Avsnitt
-
9 ส.ค. 67 - เครียดได้แต่ใจไม่ทุกข์ : ถ้าเครียดก็ปล่อยให้ตัวเองเครียดไปได้เลยนะ ไม่ต้องโทษตัวเอง อนุญาตให้ความเครียดเกิดขึ้นได้ อนุญาตให้ตัวเองเครียดได้ บางทีคนเราไปยึดมั่นกับความถูกต้องมากไป แล้วเราก็เลยโทษตัวเอง หรือตำหนิตัวเอง ว่าทำไมจึงมีความโกรธ ทำไมจึงมีความเครียด ทำไมไม่อยู่กับปัจจุบัน ทำไมไม่ปล่อยวาง ตำหนิตัวเอง แต่บางครั้ง การยอมรับตัวเอง ว่าเราทำได้เท่านี้ เครียดก็ยอมให้ตัวเองเครียดไป โกรธก็ยอมให้ตัวเองโกรธได้ ปรากฏว่ามันช่วยได้นะ เพราะว่าการที่เรามีท่าทีแบบนี้ ก็คือการยอมรับ ยอมรับอย่างที่มันเป็น
พอยอมรับได้นี่ สิ่งที่เป็นปัญหา มันก็ละลายหายไป ความทุกข์ก็จางคลายไปเลย เพราะถึงที่สุดแล้ว ที่มันยังคงอยู่ ที่มันยังก่อกวนเรา เพราะเราไม่ชอบมัน เพราะเราพยายามผลักไสมัน อะไรที่ผลักไสจะคงอยู่นะ แต่อะไรที่ตระหนักรู้ หรือยอมรับได้ มันก็จะหายไป ฉะนั้นเวลามีความเครียด หลังจากที่พยายามทำอะไรหลายๆ วิธีแล้ว มันก็ยังเครียดอยู่ ก็อนุญาตให้ตัวเองเครียดไป และนี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเครียดได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ มันทำได้นะ มีความเครียดเกิดขึ้น แต่ใจไม่ทุกข์ เพราะยอมรับมันได -
8 ส.ค. 67 - จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม : คนที่ไม่ยอมรับความโศกความเศร้าความโกรธ พยายามกดข่มมัน สุดท้ายก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน คนที่ไม่ยอมรับเสียงในหัว ที่ตำหนิครูบาอาจารย์ บุพการี จ้วงจาบพระรัตนตรัย พยายามไปต่อสู้ หรือสู้รบตบมือกับมัน ยิ่งตกอยู่ในอำนาจของมัน แต่พอเราเริ่มยอมรับได้ ใจมันก็จะเริ่มไม่หวั่นไหวแล้ว ไม่กระเพื่อมแล้ว
เสียงดังมากระทบ แต่เรายอมรับได้ มันก็ไม่เกิดความหงุดหงิด ความร้อนเกิดขึ้น มากระทบกาย เรายอมรับได้ ใจก็ไม่ร้อน มีเวทนาเกิดขึ้นกับร่างกาย ปวดเมื่อย หลัง เข่า แต่ใจยอมรับได้ มันก็ปวดแต่กาย แต่ใจไม่ทุกข์ อันนี้ก็เป็นวิธีการ ในการช่วยทำให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ถึงขั้นบรรลุพระนิพพาน แต่ว่าก็ทำให้ใจเราตั้งมั่น เป็นขณะๆ ไป เป็นครั้งคราวไป หรือว่าชั่วคราว แต่มันก็พาเราเข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น เพราะเมื่อจิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม เมื่อมีสิ่งต่างๆ มากระทบ แต่ได้อาศัยสติ การรู้ซื่อๆ หรือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะเริ่มเห็นสัจธรรมความจริงจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเห็นแจ้ง หรือเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า เหตุแห่งทุกข์นี่ ถ้าเป็นทุกข์ใจแล้ว มันก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ใจที่มีการผลักไสหรือไหลตาม ใจที่ไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นความจริงที่ปรากฏแก่ใจของเรานี่แหละ จะช่วยทำให้เราเกิดปัญญา และปัญญาที่ว่า ก็จะทำให้จิตใจได้เข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น พระนิพพานจะไม่ใช่เป็นเรื่องนามธรรมแล้ว แต่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา นั่นก็คือการที่จิตมีความปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ หรือพูดง่ายๆ คืออยู่เหนือสุขเหนือทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้น เวลาเราจะตั้งจิตปรารถนาอะไร นอกจากการปรารถนาพระนิพพานแล้ว ก็ลองนึกไปอีกขั้นหนึ่ง ปรารถนาว่า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ขอให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม นั่นแหละจะทำให้เข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง -
7 ส.ค. 67 - มองลบเป็นนิจ ชีวิตจึงติดลบ : ชีวิตตัวเองอาจจะมีอะไรดีมากมาย แต่มองไม่เห็นเลย เห็นแต่ลบ เห็นแต่ความทุกข์ เห็นแต่อุปสรรค เห็นแต่ปัญหา หรือบางทีก็อาจเห็นความผิดพลาด ตื่นเช้าขึ้นมา ไม่สามารถที่จะชื่นชมสิ่งที่มีอยู่รอบตัวได้เลย มองไม่เห็นเลยนะว่าฟ้ามันสวย เรารู้สึกโชคดีนะที่เรายังมีลมหายใจ คิดไม่ออกจริงๆ เช่น รถติดมันดีอย่างไรบ้าง หรือว่าวันนี้เรามีอะไรดีๆ บอกมาสัก 5 อย่าง บางคนบอกไม่ได้เลย เห็นแต่ข้อเสีย ชีวิตแทนที่จะมีความสุขได้แบบง่ายๆ กลายเป็นชีวิตติดลบไป
ฉะนั้นพวกเราก็ต้องระวังนะ เราอย่าประมาท เพราะว่าพอเราอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบ ชอบแซะ ชอบวิจารณ์ เราก็จะเผลอรับเอาความคิดแบบนี้เข้ามา แต่ที่จริงอาจจะมีความคิดหรือทัศนคติแบบนี้อยู่แล้วก็ได้ เพราะว่าการเลี้ยงดูในครอบครัว พ่อแม่ หรือว่าการหล่อหลอมจากครูบาอาจารย์ จำนวนไม่น้อยเป็นแบบนี้ พอถูกใครมอง ถูกผู้ใหญ่มองในทางลบ ถูกผู้ใหญ่เห็นแต่ข้อผิดพลาด ถูกผู้ใหญ่ตำหนิ ก็เลยซึมซับรับเอาความคิดแบบนี้มา พอเห็นใครทำดีก็หมั่นไส้ หาช่องแซะ หาช่องป่วน อย่างที่มีคนคอมเมนต์ในข่าวที่ว่า พบไดโนเสาร์ทีภูหินร่องกล้า มีแต่คอมเมนต์ที่ลบทั้งนั้นเลย แล้วมันไม่ได้สร้างสรรค์เลยนะ เช่นหาว่า เพ้อเจ้อ หลอกเด็กอนุบาล เกิดทันเหรอถึงรู้ว่าเป็นไดโนเสาร์ ลองนึกนะ คนที่ค้นพบไดโนเสาร์หรือคนที่เขาพยายามจะเผยแพร่ข่าวนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันเป็นเพราะคนไทยเป็นแบบนี้ ก็เลยเกิดความรู้สึกถูกบั่นทอนกำลังใจได้ง่ายๆ แต่ว่าเราก็อย่าไปหวั่นไหวกับความคิดแบบนี้ เพราะถ้าเราหวั่นไหว แล้วเราไปซึมซับ รับเอาความคิดแบบนี้ ทัศนคติแบบนี้เข้ามา สุดท้ายมันก็เป็นผลเสียกับเรา ชีวิตเราก็ติดลบไปด้วย เจออะไรก็เห็นแต่เรื่องลบๆ มีข้อตำหนิ มีเรื่องบ่นอยู่เสมอ แล้วสุดท้ายก็แว้งกลับมาเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง หรือว่ามองอะไรก็มีแต่เรื่องลบๆ ชีวิตก็เลยติดลบไปด้วย -
6 ส.ค. 67 - ออกจากทุกข์เพราะรู้ : ถ้าหากว่าไม่อยากจะถูกความทุกข์ครองใจ ก็ต้องพยายามเติมความรู้ตัวให้เกิดขึ้น แล้วก็เรียนรู้สัจธรรมความจริงของชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อจะได้รู้ความจริงอย่างแจ่มแจ้ง ให้ตระหนักเห็นโทษของความหลงว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้ตัว หรือการไม่รู้ความจริง ตัวนี้ต่างหากที่มันเป็นสมุทัย หรือเหตุ หรือสาเหตุแห่งทุกข์
ไม่ใช่เพราะว่าความแปรเปลี่ยน ความไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่เป็นเพราะการไม่รู้ความจริง ไม่เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปหลงยึดติดถือมั่นต่างหากที่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้รู้ตัวจนกระทั่งรู้ความจริงของสรรพสิ่ง แม้จะไม่ถึงที่สุด ก็ช่วยลดช่วยบรรเทาความทุกข์ในจิตใจได้เยอะเลย -
5 ส.ค. 67 - เติมเต็มจิตด้วยความรู้สึกตัว : วัน ๆ หนึ่งเราหลงมากกว่ารู้ตัว เวลาเราหลับ เราหลับน้อยกว่าเวลาเราตื่น เราหลับก็อาจจะสัก 6 หรือ 7 หรือ 8 ชั่วโมง แต่เราตื่น 16 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง นั่นเป็นเรื่องของกาย ส่วนเรื่องของใจแม้ในช่วงเวลาที่เราตื่น 18 ชั่วโมง 16 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มันหลง ส่วนน้อยที่รู้สึกตัว แล้วก็เป็นความรู้สึกตัวแบบไม่ต่อเนื่อง ถูกความหลงเข้ามาครอบงำ
เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีความโลภ มีความอยาก มีความรู้สึกพร่องตลอดเวลา ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ยังอยากได้อีก แต่ถ้าเราทำความรู้สึกตัวบ่อย ๆ ทำเป็นประจำ ความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้น ความหลงน้อยลง ความทุกข์ก็น้อยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็อย่าไปดูแคลนความรู้สึกตัว มันเป็นวิธีการที่จะช่วยเติมเต็มจิตใจ มีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ก็หมายถึงมีสติเต็มตื่น มีสติเต็มตื่น ก็หมายความว่าไม่เปิดช่องให้กิเลสหรือความทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความเครียด ความทุกข์ ความเศร้าหรือความซึม แล้วถึงตอนนั้นเราก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีแล้ว สิ่งที่เราไม่มีหรือสิ่งที่เราเคยคิดว่าพร่อง มันจะไม่มีความหมายต่อจิตใจของเรา เราจะมีความสุขง่าย ๆ เพราะเรารู้จักชื่นชมสิ่งที่เรามี ให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรามี ซึ่งที่จริงก็มีคุณค่าจริง ๆ เช่น การที่เรายังมีชีวิต ยังมีลมหายใจ ยังสามารถหายใจได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด การที่เรายังมีตามองเห็น การที่เรายังมีหูได้ยิน ยังมีความคิด มีสติ มีความสามารถในการรู้สึกตัว อันนี้มีกันทุกคน แต่สิ่งที่ไม่มี จำนวนมากเลยไม่ค่อยมีความสำคัญหรือความจำเป็นต่อชีวิต แต่ว่ามันเป็นค่านิยมที่ใคร ๆ เขาอยากจะมีกัน หรือว่ามันช่วยทำให้เกิดความสะดวกสบาย หรือเกิดความสุขชั่วคราว สิ่งที่เรามีอยู่แล้วนี้มันมีคุณค่ายิ่งกว่านั้นเยอะ อยู่ที่ว่าเราจะทำให้มันนำไปสู่ความรู้สึกตัว นำไปสู่การมีสติปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าเอาแต่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่คิดว่าพร่อง แล้วคิดว่าได้มาเท่าไหร่จะช่วยเติมเต็ม แต่ได้มากเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเติมเต็มสักที เพราะว่ามันเป็นการเติมเต็มในอำนาจของกิเลส ของอัตตา ซึ่งไม่เคยรู้จักพอสักที จะไม่ให้ใจเราอยู่ในอำนาจของอัตตานี้ก็ต้องทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็แปลกพอมีความรู้สึกตัวขึ้นเมื่อไหร่ ตัวกูก็หายไปเมื่อนั้น มันเป็นปฏิปักษ์กัน -
2 ส.ค. 67 - อย่ามองแบบเหมารวม : บางคนที่มีเงินก็เหมารวมว่าคนจนนั้นเห็นแก่เงิน ส่วนคนที่พอมีพอกินหรือคนที่ฐานะไม่ดีก็เหมารวมว่าคนรวยนั้นเห็นแก่เงิน ประสบการณ์ของเราหรือสิ่งที่เราได้ยินมาอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าอย่าเหมารวมว่าทุกคนจะเป็นอย่างนั้น อย่าเหมารวมว่าคนจนจะเห็นแก่เงิน หรืออย่าเหมารวมว่าคนรวยจะเป็นพวกงก ตระหนี่
เราต้องดูตามเนื้อผ้าไม่ใช่ตัดสินคนตามยี่ห้อหรือที่เรียกว่าเหมารวม เพราะว่าจะรวย จะจน คนที่ดีมีคุณธรรม ที่ซื่อสัตย์สุจริตก็มีอยู่ เรามีภาพประสบการณ์อย่างไรก็อย่าไปตัดสินคนที่เราพบ คนที่เรารู้จักเพียงเพราะว่าเขารวยหรือจน เพราะจริงๆเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด หรือภาพที่เราวาดเอาไว้ก็ได้ -
1 ส.ค. 67 - ออกจากทุกข์ ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน : เพราะถ้าไม่มีสติที่เรียกว่าสัมมาสติ มันก็จะระเหเร่ร่อน ไหลไปอดีตมั่งลอยไปอนาคตอยู่ร่ำไป เสร็จแล้วก็จะจมอยู่ในอารมณ์ ไหลไป ลอยไปลอยมาก็จมอยู่ในอารมณ์ จมมีความทุกข์ เพราะไปคว้าเอาอดีต ไปคว้าเอาอนาคตมาแบกเอาไว้ เสร็จแล้วก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ว่าทำให้เราทุกข์
ไม่ต่างจากคนที่แบกก้อนหินแล้วก็โทษก้อนหินว่า ก้อนหินทำให้เราเหนื่อย ทำให้เราล้า แต่ไม่ถามเลยว่า แล้วแบกทำไม ไอ้ที่เหนื่อยที่ล้าไม่ใช่เพราะก้อนหินแต่เพราะไปแบกมันเอาไว้ ถ้าไม่อยากเหนื่อย ไม่อยากทุกข์ ไม่อยากล้าก็ทำได้ไหมคือวางมันลง แต่จะวางมันลงได้ต้องรู้ก่อนว่า ที่ทุกข์เป็นเพราะแบกเอาไว้ ส่วนใหญ่ไม่รู้ ไปแบกอดีต ไปแบกอนาคตแล้วยังไม่รู้เลยเป็นเพราะแบก แล้วเมื่อทุกข์ เกิดความโกรธ เกิดความคับแค้น เกิดความวิตกกังวล ก็ไปโทษโน่นโทษนี่ แต่ลืมมองไปว่าจะเป็นเพราะใจเรานี่ไปแบกมันเอาไว้ หรือไม่ได้มองว่าเป็นเพราะใจเราเปิดช่องให้ความทุกข์เข้าไปเล่นงาน สร้างความปั่นป่วนในจิตใจ ถ้าเราดูแลรักษาใจให้ดี มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ การที่เปิดช่องให้ความทุกข์เข้ามาเล่นงานจิตใจเราก็จะเป็นไปได้ยากเพราะฉะนั้นให้เรียนรู้ ให้ทำความเข้าใจเรื่องการอยู่กับปัจจุบันให้ดี แล้วก็พยายามสร้างเหตุปัจจัยคือการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว มันจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้อยู่กับปัจจุบันได้ และการปล่อยวางกันอดีตอนาคตมันก็จะไม่ใช่เรื่องยาก -
31 ก.ค. 67 - เมื่อรักษาใจ ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก : แต่สิ่งที่เราทำได้คือ รักษาใจ นี่เป็นเบื้องต้นที่จะช่วยทำให้ใจเราไม่ทุกข์ คือพอเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจแล้ว เกิดความอารมณ์ขึ้นมา ก็รู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจ สามารถจะวางระยะห่าง อันนี้ด้วยวิธีการที่หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า เห็นไม่เข้าไปเป็น พอเห็นเมื่อไร ใจก็จะอยู่ห่างสิ่งนั้น เห็นกองไฟ ใจก็ออกห่างจากกองไฟ ไม่ว่าจะเป็นไฟโทสะ ไฟราคะ ทำอย่างนั้นได้เพราะมีสติ แต่ถ้าไม่มีสติ ใจก็จะกระโจนเข้าไปในกองไฟ แล้วก็ทุกข์
เหมือนกับเดินบนถนนแล้วเห็นกองขี้หมา เห็นก้อนหิน เห็นตะปู เห็นเศษแก้ว เห็นหลุมเห็นบ่อ แต่ก็เดินหลบสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะเรามีตาที่ช่วยทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ไม่ควรข้องแวะบนถนน สติก็เหมือนกับตาในที่ทำให้เราเห็นอนิฏฐารมณ์ต่างๆ แต่ไม่ไปข้องแวะกับมัน หรือไม่เปิดช่องให้มันมาทำร้ายจิตใจของเรา อย่าไปคาดหวังว่าถนนจะต้องราบเรียบสะอาดหมดจด มีแต่สิ่งดีๆ ทุกวันนี้หลายคนเวลาอธิษฐานหรือเวลาขอพร ก็ขอให้ไม่มีอุปสรรค ไม่มีความทุกข์ ความยากลำบาก อย่าได้รู้จักคำว่าไม่มี อันนี้มันปรารถนาได้ แต่ว่าความจริงไม่เป็นอย่างนั้นหรอก แต่ว่าแม้เส้นทางจะวิบาก บนถนนอาจจะมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอ มีกองขี้หมา แต่เราก็มีความสามารถที่จะเลือกเดินหลบมันได้ ถ้าเรามีสติ ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเรามีความระมัดระวังไม่ประมาทเลินเล่อ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องพยายามดูแลรักษาใจให้ดี เหมือนกับคนที่อยากจะรักษารถ ก็ต้องดูแลรถให้ดี อย่าไปคิดว่าจะต้องปราบโจรผู้ร้ายให้มันหมด อย่างไรก็ปราบโจรผู้ร้ายไม่หมดหรอก โจรที่จ้องจะลักขโมยรถมีอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เราไม่เสียรถไป คือไม่ประมาทเลินเล่อในการใช้รถ ออกจากรถก็ดับเครื่องยนต์ ล็อกประตู ไม่เปิดช่องให้ผู้ร้ายเข้าไป กับใจเราก็ควรทำอย่างนั้นเหมือนกัน เราจึงจะไม่สูญเสียความปกติสุขไป -
30 ก.ค. 67 - วิธีแก้ทุกข์โดยไม่เพิ่มทุกข์ : หลายคนมองผิดฝาผิดตัว มองไม่ลึกพอ ไปเข้าใจว่าความคิดที่ผุดขึ้นมา ที่เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน ทำให้ทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ มันไม่ทำให้เราทุกข์เลย แต่ที่ทุกข์เพราะมันมีความอยาก อยากจะให้ความคิดพวกนี้มันดับไป ทำให้จิตว่างจากความคิด ถ้ารู้ทันความอยากนั้น ความอยากมันก็จะหายไป ความคิดยังมีอยู่ ผุดขึ้นมา แต่ไม่ทุกข์แล้ว
เช่นเดียวกัน เวลานอนไม่หลับ หลายคนมีความทุกข์มากเลย แล้วไปเข้าใจว่าที่ทุกข์เพราะนอนไม่หลับ ที่จริงไม่ใช่ นอนไม่หลับนี้มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์มาก ไม่เหมือนกับปวดหัว ปวดท้อง ปวดฉี่ อันนี้ทุกข์ แต่ถ้านอนอยู่บนเตียง อยู่บนเสื่อ แล้วไม่หลับนี่มันไม่ทุกข์เท่าไหร่หรอก ตราบใดที่ไม่ปวดหัวปวดท้อง แล้วทำไมถึงทุกข์ เพราะมีความอยากจะให้หลับ เราไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็แค่ดู แค่เห็นความอยาก อยากอะไร อยากให้หลับ พอเห็นมัน มันก็ละลายหายไป พอมันหายไป ไม่ทุกข์แล้ว แต่มันอาจจะมีความกังวลเกิดขึ้นว่า เดี๋ยวถ้านอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาจะทำงานไม่ได้ มันก็เลยเกิดความอยาก อยากจะนอนให้หลับ ทั้งความกังวลและความอยากก็ทำให้ใจมันตื่นเลย แล้วทุกข์ด้วย เกิดความเครียดขึ้นมา แต่พอเราเห็นมัน มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลหรือความอยาก ใจมันก็จะเริ่มสบาย ผ่อนคลาย สักพักไม่ทันรู้ตัวเลยหลับไปเสียแล้ว หรือถึงไม่หลับก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นวิธีการดับทุกข์หรือแก้ทุกข์ ลองหันกลับมา แทนที่จะใช้วิธีสนองความอยาก หรือว่าไปกดข่มมัน ลองฝึกเห็นมันดู เห็นมันด้วยสติ เพราะสติคือตาใน พวกนี้เนี่ย ความอยาก ความโกรธพวกนี้ มันมีจุดอ่อน คือมันกลัวถูกรู้ถูกเห็น ถูกรู้ทัน อะไรที่ทำให้เห็น รู้ทันอารมณ์เหล่านี้ คือสติ เพราะฉะนั้นรู้จักใช้สติในการที่จะดับทุกข์ แก้ทุกข์ หรืออารมณ์ที่มารบกวนจิตใจ อันนี้เป็นวิธีที่จะได้ผลดีกว่า -
28 ก.ค. 67 - อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นไปเสียหมด : สิ่งที่จะวัดความความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างหนึ่งนั่นก็คือ รู้จักทักท้วงความคิด เพราะรู้ว่าความคิดนี่มันไม่ใช่ว่าจะเชื่อได้ทุกเรื่อง ความคิดที่ดีก็มี ความคิดที่ไม่ดีก็มี ความคิดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงก็มี ฉะนั้นเชื่อมันทุกอย่างไม่ได้ ต้องรู้จักทักท้วง
แต่บางครั้งมันไม่ทันทักท้วงเพราะมันเกิดอารมณ์ เกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธ หรือเกิดความกลัว เกิดความวิตกขึ้นมา พอมีอารมณ์เกิดขึ้นสติกระจายหมดเลย พอไม่มีสติหรือสติกระจาย สติแตก มันก็ไม่มีตัวที่จะมาทักท้วงความคิดแต่สำหรับคนที่ปฏิบัติโดยเฉพาะปฏิบัติเจริญสติ ถ้าปฏิบัติถูกสติก็จะรวดเร็วฉับไว มีอำนาจในการที่จะไม่พ่ายแพ้ต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความโกรธแต่ว่าก็ยังพอมีสติ เตือนไม่ให้เชื่อความคิด หรือไม่ไหลไปตามอารมณ์ มีความกลัว ความวิตก ความเครียด แต่ก็ยังมีสติมากพอที่จะไม่ไหลหรือถูกครอบงำด้วยความเครียด ความวิตก ยังมีกำลังในการทัดทานความคิดและอารมณ์ได้ และนักปฏิบัติ ถ้าถามอาจารย์ดูความก้าวหน้าตรงไหน ก็ดูตรงนี้แหละ ข้อหนึ่งก็คือว่ารู้จักทักท้วงความคิด ไม่หลงเชื่อความคิดไปทุกอย่าง รวมทั้งไม่เชื่อทุกอย่างที่ตาเห็น หรือทุกอย่างที่หูได้ยิน เพราะว่าสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินคือสิ่งที่คิดเอานี่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ -
27 ก.ค. 67 - ธรรมที่เหมาะกับชีวิตประจำวัน : "การทำนั่นทำนี่ ก็คือ การทำกิจการงานต่าง ๆ รวมทั้งการเสพการบริโภคด้วย เจอนั่นเจอนี่ ก็หมายถึงว่า เจอรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้น เจอเหตุการณ์ที่เป็นบวกเรียกว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรืออิฏฐารมณ์ เจอเหตุการณ์ฝ่ายลบเรียกว่าอนิฏฐารมณ์หรือว่าโลกธรรมฝ่ายลบ ไม่ว่าเจออะไร ก็เห็นหรือรู้ใจที่คิดนึก รวมถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ดีใจ เสียใจ เพลิดเพลิน หงุดหงิด มันทำให้ใจเราเป็นอิสระจากสิ่งกระทบต่าง ๆ ได้ แล้วทำให้สติเจริญงอกงามด้วย
คนส่วนใหญ่นี้ การที่จะมีสติเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึกตลอดทั้งวัน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยถ้าเกิดว่าเลือกว่าวัน ๆ หนึ่ง เราทำอะไรที่ทำประจำ เริ่มจากเอามาสัก 4-5 อย่าง และตั้งใจหรือกำหนดลงไปว่าเมื่อเราทำ เราจะรู้กายเคลื่อนไหว เมื่อใจคิดนึกเราก็รู้ทัน อย่างเช่นอาจจะเลือกว่า อาบน้ำ ถูฟัน แต่งตัว กินข้าว ล้างจาน รวม 5 อย่างนี้เราตั้งใจจะมีสติรู้ตัว เวลามือล้างจานก็รู้กาย เวลาใจเผลอออกจากการล้างจาน ไปคิดนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็รู้ทัน หรือว่าเวลาอาบน้ำ ก็รู้ว่ากายกำลังทำอะไร ในขณะที่ลูบตัวขณะอาบน้ำ หรือว่าเมื่อใจเกิดความสดชื่นเบิกบาน ก็รู้ อันนี้ก็เรียกว่า รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก ฉะนั้นถ้าหากว่าเราลองเลือกสัก 5 อย่างนี้ให้มีสติ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเราได้ธรรม 3 ประการคือ อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และชาคริยานุโยคได้ ก็คือมีสติกับการรับรู้สิ่งต่าง ๆ มีสติกับการเสพ มีสติกับการทำงาน เรียกว่าปฏิบัติธรรมนี้ได้ทั้งวันหรือทุกวัน" -
26 ก.ค. 67 - ไม่มีอะไรที่เป็นเราหรือของเรา : ถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่เราจะยึดมั่นเป็นเรา เป็นของเราได้เลย ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือแม้กระทั่งร่างกายนี้ ก็ไม่อาจยึดได้ว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ ความที่ท่านเข้าใจ หรือเข้าถึงสัจธรรมความจริงนี้แหละ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ท่านเปี่ยมด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการ ที่เราทุกท่านเมื่อได้สัมผัสแล้วก็รู้สึกประทับใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราระลึกนึกถึงท่านแม่ชีสุขี ก็อย่าพึงนึกถึงแต่เพียงแค่บุญที่ท่านบำเพ็ญ แต่ให้นึกถึงธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติด้วย
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงบุญ จนบางทีลืมธรรมะไป เพราะเราคิดว่าถ้าเราได้บุญเยอะๆ เราก็จะได้โชคได้ลาภ มีอายุยืน มีสุขภาพดี เพราะเราเชื่อว่า บุญนั้นย่อมอำนวยให้เกิดอายุ วรรณะ สุขะ พละ รวมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา จึงอยากได้บุญกันมากๆ จนกระทั่งจำนวนไม่น้อย ลืมธรรมะไป -
24 ก.ค. 67 - ทุกอารมณ์มีประโยชน์ ถ้ารู้จักใช้ : "อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวก็ดี ความโกรธก็ดี ความเจ็บความปวดก็ดี หรือแม้กระทั่งความโลภ ไม่ใช่ว่าจะก่อทุกข์ได้อย่างเดียว ก็สามารถจะเป็นประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้ แม้กระทั่งความทุกข์ ไม่มีใครชอบ แต่ว่าก็สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้
พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลหลายท่านทุกข์มาก แต่เพราะความทุกข์ที่ทำให้ท่านเห็นว่า สังสารวัฏเต็มไปด้วยทุกข์ ท่านพบว่าอะไรก็ตามไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เลย เพราะมันเป็นทุกข์ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเขียนไว้ก่อนมรณภาพว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” ทุกข์ก็มีประโยชน์ ถ้าเราเห็นมัน ถ้าเราเข้าใจมัน ที่มันเป็นโทษเพราะเราเข้าไปเป็นมัน หรือว่าหลงอยู่ในทุกข์ ไปยึดในทุกข์เอาไว้ ไม่รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ ก็เลยจมอยู่ในความทุกข์มากขึ้น ฉะนั้น เวลาเราเจออารมณ์อะไรก็ตาม แม้กระทั่งความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น อย่าไปคิดแต่จะกำจัดมัน ลองมองดูให้ดี มันมีประโยชน์ รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บ และความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราด้วย มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักใช้มัน -
23 ก.ค. 67 - อย่ามาวัดเพียงเพื่อหาความสงบ : ลองนึกดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราที่วัด ถ้าเรายังทำใจไม่ได้ ยังร้อนรุ่มวุ่นวาย ถึงเวลาที่เราเจอความเจ็บป่วยชนิดที่หนีไม่พ้น มันตามติด มันเกิดกับร่างกายเราตลอด 24 ชั่วโมง เต็มไปด้วยความติดขัด เต็มไปด้วยความไม่สะดวกสบาย เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร ถ้าเรามัวแต่คิดว่าจะหนีปัญหา และคิดว่าปัญหาจะทำให้สงบได้
ถึงเวลาเจอความเจ็บป่วย ถึงเวลาเจอความสูญเสียพลัดพราก ชนิดที่เราไม่สามารถจะควบคุมบงการได้ แล้วเราจะอยู่อย่างไร เราจะรับมือกับมันอย่างไร ฉะนั้นการที่เรามาฝึกตนเพื่อ สามารถความสงบให้เกิดขึ้นกับใจได้ แม้ว่าสิ่งรอบตัวจะไม่ราบรื่น หรือแม้จะมีความคิดอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในใจ แต่ก็ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาควบคุมครอบงำจิตใจได้ นี้เป็นวิชาสำคัญในการที่เราจะรับมือกับความทุกข์ในวันข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นกับเรา ความเจ็บป่วย ความพรากสูญเสีย สูญเสียของรัก สูญเสียคนรัก พวกนี้ถ้าไม่เจอเมื่อวานนี้หรือวันนี้ วันหน้าก็ต้องเจอ หากว่ายังไม่เจอ มันก็จะดีกว่า ถ้าเราจะใช้โอกาสที่ปลอดจากปัญหานี้มาฝึก ไม่ใช่มาหวังเสพความสงบ หรือหวังหาความสบาย แต่มาเพื่อฝึกฝนตน เจอปัญหาต่างๆ ก็ไม่บ่น เอามาเป็นเครื่องฝึกฝน แม้กระทั่งความไม่สงบ หรือความคิดที่มันผุดขึ้นมาในใจก็สามารถรับมือกับมันได้ ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้มันหายฟุ้งหรือหยุดคิด ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ก่อนนะเราถึงจะมีวิชาที่รับมือกับความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสในวันหน้าได้ -
22 ก.ค. 67 - อย่าจมในทุกข์ อย่าเพลินในสุข : "ความสุขเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา ตรงข้ามกับความทุกข์ซึ่งไม่มีใครต้องการ ในเมื่อความทุกข์เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราจึงควรเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง หาไม่แล้วเราก็จะลงเอยด้วยการซ้ำเติมตนเอง อันที่จริงแม้กระทั่งความสุข เราก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย หาไม่ความสุขก็จะกลายเป็นโทษ ใช่หรือไม่ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนทั้งหลายล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมาก่อน
ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของหลายคน พระพุทธองค์ไม่ได้สอนให้ปฏิเสธความสุข แท้จริงทรงแนะนำว่าเราไม่ควรละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม แต่ก็อย่าหลงใหลมัวเมาหรือยึดติดความสุขเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะมันไม่เที่ยง ไม่จิรังยั่งยืน ส่วนความทุกข์ ในเมื่อเราไม่ชอบ ก็อย่าเอาทุกข์มาทับถมตน แทนที่จะจมอยู่ในความทุกข์หรือ “เป็น”ทุกข์ ก็ควรรู้จักมันหรือ “เห็น”มัน ด้วยการวางใจอย่างถูกต้อง ความสุขหรือความทุกข์ย่อมไม่อาจครอบงำจิตใจเราจนเรากลายเป็นทาสของมัน" -
21 ก.ค. 67 - ตั้งใจมั่นทำดีในพรรษานี้ : เอาแค่เรามีสติรู้สึกตัว เวลาเข้าห้องน้ำ แม้เพียงนิดเดียว จากเล็กจนแก่ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงมากเลยทีเดียว เพราะว่าตลอดชีวิตเราเข้าห้องน้ำรวมแล้ว 7 ปี เข้าห้องน้ำไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การแต่งตัว ตลอดชีวิต ถ้าเราอายุถึง 75 ปี เราจะอยู่ในห้องน้ำรวมทั้งหมดทั้งชีวิต 7 ปี
ถ้าเราเพียงแต่พยายามเจริญสติแค่ 10% เท่านั้นของเวลาที่อยู่ในห้องน้ำ มันจะเป็นเท่าไหร่ ก็เท่ากับ 8 เดือนเลย มันก็ไม่น้อย เพราะว่าเรามาเดินจงกรม เข้าคอร์สเดินจงกรมทั้งชีวิตก็คงจะไม่เท่าไหร่ อาจจะอย่างมากก็ 12 เดือน แต่เพียงแค่อยู่ในห้องน้ำอย่างมีสติ 10% ทั้งชีวิตนี้ก็เท่ากับ 8 เดือนเลยทีเดียว ฉะนั้น เมื่อเราพาตัวอยู่มาได้จนกระทั่งจนถึงวันเข้าพรรษา ถ้าเราไม่รีบด่วนตายซะก่อน เราก็จะมีเวลาในการปฏิบัติมากทีเดียว 3 เดือน ให้ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานคือตั้งจิตมั่นที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำความดีให้เพิ่มขึ้น หรือว่าลดละ ถ้ายังเลิกไม่ได้ สิ่งแย่ๆ ตั้งใจทำทุกวัน บางอย่างอาจจะดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่ามันขัดกับนิสัย แต่ถ้าทำบ่อยๆ อย่างเช่น บางคนชอบบ่น ชอบจู้จี้ ชอบตำหนิ ชอบวิจารณ์ ลองตั้งกติกาของตัวเองว่า เราจะชมคนวันละ 10 คน ทุกวัน ใครที่ชอบบ่น ชอบตำหนิ ชอบวิจารณ์ ก็ลองตั้งจิตอธิษฐานว่า วันหนึ่งเราจะขอบคุณอย่างน้อย 10 คน เชื่อได้เลยว่า 3 เดือนนี้ มันจะทำให้เราเลิกนิสัยจู้จี้ ขี้บ่น หรือชอบตำหนิไปได้เยอะเลย แล้วจะรู้สึกจิตใจมีความสงบเย็นมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถจะนึกขึ้นมาเองได้ ให้มันเหมาะกับตัวเราเอง -
20 ก.ค. 67 - ทางออกจากทุกข์อยู่ที่ใจเรา : ก่อนอื่นก็ต้องดูว่า ใจของเรา ความคิดของเรา ทัศนคติของเรา เป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นเพราะความคิดลบ เป็นเพราะความยึดติด เป็นเพราะความคาดหวัง เป็นเพราะความยึดในความคาดหวังหรือเปล่า อย่าไปโทษภายนอก
เพราะการมองหรือโทษภายนอกนี่มันมองง่าย เหมือนกับเวลาลิงมีแผลเหวอะหวะ หลายคนก็จะบอกทันทีว่าเป็นเพราะกะปิ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะความเกลียดกะปิต่างหาก ที่เราทุกข์ ที่เราหงุดหงิด ที่เราไม่พอใจ มันไม่ใช่เพราะสิ่งภายนอกมากระทบกับเราทางตาทางหูทางจมูก แต่เป็นเพราะความรู้สึกลบ ความเกลียด ความไม่ชอบสิ่งนั้นต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเสียง รูป การกระทำ คำพูดของใคร ถ้าไปแก้ข้างนอกไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้ อย่างน้อยก็รู้จักปรับแก้ที่ใจของตัว นั่นแหละคือมรรค ที่จะพาเราไปสู่นิโรธคือทางออกจากปัญหาได้ อย่าลืมว่า the way out is in -
19 ก.ค. 67 - ทำอย่างไรจะหายโกรธ : ถึงแม้เราจะยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้ความโกรธ ความเครียด ความทุกข์ใจ เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ใจก็ยังมีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ ถ้าหากว่ามีสติ สติช่วยทำให้ถอนใจออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น เหมือนกับพาตัวเราออกห่างจากกองไฟ
และต่อไป พอเรามีปัญญา แม้จะยังไม่อาจจะหมดสิ้นซึ่งความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูได้ แต่ความยึดมั่นที่ว่ามันเบาบางลง ความโกรธก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง กองไฟที่มันเกิดขึ้นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง เพราะว่าไม่ว่ามีอะไรมากระทบ มีอะไรเกิดขึ้น มันก็ไม่กระทบกับตัวกูอีกต่อไป เพราะว่าไม่มีตัวกูตั้งแต่แรกแล้ว แม้แต่ก้อนหินตกลงมา ถ้าหากว่ามีกระจกขวางอยู่ กระจกก็แตก แต่ถ้าก้อนหินตกลงมา ไม่มีกระจกเลย มันก็ตกลงสู่อากาศธาตุ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น มีคนมาด่า แต่ว่าเราไม่ทุกข์เลย เพราะความโกรธมันไม่ได้มากระแทกกับตัวกู เพราะไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก สิ่งที่เขาพูด มันก็เป็นแค่อากาศธาตุ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ใช่เข้าหูซ้ายแล้วเก็บเอาไว้ที่หูขวา แล้วก็มาทุรนทุรายกลัดกลุ้ม ตราบใดที่ยังมีตัวกู มันก็ยังเป็นอย่างนั้น เหมือนกับใครโยนก้อนหินลงมาก็เอาตัวกูไปรับ ก็เจ็บ แต่ถ้าเขาโยนก้อนหินมา เราหลบ ไม่เอาตัวกูเข้าไปรับ มันก็ไม่เจ็บ แต่ที่เจ็บก็เพราะว่าเอาตัวกูเข้าไปรับทั้งนั้น หรือไม่ก็ไปยึด ว่าเป็นของกู -
11 ก.ค. 67 - ทุกนาทีมีค่าเมื่อมีสติ : หลายคนก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยแต่ว่าใจมันก็ยังไปจมอยู่กับความทุกข์ ความโศกเศร้า ความหงุดหงิด ปล่อยวางไม่ได้กับเงินที่สูญไป หรือเงินที่จ่ายเกิน รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควรจะไปหมกมุ่น แต่ว่ามันก็ยังหมกมุ่น อันนี้เพราะว่าไม่มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ ตรงนี้แหละที่เรียกว่า สัมมาสติ
ถ้าเรามีสติโดยเฉพาะสติที่รู้ทันความคิดและอารมณ์ การที่ใจมันจะไม่ไปจมอยู่กับความทุกข์เพราะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ มันก็จะเกิดขึ้นน้อยลง และทำให้มาอยู่กับปัจจุบัน และชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่กับปัจจุบัน หรือทำสิ่งที่ทำให้เวลาที่มีอยู่เกิดประโยชน์ อันนี้เรียกว่าทำปัจจุบันให้มีคุณค่า ซึ่งก็เป็นการเพิ่มสุขให้ใจ ไม่ใช่มาซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ใจ ฉะนั้น เราจะใช้เวลาให้มีคุณค่าได้มันต้องมีสติด้วย เพราะถ้าไม่มีสติมันก็หลุดลอยไปกับความทุกข์ยามที่เจอกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าเกิดขึ้นกับทรัพย์ เกิดขึ้นกับร่างกาย เกิดขึ้นความสัมพันธ์ หรือเกิดขึ้นกับหน้าตา - Visa fler