรภ์เคี้ยวหมาก ยกเว้นชนพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมการกินหมากในพิธีกรรมและงานประเพณีต่าง ๆ มาตั้งแต่ดั้งเดิม

    ชนพื้นเมืองไต้หวันที่มีวัฒนธรรมการกินหมากในพิธีกรรมและงานประเพณีต่าง ๆ มาตั้งแต่ดั้งเดิม (Cr. 南島觀史-福爾摩沙 Formosa)

              4. ผู้ประกอบการร้านขายหมากต้องให้ความร่วมมือในตรวจสอบมาตรฐานสารปนเปื้อน อาทิ ยากำจัดศัตรูพืช สารพิษ หรือโลหะหนัก โดยต้องให้ความร่วมมือในการสุ่มตรวจของหน่วยงานราชการ

              นอกจาก 4 มาตรการหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีการกำหนด ห้ามผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย ด้วยวิธีการแถมฟรีหรือวิธีการอื่น ๆ รวมถึงต้องมีข้อความและภาพคำเตือนถึงพิษภัยของหมากบนซองบรรจุหมาก ห้ามภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ย้ำภาพลักษณ์ของการกินหมากและต้องขึ้นคำเตือน “หมากมีสารก่อให้เกิดมะเร็งกลุ่ม 1”ด้วย

    ในอนาคตจะมีการกำหนดสถานที่ห้ามเคี้ยวหมากโดยยึดตามกฎหมายป้องกันอันตรายจากการสูบบุหรี่ (Cr. MSD.org.tw)

              ด้านผู้ประกอบการร้านขายหมากโอดครวญว่า หากต้องให้ผู้ประกอบการไปจดทะเบียน อาจส่งผลให้ตู้ขายหมากริมถนนถึงกาลอวสาน หวังว่ารัฐบาลจะให้เวลาผ่อนผันหรือแนะแนว เพื่อให้ตู้ขายหมากเหล่านี้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายให้สอดรับกับข้อกำหนดในกฎหมาย ในขณะที่โชเฟอร์รถบัสนำเที่ยวและโชเฟอร์แท็กซี่ก็โอดครวญว่า หมากช่วยกระตุ้นประสาท ทำให้ไม่รู้สึกง่วง เป็นยาแก้ง่วงชั้นดีและราคาไม่แพงที่พวกเขานิยมใช้มาเป็นเวลายาวนาน หากห้ามเคี้ยวหมากขณะขับรถอาจเป็นส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขับรถได้ อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการประกาศสาธารณชนได้รับทราบเป็นเวลา 60 วัน หากไม่มีข้อโต้แย้งจากนั้นจะนำส่งให้สภานิติบัญญัติพิจารณาในการประชุมสมัยหน้า ซึ่งจะเปิดการประชุมขึ้นหลัง

    ชาวไต้หวันที่เคี้ยวหมากลดลงจาก 2 ล้านคนเหลือประมาณ 600,000 คน ทำให้กิจการขายหมากซบเซาไม่คึกคักเหมือนอดีต (ภาพจาก ftvnews.com.tv)

              การกินหมากในอดีตเคยได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงาน คนขับรถบรรทุกและรถบัส ในปัจจุบันจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าในอดีต นอกจากในไต้หวัน ที่อินเดียก็มีประชากรเคี้ยวหมากจำนวนมาก จัดเป็นประเทศที่มีคนเคี้ยวหมากมากที่สุดในโลกและจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากที่ครองอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน รองลงมาคือ ปาปัวนิวกินี ที่มีคนกินหมากเกือบร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ คนไทยเรามีวัฒนธรรมกินหมากในหมู่ผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก จะมีให้เห็นบ้างตามหมู่บ้านในชนบทเท่านั้น

  • 1. อย่าชะล่าใจ! อากาศหนาวทำผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิต 357 รายในเวลา 9 วัน ไม่เฉพาะผู้สูงวัย อายุ 40 ปีเศษก็โดน

              ปีนี้รู้สึกว่าอากาศจะหนาวกว่าทุกปี ลมหนาวพัดมาติด ๆ แต่ละลูกทำให้เกาะไต้หวันโดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนืออุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่ต่ำกว่า 10°c เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเสียชีวิตจากอากาศหนาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

    ค่ำวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคมนี้ ลมหนาวลูกใหม่เยือน อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว (ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยา : CWA)

              ข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยของไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมเป็นต้นมา จนถึงวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 9 วัน มีผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลมากถึง 357 คน ไม่เฉพาะคนสูงวัยเท่านั้น อายุ 40 เศษ ๆ ก็เสียชีวิตด้วย และช่วงนี้ ก็ยังมีลมหนาวพัดลงเป็นระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ดูแลสุขภาพด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าประมาท...

    อากาศหนาวจัดทำผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิต 357 รายในเวลา 9 วัน (ภาพจาก LTN)

    2. วางแผนหรือยัง? ปีใหม่นี้เคาต์ดาวน์ที่ไหนดี ? รวมสถานที่จัดงานเคาต์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่ของเมืองต่าง ๆ ทั่วไต้หวัน

              เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันส่งท้ายปีเก่า โบกมืออำลาปี 2567 และต้อนรับปีใหม่ 2568 แล้ว ช่วงสิ้นปีกิจกรรมนับถอยหลังต้อนรับปีใหม่หรืองานเคาต์ดาวน์ จัดเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด ในวันนี้ จะแนะนำงานเคาต์ดาวน์ในไต้หวันที่มีการจัดกันหลายเมืองทั้งภาคเหนือ กลางและใต้ เพื่อให้เพื่อน ๆ ในไต้หวันหรือผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวได้นำไปใช้วางแผนว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี

     งานเคานต์ดาวน์ที่อาคารไทเป 101 เป็นงานเคาต์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไต้หวันและมีชื่อเสียงติด 10 อันดับแรกของโลก แต่ละปีมีคนไปชมงานประมาณ 400,000-500,000 คน นอกจากมีการแสดงคอนเสิร์ตของเหล่านักร้องระดับแนวหน้า อย่าง Dragon Beauties & DJ Rayray ,TRASH ไต้เพ่ยหนี Karencici , J.Sheon หยางหน่ายเหวิน หลี่เซิ่งเจี๋ย  เหลียงหย่งฉี ปาซานเยา Apink , Energy, HRC BEAST CREW SHADOW ฯลฯ ไฮไลท์ของงานคือการจุดพลุบนอาคารไทเป 101 ที่จุดในช่วงเที่ยงคืนของวันส่งท้ายปีเก่า ซึ่งเป็นที่รอคอยของชาวไต้หวันและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ผ่านมา ผู้คนจะทยอยเดินทางเข้าไปจับจองสถานที่รอชมพลุบริเวณรอบ ๆ อาคารไทเป 101 ตั้งแต่หัวค่ำ บรรดาสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ แห่กันไปถ่ายทอดสด เหล่า Youtuber หรือเน็ตไอดอลแห่กันไปไลฟ์สดกัน บรรยากาศครึกครื้นสุด ๆ ผู้คนแทบไม่ต้องนอนกันเลยทีเดียว

    บรรยากาศงานเคาต์ดาวน์ไทเปและการจุดพลุบนอาคารไทเป 101 ในปีที่ผ่านมา (ภาพจาก UP MEDIA)

     งานเคาต์ดาวน์ที่นครนิวไทเป สถานที่จัดงานอยู่ที่ท่าเรือ Tamsui Fisherman's Wharf (淡水漁人碼頭) เป็นอีกงานหนึ่งที่น่าเที่ยวมาก บรรยากาศจะแตกต่างจากงานเคาต์ดาวน์ของไทเป เพราะสถานที่จัดงานอยู่ที่ปากแม่น้ำตั้นสุ่ยจุดที่ไหลลงทะเล ไฮไลท์ของงานคือการจุดพลุต้อนรับปีใหม่กลางแม่น้ำในเวลา 20.25 น. นาน 13.14 นาที ใช้พลุ 30,000 กว่าดอก นับว่ายาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีการแสดงแสงสีเสียงประกอบด้วย ที่ขาดไม่ได้คือการแสดงคอนเสิร์ตของวง SUPER JUNIOR-L.S.S.

    ภาพบรรยากาศงานเคาต์ดาวน์นครนิวไทเปและการจุดพลุกลางแม่น้ำตั้นสุ่ยเมื่อปีที่ผ่านมา  (ภาพจาก Super Taste)

     งานเคาต์ดาวน์ที่นครเถาหยวน สถานที่จัดงานอยู่ที่ลานกว้างหน้าสถานีรถไฟความเร็วสูงเถาหยวน ตั้งอยู่ในเขตชินผู่ นอกจากคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปินนักร้องแล้ว ไฮไลท์อยู่ที่การแสดงแสงสีเสียงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาต้อนรับปีใหม่

     งานเคาต์ดาวน์ที่เมืองซินจู๋ สถานที่จัดงานคือลานหน้าที่ว่าการเมืองซินจู๋ นอกจากคอนเสิร์ตสดของนักร้องแล้วยังมีการจุดพลุเป็นเวลา 300 วินาทีหรือ 5 นาที

     งานเคาต์ดาวน์ที่เมืองอี๋หลาน จัดขึ้นที่สวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังเมืองอี๋หลาน (宜蘭運動公園) การแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องที่นำทีมโดยวง Power Station (動力火車) วงร็อคดูโอรุ่นใหญ่ที่สมาชิกทั้งสองคนเป็นชนพื้นเมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดตลาดนัดกลางคืนโดยเชิญแผงขายอาหารชื่อดังในตลาดนัดกลางคืนของเมืองอี๋หลานมาเปิดแผงบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย

     งานเคาต์ดาวน์นครไทจง จัดที่สวนสาธารณะสุ่ยหนาน (水湳中央公園) มีการแสดงคอนเสิร์ตสดของ OST, MAMAMOO, Ozone เป็นต้น

     งานเคาต์ดาวน์เมืองหยุนหลิน จัดที่สวนสนุก Janfusun World (劍湖山世界) นับเป็นงานเคาต์ดาวน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีประวัติยาวนานที่สุดในเขตภาคกลาง มีการจุดพลุเป็นเวลา 888 วินาทีหรือ14.48 นาที และการแสดงแปรอักษรของโดรน 400 ลำ

    สวนสนุก Janfusun World เมืองหยุนหลิน จัดงานเคาต์ดาวน์ที่มีขนาดใหญ่ทีุ่่สุดในเขตภาคกลาง (ภาพจากเฟซบุ๊ก Janfusun World)

     งานเคาต์ดาวน์ที่นครไถหนาน จัดขึ้นที่ลานกว้างฝั่งตะวันตกของศูนย์ราชการหย่งหัว (永華市政中心西側廣場) ไฮไลท์คือการแสดงของดารานักร้องจากเกาหลี อีจุนโฮ ที่บินตรงมาร่วมเคาต์ดาวน์กับชาวไถหนานโดยเฉพาะ

    สวนสนุก E-DA WORLD นครเกาสง ปีนี้จะมีการจุดพลุต้อนรับปีใหม่นานถึง 999 วินาที  (ภาพจากเฟซบุ๊ก E-DA WORLD)

     งานเคาต์ดาวน์ที่นครเกาสง จัดขึ้น 2 แห่ง แห่งแรกคือที่ลานกว้างหน้าห้างสรรพสินค้า Dream Mall (夢時代廣場) ไฮไลท์คือ การแสดงคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปินนักร้องมากมายอาทิ Sandara Park หลูกว่างจ้ง  RapShark ,Yappy, SCOOL, GENBLUE,BBOY NANA เป็นต้น แห่งที่สองคือที่ สวนสนุก E-DA WORLD มีการจุดพลุ 999 วินาทีหรือ 16.39 นาที

     งานเคาต์ดาวน์ที่เมืองผิงตง สถานที่จัดงานคือสนามหญ้าหน้าผิงตงยิมเนเซียม (屏東縣立體育館) มีการแสดงคอนเสิร์ตสดของนักร้องชื่อดังหลายคนเช่นกัน

    3. แนะนำสถานที่ยอดฮิตสำหรับชมแสงสุดท้ายแห่งปี 2567 และแสงอรุณรุ่งแรกรับปีใหม่ 2568 ทั่วเกาะไต้หวัน

              เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แป๊บเดียวปี 2567 ก็จะผ่านเลยไป กำลังจะเข้าสู่ปีใหม่ 2568 นอกจากงานเคาต์ดาวน์รับปีใหม่ที่แข่งกันจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างความสุขให้กับประชาชนในท้องที่ สร้างคะแนนนิยมแก่พ่อเมืองนั้น ๆ ด้วยแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งที่คนไต้หวันนิยมทำกันในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ก็คือ ชวนกันไปชมบรรยากาศแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์อัสดงในปีเก่าและแสงอรุณรุ่งแรกรับปีใหม่ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศช่วงท้ายของทุกปีว่า แสงสุดท้ายและแสงแรกแห่งปีอยู่ที่ไหน ผู้คนจะชวนกันไปชม แต่หากไม่สะดวก ก็มีการนำเอาช่วงเวลาการชมบรรยากาศของแสงอาทิตย์ทั้งที่เป็นแสงสุดท้ายและแสงแรกแห่งปีของแต่ละเมืองมาเปิดเผย ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางไกลก็สามารถสัมผัสกับบรรยากาศของปีใหม่ได้

    ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นมองจากยอดเขาอาลีซาน สวยงามมาก (ภาพจาก taiwan.net.tw)

              กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศช่วงเวลาแสงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าหรือแสงสุดท้ายแห่งปี 2567 จะเกิดขึ้นที่กำแพงกันคลื่นชีกู่ในอุทยานแห่งชาติไถเจียง นครไถหนาน ช่วงเวลา 17.25 น. ค่ำวันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2567 นอกจากนี้ ยังสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินทิ้งลำแสงสุดท้ายแห่งปีในช่วงเวลาเดียวกันได้ที่ทางเดินเท้าอูหลินโถว (烏林投步道) ที่ท่าเรือซิงต๋า เขตหย่งอาน นครเกาสง ชายหาดซีจื่อวาน (西子灣) เขตกู่ซาน นครเกาสงเช่นกัน ที่หาดต้าผงวาน (屏東) ในตำบลตงกั่ง เมืองผิงตง และพื้นที่พักผ่อนและชมวิวกวนซาน (關山遊憩區) ตำบลเหิงชุน เมืองผิงตงเช่นกัน

    ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ขึ้นเขาอาลีซาน เพื่อชมแสงอรุณรุ่งแรกแห่งปี

              ใครที่ไม่สะดวกเดินทางไปไกลตามสถานที่กล่าวมา ในพื้นที่ที่ตนอาศัยก็ชมได้เช่นกัน เวลาต่างกันไม่กี่วินาที อย่างที่ไทจง ชมบรรยากาศแสงสุดท้ายแห่งปีช่วงเวลา 17.21 ที่พื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ย (高美濕地Gaomei Wetlands) ในเขตชิงสุ่ย นครไทจง ใครอยู่เถาหยวนก็ไปชมบรรยากาศแสงสุดท้ายแห่งปี 2567 ได้ในช่วงเวลา 17.17 น. ที่ท่าเรือประมงหย่งอาน ในเขตซินอู หรือ พื้นที่ชุ่มน้ำท่าเรือสวี่ฉั้วกั่งในเขตต้าหยวน (許厝港濕地) นครเถาหยวน ใครอยู่นครนิวไทเป ก็ไปชมแสงสุดท้ายแห่งปีได้ที่ท่าเรือประมงตั้นสุ่ยหรือที่ท่าเรือประมงหลินซานปี่ (麟山鼻漁港) ในเขตสือเหมิน นครนิวไทเป

    แสงแรกแห่งปี 2568 ที่สาดส่องมายังดินแดนไต้หวันเป็นจุดแรกได้แก่ที่พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศหลงเคิง (龍坑生態保護區) เมืองผิงตง เวลา 06:35 น. เช้าวันที่ 1 มกราคม 2568 ในภาพเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชื่อดัง ซานเซียนไถ (Sanxiantai) เมืองไถตง

              ส่วนแสงอรุณรุ่งหรือลำแสงแรกสาดส่องมายังเกาะไต้หวันรับปีใหม่ 2568 อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศหลงเคิง (龍坑生態保護區) เมืองผิงตง เวลา 06:35 น. เช้าวันที่ 1 มกราคม 2568 ที่สนามจอดรถฟงชุยซา (風吹砂停車場) ในอุทยานแห่งชาติเขิ่นตง เมืองผิงตง ในเวลา 06.36 น. ซันเซียนไถ (台東三仙台) ซานเซียนต้งหรืออุโมงค์โป๊ยเซียน เมืองไถตง สถานที่ชมแสงพระอาทิตย์แรกแห่งปียอดนิยมอื่น ๆ ได้แก่อาลีซานที่เมืองเจียอี้ ในช่วงเวลา 06.31 น. นอกจากชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ยังได้สัมผัสก้อนเมฆในยามเช้าแสนสวย เสมือนอยู่บนชั้นฟ้า และทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตรับพระอาทิตย์อุทัยที่อาลีซาน (嘉義阿里山日出印象音樂會) การรถไฟไต้หวันเปิดขายตั๋วล่วงหน้าแล้ว และบริษัททัวร์หลายแห่งมีการจัดโปรแกรมเที่ยว คนจะแน่นทุกปี ใครที่อยากไปสัมผัสกับบรรยากาศแสนสวยชนิดที่ท่านไปแล้วจะประทับใจไม่รู้ลืมต้องจองตั๋วหรือซื้อทัวร์แต่เนิ่น ๆ

    ชายหาดท่าเรือซูอ้าวที่อี๋หลาน เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยอดนิยมทางภาคเหนือ (ภาพจากสำนักงานบริหารเขตทัศนียภาพชายฝั่งตะวันออก)

              สำหรับพื้นที่ชมแสงแรกแห่งปีทางภาคเหนือที่มีชื่อ อย่างจุดชมวิวชายหาดหว้ายอ้าว (外澳海灘) ที่ตำบลโถวเฉิง เมืองอี๋หลาน เวลา 06.36.54 น. ที่นครนิวไทเปชมแสงอาทิตย์แรกของปีใหม่ได้ที่ประภาคารซันเตียวเจี่ยว (三貂角燈塔) เวลา 06.37 น. เช้าวันที่ 1 มกราคม ใครอยู่จีหลงไปชมกันได้ที่ ภูเขาหว้ายมู่ซาน (基隆外木山) บริเวณท่าเรือประมงหว้ายมู่ เวลา 06.37 น. อี๋หลานที่ยอดเขาไท่ผิงซาน เวลา 06.35 น. เช้าวันที่ 1 มกราคม 2568

    ภูเขาไท่ผิงซัน เมืองอี๋หลาน (宜蘭太平山) เป็นจุดชมดวงอาทิตย์ขึ้นยอดนิยมอีกแห่ง แสงแรกแห่งปี 2568 ที่ไท่ผิงซานขึ้นเวลา 06.35 น. เช้าวันที่ 1 มกราคม 2568

  • 1. หนาวทั่วไต้หวัน ภาคเหนือต่ำกว่า 10°c ติดต่อกัน 3 วันจนถึงเช้าวันจันทร์ 268 ยอดเขาสูงกว่า 3,000 เมตรอุณหภูมิติดลบ อวี้ซาน -2.4°c

                    ลมหนาวกำลังแรงลูกที่สองของปีนี้ พัดลงมาปกคลุมไต้หวันตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วเกาะลดลงกะทันหัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ อุณหภูมิกลางคืนและเช้าในพื้นที่ราบโล่งต่ำกว่า 10°c ติดต่อกัน 3 วันจนถึงเช้าวันจันทร์ จากนั้นลมหนาวอ่อนกำลังลง อากาศอบอุ่นขึ้น แต่วันอังคารหน้าเป็นต้นไป จะมีลมหนาวกำลังแรงลูกใหม่มาเยือน ส่งผลอุณหภูมิลดลงจนถึงเช้าวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567

    พื้นที่ราบโล่งทางภาคเหนือ อุณหภูมิช่วงกลางคืนและเช้าต่ำกว่า 10°c ติดต่อกัน 3 วัน จนถึงเช้าวันจันทร์หน้า วันอังคารหน้าจะมีลมหนาวลูกใหม่มาเยือน (ภาพจาก ctee.com.tw)

              จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน เช้าวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พื้นที่ที่หนาวที่สุดได้แก่เขตสือติ้ง นครนิวไทเป อุณหภูมิ 9.6°c พื้นที่ภูเขาในภาคเหนือตั้งแต่เหมียวลี่ขึ้นไป กลางคืนและช่วงเช้าอุณหภูมิต่ำกว่า 10°c ส่วนพื้นที่ภูเขาทางภาคกลางและใต้ก็มีอุณหภูมิต่ำประมาณ 10-12°c สภาพการณ์เช่นนี้ จะดำเนินต่อไปจนถึงเช้าวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม จากนั้นช่วงกลางวันจะเริ่มอุ่นขึ้น แต่วันอังคารหน้าจะมีลมหนาวลูกใหม่พัดลงมาอีก

    หน้าหนาวปีนี้ ลมหนาวกำลังแรงจากจีนแผ่นดินใหญ่พัดลงมาปกคลุมไต้หวันค่อนข้างถี่ (ภาพจาก chinatimes.com)

              ยอดเขาในไต้หวันที่สูงกว่า 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีมากถึง 268 ลูก ส่วนใหญ่อุณหภูมิติดลบ หากมีความชื้นสูง มีโอกาสพบเห็นหิมะตก อย่างอวี้ซาน เมื่อเช้าวันเสาร์นี้ -2.4°c ภูเขาหนานหูที่ไทจง -2.0°c  เหอฮวนซานที่หนานโถว -1.3°c

    สถานีตรวจวัดอากาศบนยอดเขาอวี้ซาน เช้าวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. อุณหภูมิ -2.4°c หิมะเริ่มเกาะตามกิ่งไม้ (ภาพจาก CNA)

              กรมอุตุนิยมวิทยานอกจากเตือนเกษตรกรต้องเตรียมมาตรการป้องกันภัยหนาวส่งผลเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรแล้ว ยังเตือนว่า อุณหภูมิต่ำอาจทำให้ป่วยไม่สบายได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องระวังเป็นพิเศษ

    2. ไปรู้จัก “การอยู่เดือน” กับธุรกิจดูแลคุณแม่หลังคลอดของไต้หวันกัน

              แม้อัตราการเกิดในไต้หวันลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลสถิติทะเบียนราษฎร์ระบุว่า ช่วงเดือนมกราคม- กันยายน 2567 ไต้หวันมีทารกเกิดใหม่ 97,733 คนเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีทารกเกิดใหม่ 99,652 คน ลดลง 1,919 คน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการ “อยู่เดือน” ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า จั้วเย่วจื่อ (坐月子) หรือการดูแลคุณแม่หลังคลอด ยังคงมีผลประกอบการสดใสและนับวันก็ได้รับความนิยมจากคุณแม่หลังคลอดมากขึ้นเป็นลำดับ

    ธุรกิจดูแลคุณแม่หลังคลอดได้รับความนิยมจากชาวไต้หวัน กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว (ภาพจาก look-in.com.tw)

              ไต้หวันมีธรรมเนียมการให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรต้อง“อยู่เดือน”ซึ่งเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของชนชาติจีน เพราะเชื่อว่า การคลอดบุตรทำให้สูญเสียเลือดและพลังลมปราณมาก ร่างกายจะทรุดโทรม การอยู่เดือนเป็นการดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอดโดยให้กินอาหารที่ตุ๋นผสมกับยาจีนเพื่อบำรุงสุขภาพอย่าง ไก่ตุ๋นน้ำมันงา เพราะตามตำราแพทย์แผนจีน น้ำมันงาช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ส่วนเนื้อไก่เป็นโปรตีนชั้นดีเหมาะกับการใช้บำรุงสุขภาพของผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือสูญเสียเลือดและพลังลมปราณ จึงเป็นอาหารบำรุงสุขภาพคุณแม่หลังคลอดที่ขาดไม่ได้เลย และพักผ่อนมากๆเพื่อปรับร่างกายให้กลับสู่สภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนช่วงก่อนตั้งครรภ์ และเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังคลอดบุตร เช่น ปวดหลังปวดเอว เป็นต้น

    คนรุ่นใหม่ในไต้หวันนิยมใช้บริการศูนย์ดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอดหรือศูนย์อยู่เดือน มีที่พักที่สบายและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร (ภาพจาก mamiguide.com)

              ในความเป็นจริงแล้วการอยู่เดือนของชนชาติจีนคล้ายคลึงกับธรรมเนียมการอยู่ไฟของคนไทย เพียงแต่การอยู่เดือนต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า“อยู่เดือน”นั่นเอง และในระหว่างอยู่เดือนยังมีข้อห้ามต่างๆมากมาย ประกอบด้วย

    คนรุ่นใหม่ในไต้หวันนิยมใช้บริการศูนย์ดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอดหรือศูนย์อยู่เดือน มีที่พักที่สบายและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร (ภาพจาก ishabelle.com.tw)

              1. ห้ามอาบน้ำห้ามสระผม เพราะการอาบน้ำต้องถอดเสื้อผ้าร่างกายจะรับความเย็นจากสภาพอากาศโดยรอบ และน้ำ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและปวดศีรษะได้ง่าย

              2. ห้ามร้องไห้ เพราะจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับตา

              3. ต้องสวมเสื้อแขนยาว ไม่ให้ร่างกายถูกลมเย็นพัดมากระทบ

              4. ห้ามออกนอกบ้าน ให้นอนพักผ่อนให้มากที่สุด

              5. ห้ามดื่มน้ำ แต่ให้ดื่มซุปที่ตุ๋นด้วยยาจีนแทน

    ตามธรรมเนียมดั้งเดิม คุณแม่หลังคลอดระหว่างอยู่เดือน มีข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ห้ามสระผม อาบน้ำ เชื่อว่าจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและปวดศีรษะได้ง่ายในภายหลัง (ภาพจาก Shutterstock และ Epohc Times)

              ในอดีตคุณแม่หลังคลอดในไต้หวันจะอยู่เดือนกันที่บ้าน โดยมีแม่สามีและสมาชิกในครอบครัวเป็นคนช่วยดูแลทั้งเรื่องอาหารการกิน การจัดเวลาให้พักผ่อนหลังให้นมบุตร และยังช่วยดูแลทารกแรกเกิดให้ด้วย โดยถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในครอบครัวเลยทีเดียว แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมในไต้หวันแปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ครอบครัวในไต้หวันส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ได้อยู่รวมกันหลายรุ่นเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนในอดีต การอยู่เดือนจึงแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แม่สามีส่วนใหญ่ไม่มีเวลามาดูแลลูกสะใภ้ที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่หรือลูกสะใภ้ก็ไม่อยากให้แม่สามีมาดูแล ปัจจุบันคุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่เลือกใช้บริการของสถานบริการดูแลคุณแม่หลังคลอดหรือศูนย์อยู่เดือน (月子中心) ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมาช่วยดูแลคุณแม่หลังคลอดและทารกแรกเกิด แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพและการให้นมบุตร อีกทั้งมีนักโภชนาการจัดอาหารบำรุงสุขภาพให้คุณแม่หลังคลอด จัดเป็นการดูแลแบบครบวงจร ทำให้นับวันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแสนิยมในหมู่คุณแม่หลังคลอด ก่อนคลอดบุตรจะเตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าไปอยู่เดือนที่ไหน

    ศูนย์อยู่เดือน มีแพทย์และพยาบาลดูแลคุณแม่หลังคลอดและทารกอย่างใกล้ชิด (ภาพจาก thebabyshouse.com)

              สำหรับสนนราคาของการใช้บริการศูนย์อยู่เดือนขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่ ภาคเหนือ 6,000 เหรียญไต้หวัน/วัน ภาคกลาง 5,000 เหรียญไต้หวัน/วัน ภาคใต้ 4,500 เหรียญไต้หวัน/วัน ระยะเวลาในการอยู่เดือน มีให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ 14 วัน 12-21 วันและ 21 วันขึ้นไป หรืออาจเลือกใช้บริการให้พนักงานดูแลการอยู่เดือนหรือ เย่วเส่า (月嫂) ไปดูแลที่บ้าน 20 วัน สนนราคาประมาณ 70,000 เหรียญ หากรวมค่าวัตถุดิบอาหารบำรุงสุขภาพคุณแม่หลังคลอดสนนราคา 100,000-120,000 เหรียญ/เดือน และยังอาจเลือกใช้บริการส่งอาหารบำรุงสุขภาพไปให้ที่บ้าน ไม่ต้องการให้ส่งพนักงานไปดูแลคุณแม่ สนนราคาประมาณ 40,000-60,000 เหรียญ/เดือน

    ศูนย์อยู่เดือน มีแพทย์และพยาบาลดูแลคุณแม่หลังคลอดและทารกอย่างใกล้ชิด (ภาพจาก yuhocare.com.tw)

              สำหรับระยะเวลาในการอยู่เดือนแพทย์แผนปัจจุบันแนะว่า หากเป็นการผ่าตัดคลอด จะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าคลอดแบบธรรมชาติ ควรอยู่เดือนให้ครบ 40 วัน

  • 1. ปลายสัปดาห์นี้อากาศเย็นแฉะ ต้นสัปดาห์หน้าอบอุ่น ศุกร์หน้าคลื่นลมหนาวกำลังแรงลูกใหม่มาเยือน ภาคเหนือช่วงเช้าอุณหภูมิลดเหลือ 10°c

              สัปดาห์ที่ผ่านมา อากาศในไต้หวันค่อนข้างอบอุ่น ปลาย ๆ สัปดาห์ โดยเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์มีลมหนาวพร้อมความชื้นสูงมาเยือน ทำให้อุณหภูมิลดลง แต่ไม่ถึงขั้นหนาวจัดอย่างสัปดาห์ก่อน ภาคกลางและเหนือ ช่วงเช้าอุณหภูมิ 12-14°c กลางวันประมาณ 20°c ภาคใต้อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย และเนื่องจากไม่ค่อยมีลมพัด ทำให้คุณภาพอากาศค่อนข้างแย่ มลพิษทางอากาศสูง

    ศุกร์หน้าคลื่นลมหนาวกำลังแรงลูกใหม่มาเยือน ภาคกลางถึงภาคเหนือ ลดลงเหลือ 10-12°c

              ต้นสัปดาห์หน้าอากาศอบอุ่นขึ้น ช่วงเช้า 17-19°c กลางวัน 24-28°c แต่วันพฤหัสบดีหน้าจะมีลมหนาวกำลังแรงลูกใหม่มาเยือน ทำให้พื้นที่ราบโล่งตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ ลดลงเหลือ 10-12°c เป็นอากาศหนาวแบบแห้ง ๆ ไม่ชื้นแฉะ เตือนให้ดูแลสุขภาพ...

    2. เถาหยวน มีมูลค่าการผลิตทางอุตสาหกรรม 4 ล้านล้านเหรียญ สูงสุดในไต้หวัน คนไทย 1 ใน 3 หรือ 24,000 คนอาศัยอยู่ที่นี่!

              เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป จัดงานฉลองวันชาตินอกไทเปเป็นครั้งแรกที่โรงแรมเชอราตันเถาหยวน เขตต้าหยวน ใกล้สนามบินนานาชาติเถาหยวน มีแรงงานไทยและชาวไทยเข้าร่วมงานกว่า 700 คน นายซูจวิ้นปิน รองผู้ว่าการนครเถาหยวนกล่าวในงานฉลองวันชาติไทย ขอบคุณคนไทยทั้งที่เป็นแรงงานไทยและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่กว่า 24,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของคนไทยในไต้หวัน ร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่นครเถาหยวน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวไทยที่เข้าพักโรงแรมในเถาหยวนในปีนี้ก็เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

    นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ (ซ้าย) ผอ. ใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป และนายซูจวิ้นปิน (ขวา) รองผู้ว่าการนครเถาหยวนในงานเลี้ยงรับรองสำหรับเพื่อนชาวไทยในไต้หวัน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ มีคนไทยในนครเถาหยวนร่วมงานคับคั่งกว่า 700 คน (ภาพจาก tycg.gov.tw)

              คนไทยจำนวนมาก เดินทางมาทำงานและตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองนี้ และถือเถาหยวนเป็นบ้านแห่งที่สองของตน  เพราะเคยทำงานและอาศัยอยู่นานจนมีความผูกพัน นอกจากคนไทยแล้ว เถาหยวนยังมีแรงงานชาติอื่น ๆ ทำงานอยู่มากที่สุดด้วย จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ในไต้หวันมีแรงงานต่างชาติทั้งสิ้น 811,457 คน ในจำนวนนี้ ทำงานอยู่ในพื้นที่เถาหยวนมากที่สุด 139,314 คน หรือ 1 ใน 6 ของแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ในเถาหยวน ส่วนแรงงานไทยมีทั้งหมด 72,859 คน ทำงานอยู่ในเถาหยวน 21,353 คน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของคนงานไทยทำงานอยู่ที่นี่ ส่วนคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ก็มีอัตราส่วนพอ ๆ กัน

    ภาพตัดของสถานีรถไฟเถาหยวน ซึ่งจะเป็นชุมทางรถไฟใต้ดินและรถไฟฟ้าที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2573 (ภาพจาก Taoyuan MRT)

              ทำไมจึงดึงดูดชาวต่างชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนมากมาทำงานและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ เพราะนครเถาหยวนเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน มีนิคมอุตสาหกรรมมากถึง 35 แห่ง เขตอุตสาหกรรมและการค้า 11 แห่ง และ 1 ใน 3 ของ 500 บริษัทขนาดใหญ่สุดที่ผลิตสินค้าส่งออกทั่วโลกตั้งโรงงานผลิตอยู่ในเมืองนี้ ส่งผลให้ยอดมูลค่าการผลิตพุ่งสูงถึง 4 ล้านล้านเหรียญ สูงสุดในไต้หวัน โอกาสการทำงานมีมากกว่าเมืองอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงดึงดูดหนุ่มสาวและผู้ใช้แรงงานย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น จนเป็น 1 ใน 6 นครของไต้หวันที่ประชากรเพิ่มขึ้นติดต่อกันทุกปี ปัจจุบัน มีจำนวน 2.33 ล้านคน จากประชากรไต้หวัน 23.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 6 นครที่อายุโดยเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 41 ปี ต่ำสุดของไต้หวันด้วย

    ภาพจำลองสถานีรถไฟเถาหยวนแห่งใหม่ (ภาพจาก FB : Taoyuan MRT)

    ภาพจำลองสถานีรถไฟจงลี่แห่งใหม่ (ภาพจาก FB : Taoyuan MRT)

              ปัจจุบัน นครเถาหยวนกำลังเร่งก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์หลากหลายโครงการ เช่น Taoyuan Aerotropolis  หรือเมืองสนามบิน โครงการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบิน เพื่อให้เกิดการวางแผนพัฒนาที่สามารถเกื้อกูลและใช้ประโยชน์จากการมีสนามบินเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าหลายสาย โครงการเปลี่ยนรถไฟบนดินไปเป็นรถไฟใต้ดินและสร้างสถานีใหม่เพิ่มขึ้น ฯลฯ หากโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ นครเถาหยวนจะน่าอยู่มากกว่าปัจจุบัน

    ชิงผู่ ย่านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในเถาหยวน บริเวณที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงเถาหยวน

              นอกจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมที่สะดวก และราคาบ้านที่ไม่แพง เพียงแค่ 1 ใน 3 ของราคาบ้านในกรุงไทเปและนครนิวไทเปที่ดึงดูดคนทำงานย้ายมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นแล้ว ชาวเมืองเถาหยวนยังได้รับสวัสดิการสังคมที่ดี มีร้านอาหารต่างชาติตั้งเต็มไปหมด โดยเฉพาะร้านอาหารไทย ทั้งที่บริการลูกค้าคนไทยและชาวไต้หวัน ซึ่งชื่นชอบอาหารไทยมากพอ ๆ กับอาหารญี่ปุ่น ยังมีอีกสิ่งที่ไม่พูดไม่ได้คือ เถาหยวน เป็นเมืองที่โชคดีมีอันตรายจากภัยธรรมชาติน้อยกว่าเมืองอื่น ๆ จากข้อมูลพบว่า เมืองที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยจากภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่น ก็คือ นครเถาหยวน เพราะไม่ได้อยู่ในแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก อีกทั้งเป็นที่ราบสูง แทบจะไม่มีเหตุน้ำท่วมเกิดขึ้น ใต้ดินเป็นแผ่นหินต่างจากเมืองอื่น ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงมักไม่ค่อยสั่นสะเทือนแรงเหมือนเมืองอื่น ๆ แม้ขนาดของแผ่นดินไหวจะเท่ากันแต่จะรู้สึกเบากว่า เช่นในเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2542 พื้นที่อื่น ๆ ต่างได้รับความเสียหายไปตาม ๆ กัน แต่เถาหยวนไม่มีอาคารบ้านเรือนพังทลายเสียหายเลยแม้แต่หลังเดียว

    เถาหยวนเป็นเมืองน่าอยู่ สาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน ราคาบ้านถูกกว่าไทเปและนครนิวไทเป

    2. พาไปรู้จัก 10 พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไต้หวัน

              ไต้หวันเป็นเกาะกลางทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชียและตั้งอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ประมาณ 36,000 ตารางกิโลเมตร ประชากร 23.4 ล้านคน แต่ไต้หวันมีพิพิธภัณฑ์น้อยใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนมากถึง 646 แห่ง

    ไต้หวันมีพิพิธภัณฑ์น้อยใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนมากถึง 646 แห่ง ในภาพเป็นอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ก (ภาพจาก 360stories.com)

              ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ผลการสำรวจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรก โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่มีการโพสต์ผ่านแฟลตฟอร์มสื่อโซเชียล อาทิ Facebook YouTube Threads TikTok Instagram รวมทั้งรายงานข่าวจากสื่อมวลชนทุกประเภท ตลอดจนเว็บไซต์และบล็อก ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 25 พฤศจิกายน 2567

    พิพิธภัณฑ์ฉีเหม่ย (Chimei Museum) ในนครไถหนาน (ภาพจาก klook.com)

              จากนั้นจัดอันดับความนิยม พิพิธภัณฑ์ 10 อันดับแรกประกอบด้วย :

              อันดับที่ 1 อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ก (National Chiang Kai-Shek Memorial Hall)  ตั้งอยู่ใจกลางเมืองไทเป ตัวอาคารของอนุสรณ์สถานถูกสร้างขึ้นมาตามแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ บันไดทั้งสี่ด้านถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวเป็นขั้นตามแบบพีระมิดอียิปต์ หลังคาสีน้ำเงิน รวมทั้งยังมีสวนดอกไม้สีแดง สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเชก และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์คของไทเปและเป็นจุดท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไต้หวันจะต้องไปชมและถ่ายรูปเช็กอินกัน

    แผนที่ Google maps : https://maps.app.goo.gl/eVmy9c248P243pr99

    อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ก (National Chiang Kai-Shek Memorial Hall) ในไทเป (ภาพจาก Shutterstock)

              อันดับที่ 2 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (National Museum of Natural Science) ตั้งอยู่ที่นครไทจง ภายในจัดแสดงภาพถ่ายและข้อมูลเกี่ยวกับโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต อารยธรรมในยุคต่าง ๆ และความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของจักรวาล เป็นต้น ด้านนอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีสวนพฤกษชาติ ซึ่งมีพรรณพืชทั้งเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนมากมาย

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/iyeGJx965YintGXB9

    อันดับที่ 2 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (National Museum of Natural Science) นครไทจง (ภาพจาก travel.taichung.gov.tw)

              อันดับที่ 3 พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคเหนือ (National Palace Museum Northern Branch) หรือกู้กง สาขาภาคเหนือ ตั้งอยู่ในเขตซื่อหลิน กรุงไทเป มีโบราณวัตถุล้ำค่าจำนวนทั้งสิ้น 698,649 ชิ้นที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของจอมพลเจียงไคเชกที่พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองซึ่งเป็นการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัดสินใจขนโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติในกรุงปักกิ่งมาเก็บไว้ที่ไต้หวัน สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นโดยใช้ชื่อเดิมคือ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (國立故宮博物院) หรือเรียกย่อว่า กู้กง ตั้งอยู่ที่บริเวณชานกรุงไทเปและเปิดใช้เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2508 และถูกจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ 1 ใน 4 ของโลก นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ของอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์(Louvre Museum) ของฝรั่งเศส และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art) ของสหรัฐฯ ปัจจุบันกู้กงมีการสร้างสาขาใหม่ อยู่ที่เมืองเจียอี้ เรียกว่า พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคใต้ ส่วนที่ไทเปซึ่งเรียกว่า พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคเหนือ

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/bhipk1LFUsskYEbr7

    พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคเหนือ (National Palace Museum Northern Branch) หรือกู้กง สาขาภาคเหนือ เขตซื่อหลิน กรุงไทเป (ภาพจาก smiletaiwan.cw.com.tw)

              อันดับที่ 4  พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสง (Kaohsiung Museum of Fine Arts) จัดแสดงผลงานศิลปะ ทั้งศิลปะร่วมสมัย ภาพวาดจีนและผลงานประติมากรรม เป็นต้น Google

    maps : https://maps.app.goo.gl/f3q64qVhdPnoTtyXA

    พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสง (Kaohsiung Museum of Fine Arts) (ภาพจาก taiwan.net.tw)

              อันดับที่ 5 พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและชีววิทยาทางทะเลแห่งชาติ (Musium National Marine Biology & Aquarium) ตั้งอยู่ที่เมืองผิงตง ได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและชีววิทยาทางทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย จัดแสดงสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลรอบไต้หวันมากกว่า 300 ชนิด

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/QWUWafFCZzDRHa499

    พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและชีววิทยาทางทะเลแห่งชาติ (Musium National Marine Biology & Aquarium) เมืองผิงตง

              อันดับที่ 6 พิพิธภัณฑ์ฉีเหม่ย (Chimei Museum) ตั้งอยู่ในนครไถหนาน ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ยูโรเปียนที่คลาสสิกและอลังการ สิ่งของที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ที่มากมายและหลากหลายประเภททั้งงานศิลปะตะวันตก เครื่องดนตรีตะวันตกแบบโบราณ สัตว์สตาฟและอาวุธโบราณ นอกจากนี้การตกแต่งสวนด้านนอกตัวอาคารในแบบยุโรปและสระน้ำขนาดใหญ่ ทำให้พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งนี้กลายเป็นจุดสนใจของชาวไต้หวันตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อปี 2558 เป็นต้นมา

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/cviBBwoC19P5s1Yk7

    พิพิธภัณฑ์ฉีเหม่ย (Chimei Museum) นครไถหนาน (ภาพจาก taiwan.net.tw) 

              อันดับที่ 7 หอรำลึก ดร. ซุนยัดเซ็น (National Dr. Sun Yat-Sen Memorial Hall) ตั้งอยู่ในเขตซิ่นอี้ กรุงไทเป สร้างขึ้นในปี 2515 เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการครบรอบ วันเกิด 100 ปีของ ดร. ซุนยัดเซ็น บิดาแห่งประชาชาติจีน

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/N9MeSFEfTwG7qesV8

    หอรำลึก ดร. ซุนยัดเซ็น (National Dr. Sun Yat-Sen Memorial Hall) เขตซิ่นอี้ กรุงไทเป (ภาพจาก taiwan.net.tw) 

              อันดับที่ 8 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Museum)  ตั้งอยู่ที่นครเกาสง จัดแสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน อวกาศและเครื่องกล เป็นต้น

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/ySodgoRyUVoc8iFaA

    พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Museum) นครเกาสง (ภาพจาก popworld.cc)

              อันดับที่ 9 พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ไต้หวัน (National Taiwan Musium of Fine Arts) ตั้งอยู่ที่นครไทจง มีพื้นที่กว้างถึง 10 เฮกตาร์ (21.6 ไร่ ) จัดแสดงผลงานศิลปะระดับชาติ มีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมและงานนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่ อีกทั้งมีการเปิดหลักสูตรให้ความรู้ด้านศิลปะแก่เยาวชน

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/MG6Fg6NYH6kTVbQk6

    พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ไต้หวัน (National Taiwan Musium of Fine Arts) นครไทจง (ภาพจาก tmaroc.org.tw)

              อันดับที่ 10 พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคใต้ ตั้งอยู่ที่เมืองเจียอี้ จัดแสดงวัตถุโบราณที่แบ่งหรือการสลับสับเปลี่ยนวัตถุโบราณจากสาขาภาคเหนือไปจัดแสดงให้ประชาชนในเขตภาคใต้ได้ชมกัน

    Google maps : https://maps.app.goo.gl/eANbugLGMCvHCxEKA

    พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคใต้ เมืองเจียอี้ (ภาพจาก taiwan.net.tw)

  • 1. คลื่นลมหนาวแผ่ลงมาปกคลุมไต้หวันต่อเนื่อง เฉลี่ย 5-7 วันต่อลูก อุตุฯ เตือน! ศุกร์หน้ามีลมหนาวกำลังแรงลูกใหม่มาเยือน หนาวกว่าเดิม

              มวลอากาศเย็นกำลังแรงจากจีนแผ่นดินใหญ่ลูกแรกของปีนี้ พัดลงมาปกคลุมไต้หวันตั้งแต่วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว หนาวสุดเมื่อรุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. ที่เหมียวลี่วัดได้เพียง 6.6°c และพื้นที่ราบโล่งทางภาคเหนืออุณหภูมิต่ำสุด 8-10°c แม้ช่วงกลางวันลมหนาวอ่อนกำลังลง กลางวันอบอุ่น แต่ช่วงเช้ายังคงหนาว วันอาทิตย์นี้เป็นต้นไปอากาศอุ่นขึ้น จนถึงวันศุกร์หน้า ( 6 ธ.ค. 67) จะมีคลื่นลมหนาวลูกใหม่ที่มีกำลังแรงกว่าเดิม พร้อมความชื้นสูงพัดลงมาปกคลุมเกาะไต้หวัน เตือนให้รับมือแต่เนิ่น ๆ

    รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. 67 ที่เหมียวลี่อุณหภูมิเลดลงเหลือ 6.6°c และพื้นที่ราบโล่งทางภาคเหนืออุณหภูมิต่ำสุด 8-10°c (ภาพจาก CWA)

              กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า ไต้หวันเข้าสู้หน้าหนาวอย่างเต็มตัว จากนี้ไป มวลอากาศเย็นจากจีนแผ่นดินใหญ่จะแผ่ลงมาปกคลุมไต้หวันเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 5-7 วันต่อลูก ต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนต้องระวังสุขภาพ โดยเน้นให้สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยเฉพาะขณะเข้านอนในช่วงกลางคืน ต้องห่มผ้าห่มหนาและเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายความหนาว เพราะเสี่ยงอันตรายถึงเสียชีวิต

    ปลายสัปดาห์หน้าจะมีคลื่นลมหนาวลูกใหม่ที่มีกำลังแรงกว่าเดิม พร้อมความชื้นสูงพัดลงมาปกคลุมเกาะไต้หวัน เตือนให้รับมือแต่เนิ่น ๆ (udn.com)

    2. หมอฟันไต้หวันเดือด ประท้วงรัฐบาลปล่อยปละละเลยหมอฟันโปแลนด์ ฉุดมาตรฐานทันตแพทย์ไต้หวันต่ำลง

              เป็นที่ยอมรับกันว่า การแพทย์ในไต้หวันมีมาตรฐานสูง หมอฟันก็เช่นกัน กว่าจะเรียนจบและเป็นทันตแพทย์ได้ ต้องเรียนเก่งสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เรียนหลักสูตรครบ 6 ปี ในจำนวนนี้ต้องฝึกภาคปฏิบัติ 2 ปีเต็ม จากนั้นถึงมีสิทธิ์สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมประกอบอาชีพทันตแพทย์ได้ และคลินิกทันตกรรมในไต้หวันมีระบบบริการและคุณภาพค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทั่วไต้หวันมีทันตแพทย์ 16,500 คน เฉลี่ย 1 คนต่อประชากร 1,450 คน จัดอยู่ในระดับแถวหน้าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผู้ใช้บริการอย่างมาก แต่ก็มีเรื่องวุ่น ๆ ในวงการแพทย์ โดยเฉพาะทันตแพทย์ เพราะมีชาวไต้หวันบางส่วนที่อยากให้ลูกหลานเป็นหมอ แต่สอบเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยในไต้หวันไม่ได้ ส่งลูกหลานไปเรียนที่ประเทศโปแลนด์ 2-5 ปี ไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติ เมื่อกลับมาไต้หวันแล้วสามารถเข้าร่วมสอบใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทันที ทำให้หมอฟันในไต้หวันเกิดความไม่พอใจ ประท้วงบ่อยครั้งเรียกร้องต้องมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ไม่ค่อยเป็นผลเท่าไหร่ ยิ่งก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์ที่แพทย์จบจากโปแลนด์วินิจฉัยและรักษาผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งเสียชีวิต แม้จะชดใช้ค่าเสียหายและถูกลงโทษจำคุก แต่ก่อให้เกิดความผวามากขึ้น

    ชาวไต้หวันประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ เดินขบวนประท้วงในกรุงไทเป เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ แก้กฎหมายควบคุมหมอฟันโปแลนด์ (ภาพจาก chinatimes.com)

              วันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีชาวไต้หวันประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ เดินขบวนประท้วงในกรุงไทเป เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ แก้กฎหมายควบคุมหมอฟันที่จบจากประเทศในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะจากประเทศโปแลนด์ที่มีชาวไต้หวันแห่ไปเรียน ซึ่งเรียนง่ายเพียงแค่จ่ายเงิน จบเร็วไม่ต้องผ่านการฝึกภาคปฏิบัติ สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทันที แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันควบคุมโควตาสอบปีละไม่เกิน 50 คน แต่โครงการส่งแพทย์ลงพื้นที่ชนบทที่รัฐบาลกำลังผลักดัน อนุญาตให้ผู้จบแพทยศาสตร์จากประเทศยุโรปตะวันออกเข้าร่วมได้ เกรงจะเป็นการเปิดช่องโหว่ ขณะที่หมอโปแลนด์ทั้งหลายก็โต้ว่า เป็นการละเลยสิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ของผู้ป่วยในชนบท

    เมื่อ 24 พ.ย. 67 ชาวไต้หวันประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ เดินขบวนประท้วงในกรุงไทเป เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ แก้กฎหมายควบคุมหมอฟันโปแลนด์ (ภาพจาก gvm.com.tw)

              ปัญหาแพทย์ที่จบจากประเทศยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะจากประเทศโปแลนด์ ซึ่งในไต้หวันรู้จักกันในนาม หมอโปโป เป็นคำเรียกในเชิงลบที่มองว่า เป็นแพทย์ที่จบคณะแพทยศาสตร์มาตรฐานต่ำ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานถึง 15 ปีแล้ว เริ่มแรกของปัญหาคือ กฎหมายไต้หวันให้การรับรองผู้ที่จบคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจากยุโรป อเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น ฯลฯ รวม 9 ประเทศ ซึ่งมีหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่ได้มาตรฐานและผ่านการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติอย่างเข้มงวด สามารถเข้าร่วมสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ ในอดีตก็ไม่มีปัญหา แต่ช่วง 20 ปีที่แล้ว ยุโรปอ้าแขนรับประเทศยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกใหม่เพิ่ม ซึ่งถูกมองว่ามีระบบทางการแพทย์รวมทั้งการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ด้อยกว่ามาตรฐานของยุโรปตะวันตก และไต้หวันไม่ได้แก้กฎหมายให้รัดกุม ทำให้มีคนบางกลุ่ม เช่นนักการเมือง แพทย์และผู้มีอันจะกินสบช่อง ส่งลูกหลานที่จบมัธยมปลายและสอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไต้หวันไม่ได้ ไปเรียนต่อที่ประเทศยุโรปตะวันออก โดยใช้เวลาเรียน 2-5 ปี ไม่ต้องผ่านการฝึกในภาคปฏิบัติ ก็มีสิทธิ์สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ทันที ทำให้นักศึกษาแพทยศาสตร์ในไต้หวันไม่พอใจอย่างยิ่ง และมีคนจำนวนมากมองว่าสภาพการณ์ดังกล่าว จะฉุดมาตรฐานทางการแพทย์ของไต้หวันให้ตกต่ำไปด้วย แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการควบคุมโควตาจากเดิมให้สอบได้ปีละไม่เกิน 37 คน ต่อมาผ่อนปรนเป็น 50 คน และคราวนี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดโครงการส่งแพทย์ลงพื้นที่ชนบท โดยใช้งบประมาณ 2,400 ล้านเหรียญ ถูกมองว่าเป็นการเปิดช่องให้หมอโปโปมีโอกาสเป็นแพทย์เหมือนแพทย์ที่จบในไต้หวัน จึงเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงดังกล่าว

    เมื่อ 24 พ.ย. 67 ชาวไต้หวันประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ เดินขบวนประท้วงในกรุงไทเป เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ แก้กฎหมายควบคุมหมอฟันโปแลนด์ (ภาพจาก udn.com)

    3. เคยชิมหรือยัง? ขนมจอหงวนและขนมซงเกา ขนมโบราณของไต้หวันที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการอาหารแปรรูปจากข้าว

    ขนมจอหงวน (ภาพจาก agriharvest.tw)

    ขนมซงเกา  (ภาพจาก shop.tpnanmen.org.tw)

              ชาวไต้หวันกินข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนหลายชนชาติในภูมิภาคเอเชีย โดยหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่บ่งชี้ว่า “ข้าว” เป็นอาหารหลักของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน สามารถย้อนกลับไปเมื่อ 4,000 ปีก่อน และจากบันทึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวันของเฉินตี้ (陳第) แม่ทัพแห่งราชวงศ์หมิงที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1603 ที่สังเกตเห็นว่าชนพื้นเมืองในขณะนั้น “ไม่มีนาข้าวที่มีน้ำหล่อเลี้ยง ใช้วิธีปลูกข้าวไร่ ชนพื้นเมืองจะลงมือเพาะปลูกเมื่อดอกไม้บนภูเขาเบ่งบานและเก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดข้าวสุกงอม”แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้าวกับเกาะไต้หวันไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

    แม่พิมพ์ขนมจอหงวน หน้าตาเหมือนถ้วยน้ำชาโบราณเล็กๆ ที่ทำจากไม้สักเนื้อแข็ง ที่ทนน้ำและความเป็นกรดได้ดีมาก (ภาพจาก agriharvest.tw)

              ในยุคต่อมา มีการค้นพบบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของข้าวที่มีต่อชาวไต้หวันทั้งในชีวิตประจำวัน ในพิธีกรรมทางศาสนา ในพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ และแม้แต่ในช่วงต่างๆ ของชีวิตตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ และตาย จากภาพรวมรสนิยมในการบริโภคอาหารของชาวไต้หวันในปัจจุบัน ข้าวสายพันธุ์จาปอนิกา (Japonica) ซึ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้น รสชาติเหนียวนุ่มกำลังดี ได้รับความนิยมมากที่สุด ข้าวสายพันธุ์นี้ในไต้หวันเรียกว่า เผิงไหลหมี่ (蓬萊米) นิยมนำมาหุงเป็นข้าวสวยและข้าวต้ม ในขณะที่ข้าวสายพันธุ์อินดิกา (Indica) ที่เม็ดเรียวยาวรี สวมบทบาทสำคัญบนโต๊ะอาหารของชาวไต้หวันทั้ง 3 มื้อมาเป็นเวลายาวนาน เหมาะแก่การนำมาใช้ทำเป็นอาหารว่างอย่าง หว่านเกา (碗粿) หมี่ไถมู่ (米苔目) และเส้นหมี่ เป็นต้น ส่วนข้าวเหนียวซึ่งมีลักษณะเด่นคือความเหนียวหนึบ จึงเป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุดของอาหารที่ทำจากข้าว อาทิ บ๊ะจ่างและขนมเข่ง เป็นต้น และยังถูกนำมาทำเป็นขนมประเภทต่างๆ โดยนำข้าวสารมาบดเป็นผงและปั้นเป็นก้อนแป้ง จากนั้นผสมวัตถุดิบชนิดอื่น อาทิ น้ำตาล ตามลงไป ทำเป็นอาหารแปรรูปจากข้าวหลากหลายชนิดเพื่อใช้เป็นเสบียงพกติดตัวไว้กินยามหิวเมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่นอีกด้วย

    วิธีทำขนมโบราณส่วนใหญ่จะไม่ซับซ้อนและในอดีตใช้เป็นเสบียงพกติดตัวไว้กินยามหิวเมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น

              สำหรับขนมโบราณที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของขนมที่ทำจากข้าวในไต้หวัน ได้แก่ ขนมจอหงวนและขนมซงเกา โดยขนมจอหงวนทำจากข้าวเผิงไหลหมี่ที่ผ่านการแช่น้ำ โม่เป็นแป้ง ปั้นเป็นก้อน และบดเป็นผง จากนั้นเทผงแป้งข้าวเจ้าและไส้ขนมลงในถ้วยพิมพ์ที่ทำจากไม้สักแล้วนำไปเสียบบนรูของเตานึ่งที่มีไอน้ำพุ่งออกมา รอประมาณสิบกว่าวินาที ข้าวสารป่นที่มีสีขาวจะเริ่มโปร่งแสง ถึงตอนนี้ก็ถือว่าขนมจอหงวนพร้อมเสิร์ฟแล้ว

    ขนมซงเกาที่ผ่านการปรับขนาดให้เล็กลงเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบัน (ภาพจากshop.tpnanmen.org.tw)

              ส่วนขนมซงเกา  (鬆糕) ซึ่งเป็นขนมโบราณอีกชนิดหนึ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของตลาดหนานเหมินในกรุงไทเป ซึ่งได้รับสมญานามว่า “ครัวของคนต่างมณฑล”หรือร้านขนมโบราณ Hoshing 1947 ย่านถนนตี๋ฮั่วเจียที่ทำกันสดๆเพื่อโชว์ลูกค้า และร้านนี้ยังเติมแนวคิดสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ใหม่ให้แก่ขนมโบราณ สอดรับกับบรรยากาศแห่งการหลอมหลวมความเก่ากับความใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัวของย่านการค้าตี๋ฮั่วเจีย ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้าร้านแขวนม่านประตูสีส้ม ระหว่างชิมขนมซงเกาจะมีไม้จิ้มขนมที่ทำจากไม้ไผ่ให้ด้วย และยังมีด้ายแดงที่เย็บติดบนกล่องของขวัญ เป็นต้นและนี่คือการนำบริบทเก่าๆของย่านต้าเต้าเฉิงมาใช้ในการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ให้แก่บรรจุภัณฑ์ของขนมซงเกา

    ผู้ประกอบการพยายามปรับปรุงรูปโฉมใหม่ให้แก่ขนมโบราณเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้าที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ (ภาพจากร้านขนม Hoshing 1947)

  • 1. เตรียมเสื้อหนาวรอ! อุตุฯ เตือน ลมหนาวกำลังแรงสุดลูกแรกของปีนี้จะพัดลงมาปกคลุมไต้หวันในวันพุธหน้า อุณหภูมิลดฮวบแตะ 11°c

              เข้าหน้าหนาวแล้ว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากลมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อากาศในไต้หวันโดยเฉพาะภาคเหนือครึ้มฟ้าครึ้มฝน ชื้นแฉะและอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ช่วงกลางคืนและเช้าเฉลี่ยอยู่ที่ 16-19°c กลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังเย็นเฉลี่ย 21-24°c ช่วงปลายสัปดาห์ ท้องฟ้าโปร่งใส อุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 25-30°c แต่กลางคืนยังคงเย็น อุณหภูมิ 16-22°c

    เช้าวันนี้ อุณหภูมิทั่วไต้หวันเฉลี่ยอยู่ที่ 16-19°c (ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน : CWA)

              อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวันพยากรณ์เตือนว่า ตั้งแต่วันอังคารสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะมีมวลอากาศเย็นกำลังแรงพัดลงมาปกคลุมเกาะไต้หวัน ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างฮวบฮาบ ต่ำกว่า 17°c  โดยเฉพาะเช้าวันพุธและวันพฤหัสบดี พื้นที่ภาคเหนืออุณหภูมิในช่วงกลางคืนและเช้าประมาณ 14°c พื้นที่ราบโล่งอาจลดลงเหลือ 11°c เตือนให้ระวังสุขภาพด้วยการสะบัดเสื้อกันหนาวรอรับลมหนาวได้เลย

    เตือนเช้าวันพุธและวันพฤหัสบดีสัปดาหหน้า พื้นที่ภาคเหนืออุณหภูมิในช่วงกลางคืนและเช้าลดลงอยู่ที่ 14-15°c พื้นที่ราบโล่งอาจเหลือ 11°c (ภาพจาก chinatimes.com)

    2. เพราะอะไรคนไต้หวันจึงชอบกินหม้อไฟ? มูลค่าตลาดสูงถึงปีละ 40,000 ล้านเหรียญ

              ระยะนี้อากาศหนาว ร้านหม้อไฟจากเดิมที่ลูกค้าเยอะอยู่แล้ว ยิ่งคึกคักมากเป็นพิเศษ หลายคนสงสัยว่า จริงๆแล้วลักษณะภูมิอากาศไต้หวันเป็นแบบกึ่งเขตร้อน ฤดูหนาวกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน ส่วนเวลาที่เหลืออากาศจะค่อนข้างร้อน ยิ่งช่วงฤดูร้อนประมาณเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม อากาศร้อนพอๆกับเมืองไทยเลยทีเดียว แต่ทำไมผู้คนชอบรับประทานหม้อไฟกันมาก มูลค่าตลาดสูงถึงปีละ 40,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ครองสัดส่วนตลาดร้านอาหารถึง 40% และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นปีละ 70%

    คนไต้หวันชอบกินหม้อไฟ ยิ่งช่วงอากาศหนาวร้านหม้อไฟจากเดิมที่ลูกค้าเยอะอยู่แล้ว ระยะนี้คึกคักมากเป็นพิเศษ (ภาพจาก The Strom media)

              สาเหตุที่คนไต้หวันชอบกินหม้อไฟกันเป็นเพราะได้กินอาหารหลายอย่างมาก มีเนื้อ หมู ไก่ ปลา กุ้ง หอย ปู อีกทั้งผักสดก็มีให้เลือกมากมายและยังมีน้ำซุปให้เลือกหลากหลายประเภท ยิ่งเป็นร้านหม้อไฟแบบคิดเป็นหัว กินได้ไม่อั้นจนกว่าจะอิ่ม ถือว่าคุ้มสุดคุ้ม บางร้านยังมีบาร์อาหารปรุงสุกให้เลือกตักรับประทานเองอีกมากมายหลายเมนู ที่สำคัญร้านหม้อไฟเหมาะกับสมาชิกทุกรุ่นในครอบครัว เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ วัยชรา รับประทานได้หมด คนไต้หวันบอกว่า ช่วงวันหยุดเวลานึกไม่ออกว่าจะกินอะไรกัน หลายคนเลือกไปร้านหม้อไฟเพราะง่ายที่สุด มีร้านให้เลือกมากมายหลายแบรนด์ ทั้งแฟรนไชด์และร้านที่มีแบรนด์ของตนเอง ไปแล้วไม่ค่อยผิดหวัง หรือที่คนไต้หวันใช้คำว่า 不會踩雷 (อ่านว่า ปู๋ฮุ่ยฉ่ายเหลย) แปลตรงตัวคือ ไม่เหยียบกับระเบิด ความหมายคือไม่ผิดหวังนั่นเอง

    คนไต้หวันชอบกินหม้อไฟเพราะได้กินอาหารหลายอย่างพร้อมกัน หลายคนบอกว่าคิดอะไรไม่ออกก็ไปร้านหม้อไฟ ตอบโจทย์ทุกคนในครอบครัว (ภาพจาก jhujianshabu)

    ร้านหม้อไฟส่วนใหญ่บริการผักสดแบบไม่อั้น โดนใจคนชอบกินผัก (ภาพจาก jhujianshabu)

              จากรายงานการสำรวจตลาดอาหารประเภทหม้อไฟในไต้หวันประจำปี 2567 ที่จัดทำโดย Unilever food solutions บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีสมาชิกกว่า 200,000 ราย โดยใช้วิธีสุ่มสำรวจซึ่งพบว่า กว่า 70% ของผู้บริโภคนิยมกินหม้อไฟในร้าน ส่วนที่เหลือสั่งผ่านเดลิเวอรีเพื่อกินกันที่บ้าน นอกจากนี้ยังพบว่า 56% ของผู้บริโภคนิยมไปกินหม้อไฟกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวครั้งละประมาณ 3-4 คน ครองสัดส่วนสูงที่สุด ตามมาด้วยไปกินกัน 2 คน และไปกินคนเดียว สำหรับคนที่ไปกินหม้อไฟคนเดียว พบว่า  39% ไปกินเดือนละครั้ง 23% กินสัปดาห์ละครั้ง ต่อคำถามที่ว่าเพราะอะไรจึงไปกินหม้อไฟ 66% ตอบว่า นึกอยากกินก็ไปกินเลย 41% นัดสังสรรค์กับเพื่อนเพราะร้านหม้อไฟมีอาหารทุกอย่างใครชอบทานอะไรก็สั่งมาลงหม้อไฟได้หมด

    หม้อไฟแบบกินคนเดียวได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หน้าหนาวน้ำซุปยาจีนถูกปากคนทางภาคใต้ (ภาพโดยอัญชัน ทรงพุทธิ์)

    หม้อไฟน้ำซุปผักกาดขาวดอง ได้รับความนิยมจากคนทางภาคเหนือ (ภาพจากกองการท่องเที่ยว นครเถาหยวน)

              สำหรับสนนราคาหม้อไฟแบบกินไม่อั้น ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดคือ 400 เหรียญไต้หวันขึ้นไป หม้อไฟแบบกินคนเดียวประมาณ 200~400 เหรียญ นอกจากนี้ความนิยมของผู้บริโภคทางภาคเหนือกับภาคใต้ก็ต่างกัน ภาคเหนือนิยมหม้อไฟที่มีน้ำซุปให้เลือกหลากหลายชนิดเช่น น้ำซุปกระดูกหมู น้ำซุปผักกาดขาวดอง น้ำซุปนมสด น้ำซุปซีอิ๊วหวาน น้ำซุปมิโสะ น้ำซุปสาหร่าย น้ำซุปหมาล่า และน้ำซุปเต้าหู้เหม็น หรือแม้แต่รสชาติแบบไทยๆ เช่น น้ำซุปแกงกะหรี่และน้ำซุปต้มยำ เป็นต้น ในจำนวนนี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่ น้ำซุปสาหร่าย น้ำซุปผักกาดขาวดองและน้ำซุปหมาล่า ในขณะที่ทางภาคใต้นิยม น้ำซุปยาจีน และน้ำซุปเต้าหู้เหม็น มากที่สุด และ 72% จะลองชิมน้ำซุปก่อนลงมือกินเนื้อหรือผักที่ใส่ลงไปต้มในหม้อไฟ

    Jhu Jian ร้านหม้อไฟแบรนด์ท้องถิ่นชื่อดัง ขายดีจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (ภาพโดยอัญชัน ทรงพุทธิ์)

              รายงานการสำรวจฉบับนี้ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดหม้อไฟในไต้หวันสูงถึงปีละ 40,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ครองสัดส่วนตลาดอาหารนอกบ้านถึง 40% และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นปีละ 70%   

    3. ยึดพื้นที่ภาคกลางและใต้ไว้หมดแล้ว กลัวลามขึ้นเหนือ ไต้หวันเตรียมจ่ายค่ากำจัดกิ้งก่ายักษ์สีเขียวตัวละ 800 เหรียญ ตั้งเป้าจับ 100,000 ตัวในปีหน้า

              กิ้งก่ายักษ์สีเขียวหรือกรีนอีกัวนา สัตว์เลื้อยคลานพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่เติบโตเต็มที่มีความยาวถึง 1.5 เมตร กำลังระบาดหนักทั่วภาคกลางและใต้ จนทำให้หลายเมืองอย่างผิงตง เกาสงและไถหนานเสมือนเป็นจูราสสิคปาร์คอย่างในหนัง เนื่องจากมันปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี แพร่พันธุ์เร็ว ไม่มีศัตรูธรรมชาติและกัดกินต้นกล้าหรือยอดผักผลไม้เป็นอาหาร ทำให้เกษตรกรเสียหายหนัก ยังเข้าไปยั้วเยี้ยหาอาหารกินในบ้าน ทำให้ชาวบ้านตกใจและผวาอย่างยิ่ง รัฐบาลท้องถิ่นตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะและจ้างบริษัทเอกชนกำจัด แต่ผลที่ได้ไม่ค่อยเด่นชัด จำนวนที่เกิดใหม่มากกว่าถูกกำจัดหลายเท่า กระทรวงเกษตรประมาณการว่า ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการกำจัดสะสม 210,000 ตัว แต่ยอดจำนวนกิ้งก่ายักษ์สีเขียวขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว น่าจะมากกว่าที่จับได้เป็นสิบเท่าตัว ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรจึงมีการหารือกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพิ่มงบประมาณในการกำจัดจากปัจจุบันตัวละ 250 เหรียญเพิ่มเป็น 500-800 เหรียญ และตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะกำจัดให้ได้ 100,000 ตัว

    เมืองทางภาคใต้ ไม่ว่าจะบริเวณบ้าน ไร่นาหรือในป่า เต็มไปด้วยกิ้งก่ายักษ์สีเขียวหรือกรีนอีกัวนา ทำลายพืชผลเกษตรและเข้าไปในบ้านขโมยอาหารกิน ทำให้ชาวบ้านหวาดผวา จนกลายเป็นจูราสสิคปาร์คไปแล้ว (ภาพจาก udn.com)

              สมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านต่างกังวลประเด็นนี้มาก ขณะตรวจสอบร่างงบประมาณกระทรวงเกษตร ตั้งกระทู้ถามนายเฉินจวิ้นจี๋ รมว. กระทรวงเกษตรว่า พื้นที่เกษตรกรรมภาคใต้ ตั้งแต่เมืองหยุนหลินลงไป ตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการรุกรานและทำลายพืชผลทางการเกษตรของกรีนอีกัวนา เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรต้องหาทางกำจัดโดยเร็ว แม้จะเพิ่มงบประมาณก็ตาม ขอให้ได้ผลและตั้งเป้าหมายให้กระทรวงเกษตรต้องกำจัดไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัวในปีหน้า ส่วนนายหงม่งข่าย สส. จากนครนิวไทเป สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งกังวลว่า กิ้งก่ายักษ์ที่ยึดพื้นที่เกษตรทางภาคกลางและใต้ไว้เรียบร้อยแล้ว จะลุกลามขึ้นมาทางภาคเหนือ กระทรวงเกษตรต้องหาทางสกัดกั้นโดยเร็ว

    พื้นที่เกษตรกรรมภาคกลางและใต้ ตั้งแต่เมืองหยุนหลินลงไป ตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการรุกรานและทำลายพืชผลทางการเกษตรของกรีนอีกัวนา (ภาพจาก LTN)

              รมว. กระทรวงเกษตรตอบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมเร่งด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลท้องถิ่นที่กำลังประสบปัญหา ที่ประชุมมีมติจัดตั้งคณะทำงานข้ามหน่วยงาน เพิ่มงบประมาณสนับสนุนและตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปี 2568 จะจำกัดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว โดยจะเพิ่มค่ากำจัดจากปัจจุบัน 250 เหรียญเป็น 500-800 เหรียญต่อตัว นอกจากนี้ยังเสนอวิธีกำจัดต่าง ๆ เช่นใช้ไม้ยาวติดเชือกคล้องคอ ใช้อุปกรณ์ดักจับ เครื่องยิงฉมวก ปืนอัดลมเป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบัน มอบหมายให้บริษัทที่เอกชนรับจ้างจับ และเตรียมให้อาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมมาช่วยในการกำจัด

    กองการเกษตรเมืองผิงตงจ้างบริษัทเอกชนมืออาชีพมากำจัดกรีนอีกัวนา จนถึงสิ้นปี 2566 กำจัดไปแล้วจำนวน 34,002 ตัว มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดจำนวนที่กำจัดได้ทั่วไต้หวัน (ภาพจาก udn.com)

    บริษัทเอกชนรับกำจัดกรีนอีกัวนาที่เมืองผิงตง จะออกทำงานในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ไม่ค่อยจะเคลื่อนไหว ทำให้จับได้ง่ายกว่า (ภาพจาก ftvnews.com)

              เหตุที่กิ้งก่ายักษ์หรืออีกัวนาเขียวแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว มาจากชาวไต้หวันบางคนซื้อสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นชนิดนี้มาเลี้ยง เมื่อไม่อยากเลี้ยงต่อ ก็เอาไปปล่อยในพื้นที่ไร่นาหรือคลองระบายน้ำ เนื่องจากมีความทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี กรีนอีกัวนาตัวเมียแต่ละตัวสามารถออกไข่ได้ 20-70 ฟองต่อปี ประกอบกับไต้หวันไม่ใช่เป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม จึงไม่มีศัตรูธรรมชาติ เมืองต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมจับกิ้งก่ายักษ์ อย่างเมืองผิงตงจัดกิจกรรมจับกิ้งก่ายักษ์มาแลกถั่วแดงอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรชื่อดังจากเมืองผิงตง 600 กรัมต่อ 1 ตัว ชาวเมืองผิงตงให้ความร่วมมืออย่างดี นอกจากนี้ มีการจ้างบริษัทเอกชนที่รับกำจัดสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้โดยเฉพาะ แต่ก็สู้การขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของมันไม่ได้

    กิ้งก่ายักษ์สีเขียวขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว กระทรวงเกษตรจับมือกับรัฐบาลท้องถิ่น ตั้งเป้าปี 2568 จะกำจัดให้ได้ 100,000 ตัว โดยเพิ่มงบประมาณในการกำจัดจากปัจจุบันตัวละ 250 เหรียญเป็น 500-800 เหรียญ (ภาพจาก udn.com)

  • 1. อุณหภูมิลด! ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักรับหน้าหนาว คร่า 26 ชีวิต อาการโคม่า 202 ราย ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 10 ปีของไต้หวัน

              ช่วงนี้ไต้หวันเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โรคภัยที่มาพร้อมกับฤดูหนาวที่พบมากที่สุดคือโรคไข้หวัดใหญ่ รัฐบาลไต้หวันเปิดให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไปรับการฉีดวัคซีนฟรี แต่ดุเหมือนว่าเอาไม่อยู่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันเปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม-วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เสียชีวิต 26 ราย ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 10 ปีและยังมีผู้ป่วยอาการรุนแรง 202 ราย

    ไข้หวัดใหญ่ระบาดรับหน้าหนาว คร่า 26 ชีวิต รุนแรง 202 ราย ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 10 ปี (ภาพจาก LTN)

    2. เคยชิมหรือยัง? ลูกพลับ ผลไม้ที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากล้นแต่ออกผลปีละครั้ง

              เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ผลไม้ที่ออกสู่ท้องตลาดในช่วงฤดูกาลนี้คือ ลูกพลับหรือชื่อภาษาจีนคือ ซื่อจื่อ (柿子) ด้วยความที่ผู้จัดชอบทานลูกพลับมาก ก็จะรอคอยฤดูกาลนี้อย่างใจจดใจจ่อ ลูกพลับจะทยอยเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงไปจนถึงฤดูหนาว หรือประมาณเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนธันวาคม แต่ถ้าใครชอบทานลูกพลับแห้งก็ต้องรอประมาณปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป

    อย่าพลาดชิมลูกพลับ ผลไม้ที่มีคุณประโยชน์มากล้นแต่ออกผลปีละครั้ง (ภาพจาก Super Buy)

              ลูกพลับ ได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ของจีนโดยแท้เพราะมีถิ่นกำเนิดจากภาคเหนือของจีน คนจีนมีการรับประทานลูกพลับมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น และต่อมาได้แพร่กระจายพันธุ์เข้าไปในญี่ปุ่น ในปัจจุบันก็ได้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่นไปแล้ว ผลลูกพลับจะมีอยู่หลายรูปทรง ทั้งแบบกลม แบบกรวย กลมแบน ส่วนผลอ่อนของลูกพลับจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีเหลืองออกส้มๆ เนื้อในเป็นสีส้ม และกรอบ จำแนกตามรสชาติได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ลูกพลับหวาน ภาษาจีนเรียกว่า เถียนซื่อ (甜柿) ลสุกสีส้มอมเหลือง สามารถรับประทานสด ๆได้ รสหวานฉ่ำ มีทั้งแบบกรอบกับแบบนิ่ม ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือลูกพลับฝาด ภาษาจีนเรียกว่า เซ่อซื่อ (澀柿) มีรสฝาด เนื้อนิ่ม ผลสุกเนื้อสีส้มอมแดง โดยในไต้หวันและจีนนิยมนำมาทำเป็นลูกพลับแห้ง จะช่วยลดความฝาดลงและสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น อีกทั้งแพทย์จีนยังนำไปใช้เป็นส่วนผสมของการต้มยาจีนบางชนิดด้วย

    ลูกพลับแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือแบบหวานกับแบบฝาด โดยแต่ละชนิดมีหลายสายพันธุ์ (ภาพจาก News & Market)

              ในไต้หวันแหล่งเพาะปลูกลูกพลับที่สำคัญที่สุดอยู่ที่เมืองเจียอี้ รองลงมาคือไทจง ซินจู๋ และเหมียวลี่ โดยลูกพลับหวาน หรือที่เรียกว่าเถียนซื่อ (甜柿) ผลจะกลมแบน ระดับความหวานประมาณ 17-19 นิยมรับประทานสด จะหวาน กรอบและมีน้ำชุ่มฉ่ำ อร่อยมาก พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกพลับหวานต้องสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,200 เมตร และช่วงที่ลูกพลับใกล้สุกสภาพอากาศในช่วงกลางวันและกลางคืนต้องมีอุณหภูมิต่างกันตั้งแต่ 9 องศาเซลเซียสขึ้นไป  ส่วนลูกพลับที่มีรสฝาดจะมีผลกลม ปลูกมากที่ซินจู๋และเหมียวลี่

    ลูกพลับเป็นผลไม้จีนโดยแท้ มีถิ่นกำเนิดจากภาคเหนือของจีน คนจีนมีการรับประทานลูกพลับมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (ภาพจาก youli-fruits.com)

              สำหรับประโยชน์ของลูกพลับซึ่งถือเป็นผลไม้ที่เหมาะกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องจากอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก วิตามิน A และ C ในปริมาณมากกว่าแอปเปิลเขียวถึง10 เท่า แพทย์แผนจีนและนักโภชนาการแนะนำว่า ผู้หญิงที่มีอาการความดันต่ำ เลือดน้อย หรือประจำเดือนเพิ่งผ่านไป ควรรับประทานลูกพลับเพื่อบำรุงโลหิต นอกจากนี้ เนื่องจากลูกพลับยังอุดมไปด้วยสารอาหารจำพวกโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต ช่วยลดอาการอยากอาหาร อีกทั้งเส้นใยอาหารและกรดอินทรีย์ปริมาณมากในลูกพลับ ยังช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารของกระเพาะและลำไส้ทำงานได้ดี รวมถึงช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ อีกทั้งกรดแทนนิกในลูกพลับยังช่วยลดอาการอักเสบและลดการดูดซึมไขมันของร่างกาย ซึ่งทำให้ลดการสะสมของไขมันได้ด้วย

    ลูกพลับทั้งแบบสดและแบบแห้ง มีประโยชน์มากมาย หนาวนี้อย่าลืมลองหามารับประทานกัน (ภาพจาก cw.com.tw)

    3. สุดเจ๋ง! ร้านสะดวกซื้อในไต้หวันเนรมิตกากกาแฟเป็นทองคำสีเขียว ทำวัสดุผลิตภัณฑ์ดูแลผมและผิวพรรณ ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า เป็นปุ๋ยฟาร์มอินทรีย์ ผลิตกะหล่ำปลี 2.2 หมื่นลูก กล้วย 2 แสนลูก ข้าวโพด ฯลฯ

            ในปี 2566 ที่ผ่านมา คนไต้หวันดื่มกาแฟ 4,240 ล้านแก้ว เฉลี่ยคนละประมาณ 184 แก้วต่อคนต่อปี มูลค่าตลาดกาแฟกว่า 80,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ร้านกาแฟในไต้หวันมีความหลากหลาย อย่างเชนร้านกาแฟ ทั้งของนอกของไต้หวันหลายสิบยี่ห้อ ร้านคาเฟ่ที่เน้นบรรยากาศและรสชาติ และที่มาแรงคือร้านสะดวกซื้อทุกแบรนด์ จะขายกาแฟสดในราคาถูกแก้วละ 30-50 เหรียญแต่รสชาติดี เป็นที่นิยมของคนทำงาน จนกลายเป็นสินค้าที่ทำยอดขายสูงของร้านสะดวกซื้อแทบทุกค่ายไปแล้ว

    กากกาแฟ รวมถึงแก้วกาแฟเหลือทิ้งจากการบริโภคในแต่ละวันมีปริมาณมหาศาล ถูกนำไปทำเป็นวัสดุผลิตภัณฑ์ดูแลผมและผิวพรรณ ผลิตเสื้อผ้า รองเท้าและเป็นปุ๋ยฟาร์มอินทรีย์ ฯลฯ (ภาพจาก udn.com)

             เมื่อกาแฟสดขายดี ย่อมมีปัญหาตามมา นั่นคือ กากกาแฟ รวมถึงแก้วกาแฟเหลือทิ้งจากการบริโภคในแต่ละวันมีปริมาณมหาศาล จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง? จึงจะไม่ก่อให้เกิดต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนคงคิดว่า ทางเจ้าของร้านคงนำกากกาแฟไปทิ้งเป็นขยะ หรืออย่างมากก็ให้คนอื่นนำไปใช้เป็นปุ๋ย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร้านกาแฟในไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชนขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริษัทด้วยหลักความยั่งยืน คือมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า หลัก ESG ร้านกาแฟในไต้หวันจึงนำกากกาแฟและแก้วกาแฟไปใช้เป็นประโยชน์มากกว่าทิ้งเป็นขยะหรือทำเป็นปุ๋ย เพราะมันมีราคามากกว่านั้น

    กากกาแฟถูกนำไปเป็นวัสดุผลิตผ้าขจัดกลิ่นเหงื่อ ในภาพเป็นนายเฉินกัวชิน ประธาน Singtex บริษัทสิ่งทอชื่อดังของไต้หวันกับผ้าที่ผลิตจากกากกาแฟของเขา (ภาพจาก mirrormedia.mg)

             ตัวอย่างเช่น 7-ELEVEN ร้านสะดวกซื้อเบอร์หนึ่งในไต้หวันที่มีสาขามากกว่า 7,000 แห่ง City Café แบรนด์กาแฟสด 1 ในสินค้าหลักที่ทำยอดขายสูงของ 7-ELEVEN แต่ละปีผลิตกากกาแฟมากกว่า 10,000 ตัน ผลักดันแผนทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ประเดิมทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือก นำกากกาแฟไปปรับเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สามารถผลิตกะหล่ำปลีรสชาติดีปลอดสารพิษ 22,000 ลูกต่อปี กล้วยหอม 200,000 ใบและข้าวโพดหวาน 10,000 ฝัก ฯลฯ เพื่อป้อนให้กับแผนกข้าวกล่องอาหารสดของร้าน 7-ELEVEN และใช้ระบบเก็บกากและแก้วกาแฟของร้าน นำขยะเหลือใช้มารีไซเคิลผลิตเป็นผ้าและรองเท้า กลายเป็นสินค้าฮิตเช่นเสื้อยืด หมวก ถุงเท้าผลิตจากกากกาแฟที่ดับกลิ่นได้ รวมถึงแก้วพกพา ฯลฯ

    City Café เป็นแบรนด์กาแฟสดที่ทำยอดขายสูงของ 7-ELEVEN ร้านสะดวกซื้อเบอร์หนึ่งในไต้หวันที่มีสาขามากกว่า 7,000 แห่ง (ภาพจาก udn.com)

            แฟมิลี่มาร์ท ร้านสะดวกซื้ออีกแบรนด์ที่มาแรง กาแฟสดรสชาติดียี่ห้อ Let’s Café ของร้านนี้ ราคาย่อมเยา ได้รับความนิยมจากมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีมากกว่า 4,000 สาขาและมีกากกาแฟเหลือจากการบริโภคปีละกว่า 6,000 ตัน จับมือกับ O`right บริษัทผลิตเครื่องบำรุงผิว สกัดกากกาแฟทำผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ แชมพูสระผม ครีมอาบน้ำ ฯลฯ ในแบรนด์ Bio ปัจจุบันมีสินค้า 5 รายการ ส่วนแก้วกาแฟและขวดใส่นมสดนำไปรีไซเคิลและผลิตเป็นกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ แก้วและถุงใส่ของรักษ์โลก ฯลฯ เฉพาะในส่วนของขวดใส่นมสด นำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ปีละ 1,200 ตัน โดยผลิตเป็นแก้วใส่กาแฟใบใหม่ปีละกว่า 40 ล้านใบ ครองสัดส่วน 20% ของแก้วที่ใช้ในร้านสะดวกซื้อแบรนด์นี้ ช่วยประหยัดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละกว่า 1,980 ตัน

    แฟมิลี่มาร์ท ร้านสะดวกซื้ออีกแบรนด์ที่มีกาแฟสดรสชาติดียี่ห้อ Let’s Café จับมือกับ O`right บริษัทผลิตเครื่องบำรุงผิว สกัดกากกาแฟทำผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ แชมพูสระผม ครีมอาบน้ำ ฯลฯ ในแบรนด์ Bio (ภาพจาก FoodNEXT)

             นายหลี่ชิ่งเสียน ผู้จัดการฝ่านสินค้าของแฟมิลี่มาร์ทกล่าวว่า สินค้าบริโภคตามหลัก ESG มูลค่าตลาดสูงกว่า 40,000 ล้านเหรียญไต้หวันต่อปี และ 60% ของลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าที่มีเอกลักษณ์รักษ์โลก ในจำนวนนี้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลเป็นสิ่งที่จูงใจลูกค้าซื้อสินค้าเป็นอันดับแรก

    ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในแบรนด์ Bio สกัดจากกากกาแฟ เพิ่งวางตลาดไม่นานก็คว้ารางวัลมหกรรมสุดยอดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมความงามแห่งปี 2024 Sustainable Beauty Awards ที่กรุงปารีส (ภาพจาก แฟมิลี่มาร์ท)

             ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่ร้านขายกาแฟขนาดใหญ่เหล่านี้ มองเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคม ยอมลงทุนเพื่อทำธุรกิจแบบยั่งยืน ในอดีต การประเมินผลสำเร็จของธุรกิจอาจจะวัดเพียงแค่ตัวเลขกำไรขาดทุน แต่ในปัจจุบัน การประกอบธุรกิจจะต้องมองในระยะยาว ต้องทำธุรกิจแบบยั่งยืน เพราะโลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม หรือการขาดความโปร่งใสในการบริหารองค์กร การที่บริษัทหันมาทำธุรกิจแบบยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance ในภาษาไทยคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญในการประเมินความยั่งยืนขององค์กร และเป็นหลักนำทิศทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม

  • 1. ไต้หวันเริ่มหนาวแล้ว ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี

              เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นวัน “ลี่ตง” (立冬) หรือวันแห่งการเริ่มต้นฤดูหนาว สำหรับ “ลี่ตง” ในปีนี้ตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายนในปฏิทินสากล ตามธรรมเนียมดั้งเดิมในไต้หวันเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว จะต้องบำรุงสุขภาพเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อรับกับสภาพอากาศหนาวในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นในช่วงนี้หากเพื่อนผู้ฟังพำนักอยู่ในไต้หวันจะเริ่มสังเกตเห็นร้านเป็ดตุ๋นขิงและร้านไก่ตุ๋นน้ำมันงามีคนเข้าแถวซื้อกันยาวเหยียดกว่าปกติ

    วันที่ 7 พฤศจิกายนเป็นวัน “ลี่ตง”ซึ่งมีความหมายว่า ฤดูหนาวของปีนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว (ภาพจาก LTN)

              นอกจากนี้ช่วงหน้าหนาวของทุกปีรัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรีที่สถานีอนามัยประจำชุมชน คลินิก หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน  โดยแบ่งเป็น ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงได้แก่ ผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ เด็กอายุ 6 เดือน-เด็กอนุบาล เจ้าหน้าที่ในสถานดูแลระยะยาวหรือสถานดูแลเด็กเล็ก บิดามารดาของเด็กทารกวัย ต่ำกว่า 6 เดือน เป็นต้น ระยะที่ 2 สำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปี ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นมา สำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยระยะที่ 2 นี้ นอกจากสถานพยาบาลทั่วไปแล้วยังเปิดจุดฉีดวัคซีนในห้างขายส่งอาทิ คาร์ฟูร์ และ Pxmart ด้วย นอกจากไข้หวัดใหญ่แล้วยังเปิดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกด้วย

    ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี (ภาพจาก CNA)

    2. สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ทำไต้ฝุ่นก่อตัวมากและมีกำลังรุนแรง ปีนี้ไต้หวันถูกไต้ฝุ่นถล่มยับถึง 3 ลูก มากสุดในรอบ 16 ปี เตือนสัปดาห์หน้าอาจก่อตัวอีก 3 ลูก

              สภาพอากาศที่แปรปรวนเริ่มกลายเป็นสภาวะอากาศสุดขั้วและพบเห็นบ่อยมากขึ้นทุกขณะ เมื่ออุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบของภูมิอากาศและสภาพอากาศตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ดังจะเห็นได้ว่า เกิดภัยพิบัติทุกที่ ทั้งในไต้หวัน ไทยและประเทศต่าง ๆ

    ไต้ฝุ่นแคมีพัดผ่าน สร้างความเสียอย่างหนักแก่เกาะไต้หวัน ในภาพเป็นสภาพต้นไม้โค่นทับรถที่จอดริมถนนในเขตหนานกั่ง กรุงไทเป (ภาพจาก udn.com)

              ดร. เจี่ยซินซิง CEO ของ WeatherRisk Explore Inc. บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านลมฟ้าอากาศของไต้หวันกล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมา โอกาสที่ไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่ไต้หวันในเดือนตุลาคมน้อยมาก แต่ปีนี้มีถึง 2 ลูก และเป็นไต้ฝุ่นที่มีขนาดกำลังรุนแรงถึงซูเปอร์ไต้ฝุ่น ได้แก่ไต้ฝุ่นกระท้อนที่พัดเข้าไต้หวันต้นเดือนตุลาคม และกองเร็ย ในช่วงปลายเดือน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นน้อยมาก ครั้งที่แล้วที่เกิดปรากฏการณ์ไต้ฝุ่นถล่มเกาะไต้หวันในเดือนตุลาคมถึง 2 ลูก เกิดขึ้นเมื่อ 26 ปีที่แล้ว และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้น จนถึงตุลาคม ระยะเวลา 4 เดือน มีไต้ฝุ่นเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก 23 ลูก ในจำนวนนี้ มี 3 ลูกที่พัดถล่มเกาะไต้หวัน สร้างความเสียหายอย่างหนัก จนต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่น และเป็นสถิติในรอบ 16 ปี ที่ในปีเดียวมีไต้ฝุ่นถล่มเกาะไต้หวันถึง 3 ลูก โดยเฉพาะลูกแรกที่ชื่อไต้ฝุ่นแกมี ป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่ทางภาคใต้เกาะไต้หวันหลายวัน ทำให้มีปริมาณฝนตกหนักมากทำลายสถิติในรอบ 15 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้ภาคใต้เกาะไต้หวันจมอยู่ใต้บาดาลหลายวัน

    สภาพรถมอเตอร์ไซค์ข้างถนนในเกาสงถูกพายุพัดจมน้ำ หลังไต้ฝุ่นแคมีพัดขึ้นฝังทางภาคใต้ระหว่าง 24-25 กรกฎาคม 2567 (ภาพจาก CNA)

              ผู้เชี่ยวชาญด้านลมฟ้าอากาศของไต้หวันผู้นี้กล่าวเตือนว่า เนื่องจากอุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ไต้ฝุ่นแต่ละลูกมีขนาดกำลังรุนแรงมากขึ้น ความเสียหายก็จะรุนแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วเช่นนี้ การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการติดตามความเคลื่อนไหวที่แม่นยำ จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างทางธรณีวิทยาของไต้หวันเปราะบางมาก หากมีฝนตกหนักในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดอุทกภัยและหายนะใหญ่หลวงตามมา จึงต้องให้ความสำคัญและเร่งรีบติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการติดตามความเคลื่อนไหวของพายุไต้ฝุ่นที่แม่นยำ

    สัปดาห์หน้า อาจมีไต้ฝุ่นก่อตัวอีก 3 ลูก ในจำนวนนี้ มี 1 ลูกที่มีทิศทางเคลื่อนตัวมุ่งมายังไต้หวัน (ภาพจาก NCDR)

               ด้าน ดร. หลินเต๋อเอิน ผู้เชี่ยวชาญด้านลมฟ้าอากาศของไต้หวันอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา มีพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นแล้วถึง 12 ลูก มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และโดยมากจะมีทิศทางพัดไปทางช่องแคบบาชิ แม้จะไม่พัดเข้าไต้หวันโดยตรง แต่จะส่งผลกระทบทำให้มีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัยได้ และจากการประเมินปีนี้ ไต้ฝุ่นยังไม่หมด ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ยังจะมีอีกหลายลูก โดยเฉพาะสัปดาห์หน้า หย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทรอาจพัฒนากลายเป็นไต้ฝุ่นอีก 3 ลูก ในจำนวนนี้ มี 1 ลูกที่มีแนวโน้มจะมุ่งมายังไต้หวัน ต้องจับตาทิศทางอย่างใกล้ชิดว่า จะส่งผลกระทบต่อไต้หวันหรือไม่? อย่างไร?

    สัปดาห์หน้า อาจมีไต้ฝุ่นก่อตัวอีก 3 ลูก ในจำนวนนี้ มี 1 ลูกที่มีทิศทางเคลื่อนตัวมุ่งมายังไต้หวัน (ภาพจาก FB : look.weather.typhoon)

    3. ไต้ฝุ่นเป็นเหตุ ทำผักผลไม้ราคาพุ่ง ต้นหอมซานซิงเมืองอี๋หลาน ทุบสถิติราคากิโลกรัมละ 900 เหรียญ ต้นหอม 1 ต้นแพงกว่าน่องไก่

              ต้นหอมที่มีรสชาติดีและอร่อยมีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน ต้องยกให้ต้นหอมจากตำบลซานซิง เมืองอี๋หลาน ไม่ว่าขนมหรือเมนูจานไหนที่ใช้วัสดุต้นหอมซานซิง รับรองว่าขายดีและราคาแพง ส่งผลให้ต้นหอมซานซิงปกติราคาก็แพงกว่าต้นหอมจากที่อื่นอยู่แล้ว คือปกติราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 เหรียญ แต่หลังจากพายุไต้ฝุ่นถล่มไต้หวันติดต่อกัน 3 ลูก ทำเมืองอี๋หลานฝนตกหนัก ท่วมพื้นที่เพาะปลูกต้นหอมได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง ราคาถีบตัวสูงขึ้น

    ต้นหอมจากตำบลซานซิง เมืองอี๋หลาน รสชาติดีและอร่อยมีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน

    โรตีต้นหอม (ซานซิง) สไตล์ไต้หวัน 1 ในอาหารเช้ายอดนิยมของคนไต้หวัน (ภาพจาก supertaste.tvbs.com.tw)

              ราคาขายส่งของสหกรณ์การเกษตรตำบลซานซิง ซึ่งเป็นราคาประมูลที่ส่งให้กับบริษัทจำหน่ายพืชผักผลไม่ไทเป ของสหกรณ์การเกษตรกรุงไทเป เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สูงถึงกิโลกรัมละ 900 เหรียญ นี่เป็นเพียงราคาขายส่งระหว่างสหกรณ์ ขายปลีกสูงกว่านี้แน่นอน คุณแม่บ้านบ่นกันอื้อว่า ซื้อต้นหอมซานซิงต้องซื้อกันเป็นต้น ไม่ใช่ซื้อเป็นกำหรือชั่งเป็นกิโลเหมือนอดีต หรือไม่ก็ต้องซื้อจากพื้นที่อื่นแทน

    พายุไต้ฝุ่นถล่มไต้หวันติดต่อกัน 3 ลูก ทำเมืองอี๋หลานฝนตกหนัก พายุฝนทำท่วมพื้นที่เพาะปลูกต้นหอมได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง ราคาถีบตัวสูงขึ้น (ภาพจาก chinatimes.com)

    เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาขายส่งต้นหอมซานซิงแพงถึงกิโลกรัมละ 900 เหรียญ แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (ภาพจาก LTN)

    4. เคยชิมกันแล้วหรือยัง? ข้าวกล่องการรถไฟไต้หวัน (TR Bento) ทำยอดขายเฉลี่ย 25,000 กล่อง/วัน

              ท่านที่อาศัยอยู่ในไต้หวันหรือเคยเดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวันเคยรับประทานข้าวกล่องของการรถไฟไต้หวันหรือทีอาร์เบนโตะ (TR Bento) กันหรือไม่ ถ้ายังไม่เคย แนะนำให้ลองซื้อมารับประทานดู ราคาย่อมเยาและรสชาติอร่อย สนนราคามีตั้งแต่ 60 -150 เหรียญไต้หวัน ได้รับความนิยมจากชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก ลูกค้าที่ซื้อทีอาร์เบนโตะไม่เฉพาะตอนที่โดยสารรถไฟเท่านั้น หลายคนที่ตั้งใจไปซื้อมารับประทานเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีวางขายตามสถานีรถไฟประจำเมืองต่างๆด้วย

    ข้าวหน้าหมูทอด เมนูคลาสสิกของข้าวกล่องการรถไฟไต้หวัน ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ภาพจาก TRA)

              ปัจจุบันการรถไฟไต้หวันมีจุดจำหน่ายข้าวกล่อง TR Bento ในสถานีรถไฟไทเป ปั่นเฉียว เถาหยวน จงลี่ ไทจง ซินจู๋ จางฮั่ว เจียอี้ ไถหนาน จั่วอิ๋ง เกาสง ซี่จื่อ ชีตู่ ซู่หลิน จีหลง หลัวตง เป็นต้น และยังมีจำหน่ายบนรถไฟด่วนทุกขบวนด้วย

    ร้านจำหน่ายข้าวกล่องทีอาร์เบนโตะในสถานีรถไฟไทเป (ภาพจาก Chinatimes.com)

    ร้านจำหน่ายข้าวกล่อง TR Bento ในสถานีรถไฟเกาสง ออกแบบในแนวย้อนยุค (ภาพจาก LTN)

              จากการเปิดเผยของบริษัทการรถไฟไต้หวันจำกัด (TRA) ระบุว่า TR Bento มียอดจำหน่ายเฉลี่ย 25,000 กล่อง/วันและในปีนี้เนื่องจากมีการเปิดตัวข้าวกล่องเมนูใหม่ๆ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30 เมนู ยอดจำหน่ายในปีนี้พุ่งขึ้นหลังจากร่วงตกลงตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19  โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดจำหน่ายรวม 6.93 ล้านกล่อง คิดเป็นมูลค่า 592.77 ล้านเหรียญไต้หวัน คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีนี้จะมียอดจำหน่ายสูงถึง 740 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

    ข้าวกล่องการรถไฟหรือ TR Bento ราคาย่อมเยาและปัจจุบันมีเมนูอาหารใหม่ๆ มากถึง 30 เมนู (ภาพจาก CTS)

              เมื่อพูดถึงข้าวกล่องหรือเบนโตะ ฟังจากชื่อหลายคนคงพอจะทราบว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยข้าวกล่องการรถไฟไต้หวันเริ่มมีขายบนรถไฟตั้งแต่ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน โดยยุคนั้นจะขายเฉพาะในโบกี้ที่เป็นห้องอาหารบนรถไฟเท่านั้น ไม่มีพนักงานเดินขายตามโบกี้หรือตู้โดยสารทั่วไป ต่อมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  การรถไฟไต้หวันได้ริเริ่มให้ร้านอาหารของการรถไฟในสถานีรถไฟไทเป ไทจง เกาสงและฮัวเหลียน ผลิตข้าวกล่องเบนโตะสำหรับขายบนรถไฟและจัดให้มีพนักงานเดินขายตามตู้โดยสารบนรถไฟด่วน และยังขายเครื่องดื่ม ขนมและของฝาก  แต่ในยุคนั้นกลับขายไม่ดี ทำให้ต้องหยุดกิจการ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2503 การรถไฟได้จัดตั้งฝ่ายผลิตและจำหน่ายข้าวกล่องขึ้น เปิดขายเมนูอาหารพื้นๆ อย่างข้าวหน้าหมูทอด ไข้พะโล้กับเต้าหู้พะโล้ ผัดกะหล่ำปลี และยังมีหัวไชโป๊วอีกนิดหน่อยไว้แก้เลี่ยนด้วย ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก และได้กลายเป็นเมนูคลาสสิกของทีอาร์เบนโตะที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายตราบจนถึงปัจจุบัน ทีอาร์เบนโตะหรือข้าวกล่องการรถไฟไต้หวันในปัจจุบันนอกจากคิดค้นเมนูอาหารออกมาจำหน่ายมากถึง 30 เมนูแล้ว

    บรรจุภัณฑ์ของ TR Bento มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จากกล่องสเตนเลสมาเป็นกล่องกระดาษทรงกลมที่เรียบง่ายแต่เตะตาด้วยโลโก้ของ TRA (ภาพจาก udn.com)

              ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ก็มีการพัฒนาจากยุคแรกที่ใช้กล่องสเตนเลสลูกค้าที่รับประทานเสร็จแล้วต้องคืนกล่องให้แก่พนักงานเก็บไปล้างเพื่อนำกลับมาใช้อีก ในปัจจุบันเพื่อความสะดวกจึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จากครั้งแรกที่ใช้กล่องไม้เป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม ต่อมาเพื่อลดต้นทุนจึงเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษรูปทรงกลมแทน

  • 1. ไต้ฝุ่นกองเร็ยถล่มไต้หวันตาย 2 บาดเจ็บ 515 ผู้อนุบาลไทยจากสุโขทัยเสียชีวิต ถูกต้นไม้โค่นทับรถบรรทุกเล็กขณะขึ้นเขาเหอฮวนที่หนานโถว

              กองเร็ย ไต้ฝุ่นกำลังรุนแรงที่มีความเร็วลม 184 กม./ชม พัดถล่มเกาะไต้หวันช่วงวันที่ 30-31 ต.ค. 67 สร้างความเสียหายอย่างหนักทั่วเกาะ มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 515 ราย ไฟดับ 840,000 ครัวเรือนต้นไม้โค่นทับถนนขวางทางจราจร บ้านเรือนพังเสียหายและน้ำท่วมดินถล่ม 6,917 แห่ง

    นายจ้างขับรถบรรทุกเล็กสีน้ำเงินพาแรงงานไทยจากหมู่บ้านหลูซานขึ้นเขากลับบ้านเพื่อหลบพายุ ระหว่างทางถูกต้นโค่นทับเป็นเหตุให้แรงงานไทยเสียชีวิต ส่วนนายจ้างได้รับบาดเจ็บ (ภาพจาก udn.com)

              หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตเป็นแรงงานหญิงไทย อายุ 57 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย เดินทางมาทำงานที่หมู่บ้านต้าถง ตำบลเหรินอ้าย เมืองหนานโถว (ใกล้ฟาร์มชิงจิ้ง) ในตำแหน่งผู้อนุบาลกว่า 10 ปี นายจ้างเพิ่งจะยื่นขอยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ปกติดูแลคนป่วยอยู่บนเขาชิงจิ้ง ในวันเกิดเหตุ คือวันพฤหัสที่ 31 ตุลาคม ช่วงเช้าลมแรงมาก นายหลิน นายจ้างชาวไต้หวันอายุ 76 ปี เปิดร้านค้าในหมู่บ้านหลูซาน ระหว่างทางขึ้นฟาร์มชิงจิ้ง จึงปิดร้านขับรถบรรทุกเล็กสีน้ำเงินพาแรงงานไทยกลับบ้านบนเขาเพื่อหลบพายุ เนื่องจากพายุกระหน่ำอย่างหนัก ระหว่างทางถูกต้นไม้ขนาดใหญ่โค่นทับรถบรรทุกเละเป็นซากเหล็ก แรงงานไทยนั่งข้างนายจ้างเสียชีวิตทันที ส่วนนายจ้างซึ่งเป็นคนขับได้รับบาดเจ็บติดอยู่ในรถเคลื่อนไหวไม่ได้ ใช้โทรศัพท์มือถือแจ้งความ หน่วยกู้ภัยมาถึงต้องใช้เลื่อยตัดต้นไม้และซากรถ นำร่างทั้งสองออกจากรถ นายจ้างได้รับบาดเจ็บที่ขายังพอเดินได้ ส่วนแรงงานไทยสิ้นลมหายใจแล้ว หน่วยกู้ภัยรีบนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก นครไทจง แต่เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นเป็นเวลานาน แพทย์ไม่สามารถกู้ชีวิตได้

    ในวันพายุกองเร็ยถล่มไต้หวัน ต้นไม้โค่นทับรถบรรทุกเล็ก ส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิต ส่วนนายจ้างคนขับได้รับบาดเจ็บ (ภาพจาก udn.com)

              หลังเกิดเหตุ สำนักงานแรงงานไทย ไทเป ได้ประสานหน่วยงานท้องถิ่นและบริษัทจัดหางาน แจ้งให้ทายาทในไทยทราบ และให้ความช่วยเหลือทายาท บริษัทจัดหางานในการเตรียมเอกสารมอบอำนาจเพื่อจัดการศพและยื่นขอเงินสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ต่อไป

    ต้นไม้โค่นทับรถบรรทุกเล็กที่กำลังวิ่งขึ้นเขาเหอฮวนจนหน้ารถเละเป็นซากเหล็ก ส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิต ส่วนนายจ้างคนขับได้รับบาดเจ็บ (ภาพจาก udn.com)

              ผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตอีก 1 ราย เป็นชายชาวไต้หวันอายุ 48 ปี ขณะขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเขตเน่ยหูในกรุงไทเป ถูกต้นไม้ล้มดึงสายไฟทำเสาไฟฟ้าโค่นทับบาดเจ็บสาหัส หลังถูกนำส่งรักษาที่โรงพยาบาล เสียชีวิตในเวลาต่อมา

    ต้นไม้โค่นทับรถบรรทุกเล็กที่กำลังวิ่งขึ้นเขาเหอฮวนจนหน้ารถเละเป็นซากเหล็ก ส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิต ส่วนนายจ้างคนขับได้รับบาดเจ็บ (ภาพจาก upmedia.mg)

    2. เกณฑ์มาตรฐานในการหยุดงานหยุดเรียนอันเนื่องจากพายุไต้ฝุ่น

              ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่ไต้หวันก็คือ การหยุดงานหยุดเรียน ซึ่งรัฐบาลกลางให้อำนาจในการตัดสินแก่ผู้ว่าการแต่ละเมือง โดยมีเกณฑ์การตัดสินใจ 3 ประการดังนี้ :

              1. กรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวันพยากรณ์ว่า ภายในเวลา 4 ชั่วโมงจะได้รับผลกระทบจากรัศมีของพายุไต้ฝุ่นและจะลมแรงตั้งแต่ระดับ 7 ขึ้นไป

    ไต้ฝุ่นกองเร็ยถล่มเกาะไต้หวัน ภาคเหนือลมแรงมาก ในภาพเป็นสภาพถนนในกรุงไทเป ต้นไม้ข้างทางโค่นล้มขวางทางเดินแทบทุกที่หลังพายุพัดผ่าน (CNA)

    หลังไต้ฝุ่นกองเร็ยพัดผ่าน รถที่จอดข้างทางถูกต้นไม้โค่นทับได้รับความเสียหายเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป (ภาพจาก chinatimes.com)

              2. ปริมาณน้ำฝนตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาหรือปริมาณน้ำฝนที่วัดได้จริง ถึงเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องหยุดงานหยุดเรียน คือเกิน 350 มิลลิเมตร แต่บางเมืองที่พื้นที่บางส่วนเป็นภูเขา อาทิ เถาหยวน ซินจู๋ เหมียวลี่ ไทจง หนานโถว หยุนหลิน เจียอี้ เกาสง และไถตง จะแบ่งด้วยว่าเขตพื้นที่ภูเขา 200 มิลลิเมตร พื้นที่ราบ 350 มิลลิเมตร  โดยที่หนานโถวกับอี๋หลานยังใช้ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้จริงเป็นเกณฑ์ด้วย หนานโถวกำหนดไว้ที่ 300 มิลลิเมตร เมืองอี๋หลาน 250 มิลลิเมตร ก็ให้ประกาศหยุดงานหยุดเรียนได้

    ไต้ฝุ่นกองเร็ยหอบลมและฝนถล่มไต้หวัน พื้นที่แถบภูเขาที่เมืองอี๋หลานและฮัวเหลียนมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 1,200 มิลลิเมตร ทำให้ถนนหลายสายพังและทรุดตัว (ภาพจาก CNA)

              3. หากระดับความแรงลมและปริมาณน้ำฝนไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้แต่เกิดเหตุไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล และเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการคมนาคมหรืออาจเกิดอันตรายในระหว่างการเดินทาง เมืองต่าง ๆ สามารถประกาศหยุดงานหยุดเรียนได้

    3. ผีไต้หวัน ผีไทย ผีฝรั่ง ใครน่ากลัวกว่ากัน : คนไต้หวันนิยมแต่งชุดผีในวันฮาโลวีนมากขึ้น แต่ปีนี้เจอไต้ฝุ่นกองเร็วถล่ม เด็ก ๆ แต่งชุดผีอยู่แต่ในบ้าน

              ฮาโลวีน (Halloween) เป็นเทศกาลปล่อยผีของสหรัฐอเมริกา ตรงกับทุกวันที่ 31 ตุลาคมของปี ตามความเชื่อที่ว่า ผีจะถูกปล่อยออกมาในวันนี้ เพื่อจะเอามนุษย์ไปอยู่ด้วย ผู้คนจึงป้องกันด้วยการแต่งตัวชุดผี เพื่อให้กลมกลืนเหมือนกับผีจริง ๆ จะได้ไม่ถูกผีเอาไปอยู่ด้วย เทศกาลฮาโลวีนได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เด็ก ๆ เพราะจะแต่งชุดผีไปขอลูกกวาดหรือขนมจากบ้านต่าง ๆ ส่วนผู้ใหญ่ก็จะมีการจัดปาร์ตี้สังสรรค์

    ภาพการแต่งชุดผีในเทศกาลฮาโลวีนของเด็กไต้หวันที่สื่อต่างประเทศนำไปลงเป็นข่าวว่า หลอนมาก (ภาพจาก LTN)

              ประเพณีแต่งชุดผีในช่วงเทศกาลฮาโลวีน เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ปีนี้ ทั่วไต้หวัน ทั้งหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น โรงเรียนและสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงย่านการค้า ต่างมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ตั้งแต่ก่อนถึงเทศกาลฮาโลวีนและหลังจากผ่านพ้นไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ปีนี้ เด็ก ๆ ต้องแต่งชุดผีอยู่แต่ในบ้าน เพราะไต้ฝุ่นกองเร็วพัดผ่านเกาะไต้หวันแบบผ่าใจกลางไปเต็ม ๆ หลายเมืองต้องหยุดงานหยุดเรียนและยกเลิกกิจกรรมฉลองเทศกาลดังกล่าว

    นายเจี่ยงว่านอัน ผู้ว่าการกรุงไทเป แต่งชุดตัวละครในวันพีซ การ์ตูนญี่ปุ่น แจกลูกกวาดในเทศกาลฮาโลวีน (ภาพจาก chinatimes.com)

              ความจริงแล้ว ความเชื่อเรื่องผี มีกันเกือบทุกประเทศ สำหรับในไต้หวันมี มีเดือนผี เริ่มตั้งแต่วันประตูยมโลกเปิดในวันที่ 1 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน และวันที่ 15 เดือน 7 เป็นวันทำพิธีไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วที่จะกลับมายังโลกมนุษย์ และอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับเหล่าผีไร้ญาติ ชาวไต้หวันก็เหมือนกับชาวจีนทั่วโลกจะทำพิธีไหว้ครั้งใหญ่ และตลอดทั้งเดือนจะงดทำกิจกรรมหลายอย่าง และจะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและเหล่าผีไร้ญาติ ซึ่งเชื่อว่าเขาจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตอีกภพภูมิหนึ่งได้

    ภาพการแต่งชุดผีในเทศกาลฮาโลวีนของเด็กไต้หวันในกรุงไทเป (ภาพจาก Department of Information and Tourism,Taipei City)

              พูดถึงเรื่องผี คนไทยก็เหมือนคนไต้หวันที่เชื่อในเรื่องนี้ แต่ไม่ทราบว่าในความรู้สึกของท่าน ระหว่างผีไต้หวัน ผีไทยและผีฝรั่ง ใครจะหลอนกว่ากัน

    4. หนังไทยสุดปัง! เริ่มได้รับความนิยมจากคนไต้หวัน ไม่เฉพาะหนังผีสยองขวัญ แทบทุกแนวปรากฏในโรงหนังไต้หวันมากขึ้น

              หลายปีมาแล้ว ภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงหนังไต้หวันและได้รับความนิยม ส่วนใหญ่จะเป็นหนังผีหรือหนังแนวสยองขวัญ จนเมื่อพูดถึงหนังไทย คนไต้หวันส่วนใหญ่จะนึกถึงหนังผี แต่เริ่มจากช่วงครึ่งหลังปี 2566 เป็นต้นมา คอหนังชาวไต้หวันต่างรู้สึกว่า หนังไทย ไม่เฉพาะหนังผี เกือบทุกแนว ทั้งดราม่า โหด มัน ฮา และหวานซึ้ง เริ่มปรากฏบนจอของโรงหนังในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น เกิดอะไรขึ้นหรือ? ทำไมหนังไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนไต้หวันมากขึ้น

    หลานม่า ภาพยนตร์ไทยแนวดรามาที่ฉายในไต้หวัน 84 โรงพร้อมกันตั้งแต่ 21 มิถุนายนปีนี้ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ยอดรายได้กว่า 15 ล้านเหรียญไต้หวัน (ภาพจาก Catchplay)

              สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง น่าจะมาจากคุณภาพหนังไทย ไม่ว่าจะการถ่ายทำ เนื้อหาและการแสดง มีการยกระดับมาตรฐานสูงขึ้น ไม่เฉพาะคอหนังชาวไต้หวันเท่านั้น ในประเทศต่าง ๆ หนังไทยเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น รวมถึงผู้ให้บริการความบันเทิงสตรีมมิ่งวิดีโอที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลกอย่าง Netflix ก็มีหนังไทยฉายมากขึ้น นั่นเป็นการรับรองมาตรฐานภาพยนตร์ไทยไปในตัว

    ธี่หยด ภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงหนังไต้หวันพร้อมกัน 78 โรง นานถึง 109 วัน ทำรายได้ 27.35 ล้านบาท สูงสุดของภาพยนตร์ไทยในไต้หวัน

              ปีก่อน ๆ หนังไทยเข้าฉายในไต้หวันปีละประมาณ 10 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นหนังแนวหลอน แต่ 6 เดือนแรกปีนี้ มีหนังไทยเข้าฉายในไต้หวันแล้วถึง 14 เรื่อง ยอดขายรวม 47.41 ล้านบาท หนังไทยที่มีรายได้ดีสุดได้แก่ ธี่หยด ฉายในโรงหนังไต้หวันพร้อมกัน 78 โรง นานถึง 109 วัน รายได้ 27.35 ล้านบาท เรื่องที่ 2 ได้แก่ สัปเหร่อ รายได้ 5.58 ล้านบาท อันดับ 3 ได้แก่ เกจิ คนฆ่าผี เริ่มฉายเมื่อ 14 มิถุนายนปีนี้ ในโรงหนังไต้หวันพร้อมกัน 73 โรง เพียง 10 แรก โกยรายได้ไปแล้ว 5.12 ล้านบาท และธี่หยด 2 หนังสุดหลอนจากไทยที่มีกำหนดเข้าฉายในไต้หวันวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะทุบสถิติใหม่ของหนังไทยในไต้หวัน

    สัปเหร่อ ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ทำรายได้ในโรงหนังไต้หวัน 5.58 ล้านบาท

              แน่นอน หนังไทยแนวผี ยังเป็นที่นิยมสูงสุดของคนไต้หวัน แต่นอกจากหนังแนวสยองขวัญแล้ว ภาพยนตร์แนวอื่นของไทยก็ได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างหลานม่า ภาพยนตร์ไทยแนวดรามาที่ฉายในไต้หวัน 84 โรงพร้อมกันตั้งแต่ 21 มิถุนายนปีนี้ 10 วันแรกก็ทำรายได้เกิน 10 ล้านเหรียญไต้หวัน จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ยอดรายได้กว่า 15 ล้านเหรียญไต้หวัน จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า แนวโน้มหนังไทยได้รับความนิยมในไต้หวันมากขึ้นต่อเนื่อง

    5. ชวนนั่งรถไฟฟ้าไปเที่ยวเทศกาลอาบน้ำแร่ไทเป ที่เขตเป่ยโถว ชานกรุงไทเประหว่าง 1-4 พ.ย. 67

    เทศกาลอาบน้ำแร่ไทเปประจำปี 2567 เลื่อนจัดขึ้นระหว่าง 1-4 พ.ย. 67 (ภาพจาก Taipei Hot Springs Association)

              เทศกาลอาบน้ำแร่ไทเปประจำปี 2567 เดิมกำหนดจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนเวลาจัดงานออกไปเนื่องจากผลกระทบจากไต้ฝุ่นกองเร็ย เป็นกิจกรรมต้อนรับฤดูใบไม้ร่วงซึ่งอากาศจะเริ่มเย็นลงเป็นลำดับ โดยปีนี้ยังคงจัดขึ้นที่ลานกว้างหน้าสถานีรถไฟฟ้าซินเป่ยโถว ( R22A) เหมือนเช่นทุกปี ที่พิเศษคือปีนี้มีขบวนพาเหรดจากเทศกาลยามากาตะ ฮานะกาสะ (Yamagata Hanagasa Festival ) หรือเทศกาลหมวกดอกไม้จากญี่ปุ่นมาร่วมงานด้วย อีกทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ตลาดนัดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม อาหารว่างเลิศรส และร้านอาบน้ำแร่ในไทเปก็มาเปิดบูธแนะนำเกี่ยวกับการอาบน้ำแร่ในไต้หวัน เป็นต้น

    การแสดงระบำฮานะกาสะจากญี่ปุ่นในพิธีเปิดงาน (ภาพจาก Taipei Hot Springs Association)

    ชวนนั่งรถไฟฟ้าไปเที่ยวเทศกาลอาบน้ำแร่ไทเป ที่เขตเป่ยโถว ชานกรุงไทเประหว่าง 1-4 พ.ย. 67 นี้ (ภาพจาก Taipei Hot Springs Association)

  • 1. จับตาไต้ฝุ่นกองเร็ย หากเคลื่อนตัวเอียงทิศตะวันตกเพิ่ม จะเป็นอันตรายต่อไต้หวันมากขึ้น คาดเข้าใกล้สุดวันพฤหัสบดีที่ 31 ต.ค. นี้

              ไต้ฝุ่นกองเร็ย (KONG-REY) ตั้งโดยราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นชื่อสาวงามในตำนานเขมรและชื่อภูเขา ณ เย็นวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา จุดศูนย์กลางอยู่บนทะเลห่างจากแหลมเอ๋อหลวนปี๋ ใต้สุดเกาะไต้หวันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 1,700 กม. กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 16 กม./ชั่วโมง และมีแนวโน้มเอียงไปทางทิศตะวันตกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าใกล้และส่งผลกระทบต่อไต้หวันเพิ่มขึ้น โดยช่วงเวลาที่เข้าใกล้มากที่สุดได้แก่ วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2567

    ไต้ฝุ่นกองเร็ย เคลื่อนตัวเอียงทิศตะวันตกมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นอันตรายต่อไต้หวันมากขึ้นเท่านั้น คาดเข้าใกล้ที่สุดวันพฤหัสบดีที่ 31 ต.ค. นี้ (ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน : CWA)

              Taiwan Typhoon BBS เว็บไซต์ติดตามพายุไต้ฝุ่นชื่อดังของไต้หวัน พยากรณ์ในแฟนเพจ Weather Express ว่า ทิศทางการเคลื่อนตัวยิ่งเอียงไปทางทิศตะวันตกมากเท่าไหร่จะยิ่งส่งผลกระทบต่อไต้หวันเพิ่มเท่านั้น และเมื่อเข้าใกล้เกาะไต้หวัน กองเร็ยจะพัฒนากลายเป็นไต้ฝุ่นกำลังปานกลาง รัศมีของพายุจะขยายกว้างและส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อภาคตะวันออกและภาคเหนือเกาะไต้หวันอย่างยิ่ง จึงต้องจับตาดูทิศทางการเคลื่อนตัวของไต้ฝุ่นลูกนี้ ชะล่าใจไม่ได้

    2. เคยไปหรือยัง? พระแม่กวนอิมปางพันเนตรพันกรที่ตั้นสุ่ย กินเนสส์บุ๊กรับรองเป็นประติมากรรมเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สายบุญ-สายเที่ยวไม่ควรพลาด

              ที่เขตตั้นสุ่ย นครนิวไทเป มีสถานที่น่าไปสักการบูชาและท่องเที่ยวพักผ่อนสงบจิตใจแห่งหนึ่ง ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนครนิวไทเปก็ว่าได้ นั่นคือ วัดพระแม่กวนอิมหยวนเต้า (緣道觀音廟 : Yuan-dao Guanyin Temple) ภายในวัด ท่านจะได้พบภาพที่ประทับใจ พระแม่กวนอิม ซึ่งในภาษาจีนจะเรียก 觀世音菩薩 หรือพระโพธิสัตว์กวนอิม ปางพันเนตรพันกรในท่านั่งประทานพร สีเงินแวววาวขนาดยักษ์องค์หนึ่ง ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางลงภูเขาหยางหมิงซานไปทางตั้นสุ่ย ยอดสูง 56 เมตร ส่วนของพระพุทธรูปความสูง 30.3 เมตร กว้าง 35.9 เมตร สง่างามมาก ไม่เพียงแต่จะดึงดูดสายตาบรรดาช่างภาพให้แห่ไปแชะลงสื่อสังคมออนไลน์ ในเมื่อปี 2562 หนังสือบันทึกสถิติโลกอย่างกินเนสส์บุ๊กยังได้ให้การรับรองเป็นประติมากรรมเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังติดอันดับโลกศิลปะเด่นอีก 154 รายการด้วย

    โพธิสัตว์กวนอิมขนาดยักษ์องค์นี้ ตั้งอยู่ในวัดพระแม่กวนอิมหยวนเต้า ที่ตั้นสุ่ย นครนิวไทเป แขนทั้ง 2 ข้าง รวม 36 แขน ถือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน อาทิ พระธรรมจักร บาตรเนรมิตทรัพย์ ธนูเอนกประสงค์เป็นต้น (ภาพจาก FB : Yuan-dao Guanyin Temple)

              โพธิสัตว์กวนอิมขนาดยักษ์องค์นี้ ตั้งอยู่ในวัดพระแม่กวนอิมหยวนเต้า (緣道觀音廟 Yuan-dao Guanyin Temple) เลขที่ 1,000 ถ. ติ่งถิงเหลียวลู่ เขตตั้นสุ่ย นครนิวไทเป ในส่วนที่เป็นพันกร มีแขนทั้ง 2 ข้าง รวม 36 แขน ถือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน อาทิ พระธรรมจักร บาตรเนรมิตทรัพย์ ธนูอเนกประสงค์เป็นต้น โดยประดิษฐานอยู่บนฐานดอกบัวขนาดใหญ่ ใต้ฐานจะเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ มีห้องฟังธรรม และพิพิธภัณฑ์ศาสนาพุทธ ทำให้ผู้ไปเยือนไม่เพียงแต่จะได้กดชัดเตอร์กล้องเท่านั้น ยังได้เรียนรู้พุทธประวัติและเรื่องราวในเชิงลึกเกี่ยวกับศาสนาพุทธด้วย ด้านล่างของฐานพระแม่กวนอิม เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ เพดานสูง 15 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เมตร ไม่มีเสาค้ำ ไม่มีคานรองรับ ทำให้ดูโอ่อ่าและยิ่งใหญ่ จัดเป็นพระอุโบสถของวัดในศาสนาพุทธในไต้หวันที่มีเอกลักษณ์เด่นสุด

    ด้านล่างของฐานพระแม่กวนอิม เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ โอ่อ่าและยิ่งใหญ่ จัดเป็นพระอุโบสถของวัดในศาสนาพุทธในไต้หวันที่มีเอกลักษณ์เด่นสุด (ภาพจาก FB : Yuan-dao Guanyin Temple)

              ภายในวัดยังออกแบบให้มีบรรยากาศเป็นพุทธอุทยานจริง ๆ โดยมีพระพุทธรูปปางยืนปางไสยาสน์ 33 องค์ รวมทั้งมีเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในสวนของวัด ทั้งนี้ วัดพระแม่กวนอิมหยวนเต้า เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายมหายานที่แปลกไปจากสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ คือภายในเป็นโครงเหล็กผสมคอนกรีต SRC ที่ออกแบบมาเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว นอกผนังสร้างโดยไม้ ในสไตล์สถาปัตยกรรมแบบราชวงศ์ถัง สง่างามมากทีเดียว

    ภายในวัดยังออกแบบให้มีบรรยากาศเป็นพุทธอุทยานจริง ๆ โดยมีพระพุทธรูปปางยืนปางไสยาสน์กว่า 30 องค์ รวมทั้งมีเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในสวนของวัด (ภาพจาก FB : Yuan-dao Guanyin Temple)

              ท่านที่สนใจอยากไปเที่ยว อยากไปถ่ายภาพความอลังการของพระแม่กวนอิม แนะนำว่า นั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงไปลงสถานีหงซู่หลิน หรือ R27 (紅樹林站) จากนั้นนั่งรถไฟฟ้ารางเบาไปลงสถานี V06 (Xinshi 1st Rd. Station) เดินต่อไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 50 เมตรก็ถึง เปิดให้ชมฟรีไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู ทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น.

              ลิงก์แผนที่ : https://goo.gl/maps/SAR6e7rFCKTB1UiG8

    รองเท้าสานของนักบวชจีนขนาดยักษ์ตั้งโชว์ด้านข้างของอุโบสถ (ภาพจาก FB : Yuan-dao Guanyin Temple)

    3. รู้จักภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองไต้หวัน "ttakuban" บ้านไม้ไผ่ต้านแรงลมและแผ่นดินไหว

            สัปดาห์นี้ขอแนะนำวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองไต้หวันที่ผูกพันกับไม้ไผ่อย่างใกล้ชิด แม้ปัจจุบันชนพื้นเมืองไต้หวันจะมีจำนวนไม่มากแต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชนพื้นเมืองเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป จากข้อมูลการสำรวจครั้งล่าสุดของคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองไต้หวันเมื่อปี 2564 ระบุ ไต้หวันมีชนพื้นเมืองรวมทั้งสิ้น 16 ชนเผ่า มีประชากร 580,000 กว่าคน คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของประชากรทั้งหมด โดยร้อยละ 96.4 เป็นชาวฮั่น และร้อยละ 1.1 เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่

    ไต้หวันมีชนพื้นเมืองรวมทั้งสิ้น 16 ชนเผ่า มีประชากร 580,000 กว่าคน คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของประชากรทั้งหมด (ภาพจาก cdns.com.tw)

            เนื่องจากในอดีตชนพื้นเมืองจะอาศัยอยู่บนภูเขาจึงมีการนำ"ไผ่" มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ตั้งแต่การประกอบอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย กล่าวได้ว่า"ไผ่"มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองไต้หวันอย่างแยกจากกันไม่ได้  โดยเฉพาะการนำไผ่มาใช้สร้างบ้านเรือน ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมของชนพื้นเมืองที่สั่งสมมานานนับหลายร้อยปี แต่ยังแฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชนเผ่า สิ่งที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างวัฒนธรรมชนพื้นเมืองกับไม้ไผ่ได้ดีที่สุดคือ"ttakuban"หรืออาคารที่สร้างด้วยไผ่ทั้งหลังและเป็นอาคารที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน และยังเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชายด้วย ในช่วงชีวิตของการเติบโต ทุกคนจะต้องมาศึกษาเล่าเรียนกันที่นี่

           บ้านไม้ไผ่ ttabukan หรือศูนย์ทำกิจกรรมร่วมกันของเด็กหนุ่มชนเผ่าพื้นเมือง (ภาพจาก alive)

             หากมองในแง่มุมของโครงสร้างสถาปัตยกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะโครงสร้างไม้ไผ่อื่นๆ ในไต้หวัน หลินหย่าอิน สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของไต้หวันมองว่า ttabukan สะท้อนถึงจิตวิญญาณและปรัชญาของกลุ่มชาติพันธุ์ เสาค้ำหลักมีลักษณะของการรวมศูนย์ให้มาอยู่ที่จุดเดียว เพื่อให้โครงสร้างมีความมั่นคง โครงสร้างที่มีน้ำหนักเบายังทนทานต่อแผ่นดินไหว แต่ไม่ทนต่อแรงลม จึงถูกออกแบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับโครงสร้างด้วยการใส่ก้อนหินลงในโครงฐานหลักรูปกรวยซึ่งตั้งอยู่บนพื้นบริเวณใจกลางโครงสร้างเพื่อถ่วงน้ำหนักและลดแรงโน้มถ่วงของจุดศูนย์กลาง มีงานวิจัยของนักวิชาการไต้หวันได้แสดงให้เห็นว่า มีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักของตึกไทเป 101 ที่ทำหน้าที่ในการพยุงโครงสร้างเมื่อเผชิญกับลมแรงหรือแผ่นดินไหว ทำให้นักวิชาการท่านหนึ่งถึงกับอุทานว่า “ชาวพื้นเมืองไต้หวันเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยกำเนิด”     

           การออกแบบโครงสร้างและการนำก้อนหินถ่วงไว้บนพื้นบริเวณใจกลางโครงสร้างทำให้ ttabukan ทนทานต่อแผ่นดินไหวและแรงลม (ภาพจากคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง)

            การออกแบบโครงสร้างในลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวอาคารไม้ไผ่ที่ดูบอบบางยังคงตั้งตระหง่านอยู่อย่างมั่นคง แม้จะเคยเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเนพาร์ตักซึ่งมีความเร็วลมมากกว่า 200 กม./ชม. ในปี 2549 หลินหย่าอินกล่าวว่า “นั่นเป็นเพราะว่าบรรพบุรุษของพวกเรามีความเข้าใจในเรื่องวัสดุธรรมชาติมากกว่าเราเสียอีก”วิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดผ่านจากปรมาจารย์สู่ลูกศิษย์ แทบไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารหรือและวิธีในการก่อสร้างจึงแตกต่างกันตามความเข้าใจและมุมมองของนายช่างที่มีต่อตัวอาคาร

        ชนเผ่าเปยหนานซึ่งมีโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มงวด ในอดีตเคยเจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลครอบคลุมเกือบทั่วเกาะไต้หวัน  (ภาพจาก tcmb.culture.tw)

           Ahung Masikadd ผู้อาวุโสแห่งหมู่บ้านชนพื้นเมืองเล่าถึง ความหมายอันแสนพิเศษของ ttakuban อาคารยกสูงที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ทั้งหมดหลังนี้ ซึ่งเขาและเยาวชนในหมู่บ้านร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อน เปยหนานเป็นชนเผ่าที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน ในยุคที่ชนชาติเปยหนานมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุด อิทธิพลของพวกเขาได้แผ่ขยายขึ้นไปทางเหนือถึงฮัวเหลียนและอวี้หลี่ และแผ่ขยายลงไปทางใต้ถึงผิงตงและเหิงชุน เคยมีงานวิจัยที่ชี้ให้ว่าโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มงวดของชนเผ่าเปยหนาน เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งของพวกเขา ซึ่งหลักความเคารพในบุคคลดังกล่าวได้ถูกสร้างขึ้นผ่านระบบการศึกษาใน ttakuban

    พิธีลิง เป็นประเพณีทดสอบความแข็งแกร่งของเด็กหนุ่มในชนเผ่าเปยหนาน (ภาพจาก channelplus.ner.gov.tw)

           เมื่อเด็กผู้ชายมีอายุ 12 - 13 ปี พวกเขาจะช่วยกันสร้างบ้าน ttakuban จากไม้ไผ่ภายใต้การแนะนำจากผู้อาวุโสของหมู่บ้าน และอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 4 ถึง 5 ปี เพื่อเรียนรู้วิธีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กฎเกณฑ์และขนมธรรมเนียม ลำดับชั้นทางสังคม และทักษะการต่อสู้จากเด็กชายรุ่นพี่ซึ่งอายุมากกว่าและเข้าสู่บ้าน ttakuban ก่อนพวกเขา สำหรับคนภายนอกมักมองว่าสิ่งเหล่านี้แปลกหรือไม่สมเหตุสมผลแต่สำหรับชนพื้นเมืองเชื่อว่า "การฝึกอบรม" เช่นนี้ เป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนเด็กชายชาวเปยหนานให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนจะออกจาก ttakuban เด็กหนุ่มในชนเผ่าทุกคนต้องผ่านพิธีมังมังกายาอุ (mangamangayau) หรือที่รู้จักในชื่อของ "พิธีลิง" ซึ่งเป็นประเพณีการทดสอบความแข็งแกร่งของเด็กหนุ่มในชนเผ่าที่จะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี  "ttakuban" จึงเสมือนเป็นรากฐานของการฝึกทหาร เป็นเสาหลักที่ค้ำจุนและเป็นแหล่งจิตวิญญาณที่สำคัญของชนพื้นเมืองไต้หวัน

           

           ชายหนุ่มชนเผ่าเปยหนานจะร่วมเทศกาลประจำปีของชนเผ่าอย่างภาคภูมิใจ (cdns.com.tw)

  • 1. กิ้งก่ายักษ์อีกัวนาเขียว เอเลียนสปีชีส์เบอร์ต้นบุกยึดพื้นที่ชนบทภาคกลางและใต้ไต้หวัน ผิงตงกลายเป็นจูราสสิคปาร์ค ต้องจ้างบริษัทเอกชนกำจัด

              พืชและสัตว์ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหลากหลายชนิดระบาดหนักทั่วไต้หวัน แต่ที่รุนแรงและสร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลท้องถิ่นทางภาคกลางและภาคใต้เกาะไต้หวันมากที่สุดในขณะนี้ ได้แก่กิ้งก่ายักษ์สีเขียว หรืออีกัวนาเขียว ตามพื้นที่ไร่นาเต็มไปด้วยสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นชนิดนี้ เนื่องจากปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี แพร่พันธุ์เร็ว ไม่มีศัตรูธรรมชาติและชอบขุดเจาะคันนา ฝายกั้นน้ำเป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้งชอบกินต้นกล้าหรือยอดผักผลไม้เป็นอาหาร ทำให้เกษตรกรเสียหายหนัก มันยังเข้าไปเพ่นพ่านหาอาหารกินในบ้าน ทำให้ชาวบ้านตกใจและผวาอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ที่เมืองเจียอี้ ซึ่งเป็นเมืองเกษตรสำคัญของไต้หวันโดนหนัก ประกาศจัดตั้งหน่วยกำจัด แต่เกรงว่าจะมีการกำจัดอย่างไม่ถูกหลักมนุษยธรรมหรือใช้วิธีกำจัดแบบทารุณ เข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงเปิดให้ประชาชนสมัครอบรมทางออนไลน์เพื่อเรียนรู้วิธีกำจัดที่ถูกต้อง ตามหลักกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งแหล่งที่อยู่และช่วงเวลาที่เปิดให้กำจัด ซึ่งจะเปิดเป็นระยะ ชาวบ้านทั่วไปหากพบสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้ สามารถโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ไปกำจัดได้ นอกจากกิ้งก่ายักษ์แล้ว รัฐบาลเมืองเจียอี้ยังต้องปวดหัวกับกิ้งก่าอีกชนิดหนึ่งจากลาตินอเมริกา ได้แก่กิ้งก่าอาโนลสีน้ำตาล ซึ่งสันนิษฐานว่าแปลกปลอมมากับเรือสินค้าที่ลำเลียงไม้ซุง หลุดออกมาจากบ้านของคนที่ซื้อมาเลี้ยงจากต่างประเทศ กลายเป็นมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เมืองเจียอี้ ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เนื่องจากมันแพร่พันธุ์ง่ายและเร็วมาก เข้าได้กับทุกสภาพอากาศ แถมกินได้ทุกอย่าง จึงทำให้ขยายพันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็ว จนถึงขณะนี้ จำนวนประชากรกิ้งก่าอาโนลสีน้ำตาล เกินกว่า 1 ล้านตัว มากกว่าประชากรเมืองเจียอี้เสียด้วยซ้ำ

    ที่เมืองผิงตง ไม่ว่าจะบริเวณบ้าน ไร่นาหรือในป่า เต็มไปด้วยกิ้งก่ายักษ์สีเขียวหรืออีกัวนาเขียว ทำลายพืชผลเกษตรและบุกเข้าบ้านขโมยอาหารกิน ทำให้ชาวบ้านหวาดผวา จนกลายเป็นจูราสสิคปาร์คไปแล้ว (ภาพจาก udn.com)

              นอกจากที่เจียอี้แล้ว ที่ผิงตงก็ถูกสัตว์เลื้อยคลานต่างถิ่นชนิดนี้ยึดครองพื้นที่ไร่นาเกือบหมดแล้ว จนต้องจ้างบริษัทเอกชนที่รับจ้างกำจัดอีกัวนาเขียวมากำจัดเป็นการเฉพาะ โดยปี 2566 ที่ผ่านมา กำจัดได้จำนวน 34,002 ตัว มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดจำนวนที่กำจัดได้ทั่วไต้หวัน และรวมสะสมตั้งแต่เริ่มกำจัดเป็นต้นมาจับไปแล้วกว่า 60,000 ตัว

    กองการเกษตรผิงตงต้องจ้างบริษัทเอกชนจับอีกัวนาเขียวเป็นการเฉพาะ โดยปี 2566 ที่ผ่านมาจับได้แล้วจำนวน 34,002 ตัว (ภาพจาก udn.com)

              แล้วเจ้ากิ้งก่ายักษ์หรืออีกัวนาเขียว เอเลียนสปีชีส์ชนิดนี้มันมาจากไหน ไต้หวันไม่ใช่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ชนิดนี้ ทั้งนี้ เพราะมีชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยนิยมซื้อสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้มาเลี้ยง เมื่อเบื่อไม่อยากเลี้ยงต่อ ก็เอาไปปล่อยในพื้นที่ไร่นาหรือคลองระบายน้ำ เนื่องจากมีความทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี อีกัวนาเขียวตัวเมียแต่ละตัวสามารถออกไข่ได้ 20-70 ฟองต่อปี ประกอบกับไต้หวันไม่ใช่เป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม จึงไม่มีศัตรูธรรมชาติ ทำให้มันขยายพันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็ว ปี 2563 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว ทั่วไต้หวันมีการจับกิ้งก่ายักษ์ได้มากกว่า 10,000 ตัว เฉพาะที่เมืองผิงตง มีการจับได้ 7,405 ตัว เพราะทางการจัดกิจกรรมจับกิ้งก่ายักษ์ 1 ตัวมาแลกถั่วแดงอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรชื่อดังจากเมืองผิงตงได้ 600 กรัม ชาวเมืองผิงตงให้ความร่วมมือค่อนข้างดี แต่ก็สู้การขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของมันไม่ได้ รัฐบาลเมืองผิงตงต้องจ้างบริษัทเอกชนที่รับกำจัดสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้โดยเฉพาะ ในปี 2566 จับได้แล้วจำนวน 34,002 ตัว คาดว่าปี 2567 นี้จะจับได้มากกว่าปีที่แล้ว สำหรับวิธีการกำจัด บริษัทที่รับจ้างจับจะมีเจ้าหน้าที่มืออาชีพผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ใช้เครื่องยิงคลายยิงหนังสติ๊ก แต่เป็นฉมวกจับปลามีสายดึงไว้กันมันหนี ถ้าเป็นตัวใหญ่ต้องยิงฉมวก 2-3 ดอกจึงจะเอาอยู่ จากนั้นจะใช้เทปพันปากและเท้ากับลำตัวกันหนี

    กองการเกษตรผิงตงต้องจ้างบริษัทเอกชนจับอีกัวนาเขียวเป็นการเฉพาะ โดยปี 2566 ที่ผ่านมาจับได้แล้วจำนวน 34,002 ตัว (ภาพจาก udn.com)

             แม้ว่าบางคนเคยนำไปผัดทำเป็นอาหาร แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำ เพราะในตัวกิ้งก่ายักษ์มีพยาธิจำนวนมาก พยาธิบางชนิดทนความร้อนได้สูง คุกคามสุขภาพของคนได้

    นายหงจงฉี สมาชิกสภาเทศบาลผิงตงแสดงความห่วงใยสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของอีกัวนาเขียว เดินทางไปตรวจดูการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทที่รับจ้างกำจัด (ภาพจาก udn.com)

    2. สุดแสนฮีลใจที่ป่าไผ่แห่งสือปี้  แลนด์มาร์กแห่งป่าไผ่โลก

              สัปดาห์นี้ขอแนะนำ ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้ เมืองหยุนหลิน  ที่เป็นศูนย์ป่าบำบัดแห่งแรกของไต้หวัน แถมยังได้รับการขนานนามว่า "แลนมาร์กแห่งป่าไผ่โลก" ศูนย์ป่าบำบัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเฉาหลิ่งตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600-1,750 เมตร ถือเป็นหมู่บ้านบนภูเขาที่สูงที่สุดในเมืองหยุนหลิน มีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามมากมาย อาทิ หินรูปทรงแปลกประหลาด น้ำตกและลำธาร เป็นต้นแต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล จึงมีเพียงนักปีนเขาที่ไปปีนภูเขาสือปี้และภูเขาเจียหนานหยุนเฟิงเท่านั้นที่ให้ความสนใจ หลังเกิดแผ่นดินใหญ่ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบร้อยปีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2542 ส่งผลให้เส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านเฉาหลิ่งถูกตัดขาด ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ ต่อมารัฐบาลได้ผลักดันการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย จึงมีการพัฒนาป่าไผ่ในชุมชนสือปี้ในหมู่บ้านเฉาหลิ่งให้กลายเป็นศูนย์ป่าบำบัด

    ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้เมืองหยุนหลิน ศูนย์ป่าบำบัดแห่งแรกของไต้หวันที่ใช้สวนไผ่เป็นองค์ประกอบหลัก (ภาพจาก เทศบาลเมืองหยุนหลิน)

              คุณกัวโส่วฟา (郭守發) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะไม้ไผ่แห่งสือปี้ได้ร่วมกับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมพัฒนาชุมชนสือปี้ ขานรับนโยบาย 1 ตำบล 1 เอกลักษณ์ ด้วยการยื่นขอใช้ที่ดินของรัฐในชุมชนสือปี้ หมู่บ้านเฉาหลิ่ง และประยุกต์ใช้ไม้ไผ่โมโซซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น มาสร้างระเบียงสีเขียว “อู่หยวนเหลียงเจียว”(五元兩角) ที่ประกอบด้วยศาลาริมทางและสะพานโค้ง ซึ่งทางตอนเหนือจะเชื่อมต่อกับ “เส้นทางโบราณมู่หม่า” (木馬古道) ที่ในอดีตเป็นเส้นทางขนส่งไม้ฮิโนกิหรือสนไซเปรสกับอบเชย และยังเชื่อมไปถึง“เนินแห่งหยุนหลิ่ง” ซึ่งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณกับอาทิตย์อัสดงยามพลบค่ำ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเมืองหยุนหลิน เจียอี้ และหนานโถว จึงได้รับการขนานนามว่า “ยืนเหยียบ 3 เมือง” ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวบนภูเขาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

     "อู่หยวนเหลียงเจียว" ระเบียงสีเขียวริมทางเดินในป่าไผ่เชื่อมต่อกับเส้นทางโบราณที่ได้รับความนิยมในหมู่นักปีนเขา (ภาพจาก Chinatimes.com)

              เนื่องจากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา การบำบัดด้วยป่ากลายเป็นกระแสนิยมในต่างประเทศ เทศบาลเมืองหยุนหลินได้วางแผนใช้สวนไผ่ที่มีพื้นที่ 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) ทำเป็น “สวนไผ่นันทนาการแห่งสือปี้” ( Shibi Bamboo Recreational Forest Park)  และมอบหมายให้ D.Z. Architects & Associates, Forest Union และหลินเจียหมิน (林家民) นักป่าบำบัด ร่วมกันออกแบบและสร้าง “ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้ หมู่บ้านเฉาหลิง”ที่หลอมรวมป่าไผ่เข้ากับป่าไม้ตามธรรมชาติเข้าด้วยกันบนพื้นที่ 156 เฮกตาร์ (975 ไร่) ซึ่งประกอบด้วยป่าไผ่ที่เขียวชอุ่มมีการไล่เฉดจากสีเขียวจางไปเป็นเขียวเข้มและสลับสีระหว่างเขียวอ่อนกับเขียวเข้ม ทำให้ทั่วทั้งผืนป่าเปี่ยมไปด้วยความมีสีสันและช่วยฮีลใจได้เป็นอย่างดี

    ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา การบำบัดด้วยป่ากลายเป็นกระแสนิยมในต่างประเทศรวมถึงในไต้หวันด้วย (ภาพจากเทศบาลเมืองหยุนหลิน)

             คุณหลินเจียหมิน นักป่าบำบัด หนึ่งในทีมออกแบบ ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้ กล่าวว่า ไผ่โมโซ เป็นไผ่ลำเดี่ยวที่รากจะชอนไชลงไปในดินและแผ่กระจายในแนวขวางเพื่อหาสารอาหารมาเลี้ยงลำต้น เมื่อย่ำเท้าลงไปบนทางเดินกลางป่าไผ่ จะรู้สึกได้ถึงความฟูและร่วนซุยของดิน สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ผ่อนคลายและลดความเครียดทางจิตใจได้เป็นอย่างดี สิ่งที่พิเศษที่สุดก็คือ ยามที่สายลมพัดโชยมา กิ่งก้านและใบไผ่จะพลิ้วไหวไปตามแรงลม ทำให้เกิดเสียงไผ่เสียดกอดังซู่ๆซ่าๆ ราวกับท่วงทำนองแห่งสรวงสวรรค์ ยิ่งช่วยบำบัดจิตใจได้อย่างดีเยี่ยม

    ม้านั่งได้รับการออกแบบให้เมื่อเอนตัวลงนอน มุมของสายตาจะจับไปที่ยอดทิวไผ่รอบตัวได้อย่างเหมาะเจาะ (ภาพจากเทศบาลเมืองหยุนหลิน)

    ห้องน้ำสร้างจากไม้ไผ่ หลังคาเปิดโล่งครึ่งหนึ่ง ระหว่างเข้าห้องน้ำยังจะได้อิ่มเอมกับทัศนียภาพสวนไผ่และท้องฟ้าสีคราม (ภาพจากเทศบาลเมืองหยุนหลิน)

              สื้อปี้เป็นแหล่งผลิตหน่อไม้โมโซ ในฤดูหนาวก็สามารถผลิตหน่อไม้ตังซุงได้ คุณกัวโส่วฟาเล่าว่า หน่อไม้แตกหน่ออยู่ใต้ดิน ไม่จำเป็นต้องพ่นยาฆ่าแมลงและใส่ปุ๋ย ดินที่สะอาดและปราศจากมลพิษ แม้จะย่ำเท้าเปล่าไปบนทางเดินในป่าไผ่ก็ยังรู้สึกสบายเท้า การนั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้ามืด บางครั้งแม้เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้ว แต่เมฆในหุบเขาก็ยังไม่ขยับเขยื้อน เมื่อลมพัดโชยมา ทะเลหมอกจะสลายตัวกลายเป็นกลุ่มหมอกบางๆ พวยพุ่งขึ้นสู่เบื้องบนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า แสดงว่าอากาศกำลังจะเปลี่ยนแล้ว นี่คือหนึ่งวันในสือปี้

    บรรยากาศที่ป่าไผ่ในสือปี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลทั้ง 4 ไม่ว่าจะไปเยี่ยมชมในฤดูกาลใด ล้วนฮีลใจได้อย่างดีเยี่ยม (ภาพจากเทศบาลเมืองหยุนหลิน)

                บรรยากาศในสือปี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลทั้ง 4 เริ่มจากในฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิใต้ผิวดินจะเพิ่มสูงขึ้น รากไผ่จะแผ่ขยายออกไป ใบไผ่จะเจริญงอกงาม เมื่อฝนฤดูใบไม้ผลิตกลงมา หน่อไม้จะงอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบไม้ใบหญ้าก็จะแตกใบอ่อนจนเขียวชอุ่มพุ่มไสวตามไปด้วย ในฤดูร้อนแสงแดดจะจัดจ้าและท้องฟ้าโปร่งใส ดินโคลนในป่าไผ่ที่ถูกแสงแดดสาดส่องจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆของไอดินออกมาไม่ขาดระยะ ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการจำศีลของทุกสรรพสิ่ง ใบไม้จะหลุดร่วงลงสู่พื้นดินกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ทัศนียภาพใน 4 ฤดูกาลจะแปรเปลี่ยนไปโดยไม่ซ้ำกัน

  • 1. ไต้หวันขาดแคลน “อาจารย์ใหญ่” วิทยาลัยแพทยศาสตร์กังวลกระทบต่อการฝึกผ่าตัดของนักศึกษาแพทย์

         วิทยาลัยแพทยศาสตร์ของไต้หวันกำลังประสบปัญหาขาดแคลน "อาจารย์ใหญ่" เพราะคนไต้หวันยังคงยึดถือความเชื่อดั้งเดิมที่แม้เสียชีวิตแล้ว ก่อนจะฌาปนกิจร่างกายของผู้วายชนม์ต้องให้มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 32 ประการ แม้ในช่วงหลายปีมานี้มีผู้แสดงความประสงค์จะบริจาคร่างกายเพิ่มขึ้นแต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยในปัจจุบันอัตราส่วนของนักศึกษาแพทย์ : อาจารย์ใหญ่ อยู่ที่ 15 : 1 ในขณะที่อัตราส่วนที่เหมาะสมต้องอยู่ที่ 10 : 1 

      "อาจารย์ใหญ่" หรือภาษาจีนคือ 大體老師 ซึ่งก็คือร่างกายอันไร้วิญญาณที่อุทิศเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนและค้นคว้าวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ (ภาพจาก msc.tcu.edu.tw)

    "อาจารย์ใหญ่" ภาษาจีนเรียกว่า ต้าถี่เหล่าซือ (大體老師) ซึ่งก็คือร่างกายอันไร้วิญญาณที่อุทิศเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนและค้นคว้าวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ จัดเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีที่สุดที่ไม่สามารถจะหาสื่อการสอนใดมาทดแทนได้ เพราะเป็นการศึกษาจากของจริงซึ่งนักศึกษาแพทย์สามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์จริงจากร่างกายของอาจารย์ใหญ่โดยตรงผ่านการชำแหละและศึกษาโครงสร้างที่สลับซับซ้อนอย่างละเอียดลออทุกส่วน ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง เพราะนอกจากการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีโดยการอ่านตำราและเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียนแล้ว ซึ่งจะทำให้นักศึกษาแพทย์ได้พัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดหรือทำหัตถการจนกลายเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในการรักษาคนไข้ต่อไปในอนาคต

    วิทยาลัยแพทยาศาสตร์ของไต้หวันเริ่มประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR และ VR ในการเรียนรู้และฝึกฝนของนักศึกษาแพทย์ (ภาพจาก ncku.edu.tw)

         อาจารย์แพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของไต้หวันหลายท่านตระหนักถึงปัญหานี้และกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการฝึกปฏิบัติทักษะหัตถการหรือฝึกผ่าตัดของนักศึกษาแพทย์ จึงได้พยายามหาทางแก้ไขโดยเข้าพบและขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น หวังจะขอรับศพไร้ญาติมาให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนและค้นคว้าวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ รวมถึงใช้ในการฝึกผ่าตัด แต่ไม่สามารถทำได้เพราะมีปัญหาในเรื่องของกฎหมาย จึงทำให้ปัญหาขาดแคลน “อาจารย์ใหญ่” ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่มีหลายฝ่ายเสนอให้ใช้รูปแบบของประเทศตะวันตกที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented reality) ซึ่งก็คือ การนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน และ เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาทดแทน แต่อาจารย์แพทย์หลายคนแสดงความเห็นว่า เทคโนโลยี AR และ VR ไม่สามารถสะท้อนความหลากหลายและความละเอียดอ่อนของอวัยวะในร่างกายมนุษย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดจะเกี่ยวข้องอวัยวะโดยรอบ หากแพทย์ไม่มีความชำนาญจะทำให้อวัยวะส่วนอื่นๆได้รับความเสียหายและทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดยาวนาน

       อาจารย์แพทย์หลายคนมองว่าเทคโนโลยีARและVR ไม่สามารถสะท้อนความหลากหลายและความละเอียดอ่อนของอวัยวะในร่างกายมนุษย์ได้ ยังจำเป็นต้องใช้อาจารย์ใหญ่ในการศึกษาเรียนรู้และฝึกฝนของนักศึกษาแพทย์ต่อไป (ภาพจาก technews.tw)

    ดังนั้นเทคโนโลยี AR และ VR เป็นเพียงตัวช่วยแต่ไม่สามารถทดแทน "อาจารย์ใหญ่" ได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้ราคาแพงมาก และมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการในการฝึกหัดของนักศึกษาแพทย์ จึงหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนค่านิยมและหันมาบริจาคร่างกายกันมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

    2. โหลดติดตั้งหรือยัง? ตัดสายมิจร้ายยุค AI ด้วย Whoscall แอปบล็อกเบอร์สุดเทพจากไต้หวัน คนไทยติดตั้งมากเป็นอันดับ 1 ตามด้วยคนไต้หวัน

              ปัจจุบันมิจฉาชีพเยอะแยะเต็มไปหมด คอยโทรและส่งข้อความ (SMS) มาหาเราตลอดเวลา ที่สำคัญมีการสรรหามุกใหม่ ๆ และทันต่อสถานการณ์มาหลอกกันได้ไม่เว้นวัน โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความโลภและความตื่นตระหนกที่เป็นจุดอ่อนตามธรรมชาติของมนุษย์ หลอกล่อให้เหยื่อคลายความระมัดระวัง จนสุดท้ายโอนเงินออกจากบัญชีโดยลืมที่จะตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน ในไต้หวันแม้จะมีการประชาสัมพันธ์และเพิ่มมาตรการเข้มงวด แต่รู้ไหม? จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจพบว่า เฉลี่ยแล้วในแต่ละวันยังมีคนไต้หวันถูกหลอกสูญเงิน 300 ล้านเหรียญไต้หวัน คนไทยก็ไม่แพ้กัน จากสถิติพบว่า คนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพวันละ 217,047 ราย มีคนรับสายจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และยังถูกหลอกลวงจากข้อความมากกว่า 58.3 ล้านข้อความ จัดได้ว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

    Whoscall แอปบล็อกเบอร์มิจฉาชีพยุค AI ยอดนิยมจากไต้หวัน คนไทยติดตั้งมากเป็นอันดับ 1 ตามด้วยคนไต้หวัน (ภาพประกอบจาก FB : Whoscall)

              แล้วเราจะป้องกันถูกมิจฉาชีพหลอก กลายเป็นเหยื่อได้อย่างไร นอกจากตั้งสติ ไม่เชื่อ ไม่โลภและไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแล้ว ยังมีวิธีที่ค่อนข้างได้ผล คือไม่รับสายเบอร์โทรที่ไม่คุ้นและไม่กดลิงก์ที่ส่งมาชักชวนล่อใจผ่านการส่งข้อความสั้นหรือ SMS ในมือถือ จะไม่รับก็กลัวเป็นเรื่องด่วนหรือเรื่องสำคัญ หากมีแอปช่วยกรองและแจ้งให้เราทราบเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ เบอร์ของบริษัทประกัน หรือเป็นเบอร์องค์กรไหน จะทำให้เราสบายใจและปลอดภัยมากขึ้น แอปที่ว่านี้ มีและให้โหลดใช้ฟรีด้วย เป็นแอปที่ชื่อว่า Whoscall จากไต้หวัน

    Whoscall เป็นแอปพลิเคชันระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก ซึ่งสามารถแจ้งได้ทันทีว่าใครโทรเข้ามา และยังช่วยกรองสายที่น่าสงสัยด้วยระบบ AI (ภาพจาก bangkokbiznews.com)

              Whoscall เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยจัดการกรองและบล็อกหมายเลขโทรเข้าและการส่งข้อความ เช่น บริษัทประกัน ตัวแทนจำหน่ายบริษัทใหญ่ ๆ ฯลฯ มีฐานข้อมูลเบอร์มือถือทั่วโลกมากกว่า 2.2 พันล้านหมายเลข และยังมีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปเดตข้อมูลเบอร์ใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่มักจะติดต่อมายังเบอร์โทรของตนได้อยู่เสมอ แอปพลิเคชันนี้ ทำให้เราทราบถึงสายโทรเข้า หรือข้อความแปลก ๆ ที่ติดต่อเข้ามา และสามารถจัดการบล็อกเบอร์ติดต่อดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการค้นหาเบอร์ปลายทางได้ด้วยว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเบอร์โทรสำนักงาน และจดทะเบียนกับผู้ให้บริการรายใดได้ด้วย

    วิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพ (ภาพจาก bangkokbiznews.com)

              ก็เพราะทุกวันนี้ รอบตัวเราเต็มไปด้วยเหล่ามิจฉาชีพ ทำให้ Whoscall แอปพลิเคชันจากบริษัท Gogolook ซึ่งบริษัท Startup จากไต้หวันได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะหลังโควิด-19 Whoscall มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านดาวน์โหลด เปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีใน 31 ประเทศทั่วโลก เป็นที่นิยมทั้งในไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย บราซิล รวมถึงไทย โดยประเทศไทยมีฐานผู้ใช้งานอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือไต้หวัน

    ด่านสุดท้ายก่อนมิจฉาชีพจะหลอกเอาเงินได้สำเร็จ คือต้องโทรศัพท์ติดต่อคุณหรือส่งข้อความ SMS หาคุณ Gogolook จะเตือนคุณว่า นี่คือสายเรียกเข้าหรือข้อความที่ มีความเสี่ยงสูง (ภาพจาก Taiwan Panorama)

              Whoscall ก่อตั้งโดย 3 หนุ่มไต้หวัน ได้แก่เจิ้งเซิ่งเฟิง (鄭勝丰) กัวเจี้ยนฝู่ (郭建甫) และซ่งเจิ้งหวน (宋政桓) แรก ๆ ก็ไม่ได้ทำกันจริงจัง โดยใช้เวลาว่างมาทำงาน ในปี ค.ศ. 2012 ทั้ง 3 ตัดสินใจลาออกจากงานและหันมาทุ่มเทกับบริษัทอย่างเต็มตัว หลังจากสังเกตเห็นผู้คนพลางเดินพลางจ้องโทรศัพท์มือถือ จึงได้ผุดไอเดียตั้งชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษว่า “Gogolook” และใช้ “走著瞧” (โจ่วเจอะเฉียว) เป็นชื่อบริษัทในภาษาจีน ซึ่งมีความหมายว่า “เดินไปจ้องไป”

    ในปี ค.ศ. 2023 Gogolook เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดการป้องกันการฉ้อโกงแห่งเอเชีย Anti-Scam Asia Summit (ASAS) ครั้งที่ 1 โดยได้เชิญสำนักงานตำรวจจากหลากหลายประเทศ และองค์กรอิสระมาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความเห็น (ภาพจาก Taiwan Panorama)

              จากบริษัทที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นบริษัทที่มีคนนิยมใช้บริการ จากกิจการที่ดูกระท่อนกระแท่น จู่ ๆ ดันไปเตะตา บริษัท Naver เจ้าของแอปพลิเคชัน LINE และได้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า 529 ล้านเหรียญไต้หวัน จุดแข็งของ Gogolook คือความสามารถในการขจัดความไม่สบายใจและความกังวลที่มีต่อข้อความหรือสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก

    Gogolook ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) ของประเทศไทย (ภาพจาก Taiwan Panorama)

              ในไต้หวัน บริษัท Gogolook มีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นพันธมิตรหลักในประเทศ เมื่อผู้ใช้งานติดต่อกับมิจฉาชีพที่อยู่ในคราบผู้ให้บริการผ่อนชำระสินค้าออนไลน์ Whoscall จะปรากฏข้อความเตือนว่า “นี่คือหมายเลขโทรศัพท์ที่มีความเสี่ยงสูง” เรียกสติให้ผู้ใช้งานตรวจสอบรายละเอียดก่อนที่จะมีการโอนเงินออกไป ดังนั้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มักจะตกเป็นเหยื่อจากการหลอกให้โอนเงินให้ “ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whoscall ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยคัดกรองเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพได้” นอกจากหน่อยงานตำรวจของไต้หวันแล้ว ยังมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ต่างแนะนำให้ประชาชนติดตั้งแอปพ ลิเคชัน Whoscall ในโทรศัพท์มือถือเช่นกัน

  • 1. คนไต้หวันงงชื่อไต้ฝุ่นกระท้อน! อุตุฯ ไขข้อข้องใจเป็นชื่อผลไม้ไทย พร้อมชี้ แทนที่ทุเรียนและมังคุด 2 ไต้ฝุ่นที่ถูกตัดชื่อออกจากบัญชี เพราะสร้างความเสียหายหนัก

              ไต้ฝุ่นกระท้อน ในภาษาจีนเรียกพ้องเสียงตามชื่อภาษาอังกฤษ santol ออกเสียเป็นซันโทล พอมาเป็นภาษาจีนกลายเป็น ซานโถเอ่อ (山陀兒) เป็นชื่อที่คนไต้หวันไม่คุ้น มีคนถามกันเยอะเลยว่า เป็นชื่อไต้ฝุ่นที่ประเทศไหนตั้ง แปลว่าอะไร จนกรมอุตุนิยมวิทยาของไต้หวันต้องออกมาไขข้อข้องใจ ว่าเป็นชื่อที่ประเทศไทยเป็นผู้ตั้ง เป็นชื่อผลไม้อย่างหนึ่งของไทย มีผลสีเหลือง ข้างในเป็นกลีบสีขาวคล้ายมังคุด แต่มีรสชาติเปรี้ยว ซึ่งในไต้หวันมีต้นกระท้อนเหมือนกันทางภาคใต้ แต่เป็นต้นกระท้อนป่า คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็น สื่อต่าง ๆ ในไต้หวันนำเสนอข่าวนี้กันมาก เพื่อให้ชาวไต้หวันได้รู้จักก่อนจะถูกไต้ฝุ่นกระท้อนถล่ม

    ภาพต้นและผลกระท้อนจากเฟซบุ๊ก Fat-Fat Tree Tropical Rainforest

              หวางรุ่ยหมิน นักเขียนด้านพฤกษศาสตร์ชาวไต้หวัน เจ้าของเฟซบุ๊กป่าดิบชื้น Fat-Fat Tree Tropical Rainforest โพสต์ข้อความ ไต้ฝุ่นปูลาซัน ตั้งชื่อโดยมาเลเซีย แปลว่าเงาะขนสั้น ซึ่งเป็นผลไม้ในเขตร้อนเพิ่งจะผ่านไป มาใหม่อีกลูกก็ตั้งชื่อเป็นผลไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเล่าว่ากระท้อนหรือซานโถเอ่อ มีเนื้อในเป็นกลีบสีขาวคล้ายมังคุด มีกลิ่นหอมแต่รสเปรี้ยว แถวภาคใต้ของเกาะไต้หวันก็มีเช่นกัน มีการนำต้นกระท้อนจากสิงคโปร์เข้ามาปลูกในฟาร์มเกษตรเมืองเจียอี้เมื่อปี ค.ศ. 1919 นอกจากในแปลงทดลองปลูกของคณะเกษตร มหาวิทยาจงซิงที่ไทจง และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตงแล้ว ในสวนสาธารณะในนครไทจงก็พบเห็นต้นกระท้อนเช่นกัน แต่คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่ได้นำผลมากิน

    ประโยชน์ของกระท้อน สื่อประชาสัมพันธ์จากกรมประชาสัมพันธ์

              ด้าน รศ. อู๋เต๋อหรง (吳德榮) แห่งคณะวิทยาศาสตร์บรรยากาศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยัง (NCU) อดีตผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายให้ฟังว่า พายุแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความเร็วลม คือ ดีเปรสชัน (ไม่เกิน 62 กม./ชม.) พายุโซนร้อน (63-118 กม./ชม.) พายุหมุนเขตร้อน (ตั้งแต่ 119 กม./ชม.) โดยพายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแหล่งที่เกิด หากก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกจะเรียกว่า "ไต้ฝุ่น"

    กระท้อนเป็นไต้ฝุ่นกำลังแรงที่มีทิศทางเคลื่อนตัวแปลกและอืดอาดช้ามาก สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ภาคใต้เกาะไต้หวัน ก่อนสิ้นลายกลายเป็นพายุดีเปรสชันหลังพัดขึ้นบกที่เกาสง (ภาพจาก FB Weather Express)

              สำหรับการตั้งชื่อพายุไต้ฝุ่น ต้องเป็นประเทศที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการไต้ฝุ่นแห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ESCAP/WMO Typhoon Committee) ซึ่งขณะนี้มีด้วยกัน 14 ประเทศและพื้นที่ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซียไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐและเวียดนาม ส่วนไต้หวันไม่ใช้สมาชิก จึงไม่มีสิทธิ์ส่งชื่อสำหรับตั้งชื่อได้ฝุ่นนั้น แต่ละประเทศจะส่งไป 10 ชื่อ ใช้ตั้งชื่อพายุที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับพายุโซนร้อนเรียงตามชื่อประเทศ เริ่มจากกัมพูชา ลูกต่อไปก็จะเป็นชื่อจากจีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง จนถึงเวียดนาม และวนอย่างนี้เรื่อย ๆ จนครบ 140 ชื่อ และถ้าหากหมด 140 ชื่อนี้ก็จะเวียนไปใช้ชื่อแรกของกัมพูชาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพายุนั้นสร้างความเสียหายรุนแรง เช่น มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ประเทศต้นทางก็สามารถขอให้ปลดชื่อพายุดังกล่าวไม่ให้ใช้ในอนาคต อย่างไต้ฝุ่นทุเรียน เคยถล่มฟิลิปปินส์อย่างรุนแรงเมื่อปี ค.ศ. 2006 ทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 1,400 ราย ประเทศไทยจึงถอดชื่อออกอย่างถาวร ส่งมังคุดเข้าแทนที่ แต่ในปี ค.ศ. 2018 ไต้ฝุ่นมังคุดถล่มฟิลิปปินส์อย่างหนักอีกครั้ง มีผู้เคราะห์ร้ายบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 1,800 รายขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายยับเยินแก่ชายฝั่งภาคใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งเป็นไต้ฝุ่นที่มีกำลังรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ฮ่องกงมากที่สุดในรอบ 35 ปี และก่อให้เกิดคลื่นทะเลซัดเข้าเมืองสร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง ประเทศไทยจึงถอดชื่อออกอย่างถาวรและส่งกระท้อนเข้าไปแทนที่ในปีต่อมา

    ไต้ฝุ่นกระท้อนเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เข้าใกล้ภาคใต้เกาะไต้หวัน (ภาพถ่ายจากดาวเทียม Himawari หมายเลข 8)

              ทั้งนี้ ปัจจุบัน 10 รายชื่อพายุไต้ฝุ่นที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ที่ไทยส่งเข้าร่วมการตั้งชื่อ นอกจากกระท้อนแล้ว ยังมี พระพิรุณ วิภา บัวลอย เมขลา อัสนี นิดา ชบากุหลาบและขนุน

    2. พาไปรู้จักเขื่อนเก็บน้ำในไต้หวันที่มีมากเกือบร้อยแห่ง แต่ทำไมไต้หวันเจอปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี?

              ไต้หวันเป็นเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวเทือกเขาตอนกลาง (หรือ จงยางซานม่าย (中央山脈)) ทอดเป็นแนวอยู่กลางเกาะจากเหนือจรดใต้ กินพื้นที่ 2 ใน 3 ของมีพื้นที่ทั้งหมด 36,197 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 เป็นที่ราบซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรจำนวน 23,406,608 คน (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567) เนื่องจากแม่น้ำในไต้หวันเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ และไม่ลึก ที่ยาวที่สุดคือแม่น้ำจั๋วสุ่ย (濁水溪) มีความยาว 186 กิโลเมตร

    แม่น้ำจั๋วสุ่ย ความยาว 186 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ที่เมืองจางฮั่ว ไหลผ่านหยุนหลิน หนานโถว แล้วไหลลงสู่ทะเลในช่องแคบไต้หวันที่ตำบลม่ายเหลียวเมืองเจียอี้ (ภาพจาก chinatimes.com)

              นอกจากนี้เนื่องจากต้นน้ำซึ่งอยู่บนภูเขาสูงมีความลาดชัน ทำให้เมื่อมีฝนตกหนักน้ำที่ไหลลงมาจากบนภูเขาจะแรงและเชี่ยวกราก จึงมักเกิดน้ำไหลหลากและเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบ่อยๆ แม้ไต้หวันจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยปีละ 2,500 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าประเทศไทยเล็กน้อย แต่ไต้หวันยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แต่ก็สามารถบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

    เขื่อนเจิงเหวิน ในเมืองเจียอี้ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในไต้หวัน  (ภาพจาก siraya-nsa.gov.tw)

              สำหรับเขื่อนกักเก็บน้ำในไต้หวันมีทั้งหมด 95 แห่ง มีความจุสูงสุดรวม 2,058.88 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนขนาดใหญ่จะนอกจากจะใช้ในการชลประทานแล้วยังใช้ประโยชน์ในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้หลายแห่งยังใช้ประโยชน์ในทางการท่องเที่ยวอีกด้วย อาทิ เขื่อนเจิงเหวิน (曾文水庫) ในเมืองเจียอี้ ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีความจุสูงสุด  631.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (เขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีความจุ ๑๓,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร) สร้างขึ้นในปี 2510 ใช้เวลาสร้าง 6 ปี จึงแล้วเสร็จ อันดับ 2 คือเขื่อนอูซานโถว (烏山頭水庫) ในนครไถหนาน สร้างขึ้นในปี 2463 ใช้เวลาสร้าง 10 ปี อันดับ 3 เขื่อนเฟ่ยชุ่ย (翡翠水庫) ในนครนิวไทเป สร้างขึ้นในปี 2522 ใช้เวลาสร้าง 10 ปี อันดับ 4 เขื่อนสือเหมิน(石門水庫) ในนครเถาหยวน สร้างขึ้นในปี 2499 ใช้เวลาสร้าง 8 ปี และอันดับ 5 เขื่อนเต๋อจี (德基水庫)ในนครไทจง สร้างขึ้นในปี 2512 ใช้เวลาสร้าง 5 ปี

    เขื่อนอูซานโถว นครไถหนาน เขื่อนที่ใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวันสร้างโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก setn.com)

              เมื่อพูดถึงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำในไต้หวัน จะไม่พูดถึงญี่ปุ่นไม่ได้ เนื่องจากหลังราชวงค์ชิงของจีนแพ้สงครามเจี๋ยอู่ (甲午戰爭) ซึ่งเป็นสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ราชวงศ์ชิงชดเชยค่าเสียหายให้แก่กองทัพญี่ปุ่นด้วยการยกเกาะไต้หวันให้ญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองตั้งแต่ปี 2438-2488 รวมเวลา 50 ปี ญี่ปุ่นส่งทหาร ข้าราชการและประชาชนเข้ามาบุกเบิกไต้หวันในขณะเดียวกันได้แสวงหาทรัพยากรมีค่าบนเกาะไต้หวันเพื่อส่งกลับไปยังมาตุภูมิของตน

    เขื่อนสุริยันจันทราเป็นเขื่อนเก็บน้ำเก่าแก่ที่สุดในไต้หวัน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2461 ซึ่งอยู่ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครอง (ภาพจาก chinatimes.com)

              อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งและสร้างเขื่อนเก็บน้ำใช้ในการเพาะปลูกและผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 7 แห่ง ได้แก่เขื่อนสุริยันจันทรา เขื่อนอูซานโถว เขื่อนหูโถวผี เขื่อนเหม่ยหนงหู เขื่อนกวนอินหู เป็นต้น โดยเขื่อนสุริยันจันทรา (日月潭水庫) เป็นเขื่อนเก็บน้ำแห่งแรกของไต้หวันสร้างขึ้นในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองถือเป็นเขื่อนเก่าแก่ที่สุด สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาสร้างนานถึง 16 ปี ความจุ 133.57 ล้านลูกบาศก์เมตร

  • 1. กระท้อนมีแนวโน้มกลายเป็นไต้ฝุ่นกำลังรุนแรง 2-3 ต.ค. ปกคลุมทั่วไต้หวัน เตือน 9 เมืองอันตราย อาจมีการประกาศหยุดงานหยุดเรียน

              ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลายพื้นที่ในไต้หวันมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้มีน้ำท่วมฉับพลันและมีลมกระโชกแรง ต้นสัปดาห์หน้าต้องเผชิญพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 18 ของปีนี้ในชื่อไทย ๆ กระท้อน ซึ่งก่อตัวเมื่อเวลา 08.00 น. วันเสาร์ที่ 28 ก.ย. 2567

    เส้นทางการเคลื่อนตัวของไต้ฝุ่นกระท้อน (ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน CWA)

              กรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวันแถลงว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันเสาร์ที่ 28 ก.ย. จุดศูนย์กลางของไต้ฝุ่นกระท้อนอยู่บนทะเลห่างจากแหลมเอ๋อหลวนปี๋ ใต้สุดของเกาะไต้หวันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 620 กม. ได้เพิ่มขนาดความรุนแรงเป็นไต้ฝุ่นกำลังปานกลางและมีแนวโน้มเพิ่มกำลังความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ปรับทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกและหักศอกขึ้นเหนือเข้าใกล้ไต้หวันมากขึ้น แม้จุดศูนย์กลางจะไม่ขึ้นบก โดยจะพัดเลียบชายฝั่งทิศตะวันออก แต่ขนาดรัศมีของไต้ฝุ่นลูกนี้ปกคลุมพื้นที่ทั่วทั้งเกาะ โดยเฉพาะทางภาคกลางและเหนือ เตือน 9 เมือง ได้แก่ไถตง ฮัวเหลียนและเหมียวลี่ขึ้นมาจนภาคเหนือ ต้องเตรียมรับมือกับฝนตกหนักมากและลมกระโชกแรง โดยเฉพาะในวันอังคารที่ 1 และวันพุธที่ 2 ตุลาคม ระดับความแรงลมและปริมาตรน้ำฝน อาจถึงเกณฑ์ที่ต้องประกาศหยุดงานหยุดเรียน

              เตือนอย่าชะล่าใจ! ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของพายุไต้ฝุ่นอย่างใกล้ชิดและเตรียมรับมือแต่เนิ่น ๆ

    ภาพถ่ายดาวเทียมไต้ฝุ่นกระท้อน (ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน CWA)

    2. เคยใช้บริการหรือยัง? ยูไบค์ รถจักรยานสาธารณะแสนสะดวกของไต้หวัน ให้บริการแล้วร่วม 900 ล้านคน/ครั้ง พัฒนามาเป็นยูไบค์ 2.0 และ 2.0E มีแบตเสริมทุ่นแรง

              เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล เพื่อลดการใช้พลังงานลงและหันมารักษ์โลกมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า วันคาร์ฟรีเดย์ "Car Free Day" แปลตรง ๆ คือวันปลอดรถ ชาวไต้หวันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ขานรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการเดินไปทำงาน เดินไปโรงเรียน หรือถ้าจุดหมายปลายทางอยู่ไกลก็จะขี่ยูไบค์ (YouBike เรียกย่อเป็น UBike) จักรยานสาธารณะที่มีโลโก้เป็นรอยยิ้ม ทำให้ยอดใช้บริการยูไบค์เฉพาะในกรุงไทเปเพียงวันเดียว คือเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน ก่อนถึงวันคาร์ฟรีเดย์ พุ่งสูงถึง 270,000 คน/ครั้ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปกติที่มีคนใช้บริการวันละประมาณ 160,000 คน/ครั้ง จะเห็นได้ว่า จักรยานสาธารณะกลายเป็นยานพาหนะและเครื่องออกกำลังกายที่สำคัญไปแล้ว ไม่เฉพาะที่ไทเป หากแต่มีแพร่หลายทั่วไต้หวัน

    YouBike รถจักรยานสาธารณะกลายเป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมในไต้หวัน ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง รักษ์โลกและได้ออกกำลังกายไปด้วย (ภาพจาก taichung.gov.tw)

              เพื่อลดความแออัดทางจราจร ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและหันมาอนุรักษ์โลก ขณะเดียวกันก็เป็นการออกกำลังกายเสริมสุขภาพของประชาชนให้แข็งแกร่งมากขึ้น กรุงไทเปส่งเสริมให้บริษัทเอกชนอย่าง Giant Group ยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตจักรยานระดับแนวหน้าของโลกสัญชาติไต้หวัน ตั้งบริษัทให้บริการรถจักรยานสาธารณะเป็นการเฉพาะ ตั้งแต่ 6 ส.ค. 2558 เปิดให้บริการรถจักรยานสาธารณะยูไบค์ในกรุงไทเป เนื่องจากสมัครง่าย จ่ายค่าใช้บริการโดยหักเงินจากอีซี่การ์ด และขี่ฟรีใน 30 นาที่แรก ทำให้ประหยัดค่าเดินทาง และคืนรถในที่จอดอื่นได้ ไม่ต้องขี่มาคืนที่เดิม มีระบบการดูแลและซ่อมบำรุงที่รวดเร็ว ยูไบค์จุดไหนหมดมีการเติมทันที ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก จึงไม่แปลกที่คนไทเป จะออกกำลังกายและมีอายุยืนมากกว่าเมืองอื่น ๆ ในไต้หวัน

    YouBike สมัครง่าย จ่ายค่าใช้บริการโดยหักเงินจากอีซี่การ์ด ขี่ฟรีใน 30 นาที่แรก ทำให้ประหยัดค่าเดินทาง และคืนรถในที่จอดอื่นได้ ไม่ต้องขี่มาคืนที่เดิม มีจุดบริการเยอะและมีระบบการดูแลและซ่อมบำรุงที่รวดเร็ว (ภาพจาก bnext.com.tw)

              จากความสำเร็จในกรุงไทเป ก็มีการขยายบริการไปยังเมืองอื่น ๆ มากขึ้น เริ่มจากนครนิวไทเป นครเถาหยวน ซินจู๋ เหมียวลี่ ไทจง เจียอี้ ไถหนาน เกาสงและผิงตง นอกจากไต้หวันแล้ว ยังมีบริการข้ามไปถึงเมืองผู่เถียนและเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยนในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ขณะเดียวกันมีการปรับปรุงระบบให้บริการและเพิ่มจุดจอดรถให้มากขึ้น ทำให้ทั่วไต้หวันมีจุดบริการใช้รถจักรยานยูไบค์ประมาณ 8,000 จุด กรุงไทเปมีมากสุด 1,458 จุด ตามด้วยนครไทจง 1,394 จุด เกาสง 1,375 จุด นครนิวไทเป 1,352 จุด บริการรถจักรยานสาธารณะยูไบค์ครอบคลุมทั่วเกาะไต้หวัน ยกเว้นเมืองจางฮั่วและหยุนหลิน 2 เมืองที่ใช้ระบบอื่น ยอดใช้บริการสูงถึง 879.65 ล้านคน/ครั้ง มีผู้สมัครลงทะเบียนใช้บริการ 14.12 ล้านคน หักคนสูงวัยและเด็กแล้ว กล่าวได้ว่า คนไต้หวันสมัครเป็นสมาชิกใช้บริการยูไบค์เกือบหมด และเฉพาะที่กรุงไทเปมีการใช้บริการสูงถึง 333.8 ล้านคน/ครั้ง

    นอกจากบริการทั่วไต้หวันแล้ว ยังให้บริการข้ามไปถึงเมืองผู่เถียนและเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยนในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย (ภาพจาก fetnet.net)

              ยูไบค์ นอกจากขยายบริการมากขึ้นแล้ว ยังมีการพัฒนาระบบรถจักรยานมาเป็นยูไบค์ 2.0 ส่วนยูไบค์รุ่นแรก ๆ หรือยูไบค์ 1.0 หยุดให้บริการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2565 นอกจากนั้น ยังมีจักรยานสาธารณะแบบมีแบตเตอรีเสริม หรือรุ่น 2.0E เมื่อปั่นจะมีการชาร์จแบตไปในตัว ทุ่นแรงในการปั่นไปได้มาก โดยเฉพาะขี่ขึ้นทางลาดชัน ไม่ต้องปั่นจนออกเหงื่อก็สามารถขี่ได้อย่างสบาย ในสภาพที่แบตเต็ม 100% ขี่ได้ไกลถึง 80 กม. เลยทีเดียว

    ยูไบค์ มีการพัฒนาระบบรถจักรยานมาเป็นยูไบค์ 2.0 (ซ้ายมือ) และแบบมีแบตเตอรีเสริม หรือรุ่น 2.0E (ขวามือ) เมื่อปั่นจะมีการชาร์จแบตไปในตัว ทุ่นแรงในการปั่นไปได้มาก (ภาพจาก taiwanexcellence.org.tw)

              ส่วนค่าใช้บริการนั้น ยูไบค์ 2.0  ภายใน 4 ชั่วโมง ทุก 30 นาที 10 เหรียญ ชั่วโมงที่ 4-8 ทุก 30 นาที 20 เหรียญ เลย 8 ชั่วโมงไปแล้ว ทุก 30 นาที 40 เหรียญ หากไม่ถึง 30 นาทีจะคิดราคาครบ 30 นาที ส่วนยูไบค์รุ่น 2.0E 2 ชั่วโมงแรก ทุก 30 นาที 20 เหรียญ ส่วนที่เกินจาก 2 ชั่วโมงคิดค่าบริการทุก 30 นาที 40 เหรียญ และแต่ละเมืองจะมีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป โดยมีส่วนลด 10-30 เหรียญใน 30 นาทีแรก อย่างกรุงไทเป อุดหนุนให้ขี่ฟรีใน 30 นาทีแรก บางเมืองก็ลดให้เฉพาะคนสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปและมีบัตรผู้สูงวัยซึ่งจะมีบัตรอีซี่การ์ดอยู่ในตัว

    นักเรียนมัธยมปลายในเกาสงหันมาใช้จักรยานสาธารณะมากขึ้น ช่วยประหยัดค่ารถและได้ออกกำลังกายไปในตัว (ภาพจาก udn.com)

              ผู้ใช้บริการไม่ต้องกังวลในเรื่องเกิดอุบัติเหตุ เพราะยูไบค์มีประกันภัยภาคบังคับ ตอนสมัครเป็นสมาชิก จะให้เอาประกันอัตโนมัติโดยไม่ต้องเสียเบี้ยประกัน หากเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าล้มเอง ถูกชนหรือไปชนคนอื่นเข้า จะได้รับการคุ้มครองจากประกันภัยสูงสุด 2 ล้านเหรียญไต้หวัน

    ขี่ยูไบค์ไปต่อรถไฟรางเบากลายเป็นยานพาหนะสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวเกาสงไปแล้ว (ภาพจาก cw.com.tw)

    3. ตะลึง! คนไต้หวันถูกมิจฉาชีพหลอกลงทุนหุ้นและหลอกรักออนไลน์ สูญเงินเฉลี่ยวันละ 300 ล้านเหรียญไต้หวัน

              สำนักงานตำรวจ กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมาว่า ช่วงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 24 กันยายน 2567 หรือระยะเวลาเพียง 26 วัน ได้รับแจ้งความจากประชาชนว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงต้มตุ๋นวันละ 1-5 ร้อยล้านเหรียญไต้หวัน คิดเป็นมูลค่ารวม 13,700 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือเฉลี่ยวันละ 300 ล้านเหรียญไต้หวัน ในจำนวนนี้พบว่า ร้อยละ 70-80 เป็นการหลอกลงทุนซื้อหุ้นปลอม ที่เหลือเป็นการหลอกให้รักแล้วลวงเงิน

    ตำรวจไต้หวันกวาดล้างและจับกุมแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงต้มตุ๋นไม่ขาดระยะ แต่สถานการณ์ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ภาพจาก (news.ltn.com.tw)

              สำนักงานตำรวจเผยว่า ในระยะนี้กลลวงของมิจฉาชีพที่พบบ่อยที่สุดคือ ชวนให้เข้ากลุ่มไลน์ เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อ้างว่ามีผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงช่วยแนะนำเรื่องการลงทุนซื้อหุ้น หรือซื้อพันธบัตร ปรากฏว่าคนสนใจเข้าร่วม ซึ่งพบว่ามักเป็นคนในวัยเกษียณที่มีเงินเก็บและอยากลงทุนซื้อหุ้นหรือซื้อพันธบัตรแต่สุดท้ายถูกหลอก

    ตำรวจไต้หวันกำลังพยายามห้ามปรามหญิงวัยเกษียณที่ถูกมิจฉาชีพหลอกให้ไปโอนเงินให้ (ภาพจาก fingermedia.tw)

              ส่วนกลลวงที่พบบ่อยรองลงมาคือหลอกให้รักแล้วลวงเงินหรือหลอกรักออนไลน์ เมื่อตำรวจตรวจสอบจะพบเรื่องราวในรูปแบบเดียวกันเกือบทั้งหมด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักเป็นผู้หญิง มีตั้งแต่วัยสาวไปถึงวัยเกษียณ มิจฉาชีพมักหลอกว่าเป็นชาวตะวันตก ใช้รูปโปรไฟล์หน้าตาหล่อเหลา มีอาชีพแพทย์หรือเป็นนายทหารระดับสูง ถูกส่งไปยังสมรภูมิรบที่แอฟริกาหรือที่ตะวันออกกลาง ต้องการความช่วยเหลือให้ส่งเงินไปให้หรือให้ช่วยส่งค่าตั๋วเครื่องบินไปให้ จะได้เดินทางมาพบกันที่ไต้หวัน กว่าจะรู้ว่าถูกหลอกก็หมดเงินไปหลายล้าน

    กลลวงที่พบบ่อยที่สุดคือหลอกให้ลงทุน รองลงมาคือหลอกให้รักแล้วลวงเงิน (ภาพจาก lovverse.com.tw)

  • 1. อุตุฯ เตือน พายุดีเปรสชันทำทั่วไต้หวันฝนตกหนัก ค่ำอาทิตย์นี้อุณหภูมิลดเหลือ 24-26°c ต่ำสุดในรอบสัปดาห์ เตือนพายุไต้ฝุ่นก่อตัวชุกมากจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน

              เทศกาลไหว้พระจันทร์ผ่านพ้นไปแล้ว ปีนี้แม้จะหยุดเพียงวันเดียว แต่บรรยากาศของวันไหว้พระจันทร์ยังคงเข้มข้นอบอวลเหมือนเดิม หลังจากเทศกาลนี้ผ่านไปแล้ว อากาศเริ่มเย็นลงอย่างรู้สึกได้

              กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยฝนตกหนักหลายเมือง ทั้งในภาคเหนือ กลางและใต้ จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน ทำให้อากาศแปรปรวน สัปดาห์หน้าพื้นที่ภาคใต้ฝนตกเบาบางลง แต่พื้นที่อื่น ๆ ยังต้องระวังฝนตกหนักถึงหนักมากต่อไปจนถึงวันอังคารหน้า (24 ก.ย. 67)

              และที่ต้องย้ำเตือน ช่วงเปลี่ยนฤดูร่างกายไม่สบายได้ง่าย ขอให้ระมัดระวังและดูแลสุขภาพ

    2. ชาวจงลี่นับหมื่นปิดถนนย่างบาร์บีคิว แม้ปีนี้วันไหว้พระจันทร์หยุดเพียงวันเดียว แต่บรรยากาศยังคงคึกคักไม้แพ้ปีก่อน ๆ ในงานมีตรวจสุขภาพฟรีด้วย

              เมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันไหว้พระจันทร์หรือวันจงชิวเจี๋ย (中秋節) ตามธรรมเนียมคนไต้หวันจะต้องกลับบ้านเกิดไปร่วมรับประทานอาหาร กินขนมและกินส้มโอร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และที่ขาดไม่ได้คือ จะย่างบาร์บีคิวทานพร้อมกับชมจันทร์ไปด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสสังสรรค์กันภายในครอบครัวหรือในหมู่ญาติมิตร ทำให้การปิ้งย่างบาร์บีคิวกลายเป็นกิจกรรมระดับประเทศไปแล้ว นอกจากย่างบาร์บีคิวในครอบครัว ในตรอก ซอยเดียวกัน ทุกเมืองยังมีการจัดสถานที่ให้ประชาชนย่างบาร์บีคิวหมู่ด้วย

    ชาวจงลี่นับหมื่นปิดถนนย่างบาร์บีคิติดต่อกันเป็นปีที่ 22 แล้ว (ภาพจาก FB Neili Dahsiaoshi)

              อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการตื่นตัวในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการย่างบาร์บีคิวมักจะก่อให้เกิดควัน เป็นการสร้างมลพิษในอากาศ หลายปีมานี้ กระแสความนิยมในการย่างบาร์บีคิวลดลง โดยเฉพาะเทศบาลเมืองต่าง ๆ เลิกสนับสนุนให้มีการย่างบาร์บีคิวรวมกลุ่ม กระนั้นก็ตาม การย่างบาร์บีคิว ยังคงเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่สำคัญของชาวไต้หวัน ใกล้ถึงวันไหว้พระจันทร์ อาหาร ซอสเครื่องปรุงรวมถึงเตาและอุปกรณ์ปิ้งย่างบาร์บีคิว จะขายดีเป็นพิเศษ ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน

    ชาวจงลี่นับหมื่นปิดถนนย่างบาร์บีคิติดต่อกันเป็นปีที่ 22 แล้ว (ภาพจาก FB Neili Dahsiaoshi)

              แม้หลายเมืองจะเลิกสนับสนุนย่างบาร์บีคิวหมู่ แต่ที่ยังยืนหยัดจัดกิจกรรมนี้มาเป็นปีที่ 22 แล้ว ได้แก่เขตจงลี่ในนครเถาหยวน ยังมีการปิดถนนจัดกิจกรรมย่างบาร์บีคิวหมู่นับหมื่นคนเหมือนเดิม แม้ปีนี้จะมีวันหยุดเพียงวันเดียว ทำให้คนมาร่วมงานลดลงเล็กน้อย แต่บรรยากาศในงานยังคงคึกคักไม้แพ้ปีก่อน ๆ สำหรับสถานที่จัดกิจกรรม คือถนนข้างย่านศูนย์การค้าโซโก้ ห่างจากสถานีรถไฟจงลี่ประมาณ 1 กิโลเมตร ในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์และมีโรงพยาบาลไปตรวจสุขภาพให้ประชาชนที่ไปร่วมงานฟรีด้วย

    ชาวจงลี่นับหมื่นปิดถนนย่างบาร์บีคิติดต่อกันเป็นปีที่ 22 แล้ว (ภาพจาก udn.com)

              ท่านอาจแปลกใจ ทำไมคนไต้หวันถึงมีประเพณีนี้ และกระแสความนิยมย่างเนื้อหรือย่างบาร์บีคิวทานกันในคืนวันไหว้พระจันทร์เริ่มขึ้นเมื่อไหร่และมีที่มาอย่างไร? เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 หรือเมื่อ 38 ปีที่แล้ว บริษัทผลิตซีอิ๊ว ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสของไต้หวันหลายแบรนด์ ต้องการขายซอสที่ใช้สำหรับการปิ้งย่างเนื้อ ได้ทำภาพยนตร์โฆษณาออกมามากมาย  ในจำนวนนี้มีโฆษณาของบริษัท ว่านเจียเซียง (萬家香) ใช้สโลแกนสั้น ๆ ติดปากจำง่ายและเข้ากับสำนวนโบราณว่า “一家烤肉萬家香” แปลว่า ย่างเนื้อบ้านเดียว หอมฟุ้งไปทั่วหมื่นครัวเรือน หรือถ้าจะแปลเป็นแบบชาวบ้านก็คือ ย่างเนื้อบ้านเดียว หอมฟุ้งไปทั้งตำบล โฆษณาชิ้นนี้ ก่อให้เกิดกระแสความนิยมย่างเนื้อหรือย่างบาร์บีคิวในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

    โลโก้ซอสบาร์บาคิวยี่ห้อ ว่านเจียเซียง (萬家香)

    3. เคยกินไหม? คนไต้หวันนิยมซื้อหรือกินอาหารเช้านอกบ้าน ร้านอาหารหนาแน่นมากกว่าร้านสะดวกซื้อ เจ้าของร้านมักเรียกลูกค้า ส้วยเกอ หนุ่มหล่อหรือเหมยหนวี่ สาวสวย

              สังคมไต้หวันแตกต่างไปจากในอดีต ปัจจุบันเป็นครอบครัวเล็ก สามีภรรยาและลูก หรืออยู่คนเดียว หรือแม้จะอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่เนื่องจากต้องทำงาน ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำอาหารเช้ากินเอง ส่วนใหญ่จะซื้อหาจากร้านขายอาหารเช้าในซอยหรือกินในร้านเลย ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเช้าในไต้หวันเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีทั้งร้านแฟรนไชส์สไตล์ตะวันตก สไตล์ไต้หวัน ร้านอาหารมื้อสายที่ควบทั้งมื้อเช้าและมื้อเที่ยง จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐการไต้หวันพบว่า ณ สิ้นปี 2564 เฉพาะร้านอาหารเช้าแฟรนไชส์สไตล์ตะวันตก ทั่วไต้หวันมีการจดทะเบียนสูงถึง 18,919 ร้าน มากกว่าร้านสะดวกซื้อในช่วงเวลาเดียวกันถึง 5,000 ร้าน นี่ยังไม่รวมร้านอาหารเช้าสไตล์ไต้หวันที่มีให้กันทุกซอกซอย ประมาณการว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารเช้าในไต้หวันแต่ละปีสูงกว่า 200,000 ล้านเหรียญเหรียญ

    ร้านอาหารเช้าสไตล์ไต้หวัน (ภาพจาก storycircle571.com)

              นี่เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของร้านอาหารไต้หวัน สะท้อนถึงความนิยมในการซื้อหาหรือกินอาหารมื้อเช้าจากร้านใกล้บ้านของคนไต้หวัน ที่จะเล่าให้ฟังคือเจ้าของ อาจเป็นเถ้าแก่หรือเถ้าแก่เนี้ย มักจะเรียกลูกค้าไม่ว่าจะอายุมากเท่าไหร่ หากลูกค้าเป็นผู้ชายจะเรียกส้วยเกอ (帥哥) หรือหนุ่มหล่อ พ่อรูปหล่ออะไรทำนองนั้น ถ้าเป็นลูกค้าหญิงไม่ว่าจะสาวหรืออายุมาก จะเรียก เหมยหนวี่ (美女) สาวสวยหรือคนสวย คนท้องถิ่นอาจคุ้นเคยจนไม่ค่อยรู้สึกแปลก แต่สำหรับคนต่างถิ่นที่ฟังภาษาจีนออก อย่างคนจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงหรือชาวจีนโพ้นทะเลจากประเทศต่าง ๆ จะรู้สึกดีมากเลยที่มีคนเรียกตนว่าส้วยเกอหรือหนุ่มมหล่อ และเหมยหนวี่หรือคนสวย ถึงขั้นติดใจมาซื้อทุกวัน

    อาหารเช้าสไตล์ไต้หวัน (ภาพจาก travel.taipei)

              ช่วงนี้มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่รายหนึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประสบการณ์เยือนไต้หวันของตน ปรากฏว่า มีคนที่เคยมาเที่ยวไต้หวันมาคอมเมนต์เห็นด้วยมากมาย ข้อความของเขาเริ่มต้นว่า ถ้าเทียบกับประเทศหรือพื้นที่อื่นแล้ว ความงดเงามตระการตาของภูเขา แม่น้ำและทิวทัศน์สู้จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้ ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่และหนาแน่นสู้ฮ่องกงไม่ได้ ความประณีตสวยงามของบ้านเรือนสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ความทันสมัยและแฟชั่นสู้เกาหลีไม่ได้ คนมาเยือนไต้หวันครั้งแรกจะรู้สึกว่าไต้หวันค่อนข้างเก่า ไม่ได้เป็นดินแดนเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างที่คิดมาก่อน บ้านเรือนเก่าและไม่ค่อยเป็นระเบียบ การจราจรก็ไม่ได้ดีเลิศ แถมยังเป็นอันตรายกับคนเดินเท้า แต่ไต้หวันมีมนต์เสน่ห์แรงอย่างหนึ่งที่อธิบายไม่ถูก คนไม่เคยไปจะครุ่นคิดว่าไต้หวันเป็นอย่างไร พอไปถึงรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย แต่อยู่ไปไม่กี่วันจะรู้สึกชอบ และกลับประเทศแล้วจะคิดถึงและอยากจะไปเยือนอีก

    ตั้นปิ่ง (蛋餅) หรือโรตีใส่ไข่ 1 ในอาหารเช้ายอดนิยมของคนไต้หวัน

              เขาบอกว่า มนต์เสน่ห์แรงกล้าของไต้หวัน จะค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในความรู้สึกของคนที่มาเยือน เมื่อหลงทางถามคนไต้หวัน จะได้รับคำตอบที่อบอุ่นและเต็มใจช่วยทั้งที่เป็นคนแปลกหน้า บางคนนอกจากอธิบายวิธีเดินและชี้ทางให้แล้ว ยังพาเดินไปและบอกลาด้วยการก้มหัวเล็กน้อย แสดงออกถึงความเป็นมิตร ตามตรอกซอกซอยในเมืองจะมีร้านอาหารเต็มไปหมด กลิ่นหอมของอาหารโชยมาแตะจมูก ผู้คนไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านหรือลูกค้าดูเป็นกันเองมาก ตามป้ายรถเมล์หรือร้านค้า มีผู้คนต่อแถวไม่แย่งกันขึ้นรถหรือเข้าไปในร้าน ตามศาลเจ้าและวัดวาอารามเต็มไปด้วยผู้มีจิตศรัทธา เวลาขึ้นบันไดเลื่อนจะชิดขวา เปิดช่องทางให้คนเร่งรีบเดิน ไม่ใช่เป็นกฎหมายแต่เป็นธรรมเนียมที่น่ารักมาก ดูแล้วประทับใจ และที่ทำให้ตนลืมไม่ได้ก็คือร้านขายอาหารเช้าของไต้หวัน คนขายจะเรียกลูกค้าว่า ส้วยเกอหรือพ่อรูปหล่อ เหมยหนวี่หรือคนสวย ทำให้ลูกค้าอย่างตนรู้สึกดีมาก ๆ เพราะนี่คงเป็นที่เดียวในโลกที่เรียกตนเป็นหนุ่มหล่อ ไม่ทราบว่าเพื่อนผู้ฟังที่อยู่ในไต้หวันหรือมาเที่ยว เคยไปซื้ออาหารเช้าที่ร้านและถูกเรียกเป็นส้วยเกอหรือเหมยหนวี่หรือเปล่า?

    ขนมแป้งอบโรยงา (เซาปิ่ง) ปาท่องโก๋ (หยิวเถียว) 1 ในอาหารเช้ายอดนิยมของคนไต้หวัน (ภาพจาก storm.mg)

    4. วิกฤติเด็กเกิดน้อย! รร. มัธยมแห่งหนึ่งในกรุงไทเปไม่มีเด็กนักเรียนใหม่สมัครเรียนเลยแม้แต่คนเดียว ทั้ง รร. เหลือนักเรียน 200 คนเศษ

              กันยายนเป็นเดือนแห่งการเปิดเทอมแรกของปีการศึกษาใหม่ในไต้หวัน แต่ปรากฏว่าในปีนี้ มีโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงไทเป ไม่มีนักเรียนใหม่สมัครเข้ามาเรียนเลยแม้แต่คนเดียวและในปัจจุบันทั้งโรงเรียนมีนักเรียนเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าโรงเรียนแห่งนี้อาจต้องปิดตัวลง

    ผลจากภาวะเด็กเกิดน้อยทำให้ปีการศึกษา 2567 ซึ่งเพิ่งเปิดเรียน ก.ย. นี้ โรงเรียนมัธยมศึกษาต้าเฉิงไม่มีนักเรียนใหม่เลยแม้แต่คนเดียว (ภาพจาก udn.com)

              ผลจากภาวะเด็กเกิดน้อยและประชากรวัยชราเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กรุงไทเปเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ส่งผลให้เด็กนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาลดน้อยลง ในปีการศึกษา 2567 ซึ่งเพิ่งเปิดการเรียนการสอนเทอมแรกเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาต้าเฉิง (大誠高中) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเอกชนในกรุงไทเป ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลาร่วม 60 ปี  ไม่มีนักเรียนใหม่เลยแม้แต่คนเดียว ในขณะที่นักเรียนเก่าเหลืออยู่เพียง 200 กว่าคนเท่านั้น

    นักวิชาการคาดปีหน้าเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายจะลดลงจากปีนี้ อีกเกือบ 20,000 คน  (ภาพจาก flipedu.parenting.com.tw)

              นักวิชาการหลายคนออกมาวิเคราะห์ว่า ปีนี้ไต้หวันมีนักเรียนมัธยมปลายต่ำกว่า 200,000 คนเป็นครั้งแรก ในปีหน้านี้จะเริ่มปรากฏสภาพการณ์เด็กมัธยมปลายลดน้อยลงอย่างชัดเจน โดยจะลดเหลือประมาณ 181,000 คน เนื่องจากปีหน้าจะเป็นปีที่เด็กปีนักษัตรขาลหรือปีเสือ อันเป็นปีที่คนไต้หวันไม่นิยมมีลูกเพราะเชื่อว่านักษัตรนี้ไม่เป็นมงคล จะเข้าศึกษาในระดับมัธยมปลาย คาดว่าในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของเอกชนทั้งสายสามัญและสายอาชีพกว่า 60 แห่งปิดตัวลง

    กรุงไทเปและอีก 6 เมือง จากทั้งหมด 22 เมืองของไต้หวัน เข้าสู่การเป็นสังคมชราภาพระดับสุดยอดหรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 20% (ภาพจาก CNA)

              นอกจากเด็กนักเรียนลดน้อยลงแล้ว กรุงไทเปยังเผชิญปัญหาประชากรชราภาพและยอดประชากรยังลดลงเรื่อยๆ จากข้อมูลของเทศบาลกรุงไทเปพบว่า กรุงไทเปเคยมีประชากรมากที่สุดคือ 2,719,659 คน เมื่อปี 2533 แต่ได้เริ่มปรากฏสภาพการณ์ประชากรลดลง ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดยในปี 2565 ลดลงต่ำกว่า 2.5 ล้านคนเป็นครั้งแรก เหลืออยู่เพียง 2.4 ล้านคน หลังจากนั้นในปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 2,511,886 คน แต่ในปี 2567 เริ่มมีแนวโน้มลดลงอีกครั้ง

    กรุงไทเปมีพื้นที่เล็กกว่ากรุงเทพมหานคร 5.7  เท่า ปีที่แล้วมีประชากร 2.51 ล้านคน โดยประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง  22.67 % (ภาพจาก ctee.com.tw)

              ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ ประชากรสูงวัยในไทเปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เมืองหลวงของไต้หวันเข้าสู่การเป็นสังคมชราภาพระดับสุดยอด (ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 20%) พร้อมกับอีก 6 เมืองจากทั้งหมด 22 เมืองของไต้หวันได้แก่ เจียอี้ หนานโถว หยุนหลิน ผิงตง ฮัวเหลียนและจีหลง หรืออาจกล่าวได้ว่า 1 ใน 3 ของเมืองในไต้หวันเข้าสู่การเป็นสังคมชราภาพระดับสุดยอดนั่นเอง

  • 1. อุตุฯ เตือน! ทั่วไต้หวันมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงบ่ายและค่ำ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน จับตาสัปดาห์หน้า ไต้ฝุ่นอาจก่อตัวและเข้าใกล้ไต้หวัน 2 ลูกพร้อมกัน

              วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจีนเป็นวันไหว้พระจันทร์ 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของชาวจีน ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 17 กันยายน เป็นวันหยุดงาน สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้โอกาสที่จะชมจันทร์ในคืนวันไหว้พระจันทร์ขึ้นอยู่กับพื้นที่และดวง

    สัปดาห์หน้า ทั่วไต้หวันยังคงร้อนอบอ้าว ช่วงบ่ายและค่ำ มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ (ภาพจาก udn.com)

              กรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวันแถลงว่า สภาพอากาศในสัปดาห์หน้าเหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านมา กลางวันอากาศร้อนและมักจะมีฝนฟ้าคะนองในช่วงบ่ายและเย็น เตือนให้ระวังฝนตกหนักน้ำท่วมขังและดินโคลนพื้นที่ภูเขาถล่ม และมีแนวโน้มจะมีไต้ฝุ่นก่อตัวพร้อมกันถึง 2 ลูก ต้องจับตาทิศทางการเคลื่อนตัว มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าใกล้เกาะไต้หวัน

    สภาพอากาศทั่วไต้หวันในสัปดาห์หน้า ยังคงร้อนอบอ้าว ช่วงบ่ายและค่ำมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ (ภาพจาก chinatimes.com)

    2. คนไต้หวันแห่เข้าแถวข้ามคืน รอซื้อสุราเกาเหลียงมังกรดำเกล็ดทองคำ-รุ่นปีมังกร มีส่วนผสมเกล็ดทองคำที่กินได้ ขวดละ11,800 เหรียญ

              โรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมิน เปิดจำหน่ายสุราเกาเหลียงรุ่นพิเศษมีประชาชนจำนวนมากแห่ไปเข้าคิวรอซื้อที่หน้าร้านจำหน่ายในเขตภาคเหนือ กลางและใต้ อย่างที่ร้านจำหน่ายของโรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมินสาขาไทเป มีคนไปเข้าแถวรอซื้อมากกว่า 200 คน ส่วนใหญ่มาจองคิวกันตั้งแต่เมื่อ 2 วันก่อน

    สุราเกาเหลียงมังกรดำเกล็ดทองคำ-รุ่นปีมังกร ขวดละ11,800 เหรียญ (ภาพจากโรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมิน)

    สุราเกาเหลียงมังกรดำเกล็ดทองคำ-รุ่นปีมังกร ขวดละ11,800 เหรียญ (ภาพจากโรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมิน)

              สุราเกาเหลียงรุ่นพิเศษนี้มีความพิเศษยังไง ทำไมคนสนใจซื้อกันมากขนาดนี้  ไปหาคำตอบกัน สุราเกาเหลียงมังกรดำเกล็ดทองคำ-รุ่นปีมังกร ผลิตโดยโรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมินเพียงปีละครั้งระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 46 ดีกรี ผสมทองคำเปลวบริสุทธิ์ 99.99 ที่กินได้ บรรจุในขวดแก้วลายมังกรทองหรูหรา สอดรับกับปีนักษัตรมังกร ปริมาตรขวดละ 3.6 ลิตร จำนวนจำกัดเพียง 10,000 ขวด เปิดจำหน่ายเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ในราคาขวดละ11,800 เหรียญ ปรากฏว่ามีคนแห่ไปเข้าแถวจองคิวซื้อตั้งแต่ก่อนเปิดจำหน่าย 2 วัน 2 คืน

              บรรดาคอสุราเกาเหลียงเปิดเผยว่า สุราที่ผลิตเป็นพิเศษแบบนี้คนซื้อไม่ได้ซื้อมาดื่มเอง แต่ซื้อเพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญให้แก่ญาติมิตรวัยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ส่วนหนึ่งนิยมเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรเพราะสุราเกาเหลียงยิ่งเก็บไว้นาน รสชาติยิ่งนุ่มลื่นคอ ราคายิ่งแพง

    คนไต้หวันแห่เข้าแถวจองคิวรอซื้อ ส่วนใหญ่มาจองคิวกันตั้งแต่ 2 วันก่อนเปิดขาย (ภาพจาก FTV)

    คนไต้หวันแห่เข้าแถวจองคิวรอซื้อกันตั้งแต่ 2 วันก่อนเปิดขาย หลายคนเอาเต็นท์มากางนอนค้างคืน (ภาพจาก SETN)

              สำหรับสุราเกาเหลียงจินเหมิน หรือภาษาจีนคือ 金門高粱酒 (อ่านว่า จินเหมินเกาเหลียงจิ่ว) เป็นสุราขาวที่ทำจากข้าวฟ่างคุณภาพดี โดยโรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมิน (Kinmen Kaoliang Liquor Inc.) ตั้งอยู่ที่เกาะจินเหมิน ซึ่งเป็นเกาะแนวหน้าใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อตั้งโดยพลเอกหูเหลียน (胡璉上將) ผู้บัญชาการกองบัญชาการกองกำลังป้องกันจินเหมิน เมื่อปีพ.ศ. 2495 หรือเมื่อ 72 ปีที่แล้ว เป็นโรงงานในสังกัดของกระทรวงกลาโหมและเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการในปีถัดมา ในช่วงแรกผลิตเพื่อป้อนให้แก่กองบัญชาการกองกำลังป้องกันจินเหมินและกองทัพไต้หวันเท่านั้น

    โรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมิน ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกรรมวิธีการผลิตด้วย (ภาพจากกองการท่องเที่ยวจินเหมิน)

              จนกระทั่งในปี 2520 จึงเริ่มผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้แก่สุราเกาเหลียงจินเหมินให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล ปี 2535 มีการยกเลิกสถานะการเป็นเขตทหารของเกาะจินเหมิน เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวได้ โรงงานสุราเกาเหลียงจินเหมินได้ถูกโอนสังกัดจากกระทรวงกลาโหมมาเป็นของเทศบาลเมืองจินเหมินแทน

    3. คุณมองอย่างไร? ต่างชาติงงคนไต้หวันชอบพูดติดปาก ปู้ห่าวอี้ซือ หรือขอโทษ และเซี่ยเซี่ย ขอบคุณ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งไปแล้ว

              ชาวต่างชาติที่มาทำงานหรือมาเที่ยวไต้หวันและมีโอกาสได้สัมผัสกับคนไต้หวัน คงคุ้นหูกับวลียอดฮิตของคนไต้หวันที่มักจะพูดติดปากเสมอ ไม่ว่าจะพูดกับคนรู้จักหรือคนแปลกหน้า ได้แก่ ปู้ห่าวอี้ซือ (不好意思) แปลว่าขออภัย ขอโทษ และเซี่ยเซี่ย (謝謝) หลายคนบอกว่า แรก ๆ รู้สึกว่า คนไต้หวันขี้เกรงใจคนและมีมารยาทมาก แต่อยู่ไปสักพัก จะติดเหมือนกับคนไต้หวัน

    คนไต้หวันชอบพูดติดปาก ปู้ห่าวอี้ซือ หรือขอโทษ และเซี่ยเซี่ย หรือขอบคุณ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งไปแล้ว

              คำว่า ปู้ห่าวอี้ซือ แปลตรง ๆ คือรู้สึกอาย รู้สึกผิด ซึ่งมีความหมายในทำนองขอโทษ ขออภัย แต่ไม่ตรงเสียเลยทีเดียว วลีนี้ไปที่ไหนก็จะได้ยินคำนี้บ่อยๆ ทำให้คนต่างชาติมีความรู้สึกว่า คนไต้หวันช่างเป็นคนที่ขี้เกรงใจและมีมารยาทมาก แต่จริง ๆ แล้ว คำนี้นอกจากแสดงออกถึงความเกรงใจและมีมารยาทแล้ว ยังเป็นสำนวนยอดฮิตที่มักจะพูดติดปากของคนไต้หวัน หมายถึงว่า บางทีไม่ควรถึงขั้นต้องขอโทษ แต่ก็จะได้ยินคำนี้เช่นกัน บางคนพูดหรือเล่าเรื่องอะไรก็ตาม จะเริ่มต้นด้วยคำว่าปู้ห่าวอี้ซือก่อน

    ผู้โดยสารต่อแถวรอขึ้นรถไฟฟ้าไทเป (ettoday.net)

              มีชาวสิงคโปร์และชาวจีนแผ่นดินใหญ่โพสต์ประสบการณ์ของตนที่อาศัยอยู่ในไต้หวันลงสื่อโซเชียลและมีคนไปคอมเมนต์กันมากว่า มาไต้หวันแรก ๆ รู้สึกงงว่า ทำไมคนไต้หวันถึงชอบพูดวลี ปู้ห่าวอี้ซือ และเซี่ยเซี่ย ติดปากเสมอ อย่างเวลาไปซื้อเครื่องดื่มมือเขย่าที่ร้าน ลูกค้าที่สั่งซื้อจะพูดก่อนเลยว่า ปู้ห่าวอี้ซือ ขอโทษครับ แล้วจึงตามด้วย ซื้อชานมไข่มุก 1 แก้ว และจะตบท้ายด้วยคำว่า เซี่ยเซี่ยหรือขอบคุณ หรือปู้ห่าวอี้ซือ ขอเป็นหวานน้อยน้ำแข็งน้อย ตามด้วยเซี่ยเซี่ย หรือขณะที่ยืนบันไดเลื่อน หากเราไม่ยืนด้านขวามือ จะมีคนบอกว่า ปู้ห่าวอี้ซือ ขอทางหน่อย ตามด้วยเซี่ยเซี่ย คนโพสต์ข้อความบอกว่า ในสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ยังพอมีเหตุผลที่จะพูดปู้ห่าวอี้ซือและเซี่ยเซี่ย

    คนไต้หวันบันไดเลื่อนมักจะยืนด้านขวา เพื่อเปิดทางให้คนเร่งรีบเดินช่องด้านซ้าย หากเราขวางทาง จะมีคนบอกว่า ปู้ห่าวอี้ซือ ขอทางหน่อย ตามด้วยเซี่ยเซี่ย (ภาพจาก LTN)

              แต่ก็งงเหมือนกันในบางครั้งที่ได้ยินวลีเหล่านี้ในสถานการณ์อื่น ๆ เช่น ไปใช้บริการที่ร้านสระผม พนักงานจะถามว่า ปู้ห่าวอี้ซือ น้ำอุ่นพอดีไหม? ปู้ห่าวอี้ซือ เราจะเริ่มสระผมแล้วนะคะ แม้กระทั่งเวลาจะบำรุงผม พนักงานจะพูดอย่างนอบน้อมว่า ปู้ฮ่าวอี้ซื้อ กำลังจะทาครีมนวดผมนะคะ ไม่เพียงแค่นั้น ยังเคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมา เริ่มต้นจะบอกว่า ปู้ฮ่าวอี้ซือ ขอรบกวนเวลาคุณหน่อย ด้วยความที่ได้ยินวลีเหล่านี้บ่อย ๆ ไม่นานคนมาจากต่างถิ่นก็จะติดปากเหมือนคนไต้หวันเลย

    บรรยากาศในขบวนรถไฟฟ้าไทเป (ภาพจาก chinatimes.com)

              ข้อความที่โพสต์ในสื่อโซเชียลข้างต้น มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากคอมเมนต์ว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่น่าสนใจ บางคนบอกว่า ปู้ห่าวอี้ซือ ช่างเป็นวลีที่ใช้ง่ายอะไรขนาดนั้น สามารถใช้ได้ในทุกที่ ทุกสถานการณ์ แต่ก็มีคนบอกว่า ใช้ได้ดีในชีวิตประจำวันได้ แต่หากเป็นสถานที่ทำงาน หรือการเจรจาทางการค้า การต่อรองกับคู่ค้า หากเริ่มต้นก็พูดขอโทษ ขออภัย จะทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ฯลฯ

    คำว่า ปู้ห่าวอี้ซือ หรือขออภัย ที่ชาวไต้หวันพูดติดปากเสมอ เป็นวลีที่ใช้ได้ในทุกที่ ทุกสถานการณ์ (ภาพจาก nownews.com)

              ก่อนหน้านี้ BBC ของอังกฤษรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมปู้ห่าวอี้ซือ หรือวัฒนธรรมการขอโทษของไต้หวัน โดยใช้หัวข้อว่า ไต้หวัน เกาะที่ผู้คนพูดคำว่าขอโทษอยู่ตลอดเวลา ในรายงานระบุว่า คำว่าปู้ห่าวอี้ซือ หรือรู้สึกอาย รู้สึกผิด ดูความหมายตรง ๆ แล้ว อาจให้ความรู้สึกในด้านลบ คือผู้พูดทำผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่วลีนี้ สำหรับในไต้หวันแล้ว ใช้ได้กับทุกที่ ทุกสถานการณ์และทุกเวลา ไม่ว่าจะเรียกใช้บริกรในร้านอาหาร ขอโทษเถ้าแก่ หรือจะเป็นช่วงขึ้นลงรถไฟฟ้า รถเมล์ ก็มักจะได้ยินคำนี้บ่อยๆ

    คนไต้หวันมักจะใช้วลี ปู้ห่าวอี้ซือ เพราะเป็นคำพูดติดปากที่มีมารยาท เมื่อจะขัดจังหวะ แจ้งเรื่อง ขอความช่วยเหลือ หรือเริ่มการสนทนากับผู้อื่น มักจะเริ่มต้นด้วยวลีนี้เสมอ (ภาพจาก udn.com)

              รองศาสตราจารย์จางเจียหรู (張嘉如) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กบอกว่า คนไต้หวันมักจะใช้คำว่า ปู้ห่าวอี้ซือ เพราะเป็นคำพูดติดปากที่มีมารยาท เมื่อจะขัดจังหวะ แจ้งเรื่อง ขอความช่วยเหลือ หรือเริ่มการสนทนากับผู้อื่น มักจะเริ่มต้นด้วย ปู้ห่าวอี้ซือเสมอ

    ต่างชาติงงว่า ทำไมคนไต้หวันถึงชอบพูดวลี ปู้ห่าวอี้ซือ และเซี่ยเซี่ย ติดปากเสมอ (ภาพจาก udn.com)

              ในรายงานได้อ้างอิงคำพูดของศาสตราจารย์หลี่ฉินอ้าน (李勤岸) จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ไต้หวันกล่าวว่า เนื่องจากไต้หวันเคยตกอาณานิคมของญี่ปุ่นมาก่อน ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นและได้รับการอบรมบ่มเพาะจากลัทธิขงจื๊อ จนพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมการขอโทษของคนไต้หวันในปัจจุบัน คำพูดนี้ทำให้ชาวต่างชาติมีความรู้สึกว่า คนไต้หวันเป็นผู้ที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยผู้อื่นคิดเสมอและยังพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่มีมารยาทกับคนอื่นด้วย รายงานกล่าวว่า วัฒนธรรมแบบนี้ บางครั้งจะให้ความรู้สึกว่า นอบน้อมเกินไป แต่ก็เป็นความมีมารยาทที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไต้หวัน และวัฒนธรรมปู้ห่าวอี้ซือนี้ จะมีเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น ชาวจีนในเขตพื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ จะไม่ค่อยได้ยินคำนี้

  • 1. ประตูยมโลกปิด สิ้นสุดเดือนผี แต่ยังควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท...

               เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายของเดือนผีหรือวันที่ประตูยมโลกปิด บรรดาภูตผีที่ถูกปล่อยออกมารับเครื่องเซ่นไหว้ในโลกมนุษย์ ต้องกลับไปสู่ยมโลกและถือว่าผ่านพ้นเดือนผี ซึ่งคนไต้หวันถือว่าเป็นเดือนที่ต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นเดือนที่ไม่เป็นมงคล อย่างไรก็ตาม แม้เดือนผีจะสิ้นสุดลงไปแล้ว ยังควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท

    เครื่องเซ่นไหว้ในเดือนผี (ภาพจาก udn.com)

    2. ไต้หวันเผชิญปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน !! ประชากรวัยผู้ใหญ่ 2 คน อ้วน 1 คน เด็ก 3 คน อ้วน 1 คน

              ไต้หวันเผชิญปัญหาประชากรอ้วน ประชากรวัยผู้ใหญ่ 2 คน มี 1 คน เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน ในขณะที่เด็ก 3 คน อ้วน 1 คน สมาคมแพทย์เพื่อการศึกษาโรคอ้วนไต้หวันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองเห็นความสำคัญของปัญหา มิฉะนั้นไต้หวันจะกลายเป็นเกาะแห่งคนอ้วนในอีกไม่ช้า นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆตามมา โดยเฉพาะโรคเบาหวาน

    ไต้หวันเผชิญปัญหาประชากรอ้วน ประชากรวัยผู้ใหญ่ 2 คน มี 1 คน เป็นโรคอ้วน (ภาพจาก CNA)

              จากข้อมูลของกรมส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันระบุว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ที่เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐานมีมากถึงร้อยละ 50.3 และแต่ละปีเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนร้อยละ 4.1 ในขณะที่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่เป็นโรคอ้วนมีมากถึงร้อยละ 30.6  มัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 28.9 และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราส่วนร้อยละ 5 ต่อปี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า รัฐบาลและประชาชนทั่วไปต้องตระหนักถึงปัญหานี้และให้ความสำคัญต่อโรคอ้วนของเด็กในครอบครัวอย่างจริงจังเพราะคนอ้วนเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อรังหลายชนิด

    พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กยุคใหม่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มมากขึ้น (ภาพจาก iqhealth.com.tw)

              สมาคมแพทย์เพื่อการศึกษาโรคอ้วนไต้หวัน (Taiwan Medical Association for the Study of Obesity,TMASO ) เปิดเผยว่า โรคอ้วนทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและอาการต่างๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็งต่างๆ โรคหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ ภาวะมีบุตรยาก ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดข้อ ข้อเสื่อมก่อนวัย โรคผิวหนัง ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวานซึ่งในไต้หวันพบผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 11 ของประชากรทั้งประเทศและเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคอ้วน นอกจากนี้ 8 ใน 10 อันดับสาเหตุการตายของคนไต้หวันล้วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ส่งผลให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรทางการแพทย์เป็นเงินมหาศาล ปีละ 26,400 ล้านเหรียญไต้หวันและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราส่วนของคนอ้วนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

    แพทย์แนะวิธีลดความอ้วนที่ดีที่สุดคือ การควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่กันไป (ภาพจาก LTN)

              โรคอ้วน (Obesity) ในทางการแพทย์หมายถึง ความผิดปกติของไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเกณฑ์ของโรคอ้วนสำหรับผู้ใหญ่จะพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body mass index) คำนวณจาก น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง โดยค่า BMI 23 - 24.90 แสดงถึงน้ำหนักเกิน และค่า BMI 25 ขึ้นไปแสดงถึงโรคอ้วน ในปัจจุบันสำนักงานอาหารและยาไต้หวันอนุญาตแพทย์สั่งจ่ายยาลดความอ้วน 2 ชนิดที่มีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักของผู้ป่วยลงได้โดยมีผลข้างเคียงน้อยมาก ซึ่งหากแพทย์สั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วย ระบบประกันสุขภาพจะรับผิดชอบค่ายา ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ต้องอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยโรคอ้วนลดความอ้วนด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่กันไปจึงจะได้ผลดี

    การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย นอกจากช่วยให้สุขภาพดีแล้ว ยังช่วยรักษารูปร่างให้สมส่วนอีกด้วย (ภาพจาก ETtoday)

              วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day) ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 โดย สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งขึ้นตรงกับองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีความมุ่งหวังที่จะ“หยุดการเพิ่มขึ้น”ของวิกฤตโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568 แต่ดูเหมือนว่า โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายริบหรี่เต็มที เพราะคนที่เป็นโรคอ้วนในทุกประเทศไม่ได้ลดน้อยลงแต่กลับเพิ่มขึ้นทุกปี

    3. หลังโควิด-19 ชาวไต้หวันมีอายุยืนขึ้นเฉลี่ย 80.23 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 7-9 ปี คนไทเปอายุยืนสุด เฉลี่ย 83.32 ปี ไถตงต่ำสุด 76.04 ปี

              ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ฉุดค่าเฉลี่ยอายุขัยของชาวไต้หวันลงอย่างมาก หลังสถานการณ์ผ่อนคลาย อายุขัยโดยเฉลี่ยของชาวไต้หวันกลับมาเพิ่มขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม

              เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยไต้หวันประกาศตารางชีพแบบย่อประจำปี 2566 ปรากฏว่า ชาวไต้หวันมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 80.3 ปี เพศหญิงอายุยืนมากกว่าผู้ชาย เฉลี่ย 83.74 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 76.94 ปี ตัวเลขนี้แม้จะต่ำกว่าสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและสิงคโปร์ แต่สูงกว่าอายุขัยเฉลี่ยของโลกที่สหประชาชาติประกาศเมื่อปี 2563

    ชาวไต้หวันมีอายุยืนขึ้นเฉลี่ย 80.23 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 7-9 ปี

              ตารางชีพแบบย่อประจำปี 2566 ของกระทรวงมหาดไทยพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายไต้หวันอยู่ที่ 76.94 ปี น้อยกว่าผู้ชายญี่ปุ่น แต่มากกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้ชายทั่วโลกถึง 7 ปี ส่วนผู้หญิงมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 83.74 ปี ก็สูงกว่าตัวเลขโดยเฉลี่ยของโลก 9 ปี สำหรับเมืองในไต้หวันที่มีอายุยืนยาวที่สุดได้แก่ กรุงไทเป มีอายุขัยโดยเฉลี่ยสูงถึง 83.32 ปี รองลงมาเป็นนครนิวไทเป ซินจู๋ เถาหยวน ไทจง ไถหนานและเกาสง ดูจากตัวเลขจะเห็นได้ว่า ชาวไต้หวันทางภาคเหนือมีอายุขัยสูงสุด ยิ่งลงไปทางใต้ ตัวเลขอายุจะลดหลั่นลงไป ส่วนเมืองที่ประชากรอายุยืนยาวน้อยสุดในไต้หวัน ได้แก่เมืองไถตง เฉลี่ย 76.04 ปี อายุสั้นกว่าชาวกรุงไทเป 7.28 ปี

    ตารางชีพแบบย่อประจำปี 2566 ของกระทรวงมหาดไทย ไต้หวัน แสดงอายุขัยโดยเฉลี่ยของชาวไต้หวันในเมืองต่าง ๆ (ภาพประกอบจาก CNA)

              สำหรับประเทศที่ประชากรเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ 82.2 ปี ตามด้วยเพศชายสวีเดน 81.6 ปี นอร์เวย์ 81.4 ปี ญี่ปุ่น 81.1 ปีและสิงคโปร์ 80.5 ปี ส่วนประเทศที่เพศหญิงมีอายุขัยโดยเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ญี่ปุ่น 87.1 ปี ตามด้วยฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ 84.8 ปี สเปน 85.7 ปี เกาหลีใต้ 85.6 ปีและสิงคโปร์ 85.2 ปี

              ปัจจัยที่ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น กระทรวงมหาดไทยวิเคราะห์ว่า มาจากความเจริญก้าวหน้าด้านการแพทย์ ผู้คนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและประโยชน์ของอาหารการกิน ออกกำลังกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างในกรุงไทเป มีระบบขนมวลชนที่สะดวกรวดเร็ว ชาวไทเปจำนวนมากไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวก็ไปมาสะดวก ระหว่างขึ้นลงรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง ส่วนใหญ่จะใช้เดินเพราะระยะทางห่างกันไม่ไกล รวมทั้งมีสวนสาธารณะจำนวนมาก มีศูนย์ออกกำลังกายทุกเขตพื้นที่และมีจักรยานสาธารณะราคาถูกและสะดวกสำหรับการเดินทางในระยะสั้น ประกอบกับมีโรงพยาบาลได้มาตรฐานโลกมากมาย การจราจรในตัวเมืองไม่ติดขัด ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำงานช่วงเช้า 09.00  น. ตื่น 07.30-08.00 น. ทานอาหารเช้าแล้วค่อยออกนอกบ้านไปทำงานสบาย ๆ

    ระบบการคมนาคมที่สะดวกสบาย ทำให้ชาวไทเปมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงาน

           อายุยืนเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีสุขภาพแข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดี แม้จะสูงวัยแต่ก็มีความสุข สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน หากอายุยืนแต่ไม่แข็งแรงต้องนอนติดเตียง กลายเป็นภาระและทรมาน จึงแนะนำว่า ควรจะใส่ใจดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและห่างไกลอบายมุข โดยเฉพาะสุราและยาเสพติด