Avsnitt
-
พยายามฝึกตัวเอง มีโอกาสทำความดีอะไรก็ทำเสีย ความชั่วทั้งหลายงด ความดีมีโอกาสทำก็ทำไป ทุกวันทำในรูปแบบ จะได้ฝึกให้จิตมีสมาธิ ให้จิตมีบ้านอยู่ พอจิตใจเรามีกำลังแล้วเราก็มาเจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจไป ถ้าเราเห็นความจริงของร่างกาย ว่าร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย ใจเราจะไม่ทุกข์ ถ้าเราเห็นความจริงว่า จิตใจเรากระทบอารมณ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต่อไปเวลาเราเจอสิ่งที่ไม่ดี อย่างคนที่เรารักตายไป จิตใจเราจะไม่ทุกข์ เพราะเราเห็นความจริงแล้วว่า ความรู้สึกทั้งหลายมาแล้วมันก็ไปเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นพยายามพัฒนาตัวเอง อยู่ในเส้นทางที่ดีที่เล่าให้ฟัง แล้วชีวิตจะมีความสุข ไม่มีความสุขอะไรเสมอเหมือนพระนิพพาน เพราะความสุขอย่างอื่นไม่ยั่งยืนหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 17 ตุลาคม 2567
-
เวลาเราปฏิบัติจิตเราไม่ธรรมดา เราบังคับตัวเอง ถ้าเราอยากรู้สึกตัวเอง รู้ด้วยใจธรรมดาๆ ธรรมดาฟังแล้วง่ายๆ แต่ยาก กว่าจะธรรมดาภาวนาลองผิดลองถูกกันนาน วิธีก็คือ ทำกรรมฐานไป แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตโลภแล้ว มันอยากสงบเร็ว รู้ทัน ความโลภก็ดับ จิตก็เป็นธรรมดาไม่โลภ นั่งไปแล้วไม่สงบสักที จิตใจหงุดหงิด มีสติรู้ว่าจิตหงุดหงิด มีโทสะ โทสะก็จะดับไป จิตก็จะเป็นธรรมดา จิตที่เป็นธรรมดาคือจิตที่ไม่ถูกกิเลสครอบงำ จิตไม่ถูกกิเลสครอบงำเพราะมีสติ รู้ทันความปรุงแต่งของจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 ตุลาคม 2567
-
จับหลักให้แม่น ถ้าเราจะเจริญปัญญา เราอย่าไปปรุงแต่งจิต จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเห็น จิตมันเป็นนักปรุงแต่ง เราไม่ได้เจตนาจะโลภ มันก็โลภได้เอง เราไม่ได้เจตนาจะโกรธ มันก็โกรธได้เอง เราไม่ได้เจตนาจะหลง มันก็หลงได้เอง เราเห็นจิตมันปรุงแต่งของมันได้เอง ให้เรารู้ทันความปรุงแต่งของจิต อย่าไปปรุงแต่งจิตเสียเอง จับตรงนี้ให้แม่นๆ จิตปรุงสุขก็รู้ จิตปรุงทุกข์ก็รู้ จิตปรุงกุศลก็รู้ จิตปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง ปรุงฟุ้งซ่าน ปรุงหดหู่ ก็รู้ไป ต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นความปรุงแต่งทุกชนิดที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่แตกสลาย อยู่ได้ชั่วคราวแล้วก็แตกสลาย ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเราบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มันจะเห็นทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 13 ตุลาคม 2567
-
ถ้าเราอยากให้ทุกอย่างมันดีตลอด ภาวนาแล้วหวังว่ามันจะดีตลอด มันจะทุกข์ เพราะมันเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ไม่มีจริง ไม่มีใครหรอกที่ภาวนาแล้วจิตเจริญตลอดเวลา ถ้าภาวนาแล้วจิตเจริญตลอดเวลา สิ่งที่เราจะได้มาคือมิจฉาทิฏฐิ เราจะรู้สึกว่าจิตเราเที่ยง จิตเป็นของบังคับได้ เป็นอัตตาตัวตน ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว ธรรมะได้แสดงธรรมสอนเราอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่มันปรุงแต่ง อันเกิดขึ้นมานั้น ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ล้วนแต่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราอยาก อย่างเราภาวนา จิตเราเจริญ สว่าง ผ่องใส ร่มเย็นเป็นสุข ผ่านไป ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกันทุกวัน อ้าว มันกลับเสื่อมให้ดู ไม่ต้องตกใจ อันนั้นธรรมะกำลังสอนเราอยู่ ถ้ามันเจริญลูกเดียว เราจะเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เราจะได้ความจริงคือสัมมาทิฏฐิ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 ตุลาคม 2567
-
การปฏิบัติ เราต้องให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญญาต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปๆ มีแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรคงที่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเราก็พัง พอศีลไม่ดี ใจจะถูกกิเลสเย้า ยั่วยวน ชักจูงไป จิตก็ฟุ้งซ่าน สมาธิเราก็เสีย ไม่ตั้งมั่น แล้วถ้าเราไม่มีศีล เราไปเจริญปัญญา มันจะเป็นปัญญาแบบคนทุศีล ปัญญาแบบตามใจกิเลสปกป้องกิเลส เข้าข้างกิเลส เพราะฉะนั้นตั้งใจ ศีลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำแล้วมีอานิสงส์มาก เราจะได้ประโยชน์ในปัจจุบันได้ประโยชน์ในอนาคต ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 ตุลาคม 2567
-
ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 ตุลาคม 2567
-
สัมมาสติ คือสติที่ระลึกรู้รูปนามกายใจ หรือสติปัฏฐานนั่นเอง สัมมาสติเมื่อทำให้มาก เมื่อเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เห็นไหมอาศัยการมีสติ จะทำให้สมาธิเราบริบูรณ์ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา โดยที่ไม่ได้เจตนา ไม่ได้รักษา ไม่ได้ทำขึ้นมา การมีสติทำให้เรามีศีลบริบูรณ์ ให้มีสมาธิบริบูรณ์ขึ้นมา แล้วสัมมาสมาธิเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้การเจริญปัญญาเกิดขึ้น เรียกว่าทําให้เกิดสัมมาญาณะ เพราะฉะนั้นเราจะเดินปัญญาได้ จะต้องมีสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะเดินปัญญาไม่ได้จริง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 29 กันยายน 2567
-
ตราบใดที่ยังไม่เห็นทุกข์ ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิกหรอก ถึงจะอยากไม่เกิดมันก็ยังเกิด เพราะปัญญายังไม่พอ เราปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ เราเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ดี ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วถ้าเราเข้าไปยึด หรือเราเข้าไปอยาก มันจะนำความทุกข์มาให้ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ก็วางไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ พวกเราอยากเข้าถึงธรรมะที่ไม่ทุกข์ ที่ไม่เวียนว่ายตายเกิด เราต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของสังสารวัฏให้ได้ ฉะนั้นต้องเห็นโทษ เห็นภัยของสังสารวัฏ รู้ว่ามีความเกิดทีไร ก็มีความทุกข์ทุกที ต้องขนาดนั้นถึงจะไม่เกิด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 กันยายน 2567
-
ถ้าสติ สมาธิเรายังไม่แข็งแรง ดูกายไป กายมันไม่เคยหนีไปไหน ดูไป จนมันเห็น ทีแรกเห็นถึงความมีอยู่ของมัน ทำไมมีกายแล้วไม่รู้สึกว่ากายมีอยู่ คือหลง ต่อไปก็ดูความจริงของกายคือไตรลักษณ์ พอดูไปๆ จิตมันเห็นความจริงแล้วว่ากายนี้มีแต่ภาระ มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกๆ อิริยาบถ จะต้องเคลื่อนไหว ต้องขยับ หนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ พอมันเห็นความจริงคือมันเห็นไตรลักษณ์ จิตมันจะเบื่อ จิตมันจะเบื่อหน่าย ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีอย่างที่เคยคิดแล้ว พอเบื่อหน่าย จิตก็หาทางทำอย่างไรจะพ้นไป แต่มันก็พ้นไม่ได้ มันมีร่างกายมาแล้ว จิตใจมันก็รู้ ภาวนาเรื่อยๆ โอ้ มีร่างกายอยู่ จะให้มันพ้นจากร่างกายมันทำไม่ได้หรอก จิตใจมันก็เข้าสู่ความเป็นกลาง พอจิตใจมันเข้าสู่ความเป็นกลาง กำลังเรามากพอ เราจะเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 กันยายน 2567
-
เรารู้สึกลงไปในร่างกาย มีแต่ความไม่เที่ยง ทำไมมันไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 21 กันยายน 2567
-
ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 15 กันยายน 2567
-
ดูนามธรรมไม่ได้ ดูกายไป ดูกายแล้ว ใจมันไม่ลง มันไม่ชอบ ก็ดูเวทนาไป หรือบางคนดูเวทนาก็ไม่ชอบ ก็ดูสังขารไป ดูกรรมฐานที่เราถนัด ทางใครทางมัน ไม่ต้องเลียนแบบกัน ได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต แล้วคิดว่าทุกคนต้องดูจิต ไม่ใช่ คนส่วนใหญ่บางทีต้องเริ่มจากกายด้วยซ้ำไป เพราะกำลังไม่พอ สติไม่ว่องไวพอ จิตมันไว ร่างกายมันไม่ไว แต่จิตมันว่องไว จิตหนีเที่ยวอย่างรวดเร็ว ร่างกายไม่เคยหนีไปไหนเลย นั่งจุ้มปุ๊กอยู่นี่ หรือเดินก็เดินอยู่ด้วยกัน อยู่ตรงนี้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 กันยายน 2567
-
ถ้าต้องการให้จิตสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ทำอันนี้ ทำไป เดี๋ยวสงบเอง ถ้าต้องการให้จิตตั้งมั่น มันจะเป็นสมาธิอีกชนิดหนึ่ง สมาธิที่จิตสงบอยู่เฉยๆ เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อารมณ์เป็นตัวเอก แต่เลือกอารมณ์ที่อยู่แล้วมีความสุข แต่ถ้าเราอยากให้จิตตั้งมั่น มันเป็นสมาธิอีกชนิดหนึ่ง สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้ เรียกลักขณูปนิชฌาน เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่คิดไตรลักษณ์ คิดไตรลักษณ์ไม่ใช่เลย ยังคิดเอา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร 10 กันยายน 2567
- Visa fler