Avsnitt

  • ใครที่ไถหน้าฟีดโซเชียลฯ ผ่านไปมาหน้าจะพอสังเกตเห็นว่า ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมามีร้านคาเฟ่ร้านหนึ่งที่ได้รับความนิยม ภายในร้านดังกล่าวตกแต่งในบรรยากาศสไตล์มินิมอลชวนอบอุ่น พร้อมเสิร์ฟเค้กหลากหลายหน้าตาราวกับหลุดมาจากโลกแฟนตาซี ไม่ว่าจะเค้ก Vanilla Sponge ตกแต่งด้านบนหน้าคุณลุงซานต้าคลอสที่วาดจากบัตเตอร์ครีม เค้กปอนด์ Red Velvet ในรูปแบบต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาไปด้วย Suga Icing ไปจนถึง Cake Box ที่ท็อปปิ้งด้วยคุณสโนว์แมนและคุณขนมปังขิงสุดคิ้วท์
    .
    ร้านที่เรากำลังพูดถึงมีชื่อว่า ‘Unbirthday Cafe’ ร้านคาเฟ่สุดชิกย่านสุขุมวิท 31 ที่ก่อตั้งโดยสองเพื่อนซี้อย่าง ‘ไบรท์-ณทัย ศิริกันตราภรณ์’ และ ‘ซูม-กฤติน ปูชนียางกูร’ ด้วยความตั้งใจที่อยากมอบความสุขให้กับลูกค้าด้วยเมนูเค้กแสนอร่อยที่ตั้งใจรังสรรค์เป็นพิเศษ ไปจนถึงบรรดาเมนูเบเกอรี่หลากสไตล์ ที่ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันเทศกาล หรือวันธรรมดาก็สามารถอิ่มเอมไปกับความหวานละมุนนี้ได้อย่างเต็มอรรถรส 
    .
    เนื่องในบรรยากาศความสุขช่วงเทศกาลนี้ รายการ Bonappétit ธุรกิจรอบครัว EP.111 เลยขอประเดิมปี 2025 ด้วยเรื่องราวหอมหวานจากไบรท์และซูม ที่จะมาแชร์การบริหารร้าน Unbirthday Cafe ตั้งแต่ Day 1 ที่เริ่มตกแต่งร้าน ไปจนถึงแนวคิดการรังสรรค์เมนูเค้กและเบเกอรี่ ที่กว่าจะออกมาน่ารักอย่างที่เห็นต้องผ่านการทุ่มเทมาไม่น้อย
    .
    พร้อมแล้วขอเชิญไปเติมความหวานให้กระชุ่มกระชวยกันได้เลย

  • ปีใหม่นี้ เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ที่บ้าน หลายคนน่าจะท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะต่างจัดหวัด ต่างเมือง หรือกระทั่งต่างประเทศ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระเป๋าเดินทางที่แข็งแรงทนทานคือหนึ่งในไอเทมสำคัญเมื่อต้องเดินทาง โดยเฉพาะเวลาโดยสารบนเครื่องบิน เพราะเราต่างรู้กันดีว่ากว่าเหล่ากระเป๋าที่โหลดใต้เครื่องจะกลับมาสู่มือเราอีกครั้งนั้นผ่านอะไรมาบ้าง
    .
    RIMOWA คือแบรนด์กระเป๋าเดินทางสัญชาติเยอรมันที่ถือเป็นตัวท็อปๆ ของตลาดและถือเป็นกระเป็าเดินทางระดับลักชูรี ความพิเศษของกระเป๋าแบรนด์นี้คือล้อที่หมุนได้ 360 องศา วัสดุเป็นอะลูมิเนียมกันน้ำได้ ลูกค้า customize ดีไซน์กระเป๋าเองได้ ทั้งยังปรับตัวไปพร้อมกับยุคสมัย นอกจากกระเป๋าเดินทางที่ขยันคอลแลบกับสารพัดแบรนด์ ยังปล่อยสินค้ากระจุกกระจิกมาเรียกเงินในกระเป๋าสตางค์
    .
    ไม่แปลกใจหากอุตสาหกรรมกระเป๋าเดินทางลักชูรีจะเติบโตขึ้นอย่างมาก และสำหรับตลาดกระเป๋าเดินทางลักชูรี แบรนด์ RIMOWA ก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญ Biztory ตอนนี้เลยอยากชวนไปสนทนาถึงเบื้องหลังความเป็นมาของแบรนด์ การปรับตัวและกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์เดินทางมาสู่ขวบปีที่ 127

  • Saknas det avsnitt?

    Klicka här för att uppdatera flödet manuellt.

  • พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนคืออะไร? หลายๆ คนอาจนึกถึงสวนสาธารณะ แต่จริงๆ แล้ว พื้นที่สาธารณะมีหลายประเภท อย่างทางเท้าที่เราใช้เดินกัน ลานว่างหน้าห้างสรรพสินค้า พื้นที่ในศาสนสถาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานีขนส่งสาธารณะ พื้นที่ทางธรรมชาติ และพื้นที่เรียนรู้ ยิ่งถ้าออกแบบสภาพแวดล้อมในสถานที่เหล่านี้ให้ดีด้วยแล้ว คนก็จะมีพื้นที่ทางเลือกให้ไปนั่งพัก นั่งเล่น นั่งคุย และออกกำลังกายอีกเพียบ
    .
    หลังเหตุการณ์โรคระบาด Covid-19 เรื่องพื้นที่สาธารณะก็เป็นประเด็นที่คนหันมาสนใจมากขึ้น ทำให้คำว่าพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียวถูกตีความใหม่ ซึ่งนักออกแบบ สถาปนิก หน่วยงานต่างๆ เริ่มมองหาโอกาสหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์ผู้คนมากขึ้น อย่างการหยิบพื้นที่ใต้ทางด่วนมาทำเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ หยิบพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานในเมืองมาออกแบบเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมหรือจัดอีเวนต์ต่างๆ หรือใช้ลานจอดรถมาออกเป็นสนามกีฬา เพื่อให้คนไม่ต้องเดินทางไกลไปสวนสาธารณะใหญ่ๆ แต่เดินจากบ้านไม่เกิน 15 นาทีก็เข้าถึงพื้นที่ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจได้
    .
    ก่อนจะมาเจอกันใหม่ในปีหน้า ตอนสุดท้ายของปีแบบนี้เราอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกันว่าพื้นที่สาธารณะคืออะไร มีกี่ประเภท พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สุขภาพดีในบ้านเรามีกี่ที่ พื้นที่สาธารณะทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นได้ยังไง และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจเท่าไหร่รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.36 ตอนนี้

  • เผลอแปปเดียวปี 2024 ก็กำลังจะลาลับไปจากเรา ตลอดทั้งปีที่ผ่าน เชอร์รี่–มณีเนตร วรชนะนันท์ โฮสต์คนดีคนเดิมประจำรายการ Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว ได้พาคุณผู้ฟังไปพบกับเรื่องราวหลากรสชาติจากบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหาร เจาะลึกลัดเลาะตั้งแต่กรรมวิธีหลังครัวจนพร้อมเสิร์ฟเมนูจานเด็ดขึ้นโต๊ะ รวมไปถึงเรื่องราวจากผู้คนที่ทำให้โลกธุรกิจอาหารเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน ที่สลับกันมาเล่าเรื่องราวในแต่ละสัปดาห์ 
    .
    เป็นประจำเฉกเช่นทุกๆ สิ้นปี ที่ เชอร์รี่-มณีเนตร จะมีของขวัญสุดพิเศษมากฝากคุณผู้ฟัง โดยในปีนี้เธอขออาสาไปพบกับ 10 ร้านอาหารเด็ดในดวงใจที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี แบ่งเป็นร้านอาหารคาว 5 ร้าน และร้านของหวานอีก 5 ร้าน ที่นอกจากจะอร่อยแล้วยังมีสตอรี่ที่น่าสนใจ
    .
    เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมท้องให้ว่าง แล้วไปพบกับ 10 ร้านอาหารเด็ดประจำปี 2024 ได้ในรายการ Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว EP.110 กันได้เลย!

  • เดินห้างแล้วได้ยินเสียงเพลง Jingle bell, jingle bell, jingle bell rock อากาศเย็นๆ ต้นสนยักษ์ประดับไฟระยิบระยับ และช่วงเวลาแห่งการนับหนึ่งเริ่มต้นใหม่ อยากตั้งใจใช้ชีวิตให้ดีในปีหน้า หรือนี่จะเป็นความมหัศจรรย์ของงานเทศกาลและบรรยากาศสิ้นปี?
    .
    เวลาพูดถึงเทศกาล หลายคนอาจนึกถึงเทศกาลดังอย่างฮาโลวีนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและแฟนตาซี หรือคริสต์มาสที่อบอวลไปด้วยช่วงเวลาความสุขและความอบอุ่นของครอบครัว แต่ทุกวัฒนธรรมทั่วโลกต่างมีเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีของผู้คนในแต่ละพื้นที่ อย่างในบ้านเราก็มีเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลบุญบั้งไฟ หรือเทศกาลไหลเรือไฟ เทศกาลเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เป็นโอกาสให้เราได้เฉลิมฉลอง แต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกันผ่านกิจกรรมและช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับเมือง
    .
    คำว่า Festival Economy คืออะไร ทำไมงานเทศกาลถึงสร้างสีสันให้กับเมือง และเทศกาลสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.35 ตอนนี้

  • เชื่อหรือไม่ว่าขนมสุดจะธรรมดาอย่าง ‘ลูกอม’ สามารถช่วยแก้ปัญหาใหญ่ระดับโลกอย่าง climate change ได้
    .
    ร้อยทั้งร้อยน่าจะตอบว่าแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะลูกอมส่วนใหญ่มักผลิตจากน้ำตาลผสมปรุงแต่งด้วยรสชาติฉะนั้นสิ่งที่ลูกอมมอบให้ได้คงมีแต่ความอร่อยหอมหวาน 
    .
    อย่างไรก็ดี แบรนด์ขนมแบรนด์หนึ่งนาม ‘Climate Candy’ ได้หยิบผักและผลไม้หน้าตาไม่น่าอภิรมย์และเกรดไม่ดีพอให้วางจำหน่ายมาแปรรูปเป็นลูกอมรสชาติต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา food waste และ climate change ที่เกิดจากอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะผักผลไม้ที่ถูกปัดตกนั้นเหลือทิ้งมากกกว่า 2 แสนล้านปอนด์ต่อปี ไม่ว่าจะมะเขือเทศเนื้อช้ำ ผักกาดใบแหว่ง มันฝรั่งผิวคล้ำ สตรอว์เบอร์รี่ลูกเล็ก ฯลฯ 
    .
    ในช่วงที่สภาวะอากาศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและผู้คนกำลังตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อม รายการ bonappétit ธุรกิจรอบครัวตอนนี้ เลยขอชวนมาทำความรู้จักกับ Climate Candy แบรนด์ลูกอม ที่แสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจเกี่ยวกับของกินก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกใบนี้ได้

  • เอ่ยถึงน้ำหวานซ่าสีดำ ชื่อของ Coco-Cola หรือโค้ก น่าจะติดหนึ่งในลิสต์แบรนด์ในใจของหลายคน แต่เชื่อไหมว่าแม้ปัจจุบันโค้กและน้ำซ่าทั้งหลายจะขายในห้างสรรพสินค้าและร้านชำ แต่ในอดีต เครื่องดื่มชนิดนี้เริ่มขายในร้านขายยา และช่วงแรกยังขายได้เพียงไม่กี่แก้วต่อวันเท่านั้น
    .
    ปัจจุบัน เครื่องดื่มหวานซ่านี้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ เป็นเครื่องดื่มที่มอบความรู้สึกสดชื่นในวันที่เหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งยังไม่ได้มีแค่แบรนด์เดียว แต่ยังมีหลากหลายแบรนด์จนเกิด Cola Wars หรือศึกทางการตลาดระหว่างแบรนด์น้ำซ่า 
    .
    มากไปกว่านั้น ใครจะไปเชื่อว่า Coca-Cola หรือโค้กยังเป็นต้นกำเนิดภาพจำซานตาคลอสแสนใจดี ด้วยเลือกใช้ซานต้าเป็นมาสคอตแรกๆ ของแบรนด์ พร้อมทำการตลาดแบบใหม่เพื่อเพิ่มยอดขายในช่วงอันหนาวเหน็บ
    .
    แม้คริสต์มาสในไทยจะไม่หนาวดังเช่นเมืองนอกเมืองนา แต่การสร้างภาพจำของโค้กก็มีผลไม่น้อย ทั้งยังเป็นต้นแบบการตลาดที่หลายแบรนด์ยกเป็นกรณีศึกษา Biztory ตอนนี้จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักซานต้าและ Coca-Cola ให้มากขึ้น ก่อนที่คริสต์มาสนี้จะเวียนมาถึง
    .
    อย่าลืมเปิดเพลงคริสต์มาสพร้อมๆ กับเปิดน้ำซ่าขณะฟัง Biztory ตอนนี้  

  • เผลอแป๊ปเดียวก็เข้าสู่เดือนธันวาคมแล้ว ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลง ประกอบกับมีลมพัดเย็นๆ มาให้ได้สวมเสื้อแขนยาวออกจากบ้านกันบ้าง แต่พอขยับเข้ามาช่วงสิ้นปีทีไร ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็มาเยือนเมื่อนั้น เรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบที่มาพร้อมหน้าหนาวเลยก็ว่าได้
    .
    เมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และมีการจราจรด้วยรถยนต์คับคั่งมักจะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน เนื่องจาก PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ส่วนทางสุขภาพใจก็อาจทำให้เกิดความวิตักกังวลหรือเครียดได้ และเมืองที่อากาศไม่ดีก็ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีตามไปด้วยเช่นกัน อย่างในประเทศไทยที่สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจเพราะฝุ่น PM2.5 ไปถึงหมื่นกว่าล้านเลยทีเดียว
    .
    เมื่อปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้น รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีหน้าที่ในการแก้ไข ป้องกัน และออกแบบเมืองให้ทุกคนได้อยู่ในอากาศที่บริสุทธิ์ อยากออกจากบ้านมาทำกิจกรรมต่างๆ เพราะการได้ใช้ชีวิตอยู่ในอากาศที่ดีคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน 
    .
    ฝุ่น PM 2.5 ในเมืองเกิดจากสาเหตุอะไร ฝุ่นส่งผลกระทบยังไงต่อเศรษฐกิจ และเมืองปักกิ่งที่เผชิญกับปัญหาฝุ่นมานานหลายปี ทำยังไงให้กลายเป็นเมืองอากาศดี รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.34 ตอนนี้

  • นอกจากเครื่องดื่มเลิศรส หรือของหวานละมุนลิ้น อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ที่สาวกร้านกาแฟเจ้าดังอย่าง ‘สตาร์บัคส์’ รู้กันดี คือ ‘tumblur’ หรือ ‘แก้วเก็บอุณหภูมิ’ ที่มักผลิตออกมาดูดเงินในกระเป๋าแทบทุกไตรมาส แถมบางคอลเลคชั่นยังฮอตฮิตกลายเป็นลิมิเต็ด จนต้องมีการแย่งชิง หรือซื้อต่อจากพ่อค้าแม่ค้าในราคารีเซล
    .
    ความน่าสนใจที่ทำให้แก้วเก็บอุณหภูมิของสตาร์บัคได้รับความนิยม มีมากกว่าเรื่องคุณภาพการใช้งานที่ไม่เป็นสองรองจากแบรนด์แก้วเก็บอุณหภูมิเจ้าอื่นๆ เพราะในแง่ของดีไซน์ยังทำออกมาได้อลังการเกินเบอร์ บางคอลเลคชั่นมีคริสตัลประดับดารอบแก้ว บ้างก็ไล่เฉดสีพร้อมกับแบ่งเลเยอร์ตัววัสดุเป็นแบบใส หรือคอลเลคชั่นที่อิงกับเทศกาลสำคัญอย่างคริสต์มาสต์ก็ทำออกมาได้น่ารักอบอุ่นจนใจเจ็บ 
    .
    ที่สำคัญคือในปี 2024 นี้ สตาร์บัคส์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฐานการตลาดสำคัญของสตาร์บัคส์ ก็เพิ่งจะเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาโหวตบนเว็บไซต์ว่าแก้วเก็บอุณหภูมิเวอร์ชั่นไหนที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 10 ปี ที่สตาร์บัคส์เข้ามาทำการตลาดในแดนอาทิตย์อุทัย ผลปรากฏว่ามีสาวกเข้ามาร่วมโหวตกันอย่างท่วมท้น กลายเป็นการปลุกกระแสและสร้างคอลเลกเตอร์หน้าใหม่เป็นเท่าตัว
    .
    เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เตรียมเครื่องดื่มให้พร้อม แล้วมาร่วมวิเคราะห์แบบจอยๆ ในรายการ bonappétit ธุรกิจรอบครัว ตอนนี้ ว่าทำไมแก้วเก็บอุณหภูมิของสตาร์บัคส์ถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถึงขั้นกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าทำกำไรให้กับแบรนด์ร้านกาแฟจากสหรัฐฯ เป็นกอบเป็นกำ

  • ทาสเดียวที่ฉันยอมเป็นคือทาสหมา ทาสแมว เพราะตั้งแต่ได้เห็นหน้าน้องครั้งแรก เจ้าสี่ขาสุดน่ารักน่าเอ็นดูนี้ก็ได้มายึดพื้นที่ในหัวใจไปแล้วเรียบร้อย ไม่พ้นแม้กระทั่งคนในบ้านที่อาจจะบ่นว่าจะเลี้ยงทำไม แต่ตัดภาพไปกลับรักหมาแมวยิ่งกว่าลูกจริงๆ อย่างเราเสียอีก
    .
    เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีความรู้สึกเดียวกันนี้ เพราะในปัจจุบัน คนเราเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกหลานอีกคนหนึ่ง ทั้งในด้านการให้ความรัก การดูแลสุขภาพ อาหารที่ให้ รวมถึงการสร้างความสุขร่วมกันในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เอามานั่งกินข้าวด้วย พาไปเที่ยว ไปจนถึงพามานอน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันคนเริ่มมีลูกน้อยลง หรือเลือกที่จะไม่มีลูกกันมากขึ้น แต่หันมาให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงแทน เพราะการเลี้ยงสัตว์ช่วยเติมเต็มความสุข ลดความเครียด คลายความเหงา และดูเหมือนจะทำให้ความเหนื่อยที่เจอมาทั้งวันหายไป เพียงแค่ได้มอง สัมผัส กอด หรือเล่นด้วยกัน
    .
    เมื่อคนยุคใหม่หันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เมืองก็ต้องปรับตัวและมีพื้นที่สาธารณะที่รองรับทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งปัจจุบันก็มีสวนสาธารณะหรือทางเท้าที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น จุดให้น้ำ หรือโซนสำหรับสัตว์เลี้ยงวิ่งเล่น ส่วนในภาคธุรกิจเองก็เริ่มมีร้านอาหาร คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร และห้างสรรพสินค้าที่ปรับตัวเองให้เป็น Pet-friendly มากขึ้นเช่นกัน 
    .
    ทำไมคนถึงนิยมเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์มีข้อดี-ข้อเสียยังไง และจะออกแบบเมืองหรือพื้นที่ยังไงให้รองรับได้ทั้งคนและสัตว์ รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.33 ตอนนี้

  • สิ่งที่คนไทยลุ้นทุกปีพอๆ กับการลุ้นให้ถูกหวยคือ 'ปีนี้ค่าไฟจะแพงขึ้นอีกหรือไม่' เพราะจากการสำรวจตัวเลขการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย พบว่าแต่ละปีมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ที่มีการปรับค่า FT จนทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงถึง 6.01 บาทต่อหน่วย ด้วยสาเหตุหลักจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น
    .
    บางคนหาทางออกด้วยการไปพึ่งพลังงานทางเลือก เช่น ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ แต่ก็เกิดคำถามต่อมาว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ ในวันที่พลังงานทดแทนยังมีราคาที่สูงอยู่ แล้วจะมีวันที่คนไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงบ้างไหม
    .
    รายการ Business Summary EP.18 ตอนนี้ เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล พาไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคลายข้อสงสัยว่าต้นทุนของเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นคืออะไรกันแน่ และยังมีเรื่องที่น่าตกใจว่าจริงๆ แล้วคนไทยก็ผลิตไฟใช้เองหรือขายไฟฟ้าเองได้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

    #Capital #BusinessSummary #ค่าไฟ #ค่าไฟแพง #พลังงาน #พลังงานทดแทน #โซลาร์เซลล์

  • บะหมี่มีนาย, ขออนุญาตเก็บงาน, น้ำซุปบอดี้แน่น, พริกถั่วผมจบ ฯลฯ
    .
    เหล่านี้ คือสารพัดศัพท์ที่ใครติดตามช่อง ‘บางกอกเซียก้า’ น่าจะคุ้นหูเป็นอย่างดี กับลีลาการรีวิวบะหมี่ป๊อกๆ ทั่วราชอาณาจักรของ ‘อีฟ–จิรายุ ศิริ’ และ ‘อ้น–ธีระพงษ์ จันทรภักดี’ ที่ทั้งยียวน และอุดมด้วยมุกตลกสไตล์เด็กหลังห้องตลอดทั้งคลิป
    .
    ความจริงแล้วบางกอกเซียก้าไม่ได้เพิ่งโด่งดังในปีนี้ เพราะพวกเขานี่แหละคือยูทูบเบอร์สายบุกเบิกยุคต้นๆ ที่ลองผิดลองถูกกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์หลากหลายสไตล์ ก่อนจะมาพบกับสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุดนั่นคือการ ‘รีวิวอาหาร’ โดยเฉพาะการตระเวนรีวิวร้านบะหมี่ป๊อกๆ ที่หากินได้ตามข้างทาง ทั้งจากที่พวกเขาสืบเสาะพบเอง และจากการได้ดาราหรือศิลปินชื่อดังชี้เป้าแนะนำ จนถึงตอนนี้พวกเขารีวิวจนใกล้ครบ 100 ร้านทั่วกรุงเทพฯ แล้ว
    .
    นอกจากมุกตลกตามสไตล์ชาวร็อกหัวใจมุ้งมิ้ง อีฟและอ้นยังต่อยอดคอนเทนต์รีวิวบะหมี่ป๊อกๆ ที่เป็นภาพจำ มาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างแบรนดิ้งเพิ่มมูลค่าด้วยวิธีการสุดครีเอต แต่จะเป็นด้วยวิธีไหน และใครที่อยากรู้จักตัวตนของสองเพื่อนซี้คู่นี้มากกว่าที่เห็นนั้น ขอชวนล้อมวงมาหาคำตอบไปพร้อมกันในรายการ Bon Appétit ตอนนี้

  • ไม่นานมานี้ lululemon แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาสัญชาติแคนาดาได้ขยายสาขาที่ 4 ในไทย หลังเปิดสาขาแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566  
    .
    สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก lululemon เป็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาพรีเมียมที่มีอายุกว่า 20 ปี ด้วยผู้ก่อตั้งอย่าง Chip Wilson เห็นเทรนด์ในแวดวงสุขภาพว่าโยคะจะมาในอีกไม่ช้า ก่อนจะสร้างแบรนด์ขึ้นโดยเน้นเรื่องนวัตกรรมและดีไซน์ จนทำให้คนรักกีฬาโฆษณาให้แบบปากต่อปาก จนมีสาขากว่า 700 สาขาในหลายประเทศทั่วโลก
    .
    พ็อดแคสต์ Biztory ตอนนี้ ‘ฉัตรชนก ชัยวงค์’ ขอชวนทุกคนไปลงลึกถึงกลยุทธ์ของแบรนด์ที่เอาชนะใจคนเล่นกีฬาได้ ตอบโจทย์คนชอบลุคสบายๆ แถมยังมี loyalty fan ที่คอยบอกต่อปากต่อปาก

  • ช่วงนี้ถ้าทุกคนเปิดหน้าฟีดโซเชียล มีเดียของตัวเองก็น่าจะเจอกับคอนเทนต์ที่พูดถึงเจนฯ Z (ผู้ที่เกิด ค.ศ. 1997-2012) กันอยู่บ่อยๆ ทั้งในแง่การทำงาน มุมมองต่อการใช้ชีวิต หรือคอนเทนต์ที่พาไปสำรวจพฤติกรรมกันแบบเจาะลึก เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและปรับตัวกับเจนฯ Z ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในยุคนี้
    .
    ปัญหาเรื่องความต่างระหว่างเจนฯ ที่ทำให้คนแต่ละช่วงอายุไม่ลงรอยกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย เพราะคนแต่ละกลุ่มเติบโตมากับบริบทสังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งมีส่วนในการหล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมของแต่ละเจนฯ เมืองเองก็ต้องปรับตัวให้เหมาะกับคนทุกช่วงอายุเช่นกัน ทั้งในแง่การออกแบบพื้นที่ให้ยืดหยุ่น การออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ออกแบบบริการให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ไปจนถึงเป็นพื้นที่สบายใจที่ทำให้คนแต่ละรุ่นอยากออกมาเจอกัน
    .
    ทำไมคนที่เกิดในยุคนี้ถึงคิดแบบนี้ ความต่างของอายุมีผลต่อวิธีคิดและการใช้ชีวิตยังไง เมืองที่ดีจะออกแบบให้คนหลากหลายวัยอยู่ร่วมกันได้ยังไง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.32 ตอนนี้

  • รู้ตัวอีกทีร้านฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังใกล้บ้านที่เคยฝากท้องประจำก็ปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย แต่ไม่ช้าร้านฟาสต์ฟู้ดเจ้าใหม่ก็เข้ามาเปิดแทนที่อย่างรวดเร็ว กลายเป็นวัฏจักรแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนชาชินในสายตาผู้บริโภคอย่างเราๆ 
    .
    อย่างไรก็ดี ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอย่าง ‘เคเอฟซี’ กลับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะสั่นคลอนแต่อย่างใด ปัจจุบันไก่ทอดสูตรผู้พันยังมีสาขาในประเทศไทยมากกว่า 1,060 สาขา กระจายตั้งแต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปจนถึงทั่วภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้เคเอฟซีเป็นแบรนด์ไก่ทอดอันดับ 1 ในไทยที่มีรายได้หลัก 3-4 พันล้านล้านบาทต่อปี
    .
    ถ้าจะขยายความยิ่งใหญ่ของเคเอฟซีมากกว่าแค่เรื่องตัวเลข คงต้องยกเรื่องของ ‘เมนู’ ที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะ ‘วิงค์แซ่บ’ รสแซ่บซี้ด ที่ดังไกลถึงขั้นกลายเป็นเมนูต้อนรับแขกเหรื่อจากต่างแดน เหมือนกรณีที่ iShow Speed ยูทูปเบอร์ชาวอเมริกันยกให้เคเอฟซีประเทศไทย เป็นเคเอฟซีที่ดีที่สุดในชีวิตที่เคยกิน 
    .
    ด้วยความป็อปปูล่าแบบฉุดไม่อยู่ รายการ bonappétit ธุรกิจรอบครัวตอนนี้ เลยขอชวนคุณผู้ฟังมาถอดกลยุทธ์ของเคเอฟซี จากความสำเร็จตลอด 4 ทศวรรษ ที่ไม่ดีมีดีแค่รสชาติ เพราะยังมีเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไทย ช่องทางที่เข้าถึงง่ายกับทุกคน หรือแม้แต่เรื่องโซเชียลฯ สุดปั่นที่หลายคนคาดไม่ถึง 

  • เร็วๆ นี้ทางสภา กทม.เพิ่งประกาศไฟเขียวข้อบัญญัติ ‘ค่าเก็บขยะ’ ฉบับใหม่ โดยคิดค่าเก็บ 2 แบบคือ แยกขยะ คิดเดือนละ 20 บาท และเดือนละ 60 บาท สำหรับบ้านที่ไม่แยกขยะ
    .
    ในมหานครทั้งหลายทั่วโลก ปัญหาการจัดการของเสียในเมืองเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียจากครัวเรือน การจัดการของเสียประเภทขยะมูลฝอยจากการใช้ชีวิตของประชาชนและธุรกิจต่างๆ ซึ่งของเสียเหล่านี้ไม่สามารถขนส่งไกลได้ เพราะอาจทำให้เกิดมลพิษ และคนอยากกำจัดให้ไวที่สุด จึงมักจะถูกจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก อย่างทางกรุงเทพฯ เองก็ให้ประชาชนแยกขยะเป็นทั้งหมด 4 ประเภท คือ ขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย และเขียนประเภทขยะบนถุง เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยก ซึ่งมาตรการนี้เป็นที่ถกเถียงกันว่าจะช่วยแก้ปัญหาขยะมูลฝอยใน กทม. ได้จริงหรือไม่
    .
    ขยะมีกี่ประเภท วงการธุรกิจจะช่วยทำให้เมืองกรีนขึ้นได้ยังไง รวมถึงเมืองที่ดีบริหารจัดการขยะยังไง และมีวิธีเก็บค่าธรรมเนียมขยะยังไงกันบ้าง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.31 ตอนนี้

  • เสียงกระดิ่งดังมาแต่ไกลลิบ รถเข็นคันสีเขียวค่อยๆ เข็นเข้ามาในซอยโดยลุงคนเดิม เป็นสัญญาณให้เด็กน้อยเตรียมสตางค์มาอุดหนุนไอศครีมกะทิรสหวานนัว มีเครื่องเคียงทั้งถั่วลิสง ข้าวเหนียว ถั่วแดง ฯลฯ ให้เลือกตามอัธยาศัย เพิ่มความอิ่มอร่อย ดับร้อนช่วงบ่ายกันไป
    .
    ข้างต้นน่าจะเป็น nostalgia ของเด็กยุค 90s ที่มีต่อ ‘ไผ่ทองไอสครีม’ แบรนด์ไอศครีมสไตล์โฮมเมด ซึ่งก่อตั้งโดย ‘กิมเซ้ง แซ่ซี’ ลูกหลานชาวมังกรผู้อพยพเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาเป็นลูกจ้างในโรงงานไอศครีมแห่งหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจลาออกเพื่อออกมาเปิดร้านขายไอศครีมเป็นของตัวเอง โดยมีสูตรเด็ดเฉพาะตัวอย่าง ‘ไอศครีมรสกะทิ’ ที่ผลิตจากกะทิเข้มข้นหอมมันถูกปากผู้บริโภค จนรู้ตัวอีกทีก็อยู่คู่คนไทยมาได้กว่า 73 ปีเแล้ว
    .
    ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย และการเข้ามาของเพื่อนบ้านที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจลักษณะเดียวกัน ทว่ารสชาติของไผ่ทองไอสครีมยังคงคุณภาพเหมือนดั่งวันแรก เพิ่มเติมคือกลยุทธ์การขายที่ปรับให้เข้าถึงง่าย จากร้านขายตั้งตู้ สู่รถเข็น ตามด้วยรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างตระเวนขายตามที่ต่างๆ ล่าสุดที่เปิดเป็น ‘ไผ่ทองสเตชั่น’ มีบริการจำหน่ายทั้งแบบบูธ เดลิเวอรี่ และ truck food เสิร์ฟความอร่อยแบบถึงที่ 
    .
    ถ้าให้เล่าเองทั้งหมดอาจไม่ครบถ้วนกระบวนความ รายการ bonappétit ธุรกิจรอบครัว EP.105 เลยชวน ‘รตา ชัยผาติกุล’ ทายาทรุ่นที่ 2 ของไผ่ทองไอสครีม มาเล่าถึงเส้นทางความอร่อยของแบรนด์ไอศครีมแบรนด์นี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงวันที่ต้องยกระดับแบรนด์ไปอีกขั้น ไปพร้อมกับการรักษามาตรฐานเพื่อความสุขของผู้บริโภค

    #capital #capitalread #bonappétit #Phaithong #ไผ่ทองไอสครีม

  • ในบรรดาค่ายหนังต่างประเทศ เชื่อว่า A24 น่าจะเป็นค่ายที่มีแฟนคลับไม่น้อย หรือแม้ไม่ใช่แฟนคลับค่าย แต่เชื่อว่าคุณอาจเคยดูหนังจาก A24 กันไปบ้าง ไม่ว่าจะ Past Lives (2023), Everything Everywhere All at Once(2022), Midsommar (2019), Lady Bird (2017) 
    .
    ด้วยแนวทางหนังที่แปลกแตกต่าง การตลาดที่เน้นกระจายทั่วโลกออนไลน์ ไปจนถึงการทำ merchandise ให้คนตามเก็บ ถึงขนาดที่ว่าหลายคนนิยามว่า A24 คือค่ายที่ปฏิวัติวงการฮอลลีวูด และถึงแม้จะเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2012 แต่ปี 2023 A24 ก็ได้เข้าชิงออสการ์ถึง 49 ครั้ง รายการ Biztory จึงขอพาไปล้วงลึกถึงความเป็น A24 ว่าทำยังไงถึงทำหนังให้อยู่ได้ everywhere

  • ‘รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี มีรายได้ไม่แน่นอน จำเป็นต้องยื่นภาษีหรือไม่ แล้วมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเสียภาษีัจะหาอะไรมาลดหย่อนได้บ้าง’ สารพัดคำถามชวนปวดหัวที่มักเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีซึ่งใกล้ถึงฤดูยื่นภาษี ทำให้บางคนไม่ได้ยื่นภาษีเพราะความไม่รู้ กับอีกส่วนหนึ่งก็สงสัยว่าเงินภาษีที่เสียไป สุดท้ายถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง
    .
    จึงไม่แปลกใจว่าทำไมในปี 2566 ที่ผ่านมา จากคนไทย 70 ล้านคน ถึงมีจำนวนแรงงานในระบบเพียง 19 ล้านคน และมีผู้ยื่นแบบภาษีเพียง 10.7 ล้านคน จนเหลือผู้ที่มีรายได้สุทธิที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น แล้วถ้าคนไทยไม่เสียภาษีแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเราบ้าง
    .
    รายการ Business Summary EP.17 ตอนนี้ เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล พาไปพูดคุยกับ ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO iTAX เพื่อไขทุกข้อสงสัยเรื่องภาษี ตั้งแต่การเสียภาษีระดับบุคคล ไปจนถึงการใช้ภาษีระดับประเทศ

  • เนื่องจากในอดีตที่ดินในกรุงเทพฯ มักถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเจ้าของที่ดินมักสร้างซอยเล็กๆ เพื่อแบ่งขายหรือปล่อยเช่าที่ดินให้คนเข้ามาอยู่อาศัย ซอยในกรุงเทพฯ จึงเป็นเหมือนพื้นที่ในการพบปะพูดคุย นัดเจอ หรือวิ่งเล่นของเด็กๆ ในชุมชน แต่เมื่อเมืองเจริญขึ้นและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซอกซอยเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงจากที่อยู่อาศัยกลายเป็นพื้นที่ทางพาณิชยกรรม เช่น ร้านค้า คาเฟ่ หรือร้านอาหาร ทำให้ซอยมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายขึ้น ทั้งทางเดิน ทางรถ และพื้นที่ขายของ
    .
    ตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมกรุงเทพฯ ถึงมีซอยแคบและซอยตันเยอะ ลักษณะซอยแบบนี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจเมืองอย่างไร และคนเดิน คนขับรถ รวมถึงเจ้าของพื้นที่จะอยู่ร่วมกันยังไงเมื่อซอยถูกเปลี่ยนเป็นร้านค้า รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาไปไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.30 ตอนนี้