Avsnitt

  • ‘ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ’ อาจเป็นคำกล่าวปลอบใจที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ หลังบ้านเราเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไปไม่นาน ท่ามกลางความสูญเสียมีประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันมากขึ้น นั่นคือเรื่องของ ‘อาคารและบ้านเรือน’ ที่ต่อไปนี้ไม่เพียงแต่ต้องคำนึงเรื่องความสวยงาม แต่ต้องมั่นคงและปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย

    ความจริงแล้วเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปี 1871 ‘ชิคาโก’ มหานครใหญ่แห่งประเทศสหรัฐฯ ได้ประสบกับวิกฤตมหาอัคคีภัยครั้งใหญ่ จนภายหลังเหล่าบรรดาวิศวกรหัวกะทิและกลุ่มสถาปนิกชื่อดัง ตัดสินใจรวมตัวกันเปลี่ยนโฉมเมืองชิคาโกเสียใหม่ ให้พัฒนาก้าวกระโดดสู่เมืองที่อุดมไปด้วยตึกระฟ้าอันมั่นคงและสวยงามในคราเดียวกัน ผ่านเทคนิคสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ‘skeleton construction’ หรือที่เรียกว่าสั้นๆ ว่า ‘chicago skull’ (ชิคาโกสกูล)

    เบื้องหลังการกำเนิดของเมืองชั้นนำอย่างชิคาโก ที่มีภาพตึกระฟ้าอันทันสมัยและสถาปัตกรรมอันสวยงามนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น เราขอชวนมาติดตามฟังไปพร้อมกันได้ในรายการพอร์ดแคสต์ทรัพย์คัลเจอร์ EP.5

  • เคยรู้สึกมั้ยว่าแค่ได้ยินชื่อเมือง ก็เหมือนเรารู้สึกบางอย่างขึ้นมาในใจ
    อย่างนิวยอร์กก็อาจนึกถึงผู้คนที่พลุกพล่าน เดินเร็ว แสงไฟจากตึกระฟ้า
    แต่เมื่อนึกถึงชนบทญี่ปุ่น ภาพของทุ่งนา ทางรถไฟ  และเสียงจักจั่นในฤดูร้อนกลับผุดขึ้นมา

    สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ภาพจำ แต่มันคือ sense of place หรือ “ความรู้สึกของสถานที่” ที่ก่อตัวขึ้นจากทั้งบรรยากาศ กิจกรรม ผู้คน วัฒนธรรม และประสบการณ์ส่วนตัวที่เรามีต่อพื้นที่นั้น 

    ยกตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้นเช่นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่หลายคนน่าจะเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับไปยังบ้านที่เติบโตมา ได้กลับไปใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูงเก่าๆ ที่ไม่ได้เจอนานแล้ว สิ่งนี้คือการเปลี่ยน sense of place  จากเมืองที่รีบร้อนกลับสู่พื้นที่ที่ผูกพัน กลับไปเจอบรรยากาศ สถาปัตยกรรม กลิ่น เสียง แสงที่คุ้นเคยนั่นเอง

    sense of place คืออะไร ทำไมแต่ละเมืองถึงมี sense of place ที่แตกต่างกัน และ sense of place สำคัญกับเมืองยังไง  รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมเล่าให้ฟังแล้วใน Podcast Capital City EP.42 ตอนนี้

  • Saknas det avsnitt?

    Klicka här för att uppdatera flödet manuellt.

  • ถ้ายังจำกันได้ ในยุคสมัยหนึ่ง ‘แก้วเก็บความเย็น’ ถือเป็นของฮอตฮิตที่ใครๆ ก็ต้องมี และจะเท่ยิ่งกว่าถ้าแบรนด์นั้นได้ชื่อว่า YETI ด้วยเก็บความเย็นได้ดีเยี่ยม แถมยังแข็งแรงทนทาน และปลอดภัย จนชื่อนี้กลายเป็นชื่อเรียกแก้วเก็บความเย็นทุกชนิด คล้ายกับที่เราเรียกผงซักฟอกว่าแฟ้บ หรือเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็นรูปว่ามาม่า

    แท้จริงแล้ว YETI ไม่ได้กำเนิดจากแก้วเก็บความเย็น แต่สินค้าแรกคือถังเก็บความเย็นสองพี่น้องอย่าง Roy  และ Ryan Seiders ผู้ที่ซึ่งรักการตกปลาและใช้ชีวิตกลางแจ้งต้องการแก้เพนพอยต์ถังเก็บความเย็นทั่วไปที่ไม่ทนทานและเก็บความเย็นได้ไม่ดีพอ

    เรื่องราวของ YETI ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือสินค้าชิ้นแรกอย่างถังเก็บความเย็นนั้นได้แรงบันดาลใจจากถังเก็บน้ำแข็งของไทย และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา YETI ก็ยังได้เปิดสาขานอกสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรกที่ไทย โดยความดูแลของ Element 72 

    เพื่อคลายร้อนนี้อย่างต่อเนื่อง Capital ขอพาไปฟังเรื่องราวทางธุรกิจที่คุณอาจไม่เคยได้ยินที่ไหนของ YETI จากแง่มุมของชาว Element 72 ไปพร้อมๆ กัน

  • ถ้าภาพยนตร์รักแห่งสยาม (2007) นำเสนอสยามสแควร์ยุค 2000 ต้นๆ ที่มี center point เป็นแหล่งรวมตัว และมีร้านดีเจสยาม ซอย 4 เป็นร้านประจำที่ต้องแวะไปบ่อยๆ ซีรีส์วายแนวโรแมนติก GELBOY สถานะกั๊กใจ (2025) ก็นำเสนอสยามในมุมของเจนซี ตั้งแต่การไปทำเล็บเจลในซาลอน ไปคาเฟ่เก๋ๆ ตามไปให้กำลังใจศิลปินที่มาร่วมรายการที่ Flex 102.5 ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ ไปจนถึงการแรนดอมแดนซ์เพลง T-Pop ที่ลานหน้าตึกสยามสเคป

    ถ้าจะบอกว่าสยามสแควร์เป็นย่านวัยรุ่นที่ไม่มีวันตายก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะสยามเดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน แม้จะมีช่วงที่ซบเซาลงไปบ้าง แต่ก็ได้ปรับตัวจนกลับมาเป็นจุดนัดพบของวัยรุ่น มีร้านค้า ร้านอาหารตามเทรนด์ใหม่ๆ มาเปิด และมีพื้นที่ให้มาแสดงดนตรีสดกัน เรียกว่าสร้างเสียงฮือฮามากๆ จนใครที่มีวงดนตรีก็คงอยากมาแสดงที่สยามสแควร์เป็นที่แรกๆ แน่นอน สยามสแควร์จึงเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยความหลากหลายมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่น ดนตรี ศิลปะ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ และเป็นเหมือนศูนย์กลางของการแสดงออกทางตัวตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

    สยามสแควร์เป็นมายังไง ทำไมถึงเป็นย่านของวัยรุ่นมาทุกยุคทุกสมัย รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมเล่าให้ฟังแล้วใน Podcast Capital City EP.42 ตอนนี้

  • หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเดินหน้านโยบาย ‘Drill, Baby, Drill’ คือการเน้นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอเมริกา อย่างต่อเนื่อง และยังสนับสนุนให้ทั่วโลกพึ่งพาพลังงานฟอสซิลให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    สวนทางกับเทรนด์ทั่วโลกที่สนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้นตามข้อตกลง Paris Agreement คำถามต่อมาคือหลังจากนี้ภาคธุรกิจควรโฟกัสไปที่การใช้พลังงานจากฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติหรือพลังงานทดแทนกันแน่ รวมถึงคนไทยจะมีโอกาสได้ใช้พลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้หรือไม่

    หนึ่งในผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีคงหนีไม่พ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานแบบครบวงจร รายการ Business Summary EP.22 ตอนนี้ เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล จึงพามาพูดคุยกับหัวเรือใหญ่อย่างสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางการใช้พลังงานทั้งในไทยและทั่วโลก พร้อมเผยถึงพลังงานที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมของพลังงานสะอาดในอนาคต จนถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างคนไทยสามารถเป็นทั้งผู้ผลิตพลังงานทดแทนและใช้พลังงานทดแทนได้เต็มรูปแบบหรือไม่

    #Capital #BusinessSummary #บ้านปู #พลังงานทดแทน #พลังงานสะอาด

  • หน่วยกู้ชีพ, อินฟลูเอนเซอร์ หรือเพื่อนรักสี่ขาจอมพลัง เหล่านี้คือภาพจำของผู้คนที่มีต่อ ‘โกลเด้นรีทรีฟเวอร์’ สุนัขพันธุ์นิยม ที่มีคาแรคเตอร์น่ารักน่ากอด เฉลียวฉลาด และยังคงไว้ลายสัญชาติญาณความปราดเปรียวจากอดีต จึงไม่แปลกใจที่มันจะกลายเป็นขวัญใจของบรรดาทาส หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยเลี้ยงสุนัขก็ตาม

    แต่ก่อนจะได้รับความนิยมเฉกเช่นทุกวันนี้ แท้จริงแล้วประวัติความเป็นมาของเจ้าสุนัขขนสีทองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ตั้งแต่ถูกเพาะเลี้ยงสายพันธุ์โดยขุนนางแห่งสกอตแลนด์ ก่อนจะกลายเป็นลูกมือในกิจกรรมล่าสัตว์ สู่แผ่นดินสหรัฐฯ ในฐานะสุนัขอารักขาและสุนัขประจำทำเนียบข้างกายประธานาธิบดี กลายเป็นดาวดังบนจอเงิน และแน่นอนว่าเป็นสมาชิกที่ทุกบ้านใฝ่ฝันอยากจะมี

    อะไรทำให้สุนัขสายพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ได้รับความนิยมถึงเพียงนี้ และพวกมันมีความสัมพันธ์ต่อหน้าประวัติศาสตร์ในแง่ไหนอีกบ้าง ถ้าพร้อมแล้วเราขอชวนไขคำตอบผ่านหน้าประวัติศาสตร์สุดนุ่มฟูได้ในพอร์ดแคสต์รายการทรัพย์คัลเจอร์ EP.4

  • เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไม่เพียงทำให้ประชาชนตื่นกลัว แต่ยังส่งผลให้เมืองถูกฟรีซ หลายคนหาทางกลับบ้านไม่ได้ บางส่วนต้องเดินกลับบ้าน หรือบางคนก็เลือกนอนค้างคืนในสวนสาธารณะ เนื่องจากการเดินทางในกรุงเทพฯ เป็นอัมพาต
    .
    ที่สำคัญ เรายังได้เห็นว่านอกจากโครงสร้างอาคารที่ต้องแข็งแรงแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการออกแบบเมืองให้พร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว โครงสร้างพื้นฐานอย่างสวนสาธารณะ ทางเท้า ทางจักรยาน พื้นที่โล่ง พื้นที่กึ่งสาธารณะก็ควรเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่พร้อมรองรับผู้คนยามเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินด้วย
    .
    ประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเจอแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดนั้นเอาตัวรอดยังไง และเมืองควรออกแบบเมืองยังไงให้พร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมเล่าให้ฟังแล้วใน Podcast Capital City EP.41 ตอนนี้

  • ถนนที่สร้างยาวนานกว่าพีระมิดแห่งกีซา และถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยจนคร่าชีวิตผู้คนมานักต่อนัก ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงถนนพระราม 2 เส้นทางหลักที่เชื่อมกรุงเทพมหานครกับภาคใต้ของประเทศไทยที่ตั้งใจให้เดินทางไปภาคใต้โดยไม่ต้องขับผ่านตัวเมืองนครปฐมและราชบุรี เหมือนถนนเพชรเกษม ซึ่งทำให้เดินทางใกล้ขึ้นและเร็วขึ้นถึง 40 กม. และไม่ต้องเจอกับปัญหารถติด

    ฟังดูแล้วการสร้างถนนพระราม 2 เป็นโอกาสของเมืองในแง่ทำให้คนเดินทางง่ายขึ้น ไวขึ้น และขนส่งสินค้าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถนนพระราม 2 กลับประสบปัญหาอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จากข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2561-2567 พบว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 2,242 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 132 ราย และบาดเจ็บ 1,305 ราย โดยสาเหตุของอุบัติเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนที่ยืดเยื้อ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ‘ถนนพระราม 2 จะสร้างเสร็จกี่โมง’

    รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ชวนมาเข้าใจหลักการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศชั้นนำทำ และเปิดทามไลน์ถนนพระราม 2 ตรงไหนที่สร้างเสร็จไปแล้ว ตรงไหนที่กำลังจะขยายต่อจนทำให้สร้างไม่เสร็จต่อไปเรื่อยๆ แล้วถ้าสร้างเสร็จคนเมืองจะได้ประโยชน์อะไรจากถนนเส้นนี้บ้างใน Podcast Capital City EP.40 ตอนนี้

  • ปลายเดือนนี้แล้วที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเวียนกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางกองหนังสือมากมายที่มีให้เลือกช็อป หรือโอกาสที่จะได้พบปะนักเขียนในดวงใจ บรรดาหนอนหนังสือรู้หรือไม่ว่าจุดกำเนิดงานหนังสือสุดครึกครื้นนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 500 ปีที่แล้ว หรือก็คือช่วงศตวรรษที่ 12 โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ ‘แฟรงค์เฟิร์ต’ ประเทศเยอรมนี

    คร่าวๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้แฟรงค์เฟิร์ตเป็นจุดกำเนิดงานหนังสือ นั่นคือการที่เมืองแห่งนี้เป็นแหล่งจัด ‘งานแฟร์’ (fair festival) จำหน่ายสินค้าหลากประเภทซึ่งรวมไปถึงหนังสือเขียนมือ ขณะเดียวกันยังเป็นเมืองที่ ‘โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก’ ชายผู้คิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ ลงหลักปักฐานโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง

    ทว่าทำไมต้องเกี่ยวข้องกับกูเตนเบิร์ก งานหนังสือที่แฟรงค์เฟิร์ตเฟื่องฟูเพราะปัจจัยใดบ้าง และงานหนังสือเผยแพร่ไปทั่วโลกได้อย่างไร เราขอชวนทุกท่านหาคำตอบไปพร้อมกันได้ในรายการทรัพย์คัลเจอร์ EP.3 

  • แก้วน้ำรีไซเคิล จานรีไซเคิล เฟอร์นิเจอร์รีไซเคิล –คำว่า ‘รีไซเคิล’ น่าจะเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจเข้าใจแค่การแยกขยะหรือการนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ แต่จริง ๆ กระบวนการรีไซเคิลเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ลดของเสีย และนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่แทนที่จะใช้แล้วทิ้ง 
    ในปี 2025 คาดว่าจะมีขยะกว่า 2,220 ล้านตัน อย่างในฮ่องกงเองก็ได้ตั้งเป้าว่าจะให้เจ้าของธุรกิจเก็บขยะพลาสติกของตัวเองกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล หรืออย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวียก็ได้มีการนำขยะมูลฝอยมารีไซเคิลเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในประเทศ จะเห็นว่าแต่ละเมืองนั้นมีการจัดการกับปัญหาขยะแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจรีไซเคิลตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งมีทั้งมุมที่ดีต่อโลกและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ ด้วยเช่นกัน
    เนื่องในวันรีไซเคิลโลก (Global Recycling Day) ที่ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ชวนทุกคนมาฟังโอกาสของธุรกิจรีไซเคิลในยุคนี้ และชวนหาคำตอบว่าคนทั่วไปจะช่วยโลกรีไซเคิลได้ยังไงบ้างไปด้วยกันใน Podcast Capital City EP.39 ตอนนี้

  • หนึ่งในข่าวใหญ่ที่น่าจับตามองในแวดวงธุรกิจการบินและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย คงหนีไม่พ้นการประกาศผลการดำเนินงานปี 2567 ของการบินไทย หลังจากขาดทุนหนักถึงหลักแสนล้านบาท ล่าสุดได้พลิกกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอยู่ที่ 4.15 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2566

    ถึงแม้ภาพรวมของงบการเงินจะขาดทุนสุทธิกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท แต่เป็นผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีว่าการบินไทยเตรียมจะ Take Off ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและ Landing กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้

    รายการ Business Summary EP.21 ตอนนี้ เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล จึงพามาตีตั๋วพูดคุยกับหัวเรือใหญ่อย่าง ‘ชาย เอี่ยมศิริ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงรายละเอียดการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ เปิดทิศทางอนาคตใหม่ของการบินไทย ไปจนถึงการใช้ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ มาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

  • แม้ปัจจุบันแบรนด์เคสโทรศัพท์มือถือจะมีให้เลือกมากมาย แต่เชื่อว่าชื่อของ CASETiFY แบรนด์เคสโทรศัพท์มือถือสัญชาติฮ่องกง ก็ยังคงครองใจผู้คนเป็นอันดับต้นๆ 

    ไม่เพียงเพราะความแข็งแรงทนทานเท่านั้น แต่การผลิตสินค้าลิขสิทธิ์แท้ก็เป็นอีกหนึ่งแก่นสำคัญที่ทำให้แบรนด์เป็นที่พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นลิบสิทธิ์ศิลปิน K-POP ศิลปินในแวดวงศิลปะ หรืออย่างล่าสุดที่มีเคสลิขสิทธิ์น้องหมีเนย Butter Bear และ RAVIPA ก็สะท้อนว่า CASETiFY รันทุกวงการ

    กลยุทธ์การขยายฐานแฟนด้วยสินค้าลิขสิทธิ์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอีกมากที่ทำให้ CASETiFY เติบโตเป็นแบรนด์ระดับโลกและกวาดรายได้หลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐไปได้ รายการพอดแคสต์ Biztory ตอนนี้จึงขอพาไปทำความรู้จักเรื่องราวและวิธีที่ทำให้ CASETiFY เป็นที่รักของผู้คน  

  • เมืองไม่ใช่แค่สถานที่ที่เราอาศัยอยู่ แต่เป็นพื้นที่ที่กำหนดคุณภาพชีวิตของเรา ตั้งแต่การเดินทางในแต่ละวัน พื้นที่พักผ่อน ไปจนถึงโอกาสในการพบปะและใช้ชีวิตร่วมกับผู้คน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหาจราจร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
    .
    ในปี 2025 นี้ เมืองต่างๆ ทั่วโลกจึงกำลังพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น ทั้งเรื่องการเดินทาง สิ่งแวดล้อม และพื้นที่สาธารณะ เพราะเมืองที่น่าอยู่คือเมืองที่คนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือถ้าพูดให้เห็นภาพมากขึ้นคือ ต่อให้ทั้งวันนั้นทำงานมาเหนื่อยแค่ไหน แต่เมื่อเปิดประตูออกจากออฟฟิศมาแล้ว สภาพแวดล้อมในเมืองไม่ได้ทำให้เราเหนื่อยไปกว่าเดิมนั่นเอง
    .
    ทุกวันนี้เมืองยุคใหม่ให้ความสำคัญกับอะไร เทรนด์การออกแบบเมืองในปีนี้มีอะไรบ้าง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ชวนมาฟังไปด้วยกันใน Podcast Capital City EP.38 ตอนนี้

  • ใครที่เคยแวะเวียนไปยังเมืองโอซาก้า ฟุกุโอกะ หรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น น่าจะเคยผ่านตากับสตรีทฟู้ดในลักษณะรถเข็นที่ตั้งอยู่เรียงราย ประดับประดาด้วยโคมไฟ ป้ายผ้า เก้าอี้ตัวน้อย พร้อมกับเสิร์ฟเมนูจานด่วน ราคาย่อมเยา อาทิ ทาโกะยากิ โอเด้ง ราเม็ง เกี๊ยวซ่า ไปจนถึงขนมเก่าแก่อย่างดังโงะ ซึ่งร้านในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า ‘ยะไต’ (Yatai)
    .
    วัฒนธรรมอาหารประเภทยะไต ก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่สมัยเอโดะ หรือนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในยุคสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นยังปกครองด้วยระบบโชกุน โดยยะไตเองเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการปรับแผนผังกรุงเอโดะตามคำสั่งของรัฐบาล หลังต้องเผชิญกับอัคคีภัยครั้งใหญ่ ซึ่งพื้นที่ที่ไว้ใช้หลบภัยยามเกิดเพลิงไหม้ กลับกลายเป็นพื้นที่ชุมนุมของร้านยะไต ที่พ่อค้าแม่ขายต่างเปิดร้านเพื่อบรรเทาความหิวให้แก่คนระดับรากหญ้า
    .
    รายการทรัพย์คัลเจอร์ EP.2 ขอชวนคุณผู้ฟังมาทำความรู้จักกับยะไต วัฒนธรรมฟาสต์ฟู้ดจากญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 400 ปี ว่าเป็นมาอย่างไร ทำไมวัฒนธรรมการกินนี้ถึงเกิดขึ้นภายหลังอัคคีภัยของกรุงเอโดะ และเหตุใดจึงยังได้รับความนิยมในหมู่คนรากหญ้าจวบจนปัจจุบัน เตรียมกระเพาะให้พร้อมแล้วมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

  • รายการ Capital City กลับมาอีกครั้ง หลังจากพักเบรกไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2024 ที่ผ่านมา ขอเท้าความไปก่อนว่าเมื่อปีที่แล้วเราพาทุกคนไปรู้จักกับภาพใหญ่ของคำว่าเมืองที่ดีคืออะไร เมืองผูกโยงกับคุณภาพชีวิตของคนเรายังไง ไปจนถึงพาไปรู้จักหน่วยที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนอย่างพื้นที่สาธารณะที่ถ้าออกแบบให้ดี คนเมืองก็จะมีที่ให้นั่งพักผ่อน มีพื้นที่ให้พบปะสังสรรค์ และการทำกิจกรรมต่างๆ
    .
    พื้นที่สาธารณะไม่ได้อาศัยแค่การออกแบบให้ดีตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกแบบให้สวยงามน่าใช้งานด้วย หรือถ้าทุกคนยังนึกไม่ออกว่าคืออะไรให้ลองนึกถึงงาน Bangkok Design Week 2025 ที่ผ่านมาที่เป็นการนำงานศิลปะหรืองานออกแบบมาบวกกับพื้นที่เมือง เพื่อเล่าเรื่องย่าน เติมชีวิตชีวาให้กับชุมชน สร้างบทสนทนา และเสนอไอเดียความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
    .
    กลับมาในตอนแรกของซีซัน 2 นี้ รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ชวนมาฟังว่าศิลปะจะช่วยสร้างเมืองได้ยังไง และการมีเมืองที่สนับสนุนศิลปะจะสร้างเม็ดเงินได้ยังไงไปด้วยกันใน Podcast Capital City EP.37 ตอนนี้

  • หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงไม่หยุดคือ Gorpcore หรือเทรนด์แฟชั่นที่นำอุปกรณ์เดินป่าและเสื้อผ้าสายแอดเวนเจอร์มาใส่ในชีวิตประจำวัน นั่นทำให้หลากหลายแบรนด์เอาต์ดอร์ที่แต่เดิมมีกลุ่มลูกค้าสุดนิชก็ขยับขยายมาแมสได้ และนั่นเองที่ทำให้ Salomon เป็นที่พูดถึงใน 1-2 ปีที่ผ่านมา
    .
    จุดตั้งต้นของ Salomon คือการเป็นแบรนด์อุปกรณ์เล่นสกี ก่อนแตกไลน์ผลิตภัณฑ์มาเรื่อยๆ จนได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์สินค้าเอาต์ดอร์และรองเท้าแอดเวนเจอร์สัญชาติฝรั่งเศสที่คุณภาพสูง ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 
    .
    หลังพบว่าสินค้าของแบรนด์ไม่จำเป็นต้องใส่ไปเดินป่าอย่างเดียวก็ได้ แต่ยังนำมาใส่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ปัจจุบัน Salomon จึงพาตัวเองออกจากกรอบเดิมๆ พัฒนาสินค้าให้มีความไลฟ์สไตล์ยิ่งขึ้น คอลแลบกับแบรนด์สายสตรีทมากขึ้น จนทำให้แบรนด์เริ่มได้รับความนิยมเรื่อยๆ 
    .
    หัวใจสำคัญที่ Salomon ใช้ในการนำพาแบรนด์มาสู่รันเวย์คืออะไร Biztory ตอนนี้ขอพาไปไขคำตอบ

  • ใครที่เคยไปร้านซูชิคงคุ้นเคยกับการเสิร์ฟอาหารผ่านสายพานที่เคลื่อนไปมาอย่างลื่นไหล แต่รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของการเสิร์ฟแบบนี้เกิดขึ้นจากปัญหาของร้านซูชิสายพานร้านเล็กๆ แห่งแรกในโอซาก้า ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1950 
    .
    เบื้องหลังสายพานนี้ ชิไรชิ (Yoshiaki Shiraishi) หรือผู้คิดค้นสายพานร้านซูชิ นั้นได้แรงบันดาลใจจากการลำเลียงเบียร์ในโรงเบียร์และการเล่นไพ่ ทำให้เขาได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับสายพานซูชิ ถ้าเราสังเกตบริเวณมุมของสายพานเราก็จะเห็นการคลี่ออกของสายพานที่มีลักษณะเดียวกับเวลาที่เราคลี่ไพ่ในมือ
    .
    ทรัพย์คัลเจอร์ในอีพีแรก เลยขอพาทุกคนย้อนเวลากลับไปสู่ปี 1950 กับเรื่องราวของซูชิสายพาน กับกระบวนการทดลองเพื่อหาความเร็วที่เหมาะสมของสายพาน ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซูชิแต่ละจาน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามฟังได้พร้อมๆ กัน

    ดำเนินรายการโดย ว่าน–วณัฐย์ พุฒนาค

  • เตรียมพบกับพอดแคสต์ ‘ทรัพย์คัลเจอร์ คัลเจอร์บันดาลทรัพย์ ประวัติศาสตร์บันดาลใจ’ พอดแคสต์ที่จะพาทุกคนลงลึกไปยังช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ ค้นหาจุดเปลี่ยนของยุคสมัยใหม่ที่ถูกอาจถูกมองข้ามไป รวมไปถึงวัฒนธรรมบางอย่างที่ก่อกำเนิดจากจุดเล็กๆ แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมในระดับเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่า
    .
    ดำเนินรายการโดย ว่าน–วณัฐย์ พุฒนาค นักเขียนที่เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
    .
    ติดตามได้ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์เว้นสัปดาห์

  • “จากข้อมูลที่ผมรู้คือเซ็กซ์ทอยมีมูลค่าทางการตลาดแค่ 1% นั่นหมายความว่าผมมีพื้นที่อีก 99%ให้ลองทำอะไรก็ได้ ผมจะทำให้เซ็กซ์ทอยกลายเป็นสินค้ากระแสหลัก”
    .
    มัตซึโมโตะ โคอิจิ (Matsumoto Koichi) คืออดีตช่างซ่อมรถยนต์คลาสสิกฝีมือเยี่ยมที่ต้องการแก้เพนพอยต์ให้ของเล่นผู้ใหญ่ซึ่งแต่เดิมต้องวางขายแบบหลบมุม ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติ จากความพยายามกว่า 1 ปี เขาพัฒนาของเล่นผู้ใหญ่ออกมาในนาม TENGA ที่ปฏิวัติวงการด้วยดีไซน์ที่ดูยังไงก็ไม่เหมือนของเล่นทั่วไป จนได้รับรางวัลไปครอง ทั้งยังได้คอลแลบกับแบรนด์มากมาย และยังออกแบรนด์ลูกอย่าง Iroha ที่ไม่ได้มองว่าตนเองเป็นแค่ของเล่น แต่คือ Self-pleasure ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ self-care 
    .
    TENGA ไม่เพียงนำเสนอของเล่นผู้ใหญ่ในมุมใหม่เท่านั้น แต่ยังจริงจังกับการสื่อสารเรื่องเพศอย่างถูกต้อง ทั้งยังพยายามเปลี่ยนทัศนคติที่ผู้คนมีต่อเพศผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงการทำร้านค้าหลักให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์ Biztory ตอนนี้ จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแบรนด์ระดับโลกที่มีทั้งแนวคิดและกลยุทธ์อันน่าสนใจนามว่า TENGA ไปพร้อมๆ กัน

  • เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความรัก แต่ไม่แน่ว่าปีนี้อาจมีคนติด #ทีมคนโสด พอๆ กับคนที่ติด #ทีมคนมีแฟน เลยก็ว่าได้ เพราะจากรายงานของ Euromonitor พบว่าในปี 2564 คนโสดมีมากถึง 414 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ในหลายประเทศ
    .
    รวมถึงประเทศไทย มีข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2566 พบว่า 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นโสด โดยคนที่อายุ 15-49 ปี มีคนโสดอยู่ถึง 40.5% หรือเรียกได้ว่าแทบจะเกือบครึ่งนึงเลยทีเดียว ด้วยจำนวนคนโสดที่มากขนาดนี้และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิด Solo Economy หรือเศรษฐกิจคนโสด ที่วิถีชีวิตแบบกินข้าวคนเดียว ดูหนังคนเดียว ช้อปปิ้งคนเดียว จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก 
    .
    รายการ Business Summary EP.20 ตอนนี้ เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล และพลอย-วรรณทิพย์ โพธิ์พรหม จะพาไปเจาะอินไซต์วิถีชีวิตคนโสด ว่ามีแง่มุมไหนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกได้บ้าง และในมุมของผู้ประกอบการจะหยิบโอกาสทองนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไร